Saturday, 17 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! ‘แผนคุมโควิด-ฉีดวัคซีน’ อุตฯ เข้ม!! ดันดัชนีผลผลิตฯ 64 ทะลุเป้า พ่วงยอดส่งออกสูงลิ่ว

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 6.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.93 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 23.56 มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้าเพื่อการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 5.93 สูงกว่าเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการซึ่งจากเดิมคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0-5.0 นอกจากนี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2565 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) เดือนธันวาคมที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 23.56 ซึ่งมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 19,572.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนธันวาคม 2564 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป

“สถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังประเทศคู่ค้ามีมาตรการรับมือทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น รวมถึงตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ” นายสุริยะ กล่าว 

‘จุรินทร์’ กาง 7 แผนสอดรับ Saudi Vision 2030 เน้นขยายการค้า บุกตลาด ‘ฮาลาล’ เต็มพิกัด

หลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ วิเคราะห์สถานการณ์การค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบีย หากมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน สืบเนื่องจากการเยือนของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบียนั้น

ล่าสุด นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงข้อวิเคราะห์และรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมือง เจดดาห์ ระบุว่า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย พระองค์เป็นมกุฎราชกุมารและเป็นว่าที่กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียองค์ต่อไป ทั้งยังเป็นผู้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ที่ใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศซาอุดีอาระเบีย การที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทยมีโอกาสเข้าเฝ้าหารือกับเจ้าชายนั้น ทำให้เป็นโอกาสที่ซาอุดีอาระเบียจะฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในหลายด้าน เช่น การผ่อนปรนการเข้าออกประเทศ การผ่อนปรนมาตรการทางการค้า การสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น การร่วมลงทุนและการนำแรงงานฝีมือจากประเทศไทยเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย
ส่วนแผนงานและกิจกรรม ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยส่งเสริมการค้าระหว่างไทย วางแผนตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของนายจุรินทร์ กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้แก่... 

1.) การจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเปิดกว้างทางวัฒนธรรมของซาอุฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 
2.) การจัดคณะผู้แทนการค้านักธุรกิจทั้งจากไทยไปซาอุฯ และจากซาอุฯ มาเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างกัน 
3.) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุฯ เช่น ข้าว อาหารฮาลาล และผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น 
4.) การเชิญผู้ประกอบการไทยร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุฯ เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าฮาลาล Saudi Food Expo 
5.) การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารสินค้าฮาลาล ผ่านช่องทางออนไลน์
6.) การเชิญผู้นำจากซาอุฯ ร่วมเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ Online business Matching 
7.) การเชิญผู้นำจากประเทศซาอุฯ ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติของไทย ทั้งรูปแบบปกติ หรือรูปแบบไฮบริด และรูปแบบออนไลน์ 

โดย 7 แผนงานนี้ จะมีขึ้นในปี 2565 ขอให้ติดตามความเคลื่อนไหวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และอยากแนะนำให้ติดตามข่าวสารโดยผ่านทุกช่องทางของกระทรวง ผู้ประกอบการที่สนใจจะได้โอกาสและไม่พลาดตลาดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง

'รัฐบาล' ยืนยันความพร้อมเปิดประเทศอีกรอบ 1 ก.พ.นี้ แบบเทส แอนด์ โก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลยืนยันความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบเทส แอนด์ โกได้อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมรับแนวทางการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้เดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่รัดกุม เพื่อให้ประชาชนในหลายๆ สาขาอาชีพ มีงาน มีรายได้ เพื่อตนเองและครอบครัว แต่ไม่ขัดต่อสถานการณ์การควบคุมโรคโควิด -19 ของทั่วโลก

สำหรับความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศอย่างเต็มที่ภายใต้มาตรการสาธารณสุขขั้นสูงสุด ได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ภายใต้มาตรการคัดกรองที่เข้มงวด และตามแนวทางด้านสาธารณสุข โดยได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ปรับมาตรการเพิ่มเติมด้านสาธารณสุข รวมทั้ง ได้มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคต

ททท.เร่งโปรโมทดึงคนซาอุฯ เที่ยวไทย หลังฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยและซาอุดีอาระเบีย หลังจากทั้ง 2 ประเทศกลับมาการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีอีกครั้งในรอบ 30 ปี ว่า ททท. จะเร่งเดินหน้าวางแผนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเสนอขายการท่องเที่ยว เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวในซาอุดีอาระเบียได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เพราะผ่านมาทางการซาอุดีอาระเบีย ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบีย เดินทางไปยังประเทศไทย สำหรับการท่องเที่ยว แต่อนุญาตให้เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล การติดต่อเจรจาธุรกิจหรือทางราชการเท่านั้น 

สำหรับแผนการทำการตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ททท.จะร่วมมือกับ 3 สายการบินหลักในพื้นที่ตะวันออกกลาง ทั้งเอมิเรตส์ แอร์ไลน์, กาตาร์ แอร์เวย์ และ เอทิฮัด แอร์เวย์ส ที่มีเที่ยวบินเชื่อมโยงมาประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เคยเดินทางมาไทย โดยลงโฆษณาผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย การจัดทริปท่องเที่ยวให้กับเอเย่นต์ทัวและสื่อมวลชนของซาอุดีอาระเบีย และการใช้ Arab KOLs ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลทางความคิดในการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทย

