Sunday, 11 May 2025
ECONBIZ

‘พิชัย จาวลา’ แชร์!! ‘ทฤษฎีผลประโยชน์’ ที่ทำให้คนรวยกลุ่มน้อย ยังรวยต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ ‘คุณพิชัย จาวลา’ นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวถึง หลักการหลักคิดของ 'ทฤษฎีผลประโยชน์' ที่ทำให้คนรวยราว 20% ของประเทศ ยังคงรวยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยระบุว่า…

“ความแตกต่างที่แท้จริงของ ‘คนรวย’ กับ ‘คนชั้นกลาง’ อยู่ตรงนี้ คือ คนรวยจะหาวิธีเพิ่มกําไรโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่คนชั้นกลางจะคิดว่า จะเล่นเกมไฮริสไฮรีเทิร์น คิดว่าถ้าจะได้กําไรเพิ่ม ต้องเสี่ยงเพิ่ม ซึ่งคนรวยไม่ทําเพราะธุรกิจเขาใหญ่แล้ว เขาเสี่ยงไม่ได้ ผิดครั้งเดียวเขาอาจจะล้มได้ เพราะฉะนั้นสมองเขาจะอยู่ในจุดนี้ตลอดเวลาว่า“ทํายังไงฉันถึงจะเพิ่มกําไรได้ แต่ความเสี่ยงต้องไม่เพิ่ม” ซึ่งมีวิธีเยอะแยะ โดยเริ่มจากตรงนี้ พอเน้นความมั่นคงแล้วกําไรอาจจะน้อย ก็ไม่เป็นไร อาศัยปริมาณเอา ทําให้ขยายได้เร็วและกู้ได้เยอะ ก็เป็นกําไรตรงนั้นแทน สามารถรับรู้กําไรระหว่างทางได้ ยังมีเครื่องมือทางการเงิน อย่างเช่น การขยายเทอมกับแบงก์ ซึ่งจะเพิ่มทำกําไรให้เราได้อีก แล้วก็รับรู้ด้วยการเอาเข้าลีก หรือเอาเข้าตลาดหุ้นอะไรต่าง ๆ ซึ่งก็จะกลายเป็นกําไรที่มาก แต่โดยที่ไม่ได้เน้นกําไรทางตรงอาจจะได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารของเราด้วย ว่ากําไรทางตรงเราจะน้อยหรือมาก แต่โดยหลักคิดทั่วไปมันมักจะน้อย เหมือนกับว่าถ้าเราเน้นทําเลดีในสุขุมวิท เราจะหา 10% หาไม่ได้ ต้อง 6-7% แต่มั่นคงที่สุด โดยหลักแล้วมันมักจะน้อย แต่ว่าก็ไปเอากําไรทางอื่นแทนอย่างที่ผมบอก ซึ่งตรงนี้รายละเอียดมันเยอะ”

คุณพิชัย จาวลา ได้นําเสนอทฤษฎี ‘ระบบผลประโยชน์’ เอาไว้ โดยกล่าวว่า “เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์แล้วคือเรื่องของ ‘ผลประโยชน์’ การที่เราใช้ทฤษฎีนี้ เพราะผมคิดว่าทฤษฎีนี้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานหรือสัญชาตญาณลึก ๆ ของเรา ที่เราอยากจะรู้ ซึ่งมนุษย์ทุกคนอยากจะได้เงินง่ายและสบาย อยากจะรู้ทิศทาง หรืออยากจะรู้วงจร ถ้าเรารู้ตรงนี้แล้ว เราจะสามารถวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ดีและถูกต้อง เพราะว่าในทฤษฎีผลประโยชน์ สิ่งที่เราต้องยึดมั่น คือทิศทางผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยเราจะต้องเป็นคนส่วนน้อย”

