Tuesday, 21 May 2024
TODAY SPECIAL

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ย้อนรอยข่าวร้ายเหตุการณ์วิปโยคเขมร เหยียบกันตายงานลอยกระทงเกือบ 400 คน

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โลกต้องตื่นขึ้นมาพร้อมข่าวร้าย ที่สะเทือนใจคนไปทั่วโลก เมื่อคนเขมรเหยียบกันตายหลายร้อยศพ ในคืนสุดท้ายของงานลอยกระทง!

เช้าของวันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน ทุกคนล้วนอยู่ในอาการเศร้าสลด เมื่อได้รับทราบข่าวว่ามีการเหยียบกันตายในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในคืนก่อนหน้านั้น ซึ่งมีรายงานในเบื้องต้นว่ามีประชาชนอย่างน้อย 347 คน!!! ถูกเหยียบจนเสียชีวิตในงานฉลองเทศกาลลอยกระทงคืนสุดท้าย!!

สำหรับที่เกิดเหตุ คือ บนสะพานที่เชื่อมระหว่างเกาะเพชร ที่ทอดตัวยาวตามแนวทะเลสาบเขมร หรือ โตนเลสาบ กับแผ่นดินใหญ่ โดยเป็นสะพานแคบ ๆ ความยาวประมาณ 80 เมตร เท่านั้น!!!

เหตุสลดเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ  21.30 น. ของช่วงค่ำวันที่  22 พ.ย. 2553 และต่อเนื่องมาจนข้ามมาถึงวันที่ 23 พ.ย. 2553  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานเทศกาลลอยกระทง วันประเพณีประจำปีของประเทศกัมพูชา ในช่วงวันเพ็ญเดือน  12 

สำหรับสาเหตุนั้น มีคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์มากมาย เช่นว่าในขณะที่มีผู้คนอัดแน่น อยู่บนเกาะและสะพานดังกล่าวก็มีผู้ร้องตะโกนว่า มีคนถูกไฟฟ้าช็อตหลายคน

และยังมีกลุ่มที่ตะโกนด้วยความคึกคะนองว่า สะพานใกล้จะพัง จนทำให้ผู้คนพากันตื่นตกใจ ก่อนจะพากันวิ่งหนีจนเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น ขณะที่บางส่วนก็หนีตายด้วยการกระโดดลงไปยังทะเลสาบด้านล่าง

22 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ท่อนซุงและโคลนถล่ม ‘กะทูน’ อ.พิปูน โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ หลังฝนตกหนักพัดพาดินโคลนและท่อนซุง ถล่มหมู่บ้านในตำบลกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช คร่าชีวิตหลายร้อยคน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเหตการณ์ดินโคลนและท่อนซุงที่ไหลมากับน้ำถล่มบ้านเรือนเสียหายไปกว่า 1,500 หลัง พื้นที่การเกษตรอีก 6,150 ไร่ มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน ผู้คนที่รอดชีวิตต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อีก

ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นราว 3-4 วัน ได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้จนชุ่มโชก และเมื่อฝนยังเพิ่มปริมาณน้ำอีกไม่หยุด ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลัง ก็ลื่นไถลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างต้องถล่มลงมาด้วย พร้อมต้นไม้ป่าและต้นยางพาราที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกไว้บนเขาถูกถอนรากถอนโคน กลายเป็นอาวุธของกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไปกับกระแสน้ำ อีกทั้งยังมีโคลนดินตามมาถล่มทับ

นอกจากนี้ ตำบลกะทูนซึ่งภูมิประเทศเป็นแอ่งรับน้ำมีพื้นที่ 70 ตารางกิโลเมตรนี้ มีลำธารหลายสายรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบมารวมลงในคลองกระทูน แต่มีทางน้ำไหลออกกว้างเพียง 70 เมตรเท่านั้น เมื่อถูกต้นไม้บนเขาและไม้ในสวนที่ชาวบ้านปลูกไหลมาปิดทางน้ำออก ระดับน้ำในแอ่งกะทูนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิตไว้ใต้น้ำ

21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ คว้าเข็มขัดแชมป์โลก WBA ก่อนสร้างตำนานป้องกันแชมป์แบบไร้พ่าย

วันนี้ เมื่อ 38 ปีก่อน ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ ชนะน็อก ‘ยูเซปิโอ เอสปินัล’ นักมวยชาวโดมินิกัน กระชากเข็มขัดแชมป์โลก WBA มาครองได้สำเร็จ ก่อนจะสร้างตำนานป้องกันแชมป์ 19 ครั้ง แบบไร้พ่าย

