Wednesday, 1 May 2024
ECONBIZ

'บรรพบุรุษ' กด Like!! 'บอนชอน' ขอแจมช่วงตรุษจีน ส่ง ‘ไก่ไหว้เจ้า’ ทอดทั้งตัว รสซอยการ์ลิค

บอนชอน ร้านไก่ทอดชื่อดังเปิดให้พรีออเดอร์ ‘ไก่ไหว้เจ้า’ ต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง โดยรายละเอียดระบุว่า เป็นไก่บอนชอนทอดทั้งตัว (ไม่มีเครื่องใน) ทาเคลือบด้วยซอสซอยการ์ลิค รสเข้มข้น

รายละเอียดระบุว่า ผู้ที่สนใจสามารถสั่งจองไก่ได้ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และรับสินค้าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยราคาไก่ไหว้เจ้าทอดดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ตัวละ 688 บาท

แต่มันก็จะแปลกๆ นิด ไก่อะไรไม่มีตา!!

‘บิ๊กตู่’ สั่งด่วนกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งด้านปริมาณการค้าที่ลดลง ตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณากำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบการประกอบกิจการในช่วงภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แนวทางช่วยเหลืออย่างเช่น การอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้เดิมสามารถเข้าเทียบท่าได้เพื่อขนส่งสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น การผ่อนปรนการเรียกเก็บค่าบริการท่าเทียบเรือ

“กระทรวงพาณิชย์ได้สะท้อนปัญหาของผู้ส่งสินค้าทางเรือและผู้ส่งออกต่อที่ประชุม ครม. ล่าสุดนายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ และได้มอบหมายให้ให้กระทรวงคมนาคมกำกับติดตามการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามแนวนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนมากที่สุด

และล่าสุดรัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการกลุ่มผู้ส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการนำเข้าและส่งออก ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะจากปริมาณการค้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ผู้ส่งออกเองก็ประสบปัญหาค่าระวางของการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในระยะยาว

กรมส่งเสริมการค้าฯ วิเคราะห์นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ยุค ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ คาดสร้างโอกาสการร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และช่วยเพิ่มให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการและลงนามในคำสั่งบริหารและคำสั่งอื่นๆ รวม 15 ฉบับ

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประเมินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ หลังจากนี้ น่าจะส่งผลดีทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศเอเชียดีขึ้น สร้างโอกาสการร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และช่วยเพิ่มให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการวางแผนการทำงานในปี 2564 โดยเดินหน้าขยายตลาดส่งออกในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นไปที่สินค้าที่มีศักยภาพ คือ อาหารสำเร็จรูป อาหารเสริม สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน วัสดุแต่งสวน สินค้าสัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เกมส์และความบันเทิงภายในบ้าน และสินค้าป้องกันส่วนบุคคลที่จะมีความต้องการจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย โดยตั้งเป้าหมายปีนี้จะขยายตัวที่ 4%

แต่อย่างไรก็ตามยังต้องระวังผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่เน้นพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น ทำให้อาจมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้นตามมา เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าต่างๆ เช่น สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการติดตามนโยบายด้านการเงินการคลังของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีผลต่อค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วย

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต ส่งทัพการ์ตูนคาแรกเตอร์ - แอนิเมชันไทย เจาะตลาดญี่ปุ่น ปูทางขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่นประกอบด้วยนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต”และแผนงานการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับการบริการและอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว"

ได้จัดโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้คาแรกเตอร์การ์ตูนและแอนิเมชันของไทย (Cartoon Characters & Animation) ในเขตพื้นที่ภายในกรุงโตเกียวและนอกเขตกรุงโตเกียว หรือโครงการ Thai Cartoon Project ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนกันยายน 2564 โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 11 - 27 มกราคม 2564 เพื่อส่งเสริม Thai Licensing Character และ Animation ไทย

โดยในปี 2564 มีกิจกรรมจัดขึ้นภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว อาทิ การจัดกิจกรรม Pop up Exhibition เพื่อจัดแสดงคอนเทนท์และสินค้าการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทย ในโตเกียว 1 แห่ง และเมืองรอง 1 แห่ง การกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการและคาแรคเตอร์ไทยผ่านสื่อออนไลน์ เช่น สื่อ SNS (Instagram /Twitter @thaicharatokyo) และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่คอนเทนท์ การ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้เข้าถึงชาวญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง กิจกรรมพิเศษต่างๆ เช่น การวาดภาพสด (Live Drawing) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยได้พบปะกับชาวญี่ปุ่นโดยตรง

