Wednesday, 7 May 2025
TODAY SPECIAL

ต้นกำเนิดภาพยนตร์ โดยสองพี่น้อง ‘AUGUSTE & LOUISE LUMIERE’ ประดิษฐ์ ‘เครื่องฉายภาพยนตร์’ เครื่องแรกของโลก

พี่น้องตระกูลลูมิแอร์ "ออกุส" และ "หลุยส์" ชาวฝรั่งเศส (Auguste Lumiere-Louis Lumiere) ได้ออกแบบกล้อง "ซิเนมาโตกราฟ" (Cinematographe) ที่เป็นทั้งกล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ได้ วันนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ทดลองนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้จากกล้องซิเนมาโตกราฟ มาฉายเป็นหนังทดลองลงบนจอภาพขนาดใหญ่ได้สำเร็จ และทำให้ความหมายของคำว่าภาพยนตร์สมบูรณ์

โดย กล้อง "ซิเนมาโตกราฟ" (Cinematographe) ถูกดัดแปลงมาจากกล้อง "คีเนโตกราฟ" (Kinetograph) ที่ใช้ฟิล์มแผ่นพลาสติกเซลลูลอยด์ และเครื่องฉายภาพ "คีเนโตสโคป" (Kinetoscope) ที่เป็นตู้รับชมภาพยนตร์ด้วยวิธีการส่องดูทีละคน ในลักษณะการถ้ำมอง 

12 กุมภาพันธ์ “วันดาร์วิน” เพื่อระลึกถึง ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ ผู้ปฏิวัติความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต จากความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นผู้สร้าง สู่ทฤษฎีการวิวัฒนาการสมัยใหม่

วันดาร์วินสากล (International Darwin Day) ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยา ชาวอังกฤษ ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และนำเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ รวมไปถึงหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

ผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ของชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งทางชีววิทยา และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา สำหรับผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาก็คือ On the Origin of Species (กำเนิดสรรพชีวิต) ซึ่งได้รวมทฤษฎีของศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต และอธิบายถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต เปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต จากพระเจ้าเป็นผู้สร้าง มาสู่ทฤษฎีการวิวัฒนาการ

วันนี้ในอดีต ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ นัดชุมนุมขับไล่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ลาออกจากตำแหน่ง

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548 - 2549 เริ่มต้นจากการประท้วงขับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากข้อกล่าวหาการบริหารประเทศของรัฐบาลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง และได้ขยายตัวเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2548 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้นำ และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา

ในการรณรงค์ขับนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีลาออกก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลายๆ กลุ่ม ในเรื่องกระบวนการและประเด็นในการขับ ส่วนในกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคาราวานคนจน และขบวนรถอีแต๋นเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยปักหลักอยู่ที่สวนจตุจักร และตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย

วันนี้เมื่อ 85 ปีที่แล้ว เป็นวันก่อตั้งสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามศุภชลาศัย 

สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ แต่เดิมมีชื่อว่า กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) กรีฑาสถานแห่งชาติมีต้นกำเนิดจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งจัดขึ้นในสนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ได้มีดำริในการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา, โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง (คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และสโมสรสถานลูกเสือ (ที่ทำการคณะลูกเสือแห่งชาติ) จึงได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน

ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะเดียวกันก็ให้ย้ายการแข่งขันกรีฑานักเรียนไปจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงเป็นการชั่วคราว โดยในปีต่อมา กรมพลศึกษาจึงย้ายที่ทำการเข้ามาอยู่ภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งการใช้สนามกรีฑาสถานเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง

วันนี้ในอดีต มติสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 โดยดำรงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 ถึงปีพ.ศ. 2549

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้าสู่วงการเมืองสังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ต่อมาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2541 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก

นโยบายเด่น ได้แก่ การขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท

‘ทักษิณ ชินวัตร’ ดำรงตำแหน่งสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี ผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลทักษิณถูกกล่าวหาหลายอย่าง เช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควบคุมสื่อ ส่วนข้อกล่าวหาของตัวทักษิณเอง ก็มีว่าเลี่ยงภาษี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนขายทรัพย์สินของบริษัทไทยให้นักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

8 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ตรงกับ ‘วันขอแต่งงาน’ วันสำคัญวันหนึ่งของชาวอินเดีย

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นับว่าเป็นช่วงเดือนแห่งเทศกาล แน่นอนว่าเทศกาลแรกๆ ที่คนนึกถึงคงไม่พ้น ‘วันวาเลนไทน์’ วันแห่งความรักที่เราจะเห็นผู้คนมากมายแสดงความรักต่อกัน และเฉลิมฉลองกันอย่างแพร่หลายในทั่วโลก

แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์เอง ก็มีวันสำคัญเช่นเดียวกัน แถมยังเป็นวันที่คนต่างแสดงความรักให้กัน ไม่ต่างไปจากวันวาเลนไทน์อีกด้วย!!!