ระบบคิดใหม่หรือทฤษฎีผลประโยชน์ให้แนวคิดไว้ว่า ในตลาดหุ้นระบบทุนนิยมคือภาคใหญ่ที่สําคัญที่สุด และระบบทุนนิยม จะไม่เปิดช่องให้คนส่วนใหญ่ทํากําไรได้พร้อม ๆ กัน เพราะว่ามันขัดแย้งกับระบบทุนนิยมในโลกของความเป็นจริง ทําให้ในตลาดหุ้นจะมีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้น 20% ที่จะได้กําไรมาก ๆ จากคนส่วนใหญ่ 80% สิ่งที่ขับเคลื่อนเงินตราคือผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย โดยที่คนกลุ่มน้อยนั้น มีเม็ดเงินจํานวนมหาศาลมากกว่าคนส่วนใหญ่ และเงินจํานวนมหาศาลของคนกลุ่มน้อยนั้น สามารถกําหนดทิศทางของราคาหุ้นได้ชนิดที่เรียกว่า ถ้าคนกลุ่มน้อยซื้อหรือขายก็จะมีผลต่อราคาหุ้นให้ ‘ขึ้น’ หรือ ‘ลง’ ทันที ดังนั้น คําถามสําคัญในตลาดหุ้น คือ ในเวลาที่หุ้นถูกถล่มขายจนราคาดิ่งเหว ใครเป็นคนรับซื้อ? เพราะซื้อจะต้องเท่ากับขายเสมอจึงจะเกิดการจับผู้ซื้อขายได้ ซึ่ง คุณพิชัย ได้เรียกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า ‘ระบบ’ หรือ คนส่วนน้อยเป็นคน ‘ซื้อหุ้น’ ไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นคนขาย

“เราเข้าใจกลไกอย่างแท้จริง เราจะรู้เลยว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมด ส่วนมากจะเริ่มจากภาคการเงินกับภาคอสังหาฯซึ่งมันจะมีกลไกผลประโยชน์อยู่ในนั้น พอเรารู้ก่อน เราสามารถปกป้องตัวเองจากความเสียหายได้ ซึ่งความลับจริง ๆเหมือนกับว่า 10 ปี 20 ปี 30 ปี เราได้ใช้ครั้งหนึ่งก็คุ้มแล้ว เพราะหากเราเข้าใจกลไกผลประโยชน์จริง ๆ เราจะรู้ว่าในปี 40 มันอยู่แบบนั้นไม่ได้ ถ้าดูผิวเผิน ณ ขณะนั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า เวลาที่มองย้อนหลัง มันรู้สึกเหมือนกับว่ามันง่าย แต่ต้องคิดดี ๆ ว่า ณ ขณะที่เกิด ทําไม? ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แบงก์ชาติ หรือแบงก์พาณิชย์ ทําไมถึงพลาดหมด ทั้งที่เป็นคนเก่งคนฉลาดทั้งนั้น…จริง ๆ แล้วมันไม่ง่าย” คุณพิชัย กล่าว

แนวทางการใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ คือ ถ้าคุณอยากจะตีความว่าคนส่วนน้อยซื้อหุ้นเมื่อไหร่?

ให้ดูที่ในช่วงเวลานั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นจะต้องไม่มีเลย เช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ดี หนี้ครัวเรือนสูง อัตราว่างงานสูง ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี กราฟไม่สนับสนุนเหตุการณ์ในอดีตบ่งชี้ว่าราคาต้องลงต่อ ทุก ๆ อย่างที่อยู่รอบตัวจะต้องชี้ว่าห้ามซื้อหุ้นในเวลานี้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบที่ว่ามานี้จริง ๆ ก็ให้คุณซื้อหุ้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้คุณจะต้องทําตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่

คุณถึงจะเป็นคนส่วนน้อยในตลาด เมื่อคนส่วนน้อยเริ่มซื้อหุ้น ราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ขยับขึ้นจากจุดที่ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นจุดต่ำสุด ราคาจะค่อย ๆ ขยับขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังมีข่าวร้ายอยู่เต็มตลาด เมื่อขึ้นไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว ก็เริ่มจะมีข่าวดีขึ้นมาบ้าง หลังจากนั้นทุกคนในตลาดก็จะเริ่มกล้าซื้อหุ้นมากขึ้น แล้วก็ทยอยกันมาซื้อจนหุ้นเต็มพอร์ต และเมื่อถึงจุด ๆหนึ่ง ที่ทุกคนคิดว่าราคาจะไปต่ออีก หลังจากนั้นราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลง เพราะมีคนอีกกลุ่มเริ่มขายหุ้นทิ้ง

“เราต้องอยู่นอกกรอบอย่างแท้จริง เพราะว่าการที่เราเป็นคนส่วนน้อยกับการที่เราจะถูกผิดตามเหตุผลมันคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เราไม่สามารถจะเป็นคนส่วนน้อยได้ด้วย และก็คิดถูกตามตรรกะทุกอย่างได้ด้วย มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นคนส่วนน้อยจริง ๆ เวลานั้น คนส่วนใหญ่เวลาเทไปทางใดทางหนึ่งทางเดียวกันหมด เขาผิดไม่ได้นะ เขาต้องถูกเพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปถ้าเกิดว่าหุ้นจะเป็นขาขึ้นจริง ๆ ตามที่ทฤษฎีผลประโยชน์มอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมคิดถูกนะ แต่เพราะผมเป็นคนเดียว”

