Monday, 5 May 2025
ECONBIZ NEWS

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วม 'สมาพันธรัฐสวิส' ดันไทยขยายยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรภายในปี 73

ที่ท่าเรือ CAT Tower เขต บางรัก กรุงเทพ มีพิธีการลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่าง ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ Her Excellency Simonetta Sommaruga, Federal Councilor and Head of the Federal Departments of Environment, Transport, Energy and Communication, of the Swiss Confederation ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยมี นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย (MoNRE) และสำนักงานกลางเพื่อสิ่งแวดล้อมของสมาพันธรัฐสวิส (FOEN) ยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีสของราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ที่กำลังดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ โดยทั้งสองได้ส่งผลงานที่ได้รับการกำหนดระดับประเทศ (NDCs) ฉบับปรับปรุงในปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาที่มีความความก้าวหน้าได้อีกมาก

MoNRE และ FOEN มีมติที่จะทำงานร่วมกันและกับประเทศอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส MoNRE และ FOEN และยังคงยึดมั่นในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนการยอมรับกฎพหุภาคีที่แข็งแกร่งภายใต้ข้อตกลงปารีสและผลสำเร็จของการประชุมภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ครั้งต่อไปที่กลาสโกว์ สวิตเซอร์แลนด์ผ่าน NDC มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 ต่ำกว่าระดับ 1990 ภายใต้กฎหมายระดับชาติที่ใช้โดยรัฐสภาสวิสลดให้ได้อย่างน้อย 75% ซึ่งอาจจะดำเนินการที่เหลือในต่างประเทศได้อีก 25% สภาสหพันธรัฐสวิส จึงได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำระยะยาวของสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ กับประเทศที่ตกลงความร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดมลพิษในอากาศระยะยาว โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษของรถยนต์สันดาปภายใน ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก และเกิดเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมมลพิษจากยานยนต์เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการกำหนดค่าไอเสียที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษของตัวเอง เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามแนวทางของ NDC Roadmap ว่า ด้วยการบรรเทาผลกระทบ พ.ศ. 2564-2573 และแผนปรับตัวแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากระดับ BAU ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2573 ซึ่งกำลังดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดข้อกำหนดการรายงานสำหรับภาคเอกชนอย่างเป็นทางการ และปรับปรุงการเงินด้านสภาพอากาศภายในประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการอนุมัติแผนงานยานยนต์ไฟฟ้าฉบับปรับปรุง และเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดต่อปีภายในปี 2573 แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (2563-2565) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน ระยะกลาง (2564-2568) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน ระยะยาว (2569-2573) ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน

เจ้าหนี้ ยื่นค้านแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ศาลนัดฟังคำสั่ง 15 มิ.ย.นี้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันที่ 28 พ.ค. 2564 ศาลล้มละลายกลางได้นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการและศาลรับไว้ จำนวน 2 ฉบับ ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควรให้งดสืบพยานและให้โอกาสผู้ทำแผน และเจ้าหนี้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 15 มิ.ย. 2564

ทั้งนี้บริษัทฯ แจ้งว่า หากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็จะมีผลทำให้การบินไทยสามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ โดยการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผน การจัดการกระแสเงินสดและทรัพย์สินของบริษัทบางส่วนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ

สำหรับผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจ ของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ผู้ว่าการ กนอ. เผย 4 โปรเจกต์ด่วน ดูดลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้า Smart Park เร่งบริหารจัดการน้ำ พร้อมลุยตั้งบริษัทลูกต่อยอดธุรกิจ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยในการแถลงข่าว “เปิดใจ ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ กับภารกิจสุดท้าทายในยุค Digital Transformation” ผ่านการประชุมแบบออนไลน์ด้วยระบบ Zoom โดยระบุถึงภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ว่า หลังเข้ารับตำแหน่งได้เปิดแผนการดำเนินงานไว้ 6 ด้าน และได้มีการคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าในระยะ 3-4 เดือนต่อจากนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา (COVID 2019) สถานการณ์จะคลี่คลาย และสภาพเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และประเทศมหาอำนาจ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ และจีน ต่างก็เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ และเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการที่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เริ่มหาแนวทางลงทุนในต่างประเทศแล้ว เช่น สหรัฐฯ จีน รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่ง กนอ.ก็จะใช้โอกาสในการแสวงหาการลงทุนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยการทำการตลาดออนไลน์และประสานงานกับสถานทูตของประเทศกลุ่มเป้าหมายนำหน้าไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นโอกาสที่ดีของ กนอ.ที่นักลงทุนที่ได้จองเช่าและซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้าได้เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-เม.ย.64) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 153.36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.62-เม.ย.63) ที่มีมูลค่าสูงถึง 113,393.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 68,637.75 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 102,176.52 ล้านบาท และนอกพื้นที่อีอีซี 11,217.52 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน รวม 8,783 คน ขณะที่ยอดขาย/เช่าพื้นที่ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 773.20 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขายได้ 1620 ไร่ ประมาณ 847.24 ไร่ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ได้ ดังนั้นในปี 2564 กนอ.จึงได้ปรับเป้าประมาณการณ์ขาย/เช่าที่ดินของปีนี้ลงจากเดิมที่ตั้งไปไว้ที่ 1,500 ไร่ เหลือ 1,200 ไร่ 