สำหรับ โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้ Cartoon Characters และ Animation ไทย ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้อุตสาหกรรม Digital Contents ซึ่งรวมถึง Cartoon Characters และ Animation ไทยในประเทศญี่ปุ่น เป็นการ

ปูทางในการบุกเบิกตลาด เนื่องจากมีกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยติดตามโครงการผ่านสื่อ SNS เพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหนึ่งในโครงการของกรมฯ ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยได้เข้าตรงถึงตลาดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ควบคุมสินค้า หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ น้ำเย็น เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ยกระดับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาคทั่วไป เป็นภาคบังคับ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควบคุมสินค้า 7 รายการ คือ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ น้ำเย็น เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก ยกระดับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. ภาคทั่วไป ไปเป็นมอก. ภาคบังคับ เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าทุกราย จะต้องจำหน่าย หรือนำเข้าสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์มอก.ภาคบังคับเท่านั้น

ทั้งนี้ในการออกมาควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะในปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการได้นำหน้ากากอนามัย และถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ออกมาขายเป็นจำนวนมาก และพบว่า มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานปะปนอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนที่ซื้อไปใช้

ขณะเดียวกันได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 76 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันดวงตาและใบหน้าสำหรับป้องกันหยดและละอองของเหลว หรือเฟสชิลด์ ผ้าป้องกันแบคทีเรีย ยางล้อรถยนต์และยางล้อจักรยานยนต์ เสื้อชูชีพ อาหารกระป๋อง หัวฝักบัวอาบน้ำ สายฝักบัวอาบน้ำ และเครื่องสำอางด้วย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยโควิด-19 ระบาด ระลอกใหม่ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน วอนรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น พร้อมเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภคและคู่ค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพ.ย.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านภาคการส่งออก ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงและสูญเสียรายได้จากการส่งออก ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือนพ.ย.63 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วและเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ประธาน ส.อ.ท. ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ให้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด, เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย และเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน SMEs เป็น 50% หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

มาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ

รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

‘โครงการบ้านผีเสื้อ’ ของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 32 หลังสหภาพยุโรปประกาศแพลตฟอร์ม โครงการต้นแบบด้านไฮโดรเจน ชูจุดเด่นกลุ่มอาคารบ้านพักแห่งแรกของโลกที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

โครงการบ้านผีเสื้อของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 32 โครงการต้นแบบด้านไฮโดรเจนทั่วโลกบนแพลตฟอร์ม Hydrogen Valley ของ Mission Innovation ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอโครงการชั้นนำที่เรียกว่า "Hydrogen Valleys" เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาโครงการที่ส่งไปถึงผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก

จากการประกาศโครงการไฮโดรเจนชั้นนำของโลกโดยคณะกรรมาธิการยุโรป มีโครงการบ้านผีเสื้อที่พัฒนาโดย Enapter หนึ่งในบริษัทไฮโดรเจนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ ติดอันดับด้วย

สำหรับโครงการนี้สร้างขึ้นในปี 2015 เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน ผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งหมด ที่สำคัญโครงการบ้านผีเสื้อเป็นเพียงโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Hydrogen Valley และเป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่มีการใช้งานจริง จาก Hydrogen Valley อื่น ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ทั้งนี้ แนวคิด Mission Innovation ริเริ่มจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2015 เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดในระดับโลก การเปิดตัวแพลตฟอร์มในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านนวัตกรรม 1 ใน 8 ด้าน นำโดยประเทศออสเตรเลีย เยอรมนี และสหภาพยุโรป ในฐานะผู้นำร่วมของเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนและไฮโดรเจนสะอาด

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ประเทศไทยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ภายในปี 2037 ทั้งนี้ ความท้าทายไม่ใช่แค่การผลิตพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศไทยเห็นว่าการกักเก็บพลังงานมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เราจึงยินดีที่ทราบว่าประเทศไทยมีโครงการบ้านผีเสื้อ อยู่ในแพลตฟอร์ม Hydrogen Valley ของ Mission Innovation และหวังว่าบ้านผีเสื้อจะไม่เป็นเพียงโครงการเดียวแต่เป็นโครงการแรกของอีกหลาย ๆ โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

นายจอร์จ ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ โครงการบ้านผีเสื้อ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นว่าพลังงานไฮโดรเจนสามารถนำมาใช้ได้แล้วในวันนี้ เป็นต้นแบบของ Enapter บริษัทสัญชาติเยอรมันที่เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน"

