Friday, 17 May 2024
TODAY SPECIAL

“วันแห่งการประดิษฐ์” โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ และได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”!! 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอ โดยกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริม ให้เยาวชนไทยให้มีทุนทางสังคมของความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์ ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ด้วยทรงสนพระราชหฤทัย ในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการพัฒนาการเกษตรรูปแบบต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้ภูมิปัญญาของเราเอง ใช้วัสดุภายในประเทศ เน้นความง่ายต่อการใช้งาน การซ่อมบำรุงและราคาถูก เช่น เครื่องสีข้าว กังหันน้ำ และทรงออกแบบเรือใบมด ซึ่งในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก”

79 ปี สิ้น ‘เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ ประธานสภาฯ คนแรกของไทย และผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2419 ที่บ้านหลังศาลหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน กรุงเทพฯ นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นบุตรคนที่ 18 ในจำนวนพี่น้อง 32 คน ของพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงเกษตรและพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เป็นบุตรคนโตของมารดา คือคุณหญิงอยู่ เมื่ออายุได้ 8 ปี บิดาถึงแก่กรรม ฐานะครอบครัวตกต่ำลง มารดาจึงหารายได้ทางเย็บปักถักร้อย

เมื่ออายุ 12 ปี ได้เรียนหนังสือด้วยวิธีต่อหนังสือที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข สอบได้ประโยคหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2431 แล้วเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสอบไล่ได้ประโยคสอง ต่อมาสอบไล่ได้ชั้น 5 ภาษาอังกฤษตามหลักสูตรหลวง ปีพ.ศ. 2432 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ปีพ.ศ. 2435 จนได้รับประกาศนียบัตรครูสอบไล่ได้ที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูรุ่นแรก ได้รับพระราชทานรางวัลเมื่อ พ.ศ. 2437 ทางกระทรวงธรรมการได้คัดเลือกส่งไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษ จนได้รับรางวัลประกาศนียบัตรวิชาครูของอังกฤษ จากโรงเรียนฝึกหัดครูเบอโรโรค ที่ตำบลไวสลเวิฟ ใกล้กับกรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ. 2441

กระทั่งปีพ.ศ. 2435 ได้เข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการเป็นนักเรียนสอบในโรงเรียนตัวอย่าง จนได้เป็นครูผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อพ.ศ. 2437 เมื่อกลับมาจากประเทศอังกฤษก็ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยได้บรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเมื่อ พ.ศ. 2460 วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย รวมทั้งได้เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ

นอกจากนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว 

157 ปี เชิญ ‘พระบาง’ กลับคืนสู่ ‘หลวงพระบาง’ จากความเชื่อเป็นเหตุ สร้างความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง

พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญๆ ของท้องถิ่น โดยพระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง 2 ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนืองๆ

พระบาง เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทอง อันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น

แต่เมื่ออัญเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุลราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระหว่างปี พ.ศ. 2321-2322 เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส หรือ วัดสามปลื้ม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสน อัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปีเศษ

และความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง ก็ได้ปรากฏขึ้นในกรุงเทพครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2327 ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

30 มกราคม พ.ศ. 2491 ‘มหาตมะ คานธี’ ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดียถูก ‘ปลิดชีพ’ ด้วยปลายกระบอกปืน 

ในช่วงเย็นของวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2491 ‘มหาตมะ คานธี’ ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดียกำลังยืนอยู่กลางสนามหญ้า และสวดมนต์ตามกิจวัตร เหมือนอย่างเคย หากแต่วันนี้ทุกอย่างดำเนินไปจน ‘เกือบ’ จะปกติ แต่มีบางสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อ ‘นายนาถูราม โคทเส’ ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนาและไม่ต้องการฮินดู (อินเดีย) สมานฉันท์กับมุสลิม (ปากีสถาน) ได้ใช้อาวุธปืนปลิดชีพผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดีย ด้วยลูกกระสุน 3 นัด จนเขาล้มลงขณะพนมมือ 

ขณะที่เขาล้มลง คานธีได้เปล่งเสียงแผ่วเบาว่า “ราม” (บ้างก็ว่า “เห ราม” ซึ่งมีความหมายว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) และนั่นจึงกลายเป็นคำพูดสุดท้าย ในบั้นปลายชีวิตของมหาบุรุษผู้ต่อสู้กับมหาอำนาจด้วยสันติวิธีในวัย 78 ปี หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ได้เพียง 6 เดือน

สิ่งที่ทำให้ชื่อของ ‘มหาตมะ คานธี’ เป็นที่รู้จักนั่นเพราะการเรียกร้องเอกราชและความเสมอภาค ด้วยวิธี ‘สัตยาเคราะห์’ ที่เน้นความเป็นสันติวิธี อันมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่คานธีเป็นทนายความในวัย 24 ปี โดยเกิดขึ้นบนสถานีรถไฟในประเทศแอฟริกาใต้ครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

ในขณะนั้นเขาเพิ่งเรียนจบกฎหมายจากลอนดอนกลับมาอยู่ที่อินเดียได้ไม่นาน และได้เดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อไปเป็นนักกฎหมายประจำบริษัท Dada Abdulla ที่ทำการค้าอยู่ที่นั่น ในเดือนเมษายน ปี 1893 คานธีซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นตู้รถไฟที่หรูหราสะดวกสบายตามอัตราค่าบริการที่สูง แต่เขากลับถูกไล่ลงจากสถานีแรก ให้ไปอยู่ที่ตู้รถไฟชั้นสาม (ชั้นทั่วไปที่ไม่มีความสะดวกสบายและราคาถูก) โดยพนักงานตรวจตั๋วและผู้โดยสารชาวอังกฤษที่อ้างว่าตู้รถไฟชั้นหนึ่งสร้างขึ้นสำหรับผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น
 