“ปี 64 กนอ.จะมีการปรับลดเป้าการซื้อ/ขาย ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลง เหลือประมาณ 1,200 ไร่ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นจากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมและ GDP ที่เพิ่มขึ้น และการที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ อย่างเช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มฟื้นตัวแน่นอน” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ กนอ.มีโปรเจกต์ที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการการก่อสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่ล่าสุดนักลงทุนให้ความสนใจที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทางเลือก ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าในเรื่องของการจัดหาบริษัทที่จะมาดำเนินการก่อสร้างที่คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน-1 ปี น่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ โดย กนอ.จะพิจารณาแผนการตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทีมีศักยภาพ เป็นคู่แข่งสำคัญ และมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า ดังนั้นอาจต้องมีการหารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุน เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยเป็นแรงงานฝีมือ ดังนั้นอาจจะปรับเพิ่มในเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมากขึ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องสาธารณูปโภคโดยเฉพาะเรื่องน้ำในพื้นที่อีอีซี ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการหาแหล่งน้ำสำรอง โดยที่ กนอ.อาจไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามต้องศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในเบื้องต้นก่อน

เช่นเดียวกับการจัดตั้งบริษัทลูกของ กนอ.เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุน โดยที่ต้องศึกษาในแนวทาง และจัดตั้งทีมดำเนินงาน และอาจตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาดำเนินการได้ โดยจะดูเป็นรายโปรเจกต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งทีม ประมาณ 6 เดือน-1 ปี น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมได้ รวมถึงแนวทางธุรกิจใหม่ๆ ของ กนอ.ในอนาคตด้วย โดยที่ทุกการดำเนินการต้องอยู่ในกรอบที่รับได้ และไม่เกิดข้อผิดพลาดเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยได้ดำเนินการมาในอดีต

“จากที่ได้เข้ามาเริ่มงาน จนถึงวันนี้ 1 เดือน กับอีก 8 วัน มีเรื่องที่ตั้งเป้าดำเนินการใหญ่ๆ 4 เรื่อง และเรื่องเร่งด่วนคือ เรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่เบื้องต้น ได้ทำการขอไปแล้วว่านิคมฯ จะใช้ประมาณ 1 ล้านโดส โดยจะเป็นการฉีดให้กับทุกนิคมฯที่ขอเข้ามา โดยแต่ละนิคมฯ ต้องประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด โดย กนอ.อาสาเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนให้นิคมอุตสาหกรรมที่ได้ประสานไว้เบื้องต้น ซึ่งขณะนี้มี 3 นิคมฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว อย่างไรก็ตามคงต้องรอให้ได้รับวัคซีนจากทางกรมควบคุมโรคก่อน” นายวีริศ กล่าว

คลังรับส่งออกช่วยประคองเศรษฐกิจไทย

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนเมษายน 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 อย่างใกล้ชิดต่อไป 

ส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน 2564 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในหลายภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 65.8% ต่อปี สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.8% ต่อปี โดยมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33เรารักกัน ยังช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง 1.6%  มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.1% ต่อปี สูงสุดในรอบ 36 เดือน 

รมว.คมนาคม เร่งแก้ปัญหารถไฟไทย-จีน ปมสถานีอยุธยาติดปมมรดก

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม "Zoom" เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมาระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท งานโยธาแบ่งเป็น 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สัญญา เตรียมการก่สร้าง 3 สัญญา อยู่ในขั้นตอนการประกวด ราคา 4 สัญญา