เขาทราย แกแล็คซี่ มีชื่อจริงว่า สุระ แสนคำ เป็นมวยถนัดซ้าย (Southpaw) ได้รับฉายาในไทยว่า ซ้ายทะลวงไส้ เป็นอดีตนักมวยแชมป์โลกชาวไทย เป็นแชมป์โลกคนที่ 9 ของไทย และเป็นแชมป์โลกสมาคมมวยโลก (WBA) คนที่ 4 ของไทย ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ทั้งนี้ ในช่วงที่เขาทรายครองตำแหน่งแชมป์โลกของ สมาคมมวยโลก (WBA) จะเรียกพิกัด 115 ปอนด์ว่า จูเนียร์แบนตัมเวท

เขาทรายครองตำแหน่งแชมป์โลกตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 จากการชนะน็อก ‘ยูเซปิโอ เอสปินัล’ นักมวยชาวโดมินิกัน ในยกที่ 5 และจวบจนถึงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เขาทรายป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน มีสถิติป้องกันตำแหน่งโดยชนะน็อก 16 ครั้ง ชนะคะแนนเพียง 3 ครั้ง และได้ประกาศแขวนนวมในฐานะแชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร ตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง 2,628 วัน หรือ 7 ปี 2 เดือน 30 วัน

20 พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ วันที่รากฐานการทหารเรือได้หยั่งรากลง กองกำลังหลักปกป้องน่านน้ำไทย

วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันกองทัพเรือ’ น้อมรำลึกในหลวง ร.5 เสด็จเปิด ‘โรงเรียนทหารเรือ’ รากฐานหยั่งรากสู่กองกำลังหลักดูแลและปกป้องน่านน้ำไทย

สืบเนื่องจากเหตุการณ์รบทางเรือในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เหตุการณ์สิ้นสุดด้วยการที่ไทยต้องถูกปรับ และสูญเสียดินแดนบางส่วนไปเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับประเทศที่จะต้องรีบเร่งปรับปรุงทั้งองค์วัตถุและบุคลากร

ใน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาวิชาด้านการปกครอง การทหารบกและการทหารเรือ ณ ประเทศในทวีปยุโรปเพื่อนำวิชามาปรับปรุงแก้ไขบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศ ในโอกาสนี้ได้ทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษเป็นพระองค์แรก และได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เสด็จถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2443 แล้วทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็นนายเรือโท นับว่าเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เป็นนายทหารเรือที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นจนถึง นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระองค์ท่านได้ทรงพระอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้าที่จะให้คนไทยมีความรู้ความสามารถในกิจการทหารเรือ เพื่อเข้ารับราชการแทนชาวต่างประเทศสมตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาได้โดยสมบูรณ์และด้วยพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านที่ได้รับทรงบากบั่นก่อสร้างกองทัพเรือไทยให้แข็งแกร่งขึ้นนี้จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พระองค์ท่านได้รับการขนานนามจากกองทัพเรือในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 ว่า 'พระบิดาของกองทัพเรือไทย'

19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เมืองสุรินทร์ เยี่ยมพสกนิการภาคอีสาน เป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียง เหนืออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2498 และในวันที่ 19 พฤศจิกายน ได้เสด็จฯโดยรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีอุทุมพรพิสัยถึงสถานีศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ในเวลา 14.01 น. 

ที่สถานีศรีขรภูมิ ขบวนรถไฟพระที่นั่งหยุด 3 นาทีพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลเบิกนายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวันบนรถไฟซึ่งองค์การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดถวาย 

ระหว่างทางจากสถานีศรีขรภูมิ ตามสถานีและหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มีราษฎรมาชุมนุมเฝ้าทูล ละอองธุลีพระบาทอย่างมากมายเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะสถานีจังหวัดสุรินทร์ ขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีสุรินทร์ในเวลา 14.45 น. มีข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน สมาชิกสภาจังหวัด ผู้แทนราษฎร นักเรียน และราษฎร เฝ้ารอรับเสด็จตั้งแต่สถานีรถไฟไปตลอดถนนธนสาร จนถึงศาลากลางจังหวัดเนืองแน่น 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งจากสถานีรถไฟไปตามถนนธนสาร ถึงสี่แยกถนนหลักเมือง แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังศาลากลางจังหวัด จากนั้นเสด็จฯ ประทับที่หน้ามุขศาลากลางจังหวัด นายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม กราบบังคมทูลในนามของราษฎรชาวสุรินทร์ แสดงความปีติยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวสุรินทร์

18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็น วันเกิดมิกกี้ เมาส์ ตัวการ์ตูนดังขวัญใจคนทั่วโลก

หลายคนคงรู้จัก ‘มิกกี้ เมาส์’ ตัวการ์ตูนขวัญใจของเด็ก ๆ และคนทั่วโลก วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดของหนูการ์ตูนชื่อดังแห่งวอลท์ ดิสนีย์

