Saturday, 17 May 2025
ECONBIZ NEWS

'เกษตรฯ' ดันแผนบริหารผลไม้ภาคตะวันออกรับฤดูกาลเก็บเกี่ยว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างนี้เรื่อยไปจนถึงประมาณเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ผลไม้ภาคตะวันออกให้ผลผลิต ผลไม้สำคัญหลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะ ปีนี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้อยู่ที่ประมาณ 744,549 ตัน มังคุด 210,864 ตัน และเงาะ 210,646 ตัน 

มีสาเหตุเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพอากาศที่เหมาะสม จำหน่ายได้ราคาดีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกและบำรุงรักษาผลไม้ดังกล่าวกันมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกตลอดทั้งฤดูกาล โดยในปี 2564 ที่ผ่านมานั้นไทยสามารถส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะเผชิญกับปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์จากค่าระวางที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปิดด่านหลายครั้งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ดังนั้นในปี 2565 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศและการส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID เท่านั้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำแนวทางและวิธีการปฏิบัติร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ 

'สภาอุตฯ' ชงรัฐ!! เปิดประเทศ ผ่อนปรนมาตรการรับนทท. เชื่อ!! เกี่ยวรายได้กว่า 6 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจะเสนอต่อที่ประชุม ศบศ.ในวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค. 65) เพื่อพิจารณามาตรการในการเปิดประเทศ เช่น ยกเลิกมาตรการ Test & Go รวมทั้ง การกักตัวและการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธี RT-PCR (Real Time PCR) โดยปรับมาให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) หรือหลักฐานการฉีดวิคซีน 2 เข็ม ก่อนเข้าประเทศเท่านั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย และช่วยดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาประคองเศรษฐกิจในช่วงเวลาเราที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมา และแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบของการติดเชื่อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงไม่มากนัก ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ของภาครัฐที่เตรียมจะปรับให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะขยายฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปช่วงครึ่งปีหลัง โดยตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอยู่ที่ 5.58 - 6 ล้านคน และหากคิดเร็วๆ จะพบว่า รายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้จ่ายในไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อหัว ซึ่งเท่ากับว่าเราจะมีรายได้เข้าประเทศถึง 558,000 – 600,000 ล้านบาท โดยเฉพาะระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเมษายนนั้น ถือเป็นช่วง High Season ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาประเทศไทย หากเราเร่งปรับเงื่อนไขต่างๆ ให้สะดวกขึ้น รวมทั้ง การผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติไม่ว่าจะเป็น การประชุม, สัมมนา, การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญที่จะเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง

กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์และอัตราการเบิกค่ารักษาโควิด-19

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ยกเลิกหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 273 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
กรณีได้รับการประเมินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดงและสีเหลือง) 
-สามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยอัตราการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตฯ (UCEP Plus)
- การเบิกค่ารักษาพยาบาลครอบคลุมการรักษาตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดการรักษา 
- หากมีประกันภัย ต้องใช้สิทธิการเบิกจ่ายจากประกันภัยก่อน ส่วนที่เกินจากสิทธิจึงจะสามารถเบิกได้ 

รมว.เฮ้ง ยัน ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ข้อสรุป ขึ้นเท่าไหร่อยู่ที่ไตรภาคี 

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี
ที่สื่อโซเซียลได้เผยแพร่ข่าวประกาศ!!! เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) นั้นว่า ข่าวดังกล่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โดยปกติข้อเท็จจริงในการขึ้นค่าจ้างนั้น มีระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา ถึงความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลของไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้กำหนด ดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผลสามารถตอบสังคมได้ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเคยให้สัมภาษณ์และตอบกระทู้สดในสภาไปแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นต์ บวกกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ถ้าจะขึ้นทั้ง 40% 30% ผมเชื่อว่าไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และค่าแรงคนงานของประเทศไทยส่วนมากพี่น้องคนไทยมีทักษะความสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนมากกว่า 80% เป็นส่วนของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกร

ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าเป็น 400 กว่าเกือบ 40% ผมเชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทต่างๆ รักษาการจ้างงานมา 2 ปี ขาดทุนจ่ายเงินให้ค่าจ้างแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะตัดทิ้ง 40% มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น ส่วนข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อโซเซียลนั้นมาจากกลุ่มเรียกร้องค่าแรง 