ส่วนในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356.10 กม มีจำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา มีย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่งที่นาทา                                                  

อย่างไรก็ตามปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษา และออกแบบรายละเอียด เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งคาดว่าออกแบบแล้วเสร็จเดือนมิ.ย. 64 และกระทรวงคมนาคมได้เตรียมจัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 เพื่อหารือร่วมกับฝ่ายจีนในการดำเนินงานในระยะต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย -จีน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ, คณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อ และการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ และ คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อขับเคลื่อนดำเนิน โครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ คือ

1.) ให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในประเด็นการก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้ได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป

2.) ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ว่าสามารถดำเนินการได้ตามมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกหรือไม่ 

3.) ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดทำแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย -ลาว-จีนโดยพิจารณาแนวทางเลือกข้อดี - ข้อเสีย ด้านต่างๆ เพื่อหารือกับฝ่ายจีนต่อไป

‘ค้าปลีกไทย’ ผนึก ‘แบงก์’ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ช่วยคู่ค้า SMEs เข้าถึงแหล่งทุน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้มีการประชุมกับสมาชิกสมาคมและภาคีเครือข่ายกว่า 70 บริษัท ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 100,000 ราย นับเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศหรือคิดเป็น 12% ของจีดีพี ร่วมกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 รายในเฟสแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุน ผ่าน Digital Factoring Platform

โดยสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่เอสเอ็มอีทั่วประเทศ ขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และต้องการความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เริ่มโครงการแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เซ็นทรัลรีเทล (CRC) และ ธนาคารกสิกรไทย โดยการนำข้อมูลการทำธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าเบื้องต้นกว่า 4,000 ราย ของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย ผ่านแพลตฟอร์มฯ และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับเอสเอ็มอีมากกว่า 1,000 ราย ในวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 70% ของเอสเอ็มอีเหล่านี้ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan มาก่อน

สำหรับแพลตฟอร์มนี้ทำให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ และเอสเอ็มอีสามารถชำระหนี้แบบอัตโนมัติผ่านช่องทางดิจิทัลเพราะฉะนั้น ธนาคาร จึงสามารถเสนอสินเชื่อวงเงินที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะนำต้นแบบนี้ขยายไปสู่เอสเอ็มอีมากกว่า 100,000 ราย ทั่วประเทศ ของสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและภาคีเครือข่ายภายในสิ้นปี 2564

ส่วนในเฟสต่อไปจะขยายผลไปถึงสมาชิกของทุกสมาคมฯ ตั้งแต่ สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับการร่วมมืออย่างเต็มที่จากธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพลิกฟื้น เสริมสภาพคล่อง และได้แต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ

 

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/104457?fbclid=IwAR2rXpr319wy9klc6gu-qDohjbfzXTG2kHGl5DTl_ylkKfRgjRLFmndue5Y


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

พร้อม…กับทุกด้านของชีวิต กับ 10 เหตุผลดีๆ ที่ควรเลือกมาสด้า บีที-50 เป็นปิกอัพคู่ใจในยุคนี้

เมื่อพูดถึงรถปิกอัพแล้วต้องบอกว่าเป็นยานพาหนะที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แต่ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากอดีต ถนนหนทางดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก คนส่วนใหญ่จึงนิยมนำมาใช้งานอเนกประสงค์มากขึ้น และต้องตอบโจทย์ทุกความต้องการในรถคันเดียว จึงทำให้การตัดสินใจเลือกรถปิกอัพต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายด้านรวมกัน ทั้งสมรรถนะของเครื่องยนต์ การประหยัดค่าใช้จ่าย ความอเนกประสงค์ สะดวกสบาย ดีไซน์ต้องโดนใจ และที่สำคัญต้องส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้เป็นเจ้าของ แบบว่าขับแล้วต้องหล่อดูดี ซึ่งในท้องตลาดก็มีรถปิกอัพมากมายหลายยี่ห้อให้เลือก หนึ่งในนั้น คือ มาสด้า บีที-50 ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ วันนี้เรามาเจาะลึกถึงคุณสมบัติที่มากับปิกอัพคันนี้กันว่าทำไมถึงต้องเลือกมาสด้า บีที-50 รถปิกอัพสไตล์เอสยูวีรุ่นนี้มาเป็นรถปิกอัพคู่ใจ พร้อมสำหรับการใช้งานในระยะยาว

