Wednesday, 15 May 2024
ECONBIZ

'พีระพันธุ์' ถก 'รัสเซีย' ซื้อ 'น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหิน' ราคาถูก ด้าน ‘รัสเซีย’ ยืนยัน!! พร้อมสนับสนุนแบบครบวงจร

(19 ต.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของสหพันธรัฐรัสเซีย (นายเซอร์เก โมคานิคอฟ) และ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย (นายเยฟกินี โทมิคิน) หลังเป็นประธานในการประชุม The 3rd APEF วันนี้ (19 ต.ค. 66) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อหาทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างกันและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ 

การหารือครั้งนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย แจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทยด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งในส่วนของทรัพยากรพื้นฐาน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และ อื่น ๆ รวมทั้งด้านวิชาการ การลงทุนในการสร้างระบบผลิตพลังงานรูปแบบต่าง ๆ และการร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการลงทุน โดยเสนอให้มีการจับคู่ธุรกิจด้านพลังงานระหว่างภาคเอกชนในประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย และคาดหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเสนอให้ผู้แทนจากประเทศไทยเข้าสังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาลรัสเซียพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักธุรกิจชาวไทยในการเดินทางเข้าไปประกอบธุรกิจด้านพลังงานร่วมกับรัสเซีย และเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปเยือนรัสเซีย เพื่อหารือเพิ่มเติมต่อไปด้วย 

จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรณีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและบังกลาเทศ โดยหวังว่าจะมีความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายพีระพันธุ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เป็นประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานแห่งเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 3 (The Third Asian and Pacific Energy Forum: The 3rd APEF) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะ ‘ประธานฯ The 3rd APEF’

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำระหว่างเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินการเพื่อผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดร่วมกับประเทศสมาชิก โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และการสร้างมาตรฐานราคาพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุม The 3rd APEF ที่จัดขึ้นเพื่อทบทวน รายงาน รวมถึงติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG7) ประเด็นเรื่องการสร้างหลักประกันการเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่อย่างยั่งยืนและเชื่อถือได้ ในราคาที่ซื้อหาได้ 

ปตท. จับมือ เมตรอน รุกธุรกิจแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน หวังยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่ ‘อุตสาหกรรม 4.0’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือในธุรกิจแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management Platform) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เมตรอน เอเชียแปซิฟิก จำกัด (เมตรอน) โดยมี นางสุณี อารีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ตลาดค้าปลีกและวิศวกรรมก๊าซธรรมชาติ ปตท. และ Mr. Vincent Sciandra ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมตรอน เอเชียแปซิฟิก จำกัด เป็นผู้ลงนาม เพื่อขยายตลาดเอนเนอร์ยี่โซลูชั่นส์ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี Advanced Energy Intelligence Platform เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และตอบสนองนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

ม.ล. ปีกทอง กล่าวว่า “ปตท. และ เมตรอน มุ่งมั่นในการพัฒนา Energy Management Platform เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการจัดการพลังงานให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมของ ปตท. ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนและใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการพลังงานขั้นสูงของเมตรอน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยในเวทีโลก”

Mr. Vincent เผยว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นขยายตลาดการให้บริการระบบ Energy Management and Optimization Solution (EMOS) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการให้บริการและสนับสนุนด้าน Digital Solutions เพื่อให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมของ ปตท. สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตอีกด้วย”

ทั้งนี้ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง ปตท. และ เมตรอน ถือเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม โดยได้เริ่มใช้ระบบการจัดการพลังงานให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานสำหรับการพัฒนาการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

'OR' เผยทิศทางขับเคลื่อนธุรกิจในต่างแดน ปักหมุด 'กัมพูชา' ดันไลน์ธุรกิจหลักเจาะโอกาสเปิด

(18 ต.ค.66) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ และนายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ ร่วมเปิดเผยถึงกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ เพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (LPG) หรือยางมะตอย รวมถึงขยายธุรกิจในต่างประเทศร่วมกับพันธมิตรของ OR ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซักแบรนด์ Otteri Wash & Dry หรือ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ตลอดจนโอกาสในการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรในพื้นที่ผ่านการลงทุนใหม่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจ Global เป็น 15% ในปี 2570 โดยมีรายละเอียดการขับเคลื่อนธุรกิจในแต่ละประเทศ ดังนี้

• กัมพูชา เป็นประเทศในการดำเนินธุรกิจของ OR ในต่างประเทศ เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 เนื่องจากเป็นประเทศที่ OR ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 OR ดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility ได้แก่ การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการ PTT Station ซึ่งมีอยู่ 169 สาขา มีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง และธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants รวมทั้งได้ร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ได้แก่ ร้าน Café Amazon ซึ่งมีอยู่ 231 สาขา และร้านสะดวกซื้อ 65 สาขา เป็นต้น โดย OR ยังมีแผนลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อาทิ คลังน้ำมันและก๊าซ LPG โรงงานผสมยางมะตอย รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจพลังงานอื่นๆ อาทิ Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station Pluz

• ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ OR เข้าไปดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2540 โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีสถานีบริการ PTT Station อยู่ 168 สาขา มีคลังน้ำมัน 4 แห่ง และร้าน Café Amazon 17 สาขา จำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants  รวมถึงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่สนามบินในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

• สปป.ลาว ณ เดือนสิงหาคม 2566 OR มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวม 54 สาขา ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ Procheck รวม 9 สาขา จำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants รวมถึงมีร้าน Café Amazon 87 สาขา ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 28 สาขา ร้านชานม Pearly Tea 5 สาขา และอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการปลูกและค้าเมล็ดกาแฟร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยเน้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

• เวียดนาม OR ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร้าน Café Amazon ในเวียดนาม ซึ่ง ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 22 สาขา รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการค้าเมล็ดกาแฟร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยเน้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า อีกทั้งยังคงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต เช่น การค้า LNG และ LPG ในเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายร้าน Café Amazon ไปในประเทศอื่นๆ ได้แก่ โอมาน ซึ่งมีแผนเปิดร้าน Café Amazon อีก 4 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 19 สาขาในปี 2567 มาเลเซีย ซึ่งมีร้าน Café Amazon 2 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 10 สาขาในปี 2567 และ ญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนเปิดร้าน Café Amazon เพิ่มเป็น 3 สาขาในปี 2567 อีกด้วย

“ทั้งหมดนี้เกิดจากความมุ่งมั่นของ OR ในการขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก โดยนำความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยไปปรับใช้ในต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ OR มีอยู่จากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยมีการศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมในแต่ละประเทศเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันกับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อขยายความสำเร็จออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘สุริยะ’ ปลื้มใจ!! ประชาชนชื่นชอบ 20 บาทตลอดสาย ยัน!! ไม่สุดแค่ 30 พ.ย.67 เตรียมเสนอต่ออายุมาตรการปีหน้า

(18 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อ 16 ต.ค. 66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น ล่าสุดทาง รฟม. และ รฟท.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นขอยืนยันว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่ระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าว จะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย.2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม. นั้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี

‘Eco-Friendly Event’ เทรนด์อีเวนต์ยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ด้วยแนวคิด ‘BCG’ ใช้พลังงานหมุนเวียน-ลดมลพิษ-ลดขยะอย่างยั่งยืน

(18 ต.ค. 66) รู้จัก ‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) เป็นหนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจไมซ์ (MICE) เป็นธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และมีค่าใช้จ่ายตอบแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแต่ละทริป ในอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าการท่องเที่ยวประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละประเทศ จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก เพื่อที่จะยกระดับประเทศตนเองให้เป็นมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ของภูมิภาค และเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมนานาทวีป เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) คือ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยมีการจัดการอย่างมืออาชีพ ประกอบด้วยธุรกิจต่าง ๆ คือ Meetings, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing), และ Exhibitions ซึ่งแต่ละธุรกิจมีความหมาย ดังนี้

M : Meeting คือ ‘การประชุมของกลุ่มบุคคล’ ผู้แทนจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทในเครือเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจร่วมกัน

I : Incentive Travel คือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล’ เป็นการจัดนำเที่ยวเป็นหมู่คณะให้กับพนักงาน เพื่อตอบแทนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายของบริษัท โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

C : Convention หรือ ‘Conferencing’ คือ การประชุมที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การมุ่งให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานที่มีการอภิปราย การเข้าสังคม ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจัดแบบหมุนเวียนตามประเทศสมาชิก หรือประมูล เพื่อเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน

E : Exhibition คือ ‘การจัดงานแสดงสินค้า’ หรือนิทรรศการนานาชาติ การแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายชม โดยการจัดแสดงงานสินค้า มีวัตถุประสงค์หลักเชิงพาณิชย์ในการก่อให้เกิดการติดต่อซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

‘ธุรกิจไมซ์’ มีความสำคัญอย่างไร?
ประเทศไทย นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งที่น่าสนใจแล้ว ยังมีจุดเด่นที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ เช่น ประเพณีและวัฒนธรรม อาหารไทย สถานที่จัดประชุม สถานที่รับรองที่ได้มาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจไมซ์จากหลายประเทศ และในอนาคต คาดว่าจะมีการผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากธุรกิจไมซ์ จะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่น เช่น หน่วยงานการเที่ยว องค์กรรับจัดงานอิเวนต์ ศูนย์จัดการประชุม โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งความน่าสนใจ คือ เมื่อธุรกิจไมซ์ มีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้น ความต้องการของตลาดแรงงานจะสูงขึ้น เนื่องจากงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจไมซ์มีความหลากหลาย

