Sunday, 4 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘เขตเศรษฐกิจเชียงของ’ เชื่อมต่อ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว)’ เพิ่มศักยภาพการค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง เป้าหมายสร้างมูลค่าการค้า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการ โครงสร้างพื้นฐาน และ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการปี 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งร่วมมือกันใน 5 สาขาสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมโยง การพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจน

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยในสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน รัฐบาลได้พัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามแนวชายแดน เช่น พิธีการศุลกากร เพื่อช่วยให้การปล่อยสินค้าคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการโลจิสติกส์ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์สิ้นปีนี้

ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ มีเป้าหมาย คือ

1.) เชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce: CBEC)

2.) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียน ผ่านเส้นทาง R3A (ที่เชื่อมระหว่าง จีน ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองสำคัญ เช่น อ.เชียงของ บ้านห้วยทราย บ่อเต็น บ่อหาน และคุนหมิง) และเขตการค้าเสรีคุณหมิง และ

3.) ยกระดับการค้าสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรปในอนาคตต่อไป เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ข้ามแม่น้ำโขง) แห่งที่ 4 ติดกับ ด่านพรมแดนเชียงของ เพื่อเป็นประตูการค้าที่สำคัญบนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)

โดยเป็นการพัฒนา สถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A ให้เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศสู่ภายในประเทศ รวมถึง เพื่อเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางถนนไปสู่ทางรถไฟ ซึ่งโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ระยะที่1 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565

ขณะที่ โครงการระยะที่ 2 ซึ่งครม.เพิ่งเห็นชอบเมื่อ 20 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการสร้างอาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า

ที่จะรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568

สำหรับ การค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง จะเป็นตลาดสำคัญของไทย ที่มีเป้าหมายมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกและที่จะขยายไปยังจีนตอนเหนือและยุโรปในอนาคต

หากสามารถผลักดัน โครงการเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ เชื่อมต่อกับ เศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) ได้สำเร็จ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการที่จีนกำหนดให้สามารถขอรับสิทธิพิเศษสำหรับ CBEC ได้ (Positive Lists for CBEC) อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอาง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ70 ของอัตราภาษีปกติอีกด้วย

ที่มา : https://www.facebook.com/100003657944356/posts/2317383428393566/

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิด-19 ‘งานยาก งานยาว’ และความหวังเดียวที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทย คือ วัคซีนโควิด เท่านั้น ห่วงภาระหนี้รายย่อย กลุ่มแรงงาน ภาคท่องเที่ยว ผลกระทบหนักสุด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ผ่านรายการกาแฟดำ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ในหลายประเด็น โดยระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ จะฟื้นตัวได้ช้า โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าเพราะประเทศไทยพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่จะมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนแค่ 11-12% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างการส่งออก การบริโภค และการลงทุน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20%

ดังนั้นแล้ว ผลข้างเคียงกับแรงงานใน 20% นี้ คือ ไม่มีงานทำ รายได้หาย ส่งผลไปถึงการบริโภค การจับจ่ายระดับล่างถึงกลางสะดุด ซึ่งถ้าโฟกัสแต่ตัวจีดีพีในระยะต่อไปอาจกลับมาใกล้เคียงเดิม เพราะภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แต่ถ้ามองเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคน ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ‘ยาก’

“ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ เดิมปีนี้ (2564) ไม่ได้มองไว้เยอะแต่ก็คิดว่าไตรมาส 4 อาจจะมีบ้าง แต่ปีหน้ามองไว้ที่ 20 ล้านคน”

เหตุผลที่ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวจะต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ ดร.เศรษฐพุฒิ มองภาพสะท้อนจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ว่า ด้วยตัวของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่ได้เร็ว เรื่องของการกลายพันธุ์ ไปจนถึงความมั่นใจในตัววัคซีนโควิด-19 ก็อาจจะยังมีคำถามจากสังคม ไปจนถึงแผนการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันจึงไม่ได้มีความราบรื่นในทีเดียว

ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ถ้ามองลงไปที่ผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ แบ่งเป็น มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ จะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น Work From Home แต่ก็ไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่ในกลุ่มของแรงงาน พนักงานบริการ กระทบจากการปิดกิจการ เลิกจ้าง ขาดรายได้ ตรงนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการฟื้นตัวจึงไม่ใช่แบบเดิม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำไปสู่การพิจารณาเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตรอบนี้ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันทุกจุด ภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เริ่มกลับมา แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมืดมน ธนาคารแห่งปนะเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนแนวมาตรการ โครงการต่าง ๆ จากช่วงแรกเน้นไปที่การ ‘พักหนี้’ ทุกคนถูกดึงเข้าสู่มาตรการพักหนี้ ปรากฏว่า ยาตัวเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

เพราะคนกลุ่มนี้เขาต้องการหยุด ‘หนี้เดิม’ หนี้ก้อนที่ไม่สามารถจ่ายได้เพราะขาดรายได้ การพักหนี้ พักจริงเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่ได้พักตาม ดังนั้นจึงนำมาสู่ การปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบของการยืดระยะเวลาของหนี้และลดการจ่ายต้น

“ที่กังวลมากคือ ภาระหนี้เดิมของรายย่อย ครัวเรือน กลุ่มนี้คือหนี้เดิมเยอะอยู่แล้ว ภาระหนี้เก่า ตอนแรกทำพักหนี้ แต่ไม่ใช้ทางที่ยั่งยืน แต่เมื่อเข้าปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้นแล้วให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ”

นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมธนาคารพาณิชย์เคยคิดกับลูกหนี้ก็ให้หยุดดอกเบี้ยไว้ โดยไม่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานเงินต้นทั้งหมด แต่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริง ๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง

หากเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ กับ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ยากกว่า ด้วยความต่างกันมาก หากย้อนกลับไปปี 2540 เป็นเรื่องของค่าเงิน เรื่องหนี้ต่างประเทศ บริษัทใหญ่ กลุ่มธนาคาร นักลงทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักธุรกิจ จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีทางแก้ที่ชัดจน มีวิธีอยู่ในตำราชัดเจน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่โลกและประเทศไม่เคยเจอ ถือว่า ‘ยากกว่า’ ที่สำคัญคือ กระทบรายย่อย แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งขยายวงกว้าง ที่สำคัญคือโดนจุดสำคัญของไทย ‘ภาคการท่องเที่ยว’

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ต่อให้ออกมามากมายก็ยังถือว่าเป็น ‘พระรอง’ เพราะพระเอกของการแก้ปัญหาครั้งนี้ คือ วัคซีน ซึ่งจะหยุดวงจรการระบาดได้


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news

กรมการค้าภายใน ถกแพลตฟอร์ม ‘เดลิเวอรี่’ ทั้งส่งอาหารและขายสินค้าออนไลน์ ห้ามขึ้นค่าบริการ หวั่นซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชนช่วงไวรัสโควิดระบาด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บแค่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯ ได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

พาณิชย์ คุมเดลิเวอรี่ สั่งห้ามขึ้นค่าบริการช่วงโควิด 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว 

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บค่าเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

ผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของแบนด์ บาร์บีคิว พลาซ่า โอด ระบาดระลอก 3 แสนสาหัส ฝากถึงผู้รับผิดชอบ หลังพบยอดขายในหนึ่งวันของร้านอาหารในเครือ ตกต่ำสุด ๆ ปิดยอด 0 บาท เชื่อร้านอื่น ๆ ก็เจอวิกฤติเหมือนกัน

นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารบาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงยอดสั่งซื้ออาหารในเครือ 0 บาท และยังฝากถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย ว่า...

หลายวันที่ผ่านมา ถูกชวนคุยเรื่องสถานการณ์ร้านอาหารเยอะไปหมด บางเรื่องก็ตอบได้ บางเรื่องก็ตอบไม่ได้

Covid 3 ครั้งนี้ ไม่ต่างกับซูนามิ!! กระหน่ำซ้ำในที่เดิมแบบที่ผู้คนรู้ทั้งรู้ว่า...ซูนามิมา แต่ไม่รู้จะหนีตายไปทางไหน...

Food passion เองก็โดนซูนามิครั้งนี้ไม่ต่างกับพี่น้องร้านอาหารอื่น ๆ เมื่อวาน 1 ในสาขา 1 ในแบรนด์ในเครือ 0 บาทคะ!!