วันนี้ในอดีต ‘แดนเนรมิต’ หนึ่งในตำนานสวนสนุกของประเทศไทย ได้เปิดทำการเป็นวันแรก

“แดนเนรมิต” เป็นสวนสนุกกลางแจ้ง บนเนื้อที่ 33 ไร่ เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ริมถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2518 มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด ต่างจากสวนสนุกแฮปปี้แลนด์ ที่เปิดดำเนินการในช่วงเดียวกัน ซึ่งใช้เครื่องเล่นที่ล้าสมัยกว่า 

แดนเนรมิตมีความโดดเด่นที่ปราสาทเทพนิยาย ซึ่งตั้งอยู่ส่วนหน้าของพื้นที่ สร้างขึ้นตามแบบที่ผสมผสาน จากปราสาทเทพนิยายของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ กับปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ ของเยอรมนี ภายในมีเครื่องเล่นต่าง ๆ อาทิ รถไฟเหาะ เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิ้ง ส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีพาเหรดแฟนตาซี ซึ่งออกเดินไปตามถนนโดยรอบบริเวณ

วันนี้เมื่อปี 2551 “สมัคร สุนทรเวช” ได้คะแนนเสียงจาก ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรีคนที่ 25’ ของประเทศไทย

“สมัคร สุนทรเวช“ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคที่พัฒนามาจากพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อ พ.ศ. 2549 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกันสองประเด็น คือ หนึ่ง การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และสอง การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส.ส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค ส.ส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาแข่งกับนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ มีการลุกขึ้นชี้แจงของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ส่วนฝ่ายพรรคพลังประชาชนไม่ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ จึงเสียเวลาประชุมหาข้อสรุปกันในเรื่องนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบกันในที่ประชุม โดยหลังจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ส.ส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจึงมีการประชุมเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (แบบสัดส่วน) มีความเห็นว่า “เพราะนายกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์การบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือความซื่อสัตย์”

‘วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล’ โดยกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต ทำการปลดปล่อยค่ายมรณะ ‘Auschwitz-Birkenau’ จากนาซี 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติกำหนดให้วันที่ 27 มกราคม เป็น ‘วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล’ (International Holocaust Remembrance Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1945 ซึ่งกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตทำการปลดปล่อยค่าย Auschwitz-Birkenau ค่ายกักกันของนาซีที่ใหญ่ที่สุด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ถือเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดของชาวยุโรป นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความเกลียดชังในใจมนุษย์จนนำไปสู่การทำลายล้าง และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้เรารู้จักยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น
 

‘วันแห่งคอลลาเจน’ ถูกจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง โดยนักวิจัยชื่อ ‘นิชิฮาระ โทมิโอะ’

วันแห่งคอลลาเจน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยวันที่ 26 มกราคม ของปีดังกล่าว เป็นวันที่คอลลาเจนถูกจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง โดยนักวิจัยชื่อว่า “นิชิฮาระ โทมิโอะ” 

คอลลาเจน เป็นโปรตีนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโนในร่างกายของคนเราและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างต่างๆ ของร่างกาย และยังทำหน้าที่ช่วยปกป้องโครงสร้างของผิวจากการถูกทำร้ายโดยแสงแดด และมลพิษจากสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 


ที่มา : https://www.newtv.co.th/news/10873
 

55 ปี วันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ ซึ่งยกฐานะขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ในปัจจุบัน

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 ตรงกับวันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ โดยสาเหตุของการก่อตั้งเกิดจาก วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู

อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ

โดย 'ดร. สาโรช บัวศรี' ถือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497

และได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่างๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม พ.ศ. 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม พ.ศ. 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม พ.ศ. 2512)

หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกนั้น จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่นๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

ย้อนรอยเหตุการณ์สะเทือนขวัญรับ ‘ตรุษจีน’ จากเหตุ ‘พลุ-ดอกไม้ไฟ’ ระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 ท่ามกลางงานรื่นเริงรับเทศกาลวันตรุษจีน ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้น ณ อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในวันนั้นได้มีการจัดงาน ‘ตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์’ โดยจัดขึ้นในช่วงวันที่ 23-29 มกราคม พ.ศ. 2555 มี นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี 

โดยเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นในเวลา 19.30 น. ในระหว่างการแสดงพลุดอกไม้ไฟไพโรเทคนิคชุด ‘ปีทองมังกรสวรรค์อวยชัยให้พรตรุษจีน’ ได้เกิดเหตุพลุจำนวนมากระเบิดขึ้นพร้อมกัน จนสามารถเห็นเป็นลำแสงที่พุ่งสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืนและเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกไฟได้ตกใส่บ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งติดกันอยู่กันนับร้อยหลังคาเรือนจนเกิดไฟโหมไหม้กว่า 50 หลัง ทั้งยังมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 75 ราย และเสียชีวิต 4 ราย นอกจากนี้หลังจากเหตุการณ์ได้มีผู้มาแจ้งความเสียหายของบ้านเรือนทั้งหมด 435 หลัง ซึ่งมีกว่า 71 ราย ที่บ้านเสียหายทั้งหลัง อีกทั้งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดเช่นกัน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top