อุตสาหกรรม MICE ลดโลกร้อนได้อย่างไร?
อุตสาหกรรมไมซ์ ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization Pathways) โดยครอบคลุมการลดและเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการจัดงาน (Carbon Reduction and Avoidance) อันจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)

‘การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) หนึ่งในกลไกของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาผสานเข้ากับแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับรูปแบบกิจกรรมในการจัดงานไมซ์ ให้เกิดการลดการใช้ (Reduce) ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าของงานอีเวนต์ (Value Added Event) อีกด้วยขณะเดียวกัน ผู้จัดงานไมซ์ทั่วโลก เริ่มนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการจัดงาน โดยแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวก แต่ยังช่วยลดต้นทุนการจัดงานได้อีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างการจัดงานที่ลดคาร์บอน และนำหลักการ ‘BCG Model’ มาใช้
เมื่อธุรกิจไมซ์ นำแนวคิดรักษ์โลกมาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานให้เป็น Green Venue ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการประหยัดพลังงานภายในงาน และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเรื่อง ‘Eco-Friendly’ มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของงาน รวมถึงการจัดการและลดปริมาณขยะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘โอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น’ อีเวนต์ระดับโลก ที่เชื่อมโยง BCG Model ครบทุกมิติ แบบ ‘Eco-Friendly Event’ อย่าง มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการวางแผนที่ดีในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่แข่งขัน มาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยไฟฟ้ามาจากพลังงานชีวมวลจากไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง หรือการตัดไม้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบางส่วนมาจากการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิ เมื่อปี 2011 ระบบการขนส่งใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฟที่ถูกจุดในกระถางคบเพลิงและตลอดการวิ่งคบเพลิงทั่วญี่ปุ่น ก็ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงแหล่งพลังงานบางส่วนในหมู่บ้านนักกีฬา มาจากพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เหรียญรางวัลและโพเดียมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่เมื่อรื้อถอนแล้ว วัสดุก่อสร้างจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่

ซึ่งหากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกใช้วิธีการจัดงานแบบเดิม จะสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 3,010,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) แต่ด้วยความพยายามลด และหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 280,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อปีมากกว่า 30,000 ครัวเรือน ถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ ให้กับผู้จัดงานที่ต้องการจัดอีเวนต์แบบรักษ์โลก

‘ศูนย์ประชุมนานาชาติบาร์เซโลนา’ ที่สามารถลดและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการผลิตพลังงานและพลังงานชีวภาพทดแทนแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 175 ตันต่อปี

‘งาน Expo CIHAC ที่ประเทศเม็กซิโก’ ที่สร้างโดยใช้วัสดุต้นทุนต่ำ และใช้แนวคิดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มแบบ Upcycling ด้วยการนำลังใส่น้ำอัดลมกว่า 5,000 ลัง มาสร้างเป็นบูธแสดงงาน ใช้ต้นทุนต่ำและไม่สร้างขยะเพิ่มเติมหลังจบงาน ทั้งยังสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกด้วย

‘Tote Bag Music Festival เทศกาลดนตรีรักษ์โลกของเมืองไทย’ ผู้จัดงาน ธุรกิจไมซ์ หลายราย เริ่มหันมาใช้ BCG Model เป็นแนวทางในการจัดงาน เช่น แผนคอนเสิร์ตรักษ์โลก จัดโดย ‘กรีนเวฟ’ ใช้คอนเซ็ปต์รักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ เป็นคอนเสิร์ตแรกในไทยที่วางแผนการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ รวมทั้งลดพลังงานสิ้นเปลืองภายในงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั่นไฟพลังงานทางเลือกแทนน้ำมันดีเซล การให้ผู้ร่วมงานพกถุงผ้า แก้ว จาน ช้อน ส้อม มากันเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ รวมทั้งการใช้ของทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด เช่น หลังคาจากเวทีคอนเสิร์ต หลังจบงานจะถูกส่งต่อเพื่อไปทำหลังคาให้กับโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย นับเป็นเทศกาลดนตรีในคอนเซ็ปต์ ‘ZERO WASTE’ อย่างแท้จริง

‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ได้นํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่สถานที่ตั้งและการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และใกล้กับป้ายรถประจำทาง ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะ เป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการเดินทาง ตลอดจน มีบริการที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่อาคาร ลดการใช้แสงจากหลอดไฟ โดยเพิ่มแสงธรรมชาติและระบบไหลเวียนอากาศจากธรรมชาติทั่วอาคาร และติดตั้งอุปกรณ์และใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคาร ใช้ระบบน้ำหยดและนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทำให้ลดการใช้น้ำได้ถึง 45%

รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนวณการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และติดตามการใช้งาน รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ผนวกกับการตรวจสอบและการควบคุมอาคารอัจฉริยะ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,400 ตารางเมตร บนชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งไฟ LED ในห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับความสว่างในบริเวณ Lobby และพื้นที่ร้านค้าให้สอดคล้องกับแสงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติการก่อสร้างสีเขียว ประกอบด้วยการควบคุมมลพิษในการก่อสร้าง และแนวทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้าง มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างที่ต้องนำไปกำจัด ด้วยการกลบฝังได้มากกว่า 75%

สรุปได้ว่า การจัดงานแบบ ‘Eco-Friendly Event’ รักษ์โลก สามารถทำได้โดยยึดหลักการ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.) Eco-Friendly ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงาน ที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว

2.) เลือกสถานที่จัดงานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงานที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และได้รับการรับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดน้ำ-ไฟ มีมาตรฐาน ISO 20121 ในการบริหารการจัดงานอีเวนต์อย่างยั่งยืน

3.) ลดขยะในทุกมิติของงานอีเวนต์ เริ่มจากลงทะเบียน และอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ ลงช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการใช้กระดาษ ส่วนอาหารและของว่างสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และของที่ระลึกควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมถึงวางแผนลดการสร้างขยะจากอาหาร ด้วยการส่งต่ออาหารที่สั่งมาเกินให้แก่ผู้ขาดแคลน โดยติดต่อมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อช่วยประสานงานรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ และส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนโดยตรง

ทั้งหมดนี้ คือทิศทางที่ผู้ประกอบการไมซ์กับแนวทาง BCG Model จะเดินไปด้วยกัน เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก พร้อมทั้งสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน (Sustainability)

'รัดเกล้า' ย้ำ!! ภารกิจใหญ่รัฐบาล ดันไทย 'ศูนย์กลางอาหารฮาลาล' เล็งเดินหน้า 8 มาตรการ พาอาหารฮาลาลไทยสู่เวทีโลก

(18 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมมุ่งหน้าผลักดันนโยบายหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและมีศักยภาพ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเติมเต็มความต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย อก. ได้จัดทำ 8 มาตรการสำคัญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมโยงกับ Soft Power ในท้องถิ่น ได้แก่

1.ขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับอาหารฮาลาลท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เป็นอาหารแนะนำเสิร์ฟบนเครื่องบิน 

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล กับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะนำ และขึ้นทะเบียนเมนูอาหาร ตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ 

3.ลดข้อจำกัด และอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 

4.เจรจาความตกลง (MOU) เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐทูร์เคีย

5.พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ 

6.สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทยกับประเทศเป้าหมาย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินสาย road show ในตลาดศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 

7.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารในจังหวัดสงขลา 

8.พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

“นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ (Food Technology) เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลของหลายประเทศ เชื่อมตลาดไทยสู่ตลาดโลก ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย” นางรัดเกล้ากล่าว

‘ท่องเที่ยว’ จัดเต็มอีเวนต์ Q4 ชู ‘เคานต์ดาวน์’ หวังดึงต่างชาติ ปักหมุด 'กรุงเทพฯ' อวดโฉมพระปรางค์วัดอรุณฯ และ 'โคราช'

(18 ต.ค. 66) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รุกทำการตลาดและจัดกิจกรรมอีเวนต์เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวให้คึกคักในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เต็มไปด้วยสีสันแห่งการเฉลิมฉลอง ชูไฮไลต์งานเคานต์ดาวน์ในประเทศไทยให้ติดอันดับแลนด์มาร์กโลก หวังผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2566 ไปสู่ระดับ 28-30 ล้านคน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซัน ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมแผนงานทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ และจัดอีเวนต์งานเทศกาล เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศ ไฮไลต์สำคัญคือการจัดงานเคานต์ดาวน์ 2566 ในประเทศไทยให้เป็นอีเวนต์ระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสร้างแรงส่งต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1-2 ปีหน้า ซึ่งจะมีอีเวนต์ใหญ่งานเทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์

“ททท.ได้ยื่นของบกลาง 600 ล้านบาท เพื่อนำไปทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ และจัดอีเวนต์งานเทศกาลทั้งตลาดในและต่างประเทศช่วงไฮซีซันนี้ ผ่าน 4 โครงการ คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้การท่องเที่ยวกลับมาไม่น้อยกว่า 31,660 ล้านบาท โดยงานเคานต์ดาวน์ทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นอีเวนต์หลักในโครงการ ไทยแลนด์ เฟสติวัล เอ็กซ์พีเรียนส์ (Thailand Festival Experience) ที่จะมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ กระจายทั่ว 5 ภูมิภาค ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับคือก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 1,100 ล้านบาท”

โดยสาเหตุที่ต้องยื่นของบกลาง เพราะงบจากร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ กว่าจะใช้ได้ต้องรอไปถึงเดือน มี.ค. 2567

