Monday, 7 July 2025
THE STATES TIMES TEAM

วิชาฟิสิกส์ : เรื่อง ตะลุยโจทย์ฟิสิกส์เข้าเตรียมปี 63

THE STUDY TIMES X ClassOnline

????วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม วิชาฟิสิกส์ : เรื่อง ตะลุยโจทย์ฟิสิกส์เข้าเตรียมปี 63

โดย ครูพี่ปั้นจั่น ปัญญธร วรดี ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ติด1ใน4 ตัวแทนประเทศไทยเข้าค่ายวิทยาศาสตร์นานาชาติ (ISYE), วิทยากรรับเชิญ ติวสอบ ข้อสอบความถนัดทางวิศวกรรม (PAT3) ที่เตรียมอุดมศึกษา

#สอนวิชาฟิสิกส์เตรียมสอบเข้าม.4 เตรีมอุดมฯ

#ClassOnline https://www.classonline.co.th/ 

.

.

ชุมพร - ระบาดหนัก 3 อำเภอ โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease)

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายสัตวแพทย์พิชัย โพธิ์กระสังข์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ กล่าวว่า ท่านธงชัย หนังสือ ปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ได้สั่งการให้ผมได้นำคณะลงพื้นที่บ้านนาย สุรชัย อินทจักร 52 หมู่ที่ 5 ตำบล ตากแดด อำเภอ เมืองชุมพร พร้อมกับ นายพรชัย อินทร์คำดี หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชุมพร สัตวแพทย์หญิงกิจตาภรณ์ แสงจันทร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ อิสมาแอล ยุมาดีน นายสัตวแพทย์ประจำหน่วย HHU จังหวัดชุมพร พบ มีวัวจำนวน 8 ตัว มีแม่วัว 1 ตัว มีอาการขาบวมและเป็นตุ่มตามผิวหนังจึงทำการรักษาตามอาการ และทำการเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจหาโรค โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) โดยจะได้รับผลการตรวจอีก 3-5 วัน ในวันนี้ได้ทำการฉีดพ้นยาฆ่าแมลงในเบื้องต้น

จากรณีดังกล่าว นายสัตวแพทย์พิชัย โพธิ์กระสังข์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดของโรค“ลัมปี สกิน” โค กระบือ เป็นการแพร่ระบาดของไวรัส“ลัมปี สกิน” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่มี แมลงดูดเลือด ได้แก่ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นพาหะนำโรค และไม่มีการแพร่ระบาดมาสู่คน   ได้ประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่เลี้ยงโค-ควาย ให้เฝ้าระวัง ซึ่งจะมีผล เช่น น้ำนมลดลง(สูงสุดถึง 40%) ส่วนโคขุนจะมีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันลดลง(ในระยะเวลา 1-2 เดือนช่วงที่เป็นโรค) และหากโคมีอายุน้อยถ้ามีอาการรุนแรงก็คือการเสียชีวิตในที่สุด และในพื้นที่ทีมีการแพร่ระบาดใน 3 พื้นที่ของจังหวัดชุมพร เช่น อำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว และ อำเภอเมือง ทั้งนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพรก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหมดแล้วเป็นการหยุดยังในการแพร่ระบาดของโรค  ไม่ให้การแพร่ระบาดเป็นวงกว่างจนไปถึง 14 จังหวัดภาคใต้ได้

กรณีทำการรักษาโคที่ป่วยก็มักหายช้า ดังนั้น จึงขอให้ผู้เลี้ยงใช้มาตรการป้องกันที่แนะนำดังนี้คือ 1.ให้งดนำเข้าวัวหรือควายจากต่างพื้นที่เข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด  2. ให้กำจัดแมลงดูดเลือดในฟาร์มโดยการพ่นสารกำจัดแมลงที่คอกและตัวสัตว์ เช่น สารไซเปอร์เมทริน สารแอลฟ่าไซเพอร์เมทริน สารเดลตาเมทริน หรือ สารอะมิทราซ ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัยและไม่ตกค้างในน้ำนม หรือใช้หลอดไฟไล่แมลง หรือก่อกองไฟ ไล่แมลง 3. เมื่อพบโคที่สงสัยว่าจะเป็นโรค “ลัมปี สกิน” ก็ให้รีบแจ้งหมอหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบเพื่อจะได้เข้าไปดูแล เพื่อวินิจฉัยควบคุมโรค   หากพบวัว - ควาย ที่สงสัยว่าจะเป็นโรค “ลัมปี สกิน”  ก็ควรรีบแยกสัตว์ตัวนั้นออกจากฝูง แล้วแจ้งให้ปศุสัตว์เข้ามาควบคุมโรค และผู้เลี้ยงควรกำจัดแมลง