“ในตลาดหุ้น เราสามารถเติบโตแบบโมเดลของดอกเบี้ยทบต้นได้ ซึ่งเหมือนกับที่ Warren Buffett ใช้ ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนของเขา จะไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น แล้วไม่ได้เป็นที่รู้จักด้วย เพราะเขาเติบโตเอื่อย ๆ กว่าคนจะรู้ตัวเขาก็เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้วตอนท้าย ซึ่งโมเดลของการเติบโตแบบทบต้น สามารถใช้ในตลาดหุ้นได้ เพียงแต่ผมไม่ได้ใช้ ผมใช้ในทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตอนนี้ถ้าเราจะบอกว่า หุ้นจะขึ้นไปเท่านู้นเท่านี้ เราไม่ได้พูดในมุมของวีไอ แต่จะพูดในมุมของทฤษฎีผลประโยชน์ เพราะวีไอตอบไม่ได้…และจะตอบได้แค่ว่ากําไรของบริษัทจะโตแน่นอนในอนาคตแต่จะขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ ก็คือโฟกัสที่ภาพนี้ แต่ตรงนี้ผมใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตรงผมก็มั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจกว่าเดิม”

 

เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้า 'สายสีชมพู' 15 สิงหา 66 ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งจริงกันยายน

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรีว่า บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ได้ทำการทดสอบระบบการเดินรถตั้งแต่ศูนย์ซ่อมบำรุง (DEPOT) ไปยังสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) รวม 30 สถานี หรือตลอดแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ซึ่งภาพรวมพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด ทางรฟม.จึงคาดว่าจะเริ่มทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่15 สิงหาคมนี้

>> ความก้าวหน้าของงานก่อสร้างล่าสุดในเดือน ก.ค. 2556

- งานโยธาช่วงแคราย - มีนบุรี อยู่ที่ 97.35%

- งานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 97.74%

- ความก้าวหน้ารวมสะสมอยู่ที่ 97.54%

นอกจากนี้บริษัทฯ จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการฟรี ระหว่างเดือน กันยายน-ตุลาคม 2566 ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งภาพรวมของโครงการถือว่าเร็วกว่าแผนกำหนดไว้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะก่อสร้างเป็นทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งหมด 30 สถานีและมีศูนย์ซ่อมบำรุงและจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี โดยโครงการยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่

1. รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี

2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่

3. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

4. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

>> สถานีให้บริการจำนวน 30 สถานี ได้แก่

- PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

- PK02 สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก

- PK03 สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ

- PK04 สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี

- PK05 สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา

- PK06 สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ

- PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

- PK08 สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28

- PK09 สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี

- PK10 สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ

- PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะ และซอยแจ้งวัฒนะ 14

- PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

- PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7

- PK14 สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

- PK15 สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

- PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

- PK17 สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก

- PK18 สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า

- PK19 สถานีรามอินทรา กม.4 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37

- PK20 สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ

- PK21 สถานีวัชรพล ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61

- PK22 สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42

- PK23 สถานีคู้บอน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46

- PK24 สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา54 และซอยรามอินทรา 56

- PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade

- PK26 สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์

- PK27 สถานีบางชัน ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115

- PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123

- PK29 สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2

- PK30 สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีได้ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

วิเคราะห์!! กำแพงใหญ่ขวาง 'จีน' ผงาดแซงหน้าสหรัฐฯ ในเร็ววัน 'ค่าเงิน-ตลาด-นวัตกรรม-แรงฉกฉวยจากประเทศที่เคยตีห่าง'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหรัฐอเมริกาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าจะมีบางช่วงเวลาที่อาจตกต่ำ 

แต่ภายหลังการวางระเบียบโลก Bretton Woods หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และโดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในราวต้น 1990 นั้น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้นำเดี่ยวของโลกอย่างแท้จริง 

โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดประมาณ 25% ของ GDP โลก ทิ้งอันดับ 2 อย่างจีนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 18% ตามอัตราแลกเปลี่ยนตลาด

แม้ว่าจีนจะไล่มาเป็นที่ 2 แบบห่าง ๆ แต่โอกาสที่จะตามสหรัฐฯ ทันในอนาคตอันใกล้คงจะเป็นไปได้ยาก หากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ปริมาณและคุณภาพของกำลังแรงงาน ขนาดของตลาดสินค้าบริการและทุน ตลอดจนระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ยังคงล้ำหน้าอยู่หลายช่วงตัว 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ ว่าจะลดความสำคัญลงจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรฝ่ายตรงข้าม ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักในทางการค้าการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ 