ซึ่งเป็นข่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง ผมได้เรียกกลุ่มที่เรียกร้องค่าแรงมาหารือแล้วและได้อธิบายเหตุผลไปทั้งหมดแล้วว่า นายจ้างเคยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1,000,000 บาท ขาดทุนมา 2 ปี พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับต้องมาจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 - 1.4 ล้านบาท

'สุริยะ' สั่ง 'ดีพร้อม' ปั้น CIV Leader รับวิถี Now Normal คิกออฟ 'บ้านปลายบาง' ต้นแบบชุมชนนำร่องการท่องเที่ยว

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมสั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม พัฒนาต่อยอดผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV Leader นำร่อง 20 ชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพปัจจุบัน ซึ่งคำนึงถึงต้นทุนของชุมชน และศักยภาพของแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมลูกค้า พร้อมชู “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านปลายบาง” ตัวอย่างชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวไว พลิกวิกฤตพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศถือได้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากปริมาณนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอัตราการเข้าพักในโรงแรมในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามสำหรับหลายกิจการที่รอคอยให้เครื่องจักรการท่องเที่ยวกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพราะถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขยายผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้มั่นคงให้กับ 250 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนหมู่บ้าน CIV ในปีนี้ ดีพร้อมเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนที่จะลงลึกถึงความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ พร้อมการส่งเสริมที่ตรงจุด ด้วยทีมบุคลลากรคุณภาพที่เชี่ยวชาญองค์ความรู้ในด้านการจัดการอุตสาหกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ อีกทั้ง ได้ปรับรูปแบบเพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) ประกอบด้วย... 

>> Now Village หรือ การส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพความเป็นปัจจุบัน คือ การสำรวจความพร้อมและผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเดิมในการพัฒนา และการสำรวจต้นทุนที่เกิดขึ้นใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงของประชากรในชุมชน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมามีแรงงานฝีมือจำนวนมากที่ตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หากสามารถใช้ศักยภาพของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน จะทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต 

>> Now Customer หรือ การส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และความต้องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วยมาตรการการควบคุมโรค ที่เข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวบางส่วนงดการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าชุมชน หรือสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาสินค้าและบริการในความปกติปัจจุบัน จึงต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ 

'ศาลปกครองกลาง' มีคำสั่งงดบังคับคดีโฮปเวลล์ รอจนกว่าจะการพิจารณาใหม่เสร็จสิ้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินการคดีโฮปเวลล์ระหว่างกระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ร้องที่ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) ว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำขอให้รับพิจารณาคดีใหม่ และได้มีการรับพิจารณาคดีใหม่แล้วจึงเข้าเงื่อนไขการงดบังคับคดี ตามข้อ 131 วรรคหนึ่ง (1) แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีค่าโฮปเวลล์นั้น สืบเนื่องเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาใหม่ในคดีโฮปเวลล์ จากนั้น เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำหนังสือถึงศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ขอให้งดการบังคับคดี พร้อมทั้งแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้สำนักงานบังคับคดีปกครองทราบด้วย

สำหรับคดีดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ภายใน 180 วัน ซึ่งเมื่อศาลฯ มีคำสั่งงดบังคับคดี จะส่งผลให้คำสั่งชดใช้ค่าเสียหายข้างต้น รวมดอกเบี้ยจะถูกชะลอออกไปก่อน

บอร์ดรัฐวิสาหกิจเคาะแผนพัฒนา 4 ปี

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งในแผนดังกล่าวจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 และการสร้างความมั่นคงในด้านการค้า การลงทุน การผลิต และการเกษตรของประเทศรองรับจากผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์ในต่างประเทศ นอกจากนี้ ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น 

‘อลงกรณ์’ เผยขบวนรถไฟสาย ‘จีน-ลาว’ สุดเจ๋ง ขนสินค้าเกษตร 20 ตู้ ถึง ‘นครฉงชิ่ง’ ใช้เวลาแค่ 6 วัน