แต่บอกตรง ๆ เราที่เจอแบบนี้ อาจเป็นแค่ 1 ในตัวอย่างของร้านอาหารที่เจอแบบนี้ ยังมีร้านเล็ก ๆ ร้านกลาง ๆ หรือร้านใหญ่ ๆ ก็คงไม่ต่างกัน

ขอฝากโพสนี้ไปถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย หากยังดำเนินแบบนี้ธุรกิจรายย่อย ๆ ที่ไม่มีสายป่าน ไม่มี connection เขาจะอยู่อย่างไร...ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังนับถอยหลังระเบิดเวลา...กับถังออกซิเจนถังสุดท้าย

มาถึงบรรทัดนี้ ไม่ใช่แค่คิดให้บริษัทตัวเองรอด ยังคิดเผื่อผู้คนที่เดือดร้อน ผ่านทั้งตัวเองและผ่านไปยังบริษัท

แม้ไม่ได้อยู่ในบทบาทนั้น แต่คิดว่าในฐานะคนไทยคนนึงที่ยังมีสมอง สองมือ ใจที่แข็งแกร่ง ก็คงยังเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไป...

บอร์ด ธอส. เคาะ 2 มาตรการพักหนี้รายย่อย 3 เดือน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธอส. เห็นชอบให้ จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะออก 2 มาตรการใหม่ พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และ พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านแอปพลิเคชั่น GHB ALL ระหว่างวันที่ 11-29 พ.ค. 2564 

สำหรับมาตรการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2564) สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ไม่เคย หรือเคยใช้ หรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 รวมถึงยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญาเงินกู้ 

ส่วนมาตรการพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2564) สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจากโควิด-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา

รัฐเตรียมเก็บค่าเหยียบแผ่นดินต่างชาติ 1 ม.ค.นี้ 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) วันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ว่า จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเริ่มการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว 

รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุต่างๆ และสามารถนำมาเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ในช่วงเกิดวิกฤตเหมือนที่เกิดไวรัสโควิดระบาดในตอนนี้

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำมาสมทบในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงการซื้อประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย 

พร้อมกันนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังจะหารือถึงการเพิ่มพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มอีก 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ซึ่งเพิ่มเข้ามาล่าสุด เพื่อรองรับการจัดโมโตจีพีช่วงประมาณเดือนต.ค.นี้ โดยทุกพื้นที่จะเปิดให้ดำเนินการได้ใน 1 ต.ค.นี้ แบบไม่มีการกักตัวนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทั้งปีสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 3-4 ล้านคน ตามเป้าหมาย

'ชุมชนเข้มแข็ง' ได้ เมื่อเราผสานพลัง มิติแห่งการสร้างสรรค์ จากพีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่หลอมรวมแนวคิด สร้างชุมชนพึ่งพาตัวเอง ครบทั้ง มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม 

ภูมิปัญญาชาวบ้านและอัตลักษณ์ท้องถิ่น คือ สิ่งพิเศษที่มีเฉพาะตัวตน หรือ เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้แล้วก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ยิ่งหากนำความเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ มาพัฒนาต่อยอดผสานกับนวัตกรรม วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยิ่งสร้างพลังให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างดีเยี่ยม 

และนั่นคือสิ่งที่ GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มองเห็น และเกิดเป็นแนวคิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่ต้องการเดินหน้าทำให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน และขยายผลให้ชุมชนในภาพรวมได้ประโยชน์สูงที่สุดอย่างยั่งยืน โดยเราสามารถเชื่อมโยงมิติการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ดังนี้ 
.
มิติเศรษฐกิจ ด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างของการสนับสนุนการพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรอินทรีย์กลุ่มหอมมะหาด ผู้ปลูกพืชสมุนไพรพื้นถิ่นระยอง ให้นำผลผลิตมาพัฒนาต่อยอดด้วยการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา ชุมชนหนองแฟบ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพผิวที่ดี LUFFALA สู่มาตรฐานระดับสากล ผ่าน “โครงการ Rayong Organic Living” และการพัฒนาปรับปรุง “ศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง ภายใต้โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ)” เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการทำธุรกิจร้านอาหารให้กับนักศึกษาแผนกอาหารและโภชนาการ คณะคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคระยอง 