สำหรับข้อเสนอรวม 4 โครงการ ได้แก่

1. อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ พาสปอร์ต พริวิเลจส์ (Amazing Thailand Passport Privileges) งบประมาณ 150 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับคือการรับรู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายของการชอปปิงเพิ่มขึ้น และขยายลูกค้าใหม่จากตลาดต่างประเทศให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว
2. ไทยแลนด์ เฟสติวัล เอ็กซ์พีเรียนส์ (Thailand Festival Experience) ใน 5 ภาค งบประมาณ 200 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับ ก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 1,100 ล้านบาท
3. มาร์เก็ตติง แอนด์ พีอาร์ ฟอร์ซ-มูฟ (Marketing & PR Forced-move) งบประมาณ 150 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับจากตลาดทั่วโลกทุกทวีป 30,000 ล้านบาท
4. เดอะ ลิงก์ โลคอล ทู โกลบอล (The Link Local to Global) งบประมาณ 100 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 560 ล้านบาท

>> ททท.จัดเคานต์ดาวน์ใหญ่ 2 จุด ‘กรุงเทพฯ-โคราช’

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเสริมว่า งานเคานต์ดาวน์ 2566 ที่ ททท.เป็นเจ้าภาพจัดงานเองจะมี 2 จุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปักหมุดวัดอรุณราชวรารามเหมือนงานเคานต์ดาวน์ปีที่ผ่านมา แสดงพลุหน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย พร้อมฉายภาพทัศนียภาพความสวยงามของคุ้งน้ำเจ้าพระยา ส่วนอีกจุดคือ จ.นครราชสีมา ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาเตรียมจัดงานอีเวนต์ใหญ่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นาน 10 วัน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฯ นอกจากนี้ ททท.ยังคงสนับสนุนภาคเอกชนจัดงานเคานต์ดาวน์อย่างต่อเนื่อง เช่น ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์ ด้วย

ส่วนอีเวนต์อื่นๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง เดือน พ.ย.นี้ ททท.เป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ที่คลองผดุงกรุงเกษม และงานวิจิตรเจ้าพระยา แสดงแสงสีเสียงตามแหล่งท่องเที่ยวเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค. 2566 หลังจากเคยจัดปีที่แล้วเป็นระยะ 2 สัปดาห์เพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้รับเสียงตอบรับดีจากนักท่องเที่ยว

>> คาด Q4/66 ทัวริสต์ต่างชาติ 7 ล้านคน

สำหรับแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่ามีจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน เฉพาะเดือน ต.ค. น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ส่วนเดือน พ.ย.-ธ.ค. คาดมีเกิน 2.5 ล้านคนต่อเดือน หลังจากภาพรวมปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศช่วงตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 ปัจจุบันพบว่ากลับมากว่า 60% แล้ว

“ตลาดที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างโดดเด่นเกิน 80-90% เทียบกับเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด มีนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ส่วนตลาดอื่นๆ ที่มีการเติบโตดีกว่ายุคก่อนโควิดคือ ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงอิสราเอลที่ประเมินว่าจะได้จำนวนนักท่องเที่ยวตามเป้าหมาย 2 แสนคนในปีนี้”

>> ‘เศรษฐา’ บุกจีน หนุน ททท. ผนึก 8 พันธมิตร

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า ด้านนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักเดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2562 ด้วยจำนวนกว่า 11 ล้านคน จากสถิติล่าสุดช่วง 9 เดือนครึ่งของปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ต.ค. พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสะสม 2,645,885 คน ส่วนเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนตลอดปี 2566 ททท.ยังตั้งเป้าไว้อย่างน้อย 4 ล้านคน

ภายในสัปดาห์นี้ ททท.จะมีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับ 8 พันธมิตรชั้นนำของจีน ได้แก่ 1. Trip.com 2. Ant International (Alipay) 3. Meituan 4. Huawei 5. Spring Airlines 6. Xinhua Net 7. iQIYI และ 8. JegoTrip ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

พันธมิตรทั้งหมดล้วนเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agents: OTA) สายการบิน และผู้ให้บริการเพย์เมนต์ เกตเวย์ (Payment Gateway) เพื่อทำโปรโมชันและโปรโมตการท่องเที่ยวร่วมกัน ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เชิงบวก โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในตลาดจีน

“ทางนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกำหนดการไปร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 วันที่ 17-18 ต.ค. ณ กรุงปักกิ่ง และการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ต.ค.นี้ที่เมืองจีนอยู่แล้ว จะเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในงานนี้ด้วย” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

>> ‘ต่างชาติเที่ยวไทย’ 9 เดือนครึ่ง ทะลุ 21 ล้านคน

นางสาวสุดาวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ต.ค. 2566 มีจำนวนสะสม 21,019,800 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 882,450 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจาก 5 ประเทศที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย 3,431,287 คน อันดับ 2 จีน 2,645,885 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1,255,769 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,230,125 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 1,038,036 คน