นายพรชัย อินทร์คำดี กล่าวว่า จังหวัดชุมพรพบการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือในพื้นที่ อำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว และอำเภอเมืองชุมพร เกิดขึ้นในสัตว์ชนิดโคเนื้อ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคในพื้นที่ดังกล่าวเป็นวงกว้างมาขึ้น เนื่องจากโรคนี้มี แมลงดูดเลือด ได้แก่ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ และการเคลื่อนย้ายโค กระบือมีชีวิตจากพื้นที่เกิดโรคไปยังพื้นที่อื่น จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังท้องที่จังหวัด อื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค และกระบือเป็นอย่างมาก จังหวัดชุมพร จึงออกประกาศ 1ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดชุมพร เป็นเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในสัตว์ชนิดโค และกระบือ 2 ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ ภายในเขตโรคระบาดเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่ประจำเขต ประกาศ ณ วันที่ 21พฤษภาคม 2564 โดย นายสัมฤทธิ์ กองเงินรองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ทางด่านกักกันสัตว์ชุมพร  จึงจัดกำลังลงตรวจสอบ 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) อย่างเต็มกำลังต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ผช.ผบ.ทบ.ลงพื้นที่มอบนโยบายสกัดกั้นโควิดสายพันธุ์แอฟริการะบาดที่เกาะสะท้อน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พ.ค. 64 พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผช.ผบ.ทบ.และคณะ เดินทางมายังด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พร้อมประชุมร่วมกับนายไพโรจน์ จริตงาม รอง ผวจ.นราธิวาส นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส นายวัลลภ วุฒาพาณิชย์ นายด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 50 คน เพื่อมอบนโยบายเพิ่มเติมในการสกัดกั้นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แพร่ระบาดในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง

โดย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปถึงแนวทางการป้องกันสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งมีทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ พร้อมได้มีการบูรณาการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน อสม.และชรบ. ในการตั้งด่านโควิดตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะผ่านไปมาของแต่ละหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน เพื่อให้พื้นที่แต่ละหมู่บ้านของ ต.เกาะสะท้อน มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มาแพร่ระบาด จากการลักลอบเดินทางเข้าตามช่องทางธรรมชาติของชาวบ้านเป็นการเพิ่มเติม

ด้านนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่โดยภาพรวมของ จ.นราธิวาส ยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในเบื้องต้นมาจากครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ ม.9 ต.เกาะสะท้อน ที่ภรรยาและบุตรเป็นชาวมาเลเซีย ได้ลักลอบข้ามแดนมาให้สามีและพักอาศัยอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงทราบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งปัจจัยสำคัญชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน ส่วนใหญ่จะไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากนัก เพราะถือว่าเมื่อติดเชื้อรักษา 14 วันก็หายเป็นปกติ

ด้าน พล.อ.พรศักดิ์ พลูสวัสดิ์ ผช.ผบ.ทบ. ได้กล่าวชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติพอสรุปใจความว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่แพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อเรารู้ว่าคนเป็นผู้นำพาหะเข้ามาแพร่ระบาด เราก็ต้องใช้คนเป็นผู้สกัดกั้นถึงจะสำเร็จ คือต้องจี้ที่ตัวบุคคลกรหรือชาวบ้าน อย่างเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.หรือนายก อบต.เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านนั้น ๆ หากให้ความสนใจอย่างจริงจัง ต้องทราบว่า ชาวบ้านคนใดแอบลักลอบนำพาเครือญาติลักลอบข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องทราบ เนื่องจากพื้นที่ตามแนวชายแดนส่วนใหญ่ทั้ง 2 ฝากฝั่งจะมีเครือญาติอาศัยอยู่ทั้งนั้น จุดนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ พูดแบบบ้าน ๆ คือต้องเคี่ยวเอาจริงเอาจังกับชาวบ้าน อย่างน้อยก็ไม่กล้าที่จะลักลอบนำพาข้ามแดนแล้วการแพร่ระบาดของเชื้อจะค่อย ๆ คลี่คลายจนกลับคืนสู่สภาวะปกติ