"ดอลลาร์ยังคงความเป็นเงินสำรอง (Reserve Currency) สกุลหลักของโลก โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังถือเงินสกุลดอลลาร์เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves)" อ.พงษ์ภาณุ กล่าว

วันนี้ หลายประเทศที่เคยตีตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา เช่น อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็กำลังเอนเอียงกลับไปคบหากับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยเล็งเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะพึงฉกฉวยได้ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้าย Supply Chains ออกจากจีน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีพลานุภาพ 

แล้วประเทศไทยล่ะจะยอมปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไปได้อย่างไร?

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หวังเปลี่ยนทิศขนส่งโลกมาไทย เพื่อก้าวเป็นฮับ ศก.ในภูมิภาค

(13 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ที่สำคัญหากเมื่อโครงการสามารถทำได้และสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลกให้มาที่ไทย จนไทยกลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่าปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 16-18 สิงหาคมนี้ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการให้ได้ข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน รอบด้าน และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นสำหรัลผู้ได้มีส่วนได้เสียและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบโครงการ ตามวันและเวลา ดังนี้

ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม  2566 เวลา 08.30-12.00 น. จัดขึ้นที่ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ท่าเรือชุมพร
- วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ  จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผลักดันเชื่อมไทยสู่โลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้ และภาพรวมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อวางอนาคตที่ดีไว้ให้คนไทยทุกคน” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

‘ชีวมวลอัดเม็ด’ จากเศษพืช - ตอซังข้าวโพด ตอบโจทย์ลดเผาป่า ฟื้นเชียงใหม่จากฝุ่นพิษ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของคนในพื้นที่

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะร่วมกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ และปัญหาจะวนกลับมาเป็นวัฏจักรทุกปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หลังจากเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน กว่า 50 องค์กร ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาป่าและตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าว

ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวล และ Black Pellets ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อตอซังข้าวโพด เพื่อนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่นควันไฟป่า และการเผาป่าทำการเกษตร จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจ ขจัด PM2.5 และลดโลกร้อน ในโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ 

ทั้งนี้ ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การผลิตชีวมวลอัดเม็ดกว่า 12 ปี เข้ามาร่วมแก้ปัญหา PM2.5 โดยเริ่มจากตัวเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวหนักที่สุด

โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดและเศษฟางข้าว เพื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอัดเม็ด จากนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

“ปัญหาการเผาป่านั้น เกิดจากคนมักจะนำไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ส่วนเศษตอซังข้าวโพด ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งพวกใบอ้อยต่าง ๆ จะไม่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะมีความหนาแน่นไม่มากพอและมีความชื้นสูง ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับเศษพืชที่ง่ายสุดคือการเผา จึงทําให้ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มกิจกรรมการเพาะปลูกใหม่ จึงเกิดการเผาป่ากันเป็นวงกว้าง สุดท้ายปัญหาที่ตามมาก็คือฝุ่นควัน PM2.5 อย่างที่เราเห็นกันทุก ๆ ปี”

สำหรับ โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ เชื่อว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดการเผาป่าน้อยลง เพราะสามารถนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษพืชอื่น ๆ มาขายเข้าโครงการ เป็นการเพิ่มรายได้จากเศษซากพืชที่เหลือใช้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรวบรวมชีวมวลเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจอมทองนั้น จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่จะนำมาขาย เพราะหากว่าจุดรับซื้ออยู่ระยะไกลมาเกินไปจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และจะไม่มีแรงจูงใจให้รวบรวมเศษตอซังมาขาย ดังนั้น ในเบื้องต้นได้เปิดจุดรับซื้อทั้งหมด 6 จุดในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบ ๆ โรงงานที่จอมทอง และในอนาคตจะกระจายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้น

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน 

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ 

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

‘ม.ขอนแก่น’ ผนึก ‘ม.จีน’ ผุดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม-ศก.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกมหาวิทยาลัยจากจีน ผุดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง พร้อมจัดตั้งสถาบันแลกเปลี่ยนการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างไทย-จีน รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

เมื่อไม่นานนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามความร่วมมือการจัดตั้งสถาบัน ‘The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute’ เพื่อร่วมมือทางวิชาการ และวิจัยระดับประเทศด้านรถไฟความเร็วสูง หรือ ‘High Speed Train’ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การคมนาคมในภูมิภาค