คลังเปิดจีดีพีทั้งปี 64 โตแค่ 1.2% คาดปี 65 เร่งขึ้นเป็น 4% ได้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น 

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 - 4.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามา 7 ล้านคน ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 3.6% ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

‘เอ็น.ซี.ซี’ จัดหนัก!! เติมชีวิต ‘กิน-ช้อป-สุขภาพ’ ตอบโจทย์คนเมืองหลากไลฟ์สไตล์ในศูนย์สิริกิติ์

เปลี่ยนโฉมไปเยอะมาก สำหรับ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ที่ต่อจากนี้ใครยังคุ้นภาพศูนย์แสดงสินค้ารูปแบบเดิม อาจต้องมีตกใจกันบ้าง!!

บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ เอ็น.ซี.ซี.ฯ เปิดตำนานบทใหม่ให้แก่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC) สู่การเป็น ‘The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All’ ที่ครอบคลุมการจัดงานทุกรูปแบบอย่างไร้ขีดจำกัด และตอกย้ำการเป็นมากกว่า ‘ศูนย์การประชุมฯ’ ด้วยการพัฒนาพื้นที่รีเทลเต็มรูปแบบ ภายใต้คอนเซปต์ ‘แอคทีฟ ไลฟ์สไตล์ มอลล์’ (Active Lifestyle Mall) ที่จะเปิดตัวพร้อมกับร้านค้าแบรนด์ชั้นนำกว่า 100 ร้าน เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนที่รักการออกกำลังกายและสุขภาพ ตลอดจนดีมานด์ของกลุ่มครอบครัว-และคนทำงานในเมือง

พื้นที่รีเทลของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่นี้ มีจุดเด่นในด้านของทำเลที่ตั้ง ซึ่งสะดวกต่อการเดินทางเป็นอย่างมากด้วยจุดเชื่อมต่อกับ MRT ถึงด้านในอาคาร ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึง QSNCC ได้โดยง่ายทุกช่วงเวลา พร้อมทั้งบริเวณโดยรอบยังถูกโอบล้อมด้วย ‘สวนป่าเบญจกิติ’ พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ร่วม 450 ไร่ ที่เปรียบเสมือนปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ และเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชนรอบข้างและกลุ่มผู้รักสุขภาพสำหรับใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ด้วยศักยภาพของพื้นที่แห่งนี้ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โดยรอบ ทำให้มั่นใจได้ว่าพื้นที่รีเทล QSNCC จะเป็นห้างใหม่ใจกลางเมืองที่น่าจับตามองด้วยรูปแบบการให้บริการพื้นที่ที่พิเศษ แตกต่าง และตอบโจทย์สังคมเมืองยุคใหม่

การเปิดตัวพื้นที่รีเทลของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่นี้ จะเป็นศูนย์รวมด้านแอคทีฟไลฟ์สไตล์เต็มรูปแบบของกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Active Lifestyle Mall (BALM) โดยปรับขนาดพื้นที่ใหญ่ขึ้นจากเดิมที่ 7,200 ตารางเมตร เป็น 11,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นโซนตามหมวดหมู่ ประกอบด้วย กลุ่มร้านค้าอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มอีเวนต์ซัพพอร์ต และกลุ่มแอคทีฟไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะรองรับความต้องการของกลุ่มผู้รักสุขภาพและการออกกำลังกาย พร้อมกับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของรีเทลในประเทศไทยที่มีบริการในลักษณะนี้ รวมถึงยังได้เตรียมเปิดตัวแฟล็กชิพสโตร์แห่งแรกของสุดยอดแบรนด์อุปกรณ์และเครื่องแต่งกายกีฬาชั้นนำของไทยอีกด้วย 

นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “เอ็น.ซี.ซี.ฯ มุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการแพลตฟอร์มอีเวนต์ทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างประสบการณ์ระดับเวิลด์คลาส โดยจะขับเคลื่อนศูนย์ฯ สิริกิติ์ให้เป็นมากกว่า ‘ศูนย์การประชุมฯ’ แห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดว่าเมื่อโครงการพัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 จะสามารถดึงดูดจำนวนผู้จัดงานและผู้เข้าใช้บริการได้มากขึ้นกว่า 13 ล้านคน/ปี ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการได้อย่างครอบคลุม จึงได้เตรียมขยายพื้นที่โซนรีเทลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม 30%” 

ตรุษจีนซึมคนใช้จ่ายวูบหนักสุดรอบ 11 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2565 พบว่า บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก เป็นผลมาจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าราคาแพง รวมถึงรายได้ที่ลดลง ทำให้จำกัดในเรื่องของการซื้อสินค้าไหว้เจ้า การเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายอื่นๆ ลดลง โดยพบว่า ปีนี้มีเงินสะพัดที่ 39,627 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าเงินสะพัดที่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยติดลบจากตรุษจีนปีก่อน 11.82% ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 