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถไปเป็นผู้ประกอบการเองได้ เป็นการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตและกระจายรายได้สู่ชุมชนผู้ผลิตวัตถุดิบของดีในจังหวัดระยอง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือชาวประมง ทั้งยังเป็นการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและการแปรรูปอาหาร    

มิติสังคม ด้านการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ฉายภาพไปที่ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ซึ่งมีการบริหารจัดการขยะที่ดีภายในชุมชน และ GC เห็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการขยะได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย มีการนำระบบ YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวม การคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิง เข้ามาช่วยพัฒนาการบริหารจัดการขยะของชุมชน GC ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งเรื่องการคัดแยก การบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี จนทำให้วันนี้มีการตั้งเป็น “ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรแห่งแรกของจังหวัดระยองที่ชาวชุมชนวัดชากลูกหญ้าภูมิใจ 

และสุดท้าย มิติสิ่งแวดล้อม ด้านการดูแลรักษาระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเข้าไปช่วยร่วมพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ GC และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGeo) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำระบบเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้การปลูกมะม่วงพื้นทรายของเกษตรกรที่ทำมากว่า 50 ปี สามารถคงคุณภาพความอร่อยของผลผลิตตลอดฤดูกาล การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทมะม่วงผลดิบ “เขียวเสวย” จากการประกวดผลไม้งานเกษตรแห่งชาติ (เกษตรแฟร์) ประจำปี 2563 

รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขาย Online โดยสร้าง Line Official: “Map Ta Phut Mango” พร้อมเสริมทักษะการขายให้กับเกษตรกร เพื่อให้สวนมะม่วงสามารถจำหน่ายผลผลิตให้ลูกค้าแบบ Pre-Order ได้ รวมถึงช่วยวางระบบบริหารการขนส่ง เพื่อให้สวนสามารถขายผลผลิตได้ทั่วประเทศ (แอบกระซิบว่ามะม่วงอร่อย ๆ มีอีกไม่มากแล้ว รีบจองกันก่อนจะหมดฤดูกาลในเร็วๆ นี้)  

GC และพันธมิตรภูมิใจทีได้เป็นพลังเสริมให้ทุกชุมชนพัฒนาไปสู่การเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ออมสินเปิดให้เริ่มพักหนี้ได้ทุกประเภทรับโควิด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ เตรียมเปิดให้ลูกหนี้สินเชื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อย ที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้แบบสมัครใจ ด้วยการพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปถึง 31 ธ.ค. 64 ตามมติของครม. ที่ได้เห็นชอบไปในครั้งล่าสุด

ทั้งนี้หากลูกหนี้รายใดมีความจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ธนาคารพร้อมพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี  โดยสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกแผนการชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo  ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.- 30 มิ.ย. 64 ส่วนลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้เกิน 10 ล้านบาท สามารถติดต่อดำเนินการที่สาขาของธนาคาร   

นายวิทัย กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปพลิเคชั่น MyMo และมีความต้องการสินเชื่อขอยื่นสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ได้ ซึ่งวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุด 1 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน

ระยะแรกจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปฯ MyMo จำนวน 9.2 ล้านคน เข้ามาขอสินเชื่อได้ก่อน จากนั้นจะให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และค่อยขยายเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศที่ไม่มีแอพ MyMo เข้ามาลงทะเบียนได้เป็นกลุ่มสุดท้าย โดยคาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน  

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำที่สุดรอบ 22 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย. 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยอยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค.2541 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของไทยระลอกใหม่ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนล่าช้า 

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม และต่อไปนี้คงต้องดูต่อว่า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ รวมถึงปัญหาการจ้างงานในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ยังได้สำรวจดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตในช่วงเดือนเม.ย. พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 30.6 ต่ำสุดในประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจเดือนพ.ค.49 มาเช่นกัน เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัยจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ความคาดหวังความสุขในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 37.3 ห่างไกลจากค่าดัชนีมาตรฐานระดับ 100 อย่างมาก และเป็นค่าที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top