เนื่องจากเล็งเห็นว่าไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน และจีน อีกทั้ง High Speed Train ยังเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยด้วย

“มข.ตระหนักถึงความสำคัญของพันธกิจ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญของชาติด้านรถไฟความเร็วสูง จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์รถไฟความเร็วสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย SWJTU ภายใต้ชื่อหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และก่อตั้งสถาบัน KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เพื่อจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง”

ด้าน Prof. Yao Faming รองอธิการบดี SWJTU กล่าวว่า ระบบรางรถไฟไทย-จีน เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของนโยบาย ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (one belt one road) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะระหว่างไทยและจีน ถือเป็นถนนสายหลัก และกุญแจสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าของนโยบาย one belt one road ส่งผลให้ไทยและจีนมีโอกาสมากขึ้นในการผลักดันและพัฒนาการขนส่งระบบราง

การก่อตั้งสถาบันระบบรางเทียนโย่ว โดยความร่วมมือระหว่าง มข. และมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง จะก่อเกิดคุณประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นำเอาจุดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย หลอมรวมเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างจีน-ไทย

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวว่า ความร่วมมือจัดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2571) เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และรวมถึงการนำความเจริญสู่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จึงต้องพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ มีคุณภาพ และศักยภาพพร้อมรองรับในตลาดแรงงานในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. มีความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับมีความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีที่แน่นแฟ้นกับ SWJTU โดยได้แลกเปลี่ยน เยี่ยมเยือน ประชุมหารือในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ตลอดจนได้รับสนับสนุนจากกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงในยุคดิจิทัล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บัณฑิต

'การบินไทย' ตั้งลำ!! โชว์รายได้สวยไตรมาส 2 ปี 66 พา 'บริษัท-บริษัทย่อย' ทำกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี

(11 ส.ค. 66) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี

โดยบริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%

บริษัท และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน

โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท (12.7%) หนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท (3.9%)

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท

และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทจึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565

‘BOI’ เผย ‘จีน’ นักลงทุนหลักในประเทศไทย ครึ่งแรกปี 66 ลงทุนแล้วกว่า 6.15 หมื่น ลบ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เว็บไซต์ไชน่านิวส์ (Chinanews.com) รายงานโดยอ้างอิงรายงานที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยไม่นานนี้ ว่าจีนได้กลายเป็นแหล่งการลงทุนหลักสำหรับไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

รายงานระบุว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ไทยดึงดูดโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 507 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการจากจีน 132 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 6.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

การลงทุนส่วนใหญ่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตยางล้อและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเหล็ก อสังหาริมทรัพย์ การจัดหาและการจัดจำหน่ายพลังงาน

รายงานระบุว่าสืบเนื่องจากการลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของไทยจึงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจากจีนได้ยื่นคำขอการลงทุนมากกว่า 900 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5.26 แสนล้านบาท

WeloveShopping อำลาสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ แม้มีกำไร ปิดระบบหลังบ้านสำหรับพาร์ตเนอร์ภายใน 31 ส.ค.66

WeloveShopping อำลาสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย ประกาศหยุดให้บริการทั้งหมด 31 ส.ค. 2566 แม้ผลประกอบการปีล่าสุดจะมีกลับมาทำกำไรได้ 57 ล้านบาท หลังขาดทุนต่อเนื่องหลายปี 

(10 ส.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนหน้าเว็บไซต์ Weloveshopping.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้ประกาศหยุดให้บริการเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2566 และปิดระบบหลังบ้านสำหรับพาร์ตเนอร์ภายใน 31 ส.ค. 2566

โดยระบุว่า "เรียนลูกค้า ร้านค้า และพาร์ตเนอร์ทุกท่าน บริษัท เอสเซนด์ คอมเมิร์ช จำกัด มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการเว็บไซต์ weloveshopping.com ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566"

"ลูกค้า ร้านค้า และพาร์ตเนอร์ทุกท่านสามารถซื้อขายสินค้าได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 23.59 นาฬิกา และยังคงสามารถใช้งานระบบบัญชีรวมถึงระบบร้านค้าได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 23.59 นาฬิกา"

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก CredenData เปิดเผยว่า บริษัท เอสเซนด์ คอมเมิร์ช จำกัด จดทะเบียนในปี 2558 ด้วยทุน 5 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนในปี 2562 เป็น 1,410 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2558 มีผลประกอบการติดลบ จนกระทั่งในปี 2565 มีรายได้ 1,073, ล้านบาท กำไร 57 ล้านบาท 

สำหรับผลประกอบการตั้งแต่ปี 2558 มีดังนี้...