มิกกี้ เมาส์ เป็นตัวการ์ตูนของค่ายวอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) โดยวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ และอับ ไอเวิร์กส เดิมทีพวกเขาเรียกมันว่า "มอร์ติเมอร์ เมาส์" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อตัวการ์ตูนนี้ใหม่เป็น มิกกี้ เมาส์ จากการแนะนำของภรรยาวอลท์ ดิสนีย์ เนื่องจากเธอเห็นว่ามันเป็นชื่อที่ดูจริงจังจนเกินไป

จุดกำเนิดของมิกกี้ เมาส์ เกิดขึ้นขณะที่วอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ (ขณะนั้นอายุ 27 ปี) นั่งอยู่บนรถไฟระหว่างทางมุ่งสู่ลอสแอนเจลิส เขาลงมือสเกตช์ภาพคาแรกเตอร์หนูเล็ก ๆ สวมกางเกงสีแดงขึ้นมา โดยมี อับ ไอเวิร์กส ออกแบบรูปร่างลักษณะ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) มิกกี้ เมาส์ ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังการ์ตูนเงียบที่ชื่อว่า Plane Crazy แต่ก่อนที่การ์ตูนเรื่องนี้จะออกฉาย ก็เริ่มมีการนำเสียงมาใส่ในภาพยนตร์ ทำให้มิกกี้ เมาส์ เป็นหนังการ์ตูนที่มีการใส่เสียงเรื่องแรกในโลก ในชื่อเรื่องว่า Steamboat Willie

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ ก่อการรัฐประหารตัวเอง หลังไม่อาจคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้อีกต่อไป

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

การรัฐประหารในครั้งนี้ สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพลถนอม หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า 'นายกฯคนซื่อ' ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้ จึงทำการยึดอำนาจตนเองขึ้น โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ

โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ว่า ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน 

จากนั้นคำสั่งของคณะรัฐประหารได้สั่งให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

คณะปฏิวัติได้ครองอำนาจมาถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้มีการนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 17 กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใด ๆ อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือ มีกฎหมายฉบับใด ๆ มารองรับ

16 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 พบการระบาดครั้งแรกของ ‘โรคซาร์ส’ ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือรู้จักกันในชื่อ โรคซาร์ส (อังกฤษ: Severe Acute Respiratory Syndrome; SARS) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มี ไข้สูง ไอแห้ง หอบ หรือหายใจลำบาก 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคนี้มีต้นกำเนิดมากจาก มณฑลกวางตุ้งของประเทศจีนเมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ระบาดไปที่ฮ่องกง และต่อมาที่เวียดนาม สิงคโปร์ และแคนาดา โดยต่อมามีผู้พบโรคนี้ในที่อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงในสหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ ไต้หวันและเยอรมนี ในตอนที่โรคระบาดนี้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2546 มีผู้ติดเชื้อ 8,422 รายที่มีอัตราป่วยตาย (CFR) ร้อยละ 11

สำหรับกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส นั้น เป็นไวรัสโรคระบบหายใจที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์ซึ่งมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (severe acute respiratory syndrome coronavirus; SARS-CoV หรือ SARS-CoV-1) สายจำเพาะแรกของสปีชีส์โคโรนาไวรัสซาร์สในโคโรนาไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARSr-CoV) กลุ่มอาการนี้ก่อให้เกิดการระบาดของโรคซาร์ส ในช่วงปลาย ปี พ.ศ.2560 นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนสืบต้นตอไวรัสมาจากตัวอีเห็นข้างลาย ถึงค้างคาวมงกุฎ ในเขตเมืองชาติพันธุ์อี๋ซีหยาง มณฑลยูนนาน

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 การเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันนี้เมื่อ 89 ปีที่แล้ว เกิดการเลือกตั้งแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเลือกตั้งที่เรียกว่า 'เลือกตั้งทางอ้อม' ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวอีกด้วย

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบล ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เพื่อให้ได้ผู้แทนตำบล ซึ่งผู้แทนตำบลนี้จะเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน

ภายหลังทางการได้ดำเนินการเลือกผู้แทนตำบลเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ดำเนินการเลือกผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 พฤศจิกายน ตามกำหนด ผลการเลือกผู้แทนปรากฏว่าได้ผู้แทนราษฎร 78 คน

14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวัน ‘พระบิดาแห่งฝนหลวง’ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

67 ปีแห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรางมีทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะทรงเป็น 'พระบิดาแห่งฝนหลวง' และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย       

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทำให้ทรงพบเห็นว่า ภาวะแห้งแล้งได้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี  

ทั้งนี้ ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยาน พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top