ทั้งนี้ เมื่อดูเฉพาะสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 9-15 ต.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 470,299 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 67,186 คน โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเข้ามาสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย 74,233 คน จีน 61,094 คน อินเดีย 30,170 คน เกาหลีใต้ 27,264 คน และรัสเซีย 22,018 คน

“สัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเพิ่มขึ้น 6.71% จากสัปดาห์ก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 5,227 คน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ประกอบกับสายการบินเริ่มปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมาในภาพรวมประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 470,299 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 27,226 คน คิดเป็น 5.56%”

สำหรับสัปดาห์ถัดไป ตั้งแต่วันที่ 16-22 ต.ค. คาดว่านักท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากการสิ้นสุดวันหยุดยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคโอเชียเนีย ความกังวลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย รวมถึงการเข้าสู่ภาวะสงครามของอิสราเอล นอกจากนั้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุความขัดแย้ง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

กลุ่ม ปตท. จัดงาน ‘PTT Group CG Day 2023’ ครั้งที่ 15 ผนึกกำลังยกระดับความโปร่งใสสู่การเป็น ‘วัฒนธรรมองค์กร’

เมื่อไม่นานมานี้ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนธุรกิจด้วยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในงาน PTT Group CG Day 2023 ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด ‘Good to Great : CG Empowering for the Future ผสานพลังร่วม รวมพลังสร้าง สู่อนาคตยั่งยืน’ ซึ่งเป็นการแสดงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

นายนพดล เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ร่วมกันจัดงาน PTT Group CG Day อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีแสดงพลังร่วมของกลุ่ม ปตท. ในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล พร้อมส่งเสริมบุคลากรในกลุ่ม ปตท. ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปรับใช้ในการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร  

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของกลุ่ม ปตท. ลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ งาน PTT Group CG Day 2023 จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน มีผู้ร่วมงาน ณ ห้อง Synergy Hall ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคาร C กว่า 400 คน และมีผู้ร่วมงานผ่านระบบออนไลน์จากทั่วประเทศ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท. การประกวดผลงานด้าน CG ของพนักงานกลุ่ม ปตท. และการเสวนาหัวข้อ CG Talk : Great of Trust โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ 

นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ รวมไปถึงกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี แก่ผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า แขกรับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ และสื่อมวลชน อีกด้วย

‘สนค.’ เล็งเจาะตลาดอ่าวอาหรับ หวังเพิ่มโอกาสให้การค้าไทย หลัง ‘รถ-ยาง-เครื่องประดับแท้-ไก่-ข้าว’ นำกลุ่มส่งออกโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Council : GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่ม GCC ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็นสัดส่วน 46.7% ของจีดีพี รวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทุกประเทศมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าไทย โดยในปี 2565 กาตาร์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 88,046 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทยถึง 12.7 เท่า และมีจำนวนประชากรรวม 58.9 ล้านคน ใกล้เคียงจำนวนประชากรของไทย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็น 61% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ GCC สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มประเทศ GCC 3 ลำดับแรก คือ จีน, อินเดีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 19 คิดเป็น 1.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่ารวม 4,588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC 44.6% และ 37.3% ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกรองลงมา คือ คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ

โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้เพิ่มเติม โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น, สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศ GCC ที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยส่งออก ‘รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ’ สัดส่วน 37% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มประเทศ GCC ทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 17.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออก ‘ยางยานพาหนะ’ สัดส่วน 4.1% ขยายตัว 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 5.6% และ ยางยานพาหนะที่ 7.4% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มประเทศ GCC ต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 4.3% ขณะที่การส่งออกใน ช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวที่ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องประดับแท้ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.9% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 5% ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มประเทศ GCC ยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ‘ไก่’ และ ‘ข้าว’ อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิม ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

“ตลาดกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย มีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม จากการวิเคราะห์ด้วย ‘Data Analytics Dashboard’ แม้ปัจจุบัน ไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นหลัก หรือมากกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกจากไทย แต่จะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าไก่และข้าว

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2566 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ดีขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอีกด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว

'พิมพ์ภัทรา' สั่งเคลียร์ของเสีย 1.3 หมื่นตัน โรงงาน 'แวกซ์ กาเบ็จ' หลังพบปัญหายืดเยื้อ 20 ปี ลั่น!! ต้องจบภายใน มี.ค.67

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.66 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่โรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ว่า ได้เร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานที่เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมากกว่า 20 ปี

แม้ว่าจะสั่งการตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังคงมีกากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุตกค้างในพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งกระทบกับประชาชนและชุมชนรอบโรงงานในภาคเกษตรกรรมและน้ำอุปโภค บริโภค

"การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจริงจังและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนโดยรอบโรงงาน โดยกรณีนี้ได้รับงบกลางปี 2566 วงเงิน 59.8 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากากของเสียทั้งระบบ 13,439 ตัน ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายศุภเวศ ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้เร่งเตรียมแผนโครงการศึกษาฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงาน คาดว่าจะดำเนินการครอบคลุมได้ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ของตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

‘รมว.กก.’ ปลื้ม!! ยอดต่างชาติแห่เที่ยวเมืองไทย แตะ 21 ล้านคน โกยเม็ดเงินเข้าประเทศ 8.8 แสนล้าน พบ ‘นทท.มาเลฯ’ ยืนหนึ่ง!!