>> ปี 2558 รายได้ 473,597,785 ขาดทุน -284,275,428
>> ปี 2559 รายได้ 869,418,617 ขาดทุน -585,043,886
>> ปี 2560 รายได้ 152,027,737 ขาดทุน -357,162,904
>> ปี 2561 รายได้ 196,819,176 ขาดทุน -133,976,543
>> ปี 2562 รายได้ 522,823,092 ขาดทุน -57,017,274
>> ปี 2563 รายได้ 449,719,287 ขาดทุน -51,996,920
>> ปี 2564 รายได้ 556,206,019 ขาดทุน -88,117,671
>> ปี 2565 รายได้ 1,073,643,046 กำไร 57,793,449

สำหรับสมรภูมิอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีความยากต่อรายเล็ก เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ เริ่มมีช่องทางกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มในการซื้อขายมากขึ้น 

ดังนั้น การที่อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มใดจะอยู่รอดต่อได้ หากไม่มีสายป่านหนาหรือทำการตลาดแรงๆ ต่อเนื่อง ก็จำเป็นต้องล่าสินค้าหรือบริการเฉพาะ (niche) ให้ได้เท่านั้น

‘SME D Bank’ เดินหน้าเติมทุนคู่พัฒนาวงการแฟรนไชส์ไทย อัดงบ 400 ลบ. ผุดสินเชื่อซื้อแฟรนไชส์ นำร่อง ‘Inthanin-Otteri’

‘SME D Bank’ ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าส่งเสริมวงการธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ วงเงิน 400 ลบ. เพื่อใช้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานโดดเด่น นำร่อง 2 แบรนด์ดัง ได้แก่ร้านกาแฟ ‘Inthanin’ และร้านสะดวกซัก ‘Otteri’ ควบคู่จัดโปรแกรมเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สร้างมาตรฐานแฟรนไชส์ และต่อยอดกิจการด้วยโมเดลแฟรนไชส์  

(10 ส.ค. 66) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมและขยายตัวต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญช่วยสร้างโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือผู้มีธุรกิจอยู่แล้วได้ต่อยอดธุรกิจด้วยโมเดลขายแฟรนไชส์ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย จึงเปิดตัวโครงการสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี : Franchisee) และผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์ : Franchisor) เข้าถึงบริการด้าน ‘การเงิน’ ควบคู่ด้าน ‘การพัฒนา’

สำหรับด้าน ‘การเงิน’ เปิดตัว ‘สินเชื่อแฟรนไชส์’ เพื่อเป็นเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไปซื้อแฟรนไชส์ที่ผ่านความร่วมมือกับ SME D Bank เบื้องต้นนำร่องจับมือ 2 แฟรนไชส์ซอร์ชื่อดัง ได้แก่ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ ‘ร้านกาแฟอินทนิล’ (Inthanin Coffee) และบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ‘อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย’ (Otteri wash & dry) โดยเมื่อผู้ประกอบการที่ไปติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ ‘Inthanin’ หรือ ‘Otteri’ และผ่านการพิจารณาของแฟรนไชส์ซอร์แล้ว สามารถขอสินเชื่อจาก SME D Bank เพื่อใช้ลงทุนได้ โดยมีวงเงินเตรียมไว้บริการรวม 400 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MLR -1% (ประมาณ 6.5%ต่อปี) วงเงินกู้ได้สูงสุดถึง 80% ของมูลค่าการลงทุน ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 67 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

ส่วนด้าน ‘การพัฒนา’ เดินหน้าปั้นแฟรนไชส์ซี ควบคู่ส่งเสริมแฟรนไชส์ซอร์ ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น หลักสูตร ADVANCED CMF ติวเข้ม 5 วันเต็ม ภายในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 66 มอบความรู้ด้านกลยุทธ์เขียนแผนธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน และการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ จัด ณ อาคาร SME Bank Tower 

อีกทั้ง ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดโปรแกรมเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำโมเดลแฟรนไชส์ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานแก่แฟรนไชส์ซอร์ เช่น ด้านกฎหมาย ภาษี มาตรฐานของสถานประกอบการ และเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแจ้งความประสงค์รับบริการ ‘สินเชื่อแฟรนไชส์’ และงานพัฒนาได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th, LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น รวมถึงสาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

‘รัฐบาล’ ประกาศลดขั้นตอนวีซ่า อำนวยความสะดวก แก่ นทท. หลังยอด นทท.6 เดือนแรกพุ่ง โกยรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท

(10 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยมีมากต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว 31 ก.ค.- 6 ส.ค. เฉลี่ยวันละ กว่า 8 หมื่นคน

โดยยอดนักท่องเที่ยวสะสมแตะ 16 ล้านคนแล้ว พบ 5 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยจำนวนสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานสนับสนุนนโยบาย อำนวยความสะดวก กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดการสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 663,862 ล้านบาทโดย นักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย 2,513,520 คน จีน 1,935,241 คน เกาหลีใต้ 945,217 คน อินเดีย 913,479 คน และรัสเซีย 869,998 คน

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากจีน เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 95,581 คน รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 73,810 คน เกาหลีใต้ 37,754 คน อินเดีย 27,707 คน และเวียดนาม 25,717 คน สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นจุดหมายสำคัญที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่มความสะดวกในการขอรับการตรวจลงตรา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีการลดขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยได้ปรับลดเอกสารประกอบการยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวพร้อมกับลดระยะเวลาการพิจารณาการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่

1.) ลดเอกสารประกอบการยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวเหลือเพียง 6 รายการ ประกอบด้วย หน้าหนังสือเดินทาง, รูปถ่าย, บัตรโดยสารเครื่องบิน, ที่พัก, เอกสารยืนยันที่อยู่ และหลักฐานทางการเงิน 

2.) ลดระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติการตรวจลงตราจาก 14 วันทำการเหลือ 7 วันทำการ

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบเอกสารประกอบการขอรับการตรวจลงตรา ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบและการพิจารณาอนุมัติการตรวจลงตรามีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างดี จนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์ และแม้ในช่วงนอกฤดูกาล ก็ยังมีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่น่าพอใจ จากการดำเนินนโยบายการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่สอดรับกับความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการนำเสนอความงดงามของประเทศ และไมตรีภาพที่มีต่อผู้มาเยือน ซึ่งจากผลการสำรวจของเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวชั้นนำ ประเทศไทยอยู่ในความสนใจอันดับต้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดา กล่าว

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มใจ!! อนุมัติลงทุนใน EEC ทะลุ 2 ลลบ. มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม-พัฒนาชีวิต ปชช.

(10 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความสำคัญและความสำเร็จการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการลงทุนเกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยวางเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่อนุมัติการลงทุนแล้วถึง 2 ล้านล้านบาท และเป็นการลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากเอกชน

ความสำเร็จของ EEC ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การลงทุนปี 2561 - ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น มีจำนวนถึง 1,360,349 ล้านบาท โดย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F

การพัฒนา EEC ให้เป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบการพัฒนา คือ ‘Ecosystem’ พัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตในทุกมิติ ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การประกอบธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเมือง และการยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ‘Exclusive’ กำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษ ในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการการลงทุนนั้น ๆ และ ‘Collaborative’ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการทำให้การลงทุน เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของรัฐบาล ทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC ไม่ใช่เพียงความสำเร็จด้านโครงสร้างความเชื่อมโยง แต่รวมถึงการลงทุนจำนวนมาก มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งเห็นความสำเร็จถึงประโยชน์ที่ส่งตรงถึงคนไทย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สร้างงาน พัฒนาการศึกษา นวัตกรรม โดยไม่มองข้ามการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า EEC ที่รัฐบาลภูมิใจ ให้ความสำคัญในการดำเนินการตลอดมานั้น จะเกิดประโยชน์ถึงประชาชนทุกคน

PPS เผยงบครึ่งปีแรกรายได้ 207.36 ล้านบาท โต 1.99% เล็งธุรกิจรักษ์โลกต่อยอดเติบโต เล็งจับมือแบรนด์ดัง ดีไซน์วิลล่าหรูโครงการยามู

PPS เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 รายได้ 207.36 ล้านบาท โต 1.99% ทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง ทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่อง เล็งธุรกิจรักษ์โลกเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ยั่งยืน ด้านโครงการยามู วิลล่าหรูอัลตร้าลักซ์ชัวรี่จ. ภูเก็ต จับมือแบรนด์ระดับโลกร่วมออกแบบ

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 บริษัทมีรายได้รวม 207.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 203.31 ล้านบาท จำนวน 4.05 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.99% และมีขาดทุนสุทธิ 5.27 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.51 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรขั้นต้น 50.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 47.16 ล้านบาท จำนวน 3.14 ล้านบาท จากการควบคุมต้นทุนที่ดี