“เงินสะพัดที่ลดลงเหลือแค่ 39,627 ล้านบาท ส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีประมาณ 0.05% แต่ในช่วงเดียวกันรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง ก็พอจะช่วยทดแทนไปได้ แต่การลดวงเงินคนละครึ่งเหลือคนละ 1,200 บาท จากเดิม 1,500 บาท ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหายไป 1.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจหายไป 0.15-0.2%”

กระทรวงแรงงานนำเข้าแรงงานตาม MoU กลุ่มแรกเข้าไทย 1 ก.พ. นี้

รมว.แรงงาน เผย แรงงานกัมพูชา กว่า 2 ร้อยคน ที่เข้ามาทำงานตาม MoU เตรียมเข้าประเทศไทย เพื่อกักตัว ณ สถานที่กักกัน จ.สระแก้ว ก่อนนายจ้างในประเทศรับตัวไปทำงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานรับข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด -19 และความต้องการแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการภายในประเทศ  ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 โดยมีนายจ้างที่มีความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าว และมีความพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานที่กักตัวมาดำเนินการแล้ว

“ล่าสุดมีการยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List)  โดยนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติกัมพูชา เพื่อทำงานในสถานประกอบการภายในจังหวัด ชลบุรี จำนวน 220 คน และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 6 คน รวม 226 คน โดยทั้งหมดจะทยอยเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และกักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ณ อาคาร อินโดจีน Grand Residence ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด โดยจะต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข  เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ  ในส่วนแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาและลาวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของประเทศต้นทาง ซึ่งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยตามขั้นตอนแล้ว  ทางการไทยจะอนุญาตให้นำเข้าแรงงานตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัวเช่นเดียวกับกรณีแรงงานกัมพูชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า  สำหรับสถานที่กักตัวในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด ตั้งอยู่ที่ 555/554 หมู่ที่ 7 ตำบล ป่าไร่ อำเภอ อรัญประเทศ จังหวัด สระแก้ว มีจำนวนห้องพัก 200 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด 500 เตียง มีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 8,500 บาทต่อคน  มีรถของสถานกักตัวรับจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ ในส่วนคนต่างด้าวหากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้จัดหาวัคซีน และฉีดให้ระหว่างการกักตัว 

“ขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย  กรมการจัดหางานมีกระบวนการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU อย่างเป็นระบบ รวมทั้งมาตรการใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก โดยมีการวางแผนให้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวในระบบการทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในวาระต่าง ๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการและสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว 
สำหรับขั้นตอนนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU มีขั้นตอน ดังนี้
1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ แบบ นจ.2 หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน และเอกสารนายจ้าง

2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    4.1 บัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง

    4.2 แบบ บต.31 หรือ บต.33 พร้อมเอกสารและหลักฐาน

    4.3 หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 3 เดือน

    4.4 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว ได้แก่ ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว/กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19

    4.5 หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด

    4.6 หลักฐานที่ยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว

    4.7 กรณีเข้าประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน

    4.8 กรณีเข้าประกันสังคม นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน

     - ชำระค่าคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท

    - วางเงินประกัน (กรณีนายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) หลักประกัน 1,000 บาท/คนต่างด้าว 1 คน

5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non - Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว

6. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน

'การส่งออก' ปี 64 พุ่งทะลุเป้า โต 17% รับบทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโรคระบาด

ต้องยอมรับว่า ช่วง 2 ปี ของการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าในภาวะวิกฤต ยังมีพระเอกเข้ามาช่วยประคับประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ นั่นคือ การส่งออก ที่เติบโตได้ทะลุเป้าอย่างสวยงาม เมื่อจบปี 2564

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดเผยล่าสุด ระบุว่า การส่งออกของไทย ณ เดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวได้ 24.2% โดยมีมูลค่า 24,930 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัวถึง 17.14% สูงสุดในรอบ 11 ปี ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะเติบโตจากปีก่อนหน้า ราว 15-16% แต่กลับเติบโตได้ถึง 17.14%

แน่นอนว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ

ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งก็ต้องยกเครดิตให้ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแม่ทัพดูแลด้านการค้าขายของประเทศ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับบทบาท ‘ทูตพาณิชย์’ ให้เป็น ‘เซลส์แมน’ พร้อมกับเป็นนักการตลาด เพื่อหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มยอดส่งออกให้กับประเทศ ที่เห็นผลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563

‘สุริยะ’ ยัน!! รับมือต่อเนื่องเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเล สั่ง ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ ตามติด!! แม้ควบคุมเหตุได้แล้ว

‘สุริยะ’ ห่วง!! สั่งการ ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม ท่าเรือมาบตาพุด ด้าน ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ เผย!! ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว พร้อมสั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ เล็งดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมคิดและวางแผนดูแลและซ่อมบำรุงรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค. 65 และเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนนั้น ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป

“ผมได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกรณีเกิดกระแสลมหรือคลื่นเปลี่ยนทิศไว้ล่วงหน้าด้วย ที่สำคัญ ต้องรีบจัดการกับคราบน้ำมันดังกล่าวให้เร็วที่สุด พร้อมหาสาเหตุของการรั่วไหล” นายสุริยะ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top