ภาพ/ข่าว  นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

ยะลา – บุคลากรทางการแพทย์ ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน ในพื้นที่อำเภอเบตง ฉีดวัคซีนซิโนแวคกันโควิด-19 เข็มแรก

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา  แพทย์หญิงปัทมพันธ์  อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง  นายวงศ์วิทย์  อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง นำสื่อมวลชนใน อ.เบตง จ.ยะลา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร นำโดย พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตงและ  ร.อ.เอกชัย ชัยสาลี ผู้บังคับกองร้อย ป้องกันชายแดนที่ 4  นำกำลังพลชุดเฝ้าตรวจชายแดน เข้ารับวัคซีนซิโนแวคป้องกันโควิด-19 โดยมีเจ้าหน้าที่และประชาชน กลุ่มเสี่ยง มารับการฉีดวัคซีนในวันนี้จำนวน 240 คน

ด้านนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา กล่าวว่า ขอให้พี่น้องประชาชนขาวอำเภอเบตงทุกท่านได้ร่วมมือร่วมใจกันมา ลงทะเบียนจองวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ต่อต้านกับไวรัสโควิด -19 และเมื่อวัคซีนมาถึงก็จะได้รับการฉีดวัคซีนกันทุกคน โดยขณะนี้ได้เปิดจองในกลุ่มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ซึ่งสามารถลงทะเบียนจองได้แล้วถึง 31 พฤษภาคม 2564 ตาม 4 ช่องทางที่สะดวก ประกอบด้วย รพ. ที่ท่านมีประวัติการรักษา อสม. รพ.สต. ใกล้บ้าน ไลน์หมอพร้อม และ QR-code ชาวยะลาจองวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อตนเองครอบครัวและคนที่เรารักตลอดจนเพื่อจังหวัดยะลาของเรา

ขณะที่ ในส่วนประชาชนทั่วไปที่กลุ่มอายุ 18-59 ปี และสนใจในการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้ทางจังหวัดยะลาก็ได้เปิดจองแล้วเช่นกัน ซึ่งสามารถจองได้ 3 ช่องทาง คือ รพ. รพ.สต. คลินิกหมอครอบครัวใกล้บ้าน อสม. และ QR-code ชาวยะลาจองวัคซีนโควิด-19  ยกเว้นไลน์หมอพร้อม  นอกจากนี้ รพ.ทุกแห่งในจังหวัดยะลา ก็ยังได้เปิดสายด่วนจองวัคซีนโควิด- 19 แล้วก็สามารถโทรจองและสอบถามรายละเอียดได้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ อสม. จิตอาสา ที่จะลงพื้นที่ไปเคาะประตูบ้านของพี่น้องประชาชนและบริการจองถึงหน้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ดีที่สุดคือการฉีดเข้าร่างกายเร็วที่สุด โควิด -19 จะป่วยหรือตาย วัคซีนจะช่วยลดการป่วยและรอดจากการเสียชีวิต จองก่อนได้สิทธิ์ฉีดก่อน ถึงเวลาช่วยชาติ เป้าหมายคือ ยะลาต้องชนะ คนยะลาต้องปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

ผบ.ทรภ.1/ผอ.ศรชล.ภาค 1 เยี่ยมอาการลูกเรือประมง ก.สิริกุล 1 ที่ประสบเหตุจมกลางทะเล

สืบเนื่องจากวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ทัพเรือภาคที่ 1/ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ทรภ.1/ศรชล.ภาค 1)

 ได้ช่วยชีวิต 8 ลูกเรือประมงของเรือ ก.สิริกุล 1 ที่ประสบเหตุคลื่นลมแรงน้ำเข้าเรือและจมลงกลางทะเล ทำให้ลูกเรือทั้งหมดต้องลอยคอเกาะอุปกรณ์ช่วยชีวิต รอความช่วยเหลือ โดยผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1/ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ผบ.ทรภ.1/ผอ.ศรชล.ภาค 1) ได้สั่งการให้จัดเครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 ขึ้นบินเพื่อกำหนดตำบลที่ของผู้ประสบภัย และส่ง เฮลิคอปเตอร์ ปราบเรือดำน้ำแบบที่ 1 ไปให้ความช่วยเหลือชีวิตลูกเรือลำดังกล่าว จนปลอดภัยทั้ง 8 คน และนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ โดยผู้ประสบภัย 5 คน อาการปลอดภัย สามารถกลับภูมิลำเนาได้ ส่วนอีก 3 คน อาการพ้นขีดอันตราย แล้ว แต่ยังคงต้องนอนพักรักษาตัวที่ โรงพยาบาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ต่อไปนั้น

พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผบ.ทรภ.1/ผอ.ศรชล.ภาค 1 ยังคงมีความห่วงใยอาการของลูกเรือทั้ง 3 คน ที่ยังคงนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลฯ จึงพร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา เดินทางไปเยี่ยมอาการของลูกเรือทั้ง 3 คน ณ หอผู้ป่วยพิเศษอายุรเวชกรรมชาย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ  เมื่อวันที่ 24 พ.ค.64 ได้พบกับผู้ประสบภัยทั้ง 3 คน พร้อมมอบกระเช้าเพื่อให้กำลังใจ และสอบถามอาการของผู้ประสบภัยทั้ง 3 คน ด้วยความห่วงใย ทราบว่า ในวันนี้ ตรวจร่างกายแล้วไม่มีอาการข้างเคียงจากการสำลักน้ำทะเล อาการโดยทั่วไปปกติดี ซึ่งในเย็นวันนี้แพทย์เจ้าของไข้ได้อนุญาตให้ทั้ง 3 คน กลับบ้านได้

ทางด้าน นาย สถิตย์ ม่วงทอง เจ้าของเรือประมง ก.สิริกุล 1 ได้กล่าวขอบคุณ ผบ.ทรภ.1/ผอ.ศรชล.ภาค 1 ที่ได้จัดเครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ ออกไปให้ความช่วยเหลือ ลูกเรือทั้ง 8 คน ได้ทันท่วงที ผู้ประสบภัยทุกคนได้รับการช่วยเหลือจนปลอดภัย อีกทั้งยังได้ขอบคุณชมรมวิทยุมดดำนาวี ทัพเรือภาคที่ 1 ทำให้มีช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทีมแพทย์และพยาบาลจาก โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ รวมไปถึงผู้ประสานงานทุกท่าน ที่ช่วยทำให้การช่วยเหลือในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ปทุมธานี - อบจ. ลุยเมกะโปรเจ็กต์ เดินหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล แก้ปัญหารถติดเพื่อชาวปทุมธานี

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายเสวก ประเสริฐสุข รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับหัวหน้าส่วนงาน อบจ.ปทุมธานีที่เกี่ยวข้อง และนายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด พร้อมคณะร่วมประชุมการพัฒนาเมืองแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเพื่อการรองรับการขยายตัวจังหวัดปทุมธานีโดยใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโรเรล 

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าจากปัญหาจรราจรติดขัดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบด้วย 1.เส้นทางรังสิต-นครนายก 2.เส้นทางคูคต-ลำลูกกา 3.เส้นทางคลองหลวง โดยได้เชิญ ทางบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด ได้เข้ามาสำรวจว่ารถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลจะสามารถใช้ในเส้นทางไหนบ้างเพื่อแก้ปัญหารถติด ส่วนการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ ทางเราก็มีแผนที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม แต่การประสานเพื่อดำเนินการยังไม่เป็นทางการ

ทั้งนี้จังหวัดปทุมธานีเป็นเมื่องมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาจำนวนมาก การเดินทางจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากแก้ปัญหาด้านจราจรติดขัดได้เร็วคุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น โดยเฉพาะถนนเส้นรังสิต- นครนายก มีปัญหารถติดหนักมาก รองลงมาคือถนนเส้น คลองหลวง-หนองเสือ และเส้นอื่น ๆ ก็เริ่มมีปัญหาแล้วเช่นกันซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า เอเอ็มอาร์ เอเซีย เป็นบริษัทที่ได้ดำเนินการทำรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีทองให้กับกรุงเทพมหานคร และได้ส่งงานไปเมื่อปีที่แล้วที่ผ่านมา บริษัทของเราเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินการด้านระบบควบคุมการเดินรถและอาคารสถานี ระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องจักรของศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้า