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2/2566 บริษัทมีรายได้รวม 105.15 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 106.04 ล้านบาท จำนวน 0.89 ล้านบาท หรือลดลง 0.84% และมีขาดทุนสุทธิ 6.63 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 8.30 ล้านบาท จำนวน 14.93 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรับรู้รายได้โครงการควบคุมงานระยะสั้นจากภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสามารถส่งมอบงานได้เร็ว ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเนื่องจาก การตั้งคืนรายได้ของ บริษัท โปรเจคท์ ทรี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่มีการปรับการรับรู้รายได้เงินในงวดสุดท้ายของการส่งมอบงานรับเหมาก่อสร้างบ้าน งวดสุดท้ายของบ้านวิลล่าที่ภูเก็ต

สำหรับทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 2566 คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีแผนชำระคืนเงินกู้ต่อเนื่อง เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย

ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีแนวโน้มชะลอตัวจากงบการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า ส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอลงทุนตาม อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ประจำ โดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายแอปพลิเคชัน KANNA ที่ใช้ในการบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างให้กับโครงการของลูกค้าอื่นๆ  รวมถึงนำมาให้บริการลูกค้าของ PPS 

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนทำธุรกิจรักษ์โลกเพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดจากธุรกิจการก่อสร้างอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มทุนในบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการตรวจวัด และการรับรองคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการวางแผนการลดคาร์บอนและจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ EV charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเพื่อทำให้เกิดธุรกิจความยั่งยืนที่ครบวงจรอีกด้วย

ด้านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอัลตร้าลักซ์ชัวรี่วิลล่าในที่ดินแหลมยามูจ.ภูเก็ต (Headland Cape Yamu) ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 หลัง โดยมีแผนที่จะร่วมออกแบบตกแต่งวิลล่าร่วมกับ หนึ่งในแบรนด์ระดับโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างภาพลักษณ์ของวิลล่า ตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับบน  พร้อมทั้งปรับราคาขายเริ่มต้นที่ 350 ล้านบาท โดยตั้งเป้าปิดการขายปีนี้อย่างน้อย 1 หลัง

‘พาณิชย์’ เล็งส่งสินค้าสูตรโซเดียมต่ำตีตลาดญี่ปุ่น สอดรับนโยบาย รบ.ญี่ปุ่น รณรงค์ลดบริโภครสเค็ม

(10 ส.ค. 66) นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาโดยต่อเนื่องนั้น ล่าสุดได้รับรายงานจากนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอาหารในญี่ปุ่น

โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้าปริมาณการบริโภคเกลือของประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 7.0 กรัมต่อวัน ในปี 2567 ซึ่งเป็นเป้าหมายภายใต้โครงการ ‘ญี่ปุ่นสุขภาพดี 21’ หลังจากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการของประชาชน พบว่า คนญี่ปุ่นบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 10 กรัม ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยร้อยละ 70 ของการบริโภคเกลือของคนญี่ปุ่นมาจากเครื่องปรุง ไม่ว่าจะเป็น ซอสโชยุ เต้าเจี้ยวมิโซะ เกลือ ซุป ซอสต่างๆ ฯลฯ แหล่งการบริโภคเกลือของกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุบริโภคเกลือจากผักดอง กลุ่มคนหนุ่มสาวบริโภคเกลือจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องแกงกะหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารแปรรูป เป็นต้น จึงคาดการณ์ได้ว่า สินค้าอาหารแปรรูปลดเกลือมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคต

ซึ่งการบริโภคเกลือปริมาณมากเกินไปยังเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในด้านความยั่งยืนของระบบประกันสังคม ซึ่งคนญี่ปุ่นช่วงอายุ 40 - 59 ปี 1 ใน 3 คน และคนที่อายุมากกว่า 60 ปี 1 ใน 2 คนเป็นโรคความดันสูง

นอกจากนี้ ในอดีตคนญี่ปุ่นเป็นเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเกลือมากเกินไป ความอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน อาทิ ผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตอาหารของญี่ปุ่นพยายามวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารลดเกลือภายใต้คอนเซปต์ ‘อร่อย สุขภาพดี สะดวก’ สินค้ามีความหลากหลายออกจำหน่ายมากขึ้น ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งมีชั้นวางสินค้าที่รวบรวมสินค้าเหล่านี้เอาไว้โดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคต่อสินค้าเกลือต่ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการบริโภคเกลือ

“ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารแปรรูปหรือวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการและแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นและเป็นโอกาสในการขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป” นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นแล้วมูลค่ากว่า 59,243 ล้านบาท 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top