(17 ต.ค. 66) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประเมินเบื้องต้น พบว่า จากสถิติประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 ตุลาคม 2566 รวมกว่า 21,019,800 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 882,450 ล้านบาท

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6.71% หรือเพิ่มขึ้น 5,227 คน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ประกอบกับสายการบินเริ่มปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ในภาพรวมไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 470,299 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 67,186 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 27,226 คน หรือลดลง 5.56%

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ มาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 74,233 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% รองลงมา ได้แก่ จีน 61,094 คน ปรับลดลง 18.64%, อินเดีย 30,170 คน ปรับลดลง 11.32%, เกาหลีใต้ 27,264 คน ปรับลดลง 11.31% และรัสเซีย 22,018 คน ปรับลดลง 2.88%

โดยในสัปดาห์ถัดไป คาดว่านักท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยหลังจากสิ้นสุดวันหยุดยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคโอเชียเนีย อีกทั้งมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย รวมถึงการเข้าสู่ภาวะสงครามของอิสราเอล นอกจากนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุความขัดแย้ง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

‘หอการค้า’ ชื่นชม!! รัฐบาลทำงานเร็ว 30 วัน ‘ลดค่าไฟ-รถไฟฟ้า-ฟรีวีซ่า’

(17 ต.ค. 66) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการทำงานของรัฐบาลครบรอบ 1 เดือน หลายประเด็นรัฐบาลเดินหน้ารวดเร็ว โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ 

หอการค้าไทยต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งมีหลายมาตรการที่ออกมา เช่น มติ ครม.วันนี้ (16 ต.ค.) ที่อนุมัติให้ลดค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง ‘สายสีม่วง-สีแดง’ ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าลง 11 สตางค์ เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย และเริ่มทันทีในรอบบิล ก.ย.ที่ผ่านมา 

ซึ่งภาพรวมต้องชมเชยว่ารัฐบาลเร่งเครื่องรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตในภาวะที่เศรษฐกิจยังมีทิศทางการฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มเติมขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 

ขณะเดียวกัน มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งที่ได้ประกาศ Free Visa นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ที่มีผลตั้งแต่ 25 ก.ย. 66 – 29 ก.พ. 67 รวมระยะเวลา 5 เดือน และ ครม.ยังได้มีมติขยายระยะเวลา Free Visa ให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย จาก 30 วันเป็น 90 วัน ซึ่งถือเป็นชาติที่ 3 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในไทย ซึ่งจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมปีนี้ไปถึงเป้าหมายที่ 25 – 30 ล้านคน

‘เฮียฮ้อ’ ส่ง ‘RS LiveWell’ ลงทุนในแบรนด์ ‘Erb’ กว่า 60% ปูทางรุกธุรกิจ ‘Wellness & Spa’ รับเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

(17 ต.ค. 66) สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจาก อาร์เอส กรุ๊ป ทรานส์ฟอร์มองค์กรจากการดำเนินธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์มาสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซ ภายใต้โมเดล Entertainmerce ได้มุ่งมั่นการขยาย Ecosystem ธุรกิจคอมเมิร์ซเพื่อรักษาอัตราการเติบโตและหาโอกาสในการขยายฐานการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้บริษัท RS LiveWell ซึ่งเป็น Product Company ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รวมถึงการเข้าลงทุนในแบรนด์สุขภาพ-ความงามที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพ ล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท เอิบเอเชีย จำกัด หรือ Erb ในสัดส่วน 60%

“Erb เป็นแบรนด์เครื่องหอมและสกินแคร์ที่มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 25 ปี ผู้บริหารและพนักงานมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในธุรกิจ รวมไปถึงมีคอนเนกชันและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารและทีมงานของ อาร์เอส ผสานกับ Ecosystem และความเชี่ยวชาญของทุกธุรกิจในเครือ จะสนับสนุนให้ Erb เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาสินค้า การตลาด การประชาสัมพันธ์ ช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และการจัดจำหน่าย ส่งผลให้ธุรกิจของ Erb มีสินค้าและบริการที่ครบวงจรและเติบโตอย่างชัดเจน”