โครงการบ้านผีเสื้อ เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮบริดไฮโดรเจนร่วมกับแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โครงการต้นแบบนี้พัฒนาโดยนายเซบาสเตียน ยุสตุส ชมิดท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Enapter ผู้ผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์เทคโนโลยี AEM ที่ติดตั้งอยู่ในโครงการบ้านผีเสื้อ ทำงานโดยการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์

ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ พักชำระหนี้ 6 เดือน - 1 ปี ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 28 จังหวัดเขตควบคุมสูงสุดและที่ภาครัฐจะประกาศเพิ่ม พร้อมขยายเวลาเปิดรับคำขอสินเชื่อฉุกเฉิน

รายละไม่เกิน 10,000 บาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม โดยจะพักชำระต้นเงินสำหรับเกษตรกร 1 ปี และพักชำระต้นเงินเอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลา 6 เดือน กรณีเป็นสินเชื่อใหม่ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระในเดือนธ.ค. 2563 ถึงพ.ค. 2564 ให้พักชำระต้นเงินสินเชื่อฉุกเฉินโควิด-19 ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงพักชำระต้นเงินสินเชื่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบออกไปอีก 1 ปี

พร้อมทั้งเตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียง 0.1% ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค.2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้าน จะได้รับเงินคืนในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 – 31 มี.ค. 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ

กรมการขนส่งทางราง ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง ปลัด กทม. ขอให้ทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ชี้สามารถทำได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย เชื่อทำให้คนใช้บริการมากขึ้น

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ที่ให้มีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 เป็นต้นไป เนื่องจาก กรมการขนส่งทางราง พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณชน จึงขอให้ กทม. พิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม

โดยขอให้ทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามประกาศดังกล่าว และขอให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 ที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และ กทม. บูรณาการร่วมกันในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง จะเสนอกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่ ครม. มอบหมาย หารือร่วมกับ กทม. โดยเร็วต่อไป เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอแนะในการขยายสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้อย่างชัดเจนว่า สามารถกำหนดได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย และควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้การจราจรใน กทม. เบาบางลง โดยปัจจุบันพบว่าผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าโดยสารควรวิเคราะห์จากต้นทุนที่แท้จริง และหากถูกลงจาก 65 บาทตลอดสาย ในอนาคตจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครม.อนุมัติ แจกเงิน “เราชนะ” 3,500 บาท 2 เดือน เยียวยาโควิด กลุ่มเป้าหมายประมาณ 30-35 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 ขณะที่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน เงินเข้าอัตโนมัติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมครม.ได้อนุมัติมาตรการ “เราชนะ” กระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

ทั้งนี้ สำหรับเงื่อนไขโครงการเราชนะ รัฐบาลจะแจกเงิน 3,500 บาท จำนวน 2 เดือน มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 30-35 ล้านคน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64

ธนาคารออมสิน เผย 4 วัน อนุมัติ ‘สินเชื่อเสริมพลังฐานราก’ แล้ว 110,000 ราย พร้อมปรับหลักเกณฑ์ให้คนเคยกู้ ‘สินเชื่อฉุกเฉิน’ กู้อีกได้ ดีเดย์ ให้ยื่นกู้ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.64 เป็นต้นไป

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารออมสินมีมาตรการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อประชาชนรายย่อย สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดรายละ 50,000 บาท ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก เพียง 4 วัน (15-18 มกราคม 2564) ธนาคารฯ ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 110,000 ราย ซึ่งถือเป็นการให้กู้ยืมแบบดิจิทัล (Digital Lending) ที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก สะดวกและอนุมัติรวดเร็ว โดยขณะนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากมายและคาดว่าจะยังมีผู้สนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนรายย่อยและรองรับความต้องการที่มีเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเร่งด่วนที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ รวมถึงได้รับการอนุมัติที่รวดเร็ว ธนาคารจึงปรับหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อขึ้นใหม่เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ผู้ที่เคยกู้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา COVID-19 (สินเชื่อฉุกเฉิน) เมื่อปี 2563 สามารถยื่นกู้ได้อีก ซึ่งการพิจารณาวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับเครดิตและประวัติการชำระ เปิดให้ลงทะเบียนขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 นี้เป็นต้นไป

“การปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของธนาคารที่จะช่วยรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า คนที่มีอาชีพอิสระที่เคยกู้สินเชื่อฉุกเฉินและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อเสริมพลังฐานรากได้ โดยให้รายละ 20,000 บาท หรือต้องมีประวัติการผ่อนชำระดีในช่วงที่ผ่านมา และไม่มีประวัติหนี้เสีย ซึ่งธนาคารจะพิจารณาช่วยเหลืออย่างเต็มที่” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

