Tuesday, 6 May 2025
TODAY SPECIAL

13 มกราคม ‘วันการบินแห่งชาติ’ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 6 ผู้ก่อกำเนิดการบินของไทย

ปี พ.ศ. 2454 ที่ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 เครื่อง ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 เครื่อง

หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากนั้น ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ก็มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย

ในอดีตกิจการบินของไทยได้เจริญก้าวหน้าถึงขั้นสามารถสร้างอากาศยานใช้ในราชการได้ และหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การบินของไทยก็ได้ช่วยสร้างประโยชน์มากมาย อาทิ เช่น ป้องกันประเทศ (สงครามอินโดจีน ฯลฯ) ช่วยเหลือผู้ป่วย, ช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติ (โรคระบาด อุทกภัย ฯลฯ) และช่วยทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม การเดินทาง ขนส่งไปรษณีย์ และสินค้าได้รวดเร็วจนพัฒนามาเป็นสายการบินระหว่างประเทศ
 

‘แบทแมน’ ปรากฏตัวครั้งแรกทางโทรทัศน์ ABC เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2509 นำแสดงโดย ‘Adam West’ 

แบทแมน (Batman) เป็นซูเปอร์ฮีโร่สมมติ ปรากฏตัวในหนังสือการ์ตูนอเมริกัน ตีพิมพ์โดยดีซีคอมิกส์ ตัวละครสร้างโดยศิลปิน บ็อบ เคน และนักเขียน บิล ฟิงเกอร์ และปรากฏตัวครั้งแรกใน ดีเทกทิฟคอมิกส์ ฉบับที่ 27 ในปี 1939 แต่เดิมตัวละครมีชื่อว่า เดอะ "แบท-แมน" และถูกเรียกด้วยฉายาต่างๆ ได้แก่ มือปราบใต้ผ้าคลุม (Caped Crusader), อัศวินรัตติกาล (Dark Knight) และ ยอดนักสืบของโลก (World's Greatest Detective)

ตัวตนที่แท้จริงของแบทแมนคือ บรูซ เวย์น เศรษฐีเพลย์บอยชาวอเมริกัน ผู้ใจบุญและเป็นเจ้าของธุรกิจ เวย์น เอ็นเทอร์ไพรส์ แบทแมนมีต้นกำเนิดมาจากอุบัติการณ์ในวันเด็กของบรูซ หลังจากดร.โทมัส และมาร์ธา เวย์น พ่อและแม่ของเขาถูกฆาตกรรมต่อหน้า เขาสาบานว่าจะล้างแค้นกับเหล่าอาชญากร ด้วยกระบวนการยุติธรรม บรูซฝึกฝนตนเองทั้งทางร่างกายและสติปัญญา และสร้างสัญลักษณ์ค้างคาวเพื่อต่อสู้กับเหล่าอาชญากร

58 ปี จุดเริ่มต้นการเตือนภัย ‘อันตรายของบุหรี่’ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านการสูบบุหรี่ทั่วโลก

11 มกราคม ค.ศ. 1964 รายงานจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขสหรัฐฯ แถลงรายงานเตือนเรื่องบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นการเตือนภัยจากบุหรี่อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน

รายงานนี้มาจากชุดทำงานที่ควบคุมดูแลโดยนายแพทย์ ลูเธอร์ เทอร์รี (Luther Leonidas Terry) แห่งกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา รายงานนี้เตือนพิษภัยจากการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพว่า ผลจากการสูบบุหรี่เชื่อมโยงกับสาเหตุของโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพองและโรคร้ายอื่นๆ

การออกแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ความพยายามต่อต้านการสูบบุหรี่ภายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้เกิดการรณรงค์งดสูบบุหรี่ทั่วโลกในปัจจุบัน

10 มกราคม ค.ศ. 1946 การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน ของ ‘สหประชาชาติ’

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1946 ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมากจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่างๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ อาจมีเปิดวาระการประชุมในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการประชุม, กลไก, อำนาจหน้าที่ และการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่เพื่อออกเป็นมติสมัชชาใหญ่ในหัวข้อสำคัญ ข้อแนะนำด้านสันติภาพและความมั่นคง ข้องบประมาณ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การระงับหรือเพิกถอนสมาชิกภาพ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม
 