พัชทรี ภักดีบุตร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Erb กล่าวว่า Erb ใช้ความโดดเด่นในเรื่องของภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งขยายธุรกิจไปในตลาดที่มีโอกาสและสอดคล้องกับ Core business ของบริษัท อาทิ Wellness and Spa โดยใช้จุดแข็งของตัวแบรนด์ นำไปสู่การเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาสนใจและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลสะท้อนเชิงบวกแก่แบรนด์ในการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เพื่อตอบสนองตลาด จึงมองหาพาร์ตเนอร์ โดยเงินลงทุนที่ได้ครั้งนี้จะนำไปสร้างทีมเพื่อดูแลรับผิดชอบธุรกิจใหม่ รวมถึงขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และ Collaboration projects ต่างๆ

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Erb มีการจำหน่ายแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ อาร์เอส จะทำให้ Erb แข็งแรงขึ้นจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” พัชทรี กล่าวและว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการของ Erb แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์สกินแคร์, ผลิตภัณฑ์สปาภายในบ้าน, ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมภายในบ้าน, Amenity kit และเซ็ตของขวัญ, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอนามัย และธุรกิจสปา

สุรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากผลิตภัณฑ์และบริการของ Erb ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจสปา จะทำให้ อาร์เอส มีโอกาสรุกและขยายธุรกิจ Wellness and Spa มากขึ้น รองรับการเติบโตตามเทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ภาครัฐสนับสนุนการเดินหน้าสู่ Medical Hub ของไทย รวมถึงเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของ RS LiveWell ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ Erb จะเดินหน้าเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น สร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ อาทิ การทำสินค้า Corporate brand การขยายธุรกิจ Spa ไปยังโรงแรมและสถานที่ Prime location ต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือใหม่ ๆ กับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ ที่มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน 

‘กลุ่มรวมพลคนเอาเงินหมื่น’ บุกหนุน ‘เพื่อไทย’ แจกเงินดิจิทัล ฟาก ‘จุลพันธ์’ ยัน!! พร้อมผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริง

(17 ต.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) กลุ่มรวมพลคนเอาเงินหมื่น นำโดย นายยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ อดีตผู้สมัครสส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ได้มอบเสื้อที่มีข้อความว่า “ประชาชน สนับสนุน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต” และสติกเกอร์ ให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมร้องเพลง “คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ เงินหมื่นจะได้สักที เพราะมีหนี้นะคะ” เพื่อสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดยนายจุลพันธ์ กล่าวว่า จริง ๆ ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านเราก็พร้อมรับฟัง ส่วนตัวไม่แปลกใจที่มีเสียงคัดค้าน เพราะทุกนโยบายรัฐบาลที่ทำมาก็มีทั้งค้านและสนับสนุน ที่นายกฯ บอกให้ประชาชนสะท้อนเสียงมานั้น ไม่ได้ต้องการให้เกิดความแตกแยก แต่เพื่อต้องการรับฟังเสียงของประชาชนให้รอบด้าน เพราะเรามาจากประชาชนเห็นความลำบากของประชาชน เมื่อเราเข้ามาจึงต้องการประชาชนอยู่ดีกินดี และต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศไทยโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% เป็นอย่างน้อย ตนฟังเสียงทุกเสียง ทั้งความเป็นห่วงเม็ดเงินไปลงที่คนรวยแล้วจะใช้หรือไม่ วันนี้เราคิดว่าจะมาจะตัดในส่วนของคนรวยออกหรือไม่ เราคิดจริง ๆ ถ้าไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนดีไม่ดีจะตัดไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อฟังเสียงวันนี้ชัดเจนทุกคนยังรออยู่ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นรัฐบาลและได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องนี้ ยืนยันว่าเราสู้และจะสนับสนุนนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

‘ครม.’ รับทราบหลักการ ‘แลนด์บริดจ์’ มูลค่า 2.28 แสนลบ. เชื่อมท่าเรืออ่าวไทย-อันดามัน พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

(17 ต.ค. 66) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป

สำหรับแผนการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นั้น กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการ Road Show ในช่วง พ.ย. 2566 - ม.ค. 2567 จากนั้นจะจัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ภายในปี 2567 และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในช่วง ธ.ค. 2567

ทั้งนี้ จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนใน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ควบคู่กับการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วง ม.ค. 2568 - ธ.ค. 2569 หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาภายใน ก.ค. - ส.ค. 2568 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 5 ปี หรือ ก.ย. 2568 - ก.ย. 2573 และเปิดให้บริการใน ต.ค. 2573

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุต่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์ รวมประมาณการลงทุนโครงการ วงเงิน 228,512.79 ล้านบาท มีรูปแบบการพัฒนาโครงการโดยเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า

ทั้งนี้ เป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ พร้อมทั้งกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการฯ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า

โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ได้แก่ การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง (อันดามัน) บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี 2577 และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2579

อย่างไรก็ตามขณะที่ การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร (อ่าวไทย) บริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี 2577 ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2582

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43% มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62% ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 อีกทั้งการพัฒนาโครงการฯ จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง ร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top