อาร์เอส ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ ขยายอาณาจักรเพิ่มจากบันเทิง-ช้อปปิ้ง ไปสู่ธุรกิจสายการเงิน เน้นเข้าควบรวมธุรกิจเฉพาะ สร้างฐานเครืออาร์เอสมั่นคงในระยะยาว

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การก้าวสู่ New Era เพื่อสร้าง New S-Curve นั้น การเข้าซื้อลงทุนในกิจการ หรือ M&A เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้าง Ecosystem ให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนมั่นคงในระยะยาว ด้วยการเข้าลงทุนผ่านงบ 920 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 'บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด' โดยได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน

สำหรับเหตผลที่ อาร์เอส เข้าซื้อหุ้น 'กลุ่มบริษัทเชฎฐ์' เพราะมองว่าภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดโมเดลธุรกิจ Entertainmerce โดยการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ที่มีบริษัทย่อย 3 บริษัท (ถือหุ้น 100%) ได้แก่ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเรียกรวมว่า กลุ่มบริษัทเชฎฐ์ ซึ่งประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่

1) ธุรกิจบริหารหนี้ครบวงจร และที่ปรึกษาการบริหารจัดการหนี้ ดำเนินการโดย บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด มีพนักงาน Call center กว่า 400 คน และทีมติดตามและบริหารหนี้กว่า 100 คน สำหรับรองรับการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าพอร์ตให้บริการติดตามหนี้สินกว่า 45,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 3 แสนราย ลูกค้าหลักได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน

2) ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ เข้าซื้อ รับโอนและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ NPL ทั้งจากกลุ่มสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจนี้ ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด ได้รับใบทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) และ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ปัจจุบัน มีมูลค่าพอร์ตหนี้ภายใต้การบริหารกว่า 27,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 1 แสนบัญชี

3) ธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัจจุบันมีมูลค่าสินเชื่อคงเหลือประมาณ 300-400 ล้านบาท รวมทั้งหมดกว่า 1,000 บัญชี

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน กลุ่มบริษัทเชฎฐ์มีการประกอบธุรกิจที่ครบวงจร ตั้งแต่การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ การติดตามทวงถามหนี้ บังคับคดีและการให้สินเชื่อรายย่อย และมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้บริหาร ทีมงาน และบุคลากร ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การดำเนินการธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน จึงเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้กับอาร์เอส

โดยปีที่ผ่านมา คาดว่ากลุ่มบริษัทเชฎฐ์ มีประมาณการรายได้รวมราว 600-700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณเกือบ 150-200 ล้านบาท

ดังนั้น การที่ อาร์เอส กรุ๊ป เข้าถือหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกธุรกิจใหม่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และยังมีแผนการเติบโตของพอร์ตบริหารหนี้และยอดสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในอนาคต

"จากความร่วมมือของทั้งสองกลุ่มบริษัทในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถสร้าง synergy ที่แข็งแรงมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทางทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละบริษัทฯ ทั้งในด้านสื่อ ช่องทางการขาย ระบบการบริหารจัดการข้อมูล และ Ecosystem ของ อาร์เอส กรุ๊ป รวมถึงประสบการณ์ความชำนาญในธุรกิจ และภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทเชฎฐ์ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์เสริมให้กันและกันอย่างมาก อาทิ การขยายฐานลูกค้า ช่องทางการขาย การใช้สื่อและกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ ซึ่งเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างและต่อยอดโมเดล Entertainmerce ได้อย่างแน่นอน และจะช่วยเสริมให้กลุ่มบริษัทเชฎฐ์มีการเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคตจนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี” นายสุรชัย กล่าว

บอร์ดก.ล.ต. มีมติให้ bitkub แพลตฟอร์มซื้อขายบิทคอยน์ แก้ไขระบบงานภายใน 5 วัน เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน หลังมีคนร้องเรียนจำนวนมาก จากกรณีระบบซื้อขายล่มหลายครั้ง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าตามที่ปรากฏข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าเกิดกรณีปัญหากับระบบงานของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) โดยพบว่า มีกรณีที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ และมีการหยุดชะงักของระบบงานสำคัญ ได้แก่ ระบบซื้อขายวันที่ 2 วันที่ 3 และวันที่ 16 มกราคม 2564 รวมทั้งมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากนั้น

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีมติให้ Bitkub ส่งแผนการแก้ไขให้ ก.ล.ต. และดำเนินการแก้ไขระบบงานที่เป็นประเด็นปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ได้แก่

แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการซื้อขาย ระบบการฝากถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบการแสดงข้อมูลทรัพย์สินลูกค้า ระบบการให้บริการติดต่อลูกค้า ระบบการรับลูกค้า การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) และการเปิดบัญชี ระบบการจัดการเรื่องร้องเรียน และการจัดการบุคลากรให้เหมาะสมและเพียงพอกับปริมาณลูกค้าและธุรกรรม

แก้ไขนโยบายการรับลูกค้าให้เหมาะสมกับระบบงานที่พร้อมให้บริการตามข้อตกลงระดับการให้บริการที่ตกลงไว้กับลูกค้า (Service Level Agreement)

แก้ไขระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ระบบซื้อขายขัดข้อง สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ ปริมาณลูกค้า และธุรกรรมในปัจจุบัน

แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงาน ของระบบซื้อขายให้มีความเรียบร้อย (Market Surveillance)

กฟภ.เผยอยู่ระหว่างเจรจากับ ปตท.เพื่อร่วมมือในการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ คาดชัดเจนในปีนี้

นายภานุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ.อยู่ระหว่างเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อร่วมลงทุนในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. รวมทั้งขยายในสำนักงานย่อยของ กฟภ.ด้วย เบื้องต้นจะติดตั้งประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

“การลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเริ่มเห็นมีการวิ่งในท้องถนนกันมากขึ้น และค่ายรถยนต์หลายค่ายก็เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าจะมีคนใช้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายรายก็เริ่มมีการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จ EV รวมถึงพัฒนารถยนต์ EV ทั้งนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตหรือมีการใช้มากขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายของภาครัฐด้วย” นายภานุมาศกล่าว

ก่อนหน้านั้น กฟภ.ได้มีความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick charge สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท บางจากฯ ในทุกๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักของประเทศไทยรวม 62 สถานีภายในปี 2563 - 2564

โอกาสทางธุรกิจ!! โควิดดันเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยพุ่ง หลังพบตัวเลขปี 63 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโต 81% ขณะที่บริการเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มูลค่าแตะ 3.3 หมื่นล้าน นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ตลาดยังโตได้อีก แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมธุรกิจ แทนการออกกฎหมายฉุดรั้ง

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องพบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านราย ในปี 2562 (2019) เป็น 400 ล้านราย ในปี 2563 (2020)

จากรายงานข้างต้นพบว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลามากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 ราย มองว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน

ทั้งนี้จากแนวโน้มที่คนอาเซียน และคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 ระบุว่า สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยว และการขนส่งที่หดตัวลงจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า มูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value : GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) นั้นมียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี

ดร.สุทธิกร กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 (2020) ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งให้ทั้งสองธุรกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025) ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42%

อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากนโยบายล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน

หากมองย้อนกลับไปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นในการสั่งอาหารออนไลน์ และบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ดร.สุทธิกร แสดงความเห็นว่า นับเป็นเรื่องที่ดีและสมควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงฯ) กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง และเป็นไปของเทคโนโลยีโดยเฉพาะการกำหนดโควตาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งในฐานะนักวิชาการด้านธุรกิจดิจิทัลมีความเห็นว่าควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะเดินหน้าผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) แบบถูกกฎหมาย แต่การผลักดัน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ควรต้องเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควตาอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ”ดร.สุทธิกร ระบุ และย้ำว่า

การกำหนดโควตา (จำนวนรถยนต์หรือคนขับ) นั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควตาน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ เมื่อจะมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติมากมายของหน่วยงานราชการ จนไม่ทันการกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด

ยกตัวอย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า มีปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นอย่างทวีคูณ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ มีคนขับไม่เพียงพอกับการสั่งอาหาร ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้จำกัดโควตารถส่งอาหารทำให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้ทันที โดยในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอย่าง Grab สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้กว่าครึ่งแสน ช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังช่วยสร้างรายได้ทดแทนให้กับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด

โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง LINE MAN เองก็มีแผนจะเปิดรับคนขับส่งอาหารเพิ่มอีกใน 29 จังหวัด รวมถึงรายอื่นๆ เองก็มีแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น

ดังนั้น แทนที่ภาครัฐจะออกกฎมาควบคุมการบริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะการกำหนดโควตา ควรหันไปลดเงื่อนไข และข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระกับผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะดีกว่าหรือไม่? เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้บริโภค (ผู้โดยสาร) ได้มากที่สุด

“การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุม และกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว”

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top