132 ปี รัชกาลที่ 5 เสด็จประกอบพิธีเปิดอู่เรือหลวง โดยถือเป็น ‘วันสถาปนากรมอู่ทหารเรือ'

9 มกราคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด อู่เรือหลวง ณ กรมอู่ทหารเรือ เพื่อซ่อมและสร้างเรือรบ เนื่องจากเวลานั้นมีจำนวนเรือหลวงเพิ่มมากขึ้น 

โดยอู่เรือหลวงสร้างขึ้นที่โรงหล่อ ซึ่งก็คือที่ว่าการกรมทหารเรือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดระฆังโฆสิตาราม อู่หลวงดังกล่าวเป็นแบบอู่ไม้ ต่อมาได้ขยายเป็นอู่คอนกรีตในปี 2447 ต่อมาอู่เรือหลวงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมอู่ทหารเรือ" และใช้มาจนถึงทุกวันนี้

8 มกราคม พ.ศ. 2530 วันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

7 มกราคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (วังหน้า)

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่าต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ 

ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"

หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี
 

‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล’ รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี

โรงพยาบาลอานันทมหิดล กรมแพทย์ทหารบก ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย ให้บริการทั้งข้าราชการทหารและพลเรือนรวมถึงประชาชนทั่วไป และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามรองจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี

โรงพยาบาลอานันทมหิดล เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 และแล้วเสร็จในปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มากระทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เหตุการณ์เมื่อ 81 ปีที่แล้ว “กรณีพิพาทอินโดจีน” ประเทศไทยประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ทวงผืนแผ่นดินคืนจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ครั้งสยามเสียดินแดน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ เริ่มต้นจากกระแสชาตินิยมอย่างหนัก จนถึงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 คณะนิสิตนักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมทั้งประชาชน ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาล ทวงเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ที่ถูกยึดไปในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 อาทิ เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น ส่งกำลังทหารบุกข้ามพรมแดน เข้าไปยึดดินแดนดังกล่าวคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้น ได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงดอกฟ้าจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น

>> จุดเริ่มต้นแห่งสงครามอินโดจีน “สงครามฝรั่งเศส-ไทย” หลังจากฝรั่งเศสแพ้ต่อนาซีเยอรมนีปี 2483 พลตรีแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ตัดสินใจว่าความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยได้โอกาสทวงดินแดนที่เคยเสียไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืนมาจากการปกครองอาณานิคมของอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งฝรั่งเศสวีซีถูกตัดขาดความช่วยเหลือ และกำลังบำรุงจากภายนอก หลังจากญี่ปุ่นบุกยึดครองอินโดจีนเมื่อ กันยายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสถูกบีบให้อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ

รัฐบาล พลตรีแปลก พิบูลสงคราม เชื่อว่าฝรั่งเศสวีซี คงไม่สามารถต้านทานการเผชิญหน้าอย่างจริงจังกับไทยได้ รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ถือเอาแม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดน และให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องดินแดนอาณานิคมได้ ก็ให้คืนดินแดนทั้งลาวและกัมพูชาแก่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทย หรือสยาม เสียให้แก่ฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ฝรั่งเศสกลับไม่ยินยอม พร้อมส่งเครื่องบินรบล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เป็นเหตุให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ

กองทัพไทยจึงทำการตอบโต้ โดยส่งกำลังทหาร และยุทโธปกรณ์จากทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศ บุกเข้าไปในอินโดจีนทางลาว และกัมพูชา กองทัพอากาศของประเทศไทย ได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีใส่ฐานที่มั่น ของอินโดจีนฝรั่งเศส ของฝรั่งเศสวีซีไปเรื่อยๆ ส่วนกองทัพเรือไทย ส่งกองเรือรบออกไปสกัดกั้น กองเรือฝรั่งเศส ที่ล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามา จนเกิดการปะทะกันที่เกาะช้าง เกิดยุทธนาวี ที่กล่าวขานกันจนถึงปัจจุบัน คือ “ยุทธนาวีเกาะช้าง”

18 ปี ไฟใต้ปะทุ จากเหตุ ‘ปล้นปืน’ ที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ค่ายปิเหล็ง" ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดปะทุของความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย ทางด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน โดยมีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2555

โดยในระหว่างปี 2547 - 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบนี้กว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คน นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่อง เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง และการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top