‘พินอคคิโอ’ ภาพยนตร์แอนิเมชันรางวัลออสการ์ ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

พินอคคิโอ (Pinocchio) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องที่สองของวอลท์ ดิสนีย์ โดยได้ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 โดยฝีมือการกำกับโดย Ben Sharpsteen

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องพินอคคิโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้ที่มีชีวิต กับพ่อผู้ยากจนของเขา เจปเปตโต ซึ่งเป็นช่างไม้ โดนลักษณะเด่นของหุ่นไม้มีชีวิตพินอคคิโอ มีที่รู้จักกันดี คือ เมื่อใดที่พูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้น

โดยเนื้อเรื่องแต่เดิมนั้น กอลโลดี นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กตั้งแต่แรก เพราะในเนื้อเรื่องดั้งเดิม พินนอคคิโอ ปิดฉากลงด้วยการถูกแขวนคอตาย เนื่องจากทำความผิดนับครั้งไม่ถ้วน 

77 ปี กำเนิด ‘บ็อบ มาร์เลย์’ ราชาดนตรี ‘เร็กเก้’ ผู้พลิกวงการดนตรี

‘รอเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์’ อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าพูดชื่อ ‘บ็อบ มาร์เลย์’ ขึ้นมาเชื่อว่าหลายคนต้องร้อง อ๋อ! โดยในวันนี้เมื่อ 77 ปีที่แล้ว ‘บ็อบ มาร์เลย์’ ได้กำเนิดขึ้นเกิดในเขตชนบทของประเทศจาเมกา โดยเขามีความสนใจและลุ่มหลงในดนตรีพื้นบ้าน (เร็กเก้) ของตนเองเป็นอย่างมาก ซึ่งดนตรีชนิดนี้เป็นที่นิยมในพวกผู้ใช้แรงงานผิวดำในประเทศ อีกทั้งเนื้อเพลงส่วนใหญ่กล่าวถึงการแสวงหาเสรีภาพ สะท้อนมุมมองทางด้านการเมือง การแบ่งแยกสีผิวและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

แน่นอนว่าความลุ่มหลงสนใจในดนตรีพื้นบ้านของเขา ได้หล่อหลอมให้เขากลายมาเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีชาวจาเมกา ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเพลงแนว 'เร็กเก' ให้กับชาวโลกได้รู้จัก อีกทั้งอาชีพนักดนตรีของเขามีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยการผสมผสานองค์ประกอบของเร็กเก สกา และร็อกสเตดดีเข้าด้วยกัน รวมถึงรูปแบบการร้องและการแต่งเพลงที่แตกต่างจากคนอื่น การมีส่วนร่วมในดนตรีของมาร์เลย์ช่วยทำให้ดนตรีจาเมกาและตัวเขาเป็นที่รู้จักในวัฒนธรรมประชานิยมในระดับสากลมานานกว่าทศวรรษ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ เป็นถนนหลักสายแรกของไทย!! 

‘ถนนเจริญกรุง’ เป็นถนนที่ ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ’ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ 

ในปี พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน 

“วันมะเร็งโลก” 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี มีเป้าหมายเพื่อรวมพลังช่วยชีวิต และปกป้องผู้คนหลายล้านคนจาก ‘โรคมะเร็ง’!!

โรคมะเร็งถือเป็นวายร้ายคุกคามสุขภาพอันดับต้นๆ ในศตวรรษที่ 21 โดยใกล้จะแซงหน้าโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจเต็มที ทุกวันนี้เราแทบทุกคนมีคนใกล้ตัวที่เคยเผชิญหรือเฉียดใกล้กับโรคมะเร็ง การรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชนทั่วไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อปี ค.ศ. 2000 ในงานประชุม World Summit Against Cancer ที่ปารีส ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรวมพลังกันช่วยชีวิตและปกป้องผู้คนหลายล้านคนจากโรคมะเร็ง ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็งในทุกๆ ด้าน และร่วมกันผลักดันให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานในภาครัฐของแต่ละชาติ

จากสถิติพบว่าในช่วงปี 1990 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านคนในแต่ละปี จนเป็น 18.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2018 และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็ง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งจะมากกว่า 13.1 คนต่อปี
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top