‘อลงกรณ์’ เผยขบวนรถไฟสาย ‘จีน-ลาว’ ขนสินค้าเกษตรของไทย 20 ตู้ถึงมหานครฉงชิ่งแล้ว ใช้เวลา 6 วัน เร่งดันผลไม้ขึ้นรถไฟให้ทันฤดูกาลผลิต ปี 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเกษตรของไทยล็อตแรก 20 ตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 65 ที่ผ่านมา โดยรถไฟสายจีน-ลาว จากสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ สู่ด่านรถไฟโมฮ่านของมณฑลยูนนาน ได้ขนส่งถึงมหานครฉงชิ่ง โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 6 วัน ตั้งแต่เดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ โดยใช้เวลาในสปป.ลาว 3 วัน และการเดินทางในจีนอีก 3 วัน โดยได้สรุปตารางเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนจากไทยผ่านสปป.ลาว ข้ามพรมแดนจีนจนถึงภาคตะวันตกของจีน คือมหานครฉงชิ่ง เชื่อว่าจะสามารถลดเวลาในการขนส่งในอนาคตเหลือเพียง 4 วัน เมื่อมีการปรับตัวการทำงานของทุกฝ่าย เป้าหมายต่อไปคือการเร่งเปิดบริการอย่างเป็นระบบ การลดเวลา การขนส่งตลอดห่วงโซ่โลจิสติกส์เพื่อขยายการขนส่งทางรถไฟสายนี้

สำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผักผลไม้ มันสำปะหลัง ปาล์ม กล้วยไม้ น้ำตาล และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายให้สามารถขนส่งทางรถไฟให้ทันฤดูกาลผลิตปี 2565 ขณะนี้ ฝ่ายไทยและสปป.ลาว พร้อมแล้ว รอทางจีนเปิดทำการด่านตรวจพืช ณ สถานีรถไฟโมฮ่านภายใต้พิธีสารที่ได้ตกลงกันตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งได้ประสานขอความร่วมมือกับทางการจีนให้เร่งดำเนินการหลังเทศกาลตรุษจีนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

“นับเป็นขบวนสินค้าปฐมฤกษ์ของไทยที่สามารถเปิดบริการได้เป็นขบวนแรก และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของนโยบายอีสานเกตเวย์ เชื่อมอีสานเชื่อมโลกด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายโลจิสติกส์เกษตรของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นายอลงกรณ์ กล่าว

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม ‘Soft Power’ ไทยดังไกลในต่างแดน ยัน เดินหน้าผลักดันเป็นสินค้าหลักสู่ตลาดสากล

นายกฯ ยินดี “Soft Power” ไทย เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ - ทีมไทยแลนด์ร่วมงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2565 

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อกระแสความนิยมวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศที่โดดเด่นมากขึ้นแม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทั้งจากรายการโทรทัศน์ งานดนตรี เทศกาลอาหาร นิทรรศการแสดงสินค้าและบริการ รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เพลง และโฆษณา ซึ่งได้รับความสนใจและผลตอบรับจากผู้ชมชาวต่างชาติอย่างล้นหลามโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกความบันเทิงหลักของไทย ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่รัฐบาลเร่งผลักดันเป็นสินค้าหลักในการส่งออกสู่ตลาดสากล

นายธนกร กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ของนายกฯ ที่สนับสนุนการใช้ “Soft Power” นำเสนออัตลักษณ์ไทยสู่สายตาชาวโลก ผสมผสานนโยบายพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันและแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green) เป็นโจทย์ให้กระทรวงวัฒนธรรมสานต่อแนวทางเพื่อพัฒนาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ โดยได้จัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย ‘CCPOT (Community Cultural Product of Thailand) GRAND EXPOSITION’ ขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งประสบความสำเร็จในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วกว่า 600 ล้านบาท 

SME D Bank ผนึก บสย. จับคู่ กู้พร้อมค้ำ วงเงิน 2 พันล้านบาท เติมทุนเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยว

บสย. - SME D Bank ผนึกความร่วมมือ จับคู่ กู้พร้อมค้ำ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงิน 2,000  ล้านบาท เร่งเติมทุนเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เดินหน้าเติมทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ผ่านมาตรการทางการเงิน “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท จับมือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน สามารถกู้พร้อมค้ำ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง 

เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ รวมถึงเอสเอ็มอีทุกประเภทที่เป็นคู่ค้ากับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย ช่วยยกระดับกิจการ รองรับกำลังซื้อนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่จะกลับมา สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวตามนโยบายภาครัฐ  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top