1.) ดีไซน์สง่างามสไตล์รถเอสยูวี

หากถ้าพูดถึงเรื่องความสง่างาม ความโดดเด่นด้านการออกแบบรถของแบรนด์มาสด้าแล้ว ต้องยกให้กับแนวคิด โคโดะ ดีไซน์ จิตวิญญานแห่งการเคลื่อนไหว เรียบง่ายแต่งดงาม ปิกอัพมาสด้า บีที-50 ถูกออกแบบตามแนวคิดนี้เช่นเดียวกับรถยนต์มาสด้ารุ่นอื่นๆ แต่ยังมีความพิเศษอยู่ที่ มาสด้าได้นำแนวคิดนี้มาผสมผสานกับรูปลักษณ์ที่แข็งแกร่งอันเป็นเอกลักษณ์ของรถปิกอัพ จึงทำให้รถรุ่นนี้กลายเป็นปิกอัพที่โดดเด่นที่สุดในทุกมุมมอง แตกต่างจากปิกอัพทั่วไปในท้องตลาดด้วยการเป็น “ปิกอัพสไตล์เอสยูวี” สไตล์คนยุคใหม่

2.) ภายในเรียบหรู สะดวกสบาย คัดสรรด้วยวัสดุเกรดพรีเมี่ยม

ภายในห้องโดยสารเน้นความประณีตใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยคัดสรรเลือกใช้เฉพาะวัสดุคุณภาพสูง จึงช่วยเพิ่มผิวสัมผัสถึงคุณภาพของการตกแต่งภายในห้องโดยสารได้อย่างลงตัว ออกแบบโดยเน้นผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางตามหลัก Human Machine Interface เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้ ความสะดวกสบายที่จัดมาให้อย่างเต็มเปี่ยม พวงมาลัยปรับได้มากถึง 4 ทิศทาง เบาะนั่งคนขับไฟฟ้าปรับ 8 ทิศทางและระบบดันหลัง ระบบปรับอากาศแบบ Dual Zone ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ลำโพงมากถึง 8 ตำแหน่ง ที่พักแขนพร้อมที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง ช่องเสียบ USB ช่องเก็บของสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกตำแหน่ง

3.) เครื่องยนต์ทรงพลัง ทนทาน แรงและประหยัดน้ำมัน

ผู้ใช้งานรถปิกอัพต้องการรถที่เครื่องยนต์มีกำลังสูง มาสด้า บีที-50 ตอบสนองความต้องการส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี กับตัวเลือกเครื่องยนต์ดีเซล 3.0 ลิตร ในรุ่นขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร พร้อมระบบหัวฉีดน้ำมันแรงดันสูง 250 MPa ให้ละอองน้ำมันละเอียดและการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ประหยัดน้ำมันได้ถึง 14.1 กิโลเมตร/ลิตร นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.9 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ประหยัดน้ำมันถึง 16.1 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่าดีที่สุดในคลาส

4.) ตัวถังแข็งแกร่ง เสถียรภาพการขับขี่ดีเยี่ยม รองรับการบรรทุกของได้อย่างเหลือล้น

โครงสร้างตัวถังผลิตขึ้นจากเหล็กกล้าที่ทนต่อแรงดึงสูง (High Tensile Steel) ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดการสั่นสะเทือนและเสียงรบกวนจากภายนอก ให้เสถียรภาพในการขับขี่ที่ดีเยี่ยมด้วยระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น กับคอยล์สปริงที่ช่วยเพิ่มความนุ่มสบาย ซับแรงกระแทกที่จะเข้าสู่ห้องโดยสาร พร้อมเหล็กกันโคลงหน้าช่วยเพิ่มเสถียรภาพการทรงตัว ชุดแหนบด้านหลังที่ยาวถึง 1,370 มม. เพิ่มความสามารถในการบรรทุก ทำให้ง่ายต่อการขนถ่ายสัมภาระและบรรทุกได้มากขึ้น

5.) ตอบรับวิถีคนรุ่นใหม่ เชื่อมต่อไร้ขีดจำกัดด้วยระบบ infotainment ครบครัน

ตอบโจทย์รูปแบบการเชื่อมต่อการสื่อสารในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัวกับระบบ Infotainment ที่มาพร้อมกับหน้าจอแสดงผลความละเอียดสูง WXGA ขนาด 7 นิ้ว หรือ 9 นิ้ว รวมถึงรองรับ Apple CarPlay® และ Android Auto™ ใช้งาน Miracast แบบไร้สาย รองรับการเชื่อมต่อแบบ MirrorLink ระบบนำทางที่ติดตั้งมากับรุ่นหน้าจอขนาด 9 นิ้ว ใช้งานโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง

6.) สองทางเลือกกับระบบขับเคลื่อนที่ตอบโจทย์การใช้งานอย่างทรหด

ระบบขับเคลื่อน 2 รูปแบบ คือ ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ และระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ซึ่งในรุ่นระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ใช้เพลาขับที่ทำจากอลูมิเนียม ทำให้รถเบาขึ้นและสามารถสลับโหมดการขับเคลื่อนและการทำงาน 4H/4L ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับระบบ Electronic Diff-Lock ที่เฟืองท้าย ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการขับขี่แบบออฟโรดและพร้อมรับมือได้ทุกสภาพถนนที่ยากต่อการขับขี่ 

7.) ระบบปลอดภัยเป็นเลิศอุ่นใจกับเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง

เทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูงได้ถูกติดตั้งมาพร้อมกับตัวรถเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัย เพื่อให้ขับขี่มั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM และ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (HDC), ระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชัน (HLA), เซ็นเซอร์กะระยะทั้งด้านหน้าและด้านหลังรวม 8 ตำแหน่ง, ถุงลมนิรภัยรวมสูงสุดถึง 6 ตำแหน่ง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

8.) ตอบโจทย์การใช้งานทุกสถานการณ์

เนื่องจากปิกอัพรุ่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ขับขี่ได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งในเมืองและออฟโรด จึงสามารถขับบนถนนขรุขระได้อย่างดีเยี่ยม มาพร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (TCS) ช่วยควบคุมกำลังขับที่เหมาะสม ให้ความคล่องแคล่วและการควบคุมที่แม่นยำ ในรุ่นยกสูงขับเคลื่อน 2 ล้อ (Hi-Racer) และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ยังขับลุยน้ำได้ถึง 800 มิลลิเมตร เนื่องจากท่ออากาศหลักได้ถูกติดตั้งอยู่ด้านหน้าเหนือแผงด้านบนของหม้อน้ำ มีโครงสร้างช่วยให้ช่องว่างรอบท่อปิดสนิท จึงป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ระบบท่ออากาศเมื่อต้องขับลุยน้ำ และรถรุ่นนี้ยังใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องแคล่วและง่ายดาย

9.) คุ้มค่ามากที่สุดกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำ

มาสด้า บีที-50 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตลอดระยะเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กม. เริ่มต้นเพียง 20,985 บาท เท่านั้น มาพร้อมกับโปรโมชั่นพิเศษ ดอกเบี้ยพิเศษ 1.99% ฟรีค่าแรงเช็กระยะ 5 ปี หรือ 100,000 กม. ช่วยลดภาระค่าบำรุงรักษาและยังใช้อะไหล่และของเหลวคุณภาพสูงในราคาเป็นมิตร เรียกได้ว่าคุ้มค่าที่สุดเหมาะที่จะเป็นปิกอัพคู่ใจลูกค้าไปตลอดอายุการใช้งาน

10.) การสื่อสารชัดเจนปิกอัพสำหรับคนรุ่นใหม่พร้อมทุกสถานการณ์

การวางตำแหน่งทางการตลาดภายใต้สโลแกน : พร้อม...กับทุกด้านของชีวิต สะท้อนภาพลักษณ์ของคนยุคใหม่ มีแนวทางการใช้ชีวิตที่ชัดเจน ไม่เหมือนใคร เต็มที่กับทุกด้านได้ในแบบที่ต้องการ โดยสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของปิกอัพมากยิ่งขึ้น ใช้อาชีพที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย ให้คุณพร้อมไปกับทุกภารกิจ ไม่ว่าเค้าจะทำอาชีพอะไร Mazda BT-50 ก็ตอบโจทย์ทุกอาชีพ ทั้งธุรกิจ ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว ตามคอนเซ็ปต์ “พร้อม...ทุกเมื่อ เพื่อทุกงาน”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มาสด้ามุ่งมั่นตั้งใจในการผลิตปิกอัพ บีที-50 ยังมีจุดเด่นอีกเพียบที่รอให้ค้นหา ลองแวะไปที่โชว์รูมเพื่อทดลองขับ แล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงบุคลิกและพลังที่ซ่อนอยู่ของรถปิกอัพที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่นี่คือปิกอัพที่ พร้อม...กับทุกด้านของชีวิต

คืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งมอบพื้นที่แล้ว 86% รวม 5,521 ไร่ เตรียมพร้อมร่วมเอกชนรุกงานก่อสร้าง ยกระดับบริการแอร์พอร์ต ลิงก์ มั่นใจเปิดบริการปี 2568 ดันท่องเที่ยวโต จูงใจการลงทุน มีงานในพื้นที่ รายได้ดีมั่นคง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี รายงานความก้าวหน้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ภายหลังได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1.) ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว

นอกจากนี้ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของรฟท. ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

2.) เริ่มแล้วงานก่อสร้าง ถนนสะพาน บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นส่วน ยันพร้อมเปิดบริการปี 2568 งานก่อสร้างโครงการ ฯ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันบริษัท ฯ เอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ (access road and temporary bridge) ก่อสร้างสำนักงานสนาม (site office) บ้านพักคนงาน (labour camp) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (concrete yard) แล้ว

โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ทันที เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก รฟท. ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5​ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด

3.) ยกเครื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ โฉมใหม่ คนใช้สะดวกขึ้น บริการทั่วถึงปลอดภัย ซึ่งการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ขณะนี้ รฟท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ รฟท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป

ขณะที่ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญา ในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท นำผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมทั้งสำรวจสภาพทางเทคนิคของสถานี ระบบรถไฟฟ้า เตรียมความพร้อมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพบริการ (Level of Service and Customer Satisfaction) ซึ่งได้เสนอมายัง รฟท. มีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้...

1.) ปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ระบบติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด รักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ระบบรางรถไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

2.) ปรับปรุงสถานีรถไฟ เช่น ป้ายสัญลักษณะและบอกทาง ปรับปรุงทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกสถานีและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงระบบการจราจร ที่จอดรถโดยรอบ เพิ่มระบบแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เพิ่มพัดลมระบายอากาศ แผงกันสาดป้องกันแสงแดดและฝนภายในสถานี เพื่อสร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

3.) ปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระจำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทน โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทุกขั้นตอนดำเนินการโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด มีมูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท (ภาครัฐ 157,872 ล้านบาท และเอกชน 99,592 ล้านบาท) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมต่อกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

 

https://www.youtube.com/watch?v=vXjfYWBXU8c&ab_channel=EECWECAN


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากงาน ไร้กังวล กองทุนเงินทดแทน ให้การดูแลค่ารักษาพร้อมเงินทดแทนเต็มที่

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนจากกองทุน เงินทดแทนที่ลูกจ้างพึงจะได้รับอย่างเต็มที่ ซึ่งจากผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานประจำปี 2563 มีลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไปแล้วจำนวน 25,518 ราย โดยข้อมูล ในปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนแล้วจำนวน 26,673 ราย 

อย่างไรก็ดี กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมในฐานะที่ดูแลจึงขอให้ลูกจ้างตระหนักถึงความปลอดภัย ในการทำงาน ทั้งนี้ รวมถึงสถานประกอบการต้องให้ความระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงาน และหากเป็นเหตุการณ์ที่ประสบอันตราย นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 (กท.16) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ทราบการประสบอันตราย ของลูกจ้าง กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคม ขอแนะนำให้นายจ้าง ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน 

โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท 

โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล ของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกแต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทรสายด่วน 1506 ติดต่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

“สุพัฒนพงษ์” แจงกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ควบคู่กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ในการพักชำระหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคตที่ไม่แน่นอน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงถึงการแก้ปัญหาโควิค-19 ของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาได้ออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยและรายอื่นๆ รวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบในปีที่แล้ว

ขณะที่เดือน เม.ย. ปีนี้ มีปริมาณผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ ครม. จึงออกมาตรการเยียวยาเพิ่ม โดยนำเงินที่เหลือจาก 1 ล้านล้านบาท มาช่วยในปีนี้ ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ฟื้นฟู ในโครงการ ซอฟท์โลน 2.5 แสนล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท โครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อจะดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กในช่วงที่ได้รับผลกระทบ รวม 3.5 แสนล้านบาท (สรุป 3.5 แสนล้านบาท คือเงินเก่าที่กู้มา 1.9 ล้านล้านบาท)

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (ฉบับที่2) วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต หรือการระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวไปอีก โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ที่จะบริหารและสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้ คาดว่าในไตรมาส 2 น่าจะควบคุมได้ แต่ต้องมาจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่จะต้องเข้มงวดในมาตราการสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top