นอกจากนี้กลุ่มของบริษัทเราได้มีส่วนในการพัฒนาเมือง โดยเราจะสำรวจว่ามีอะไรบ้างที่เหมาะสมกับเมืองนั้น ๆ  ในส่วนของจังหวัดปทุมธานียังไม่มีรถไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ที่มีอยู่เป็นเพียงส่วนขยายที่มาจากกรุงเทพมหานครได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงจากบางซื่อมายังรังสิต และรถฟ้าสายสีเขียวจากหมอซิต สะพานใหม่มายังคูคต ในความเหมาะสมของรถที่จะมาใช้ นั้นท่านนายก อบจ.ต้องการให้เป็นรถ ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ไม่มาก เน้นบริการได้ทั่วถึง และไม่เป็นมลภาวะตัวรางรถต้องเป็นแบบที่เหมาะกับถนนในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งตนเองเชื่อมั่นว่าหลังจากมีเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามาทำให้วิถีการเดินทางที่เปลี่ยนไปเนื่องจากมีการเดินทางที่สะดวกขึ้น ตนเองคาดว่ารถไฟฟ้าจะเป็นตัวตอบโจทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาจราจรติดขัดในจังหวัดปทุมธานี โดยท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีให้แนวความคิดไปศึกษาว่าการแก้ปัญหาแบบครบวงจรถนนทุกเส้นไม่ทำเพียง เส้นใดเส้นหนึ่งเพราะเล็งเห็นว่าจะต้องแก้ปัญหาในภาพรวมของจังหวัดทั้งหมดโดยทางบริษัท จะต้องกลับไปทำการบ้านตามที่ท่านมีวัตถุประสงค์ไว้และกลับมารายงานให้ท่านทราบอีกครั้งภายใน 30 วัน


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ

หลวงพ่อจ่อยมาโปรดเกลี้ยกล่อมสำเร็จ อส.ตำรวจปีนเสาโทรศัพท์หวังฆ่าตัวตายพิษโควิด-19

อส ตร.เครียดปีนเสาโทรศัพท์ หวังฆ่าตัวตาย เจอวาทะอาจารย์จ่อยกล่อม ปีนลงมาสารภาพพิษโควิด-19 เงินไม่พอค่าใช้จ่าย

เมื่อคืนวันที่ 24 พ.ค.64 เวลา 21.30 น. พ.ต.อ.ปัญญา ดำเล็ก ผกก.สภ.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งเหตุ มีคนปีนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์  หน้าวัดสามัคคีบรรพต (วัดบางเสร่นอก) ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงรุดไปตรวจสอบพร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ที่เกิดเหตุพบผู้คนจำนวนมาก มาพูดให้กำลังใจกับผู้ที่ปีนอยู่บนเสาสัญญาณโทรศัพท์ อยู่ในระดับสูงประมาณ 20-25 เมตร ได้ผ่อนคลายและไม่กระโดดลงมาโดยได้นำเจ้าหน้าที่ส่วนป้องกันและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง พร้อมยานพาหนะ และรถพยาบาลเทศบาลตำบลบางเสร่ มาให้การช่วยเหลือ โดยมี นายกันต์ ธนาอัครชล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางเสร่ เป็นผู้แทนนายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางเสร่ ช่วยเข้าเจรจา

จนกระทั่ง พระครูเกษม กิตติโสภณ (พระอาจารย์จ่อย) เจ้าอาวาสวัดสามัคคีบรรพต (วัดบางเสร่นอก) ทราบข่าว จึงรีบเดินทางมาร่วมเจรจาเกลี้ยกล่อม จนทำให้ผู้ที่ปีนอยู่บนเสาสูงจิตใจอ่อนลง ยอมปีนลงมาจากเสาสูงอย่างปลอดภัย ทราบชื่อต่อมา นายชัยยง สอนรัตน์ อายุ 54 ปี อส.ตร. (อาสาสมัครตำรวจ) ชาวตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ

จากการสอบถามลูกชาย (ไม่เปิดเผยชื่อและสกุล) ทราบว่า พ่อเป็นคนชอบดื่มเหล้า พอได้ดื่มก็จะมีอาการเครียดกับปัญหาชีวิต โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 บอกลำบากจริง ๆ ก่อนที่พ่อจะปีนเสาโทรศัพท์ได้นั่งพูดคุยกับพนักงานดับเพลิง ทต.บางเสร่ บ่นรำพึงว่าตนเองอยากจะบวชเพราะเครียดกับปัญหาชีวิตและเรื่องเงินไม่พอใช้ จึงคิดสั้นจะฆ่าตัวตาย แต่พระอาจารย์จ่อย ได้เข้ามาพูดคุยเกลี้ยกล่อมจนยอมลงมาอย่างปลอดภัย ใช้เวลาประมาณ 30 นาที


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

แม่ฮ่องสอน - โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง พื้นที่ใกล้การสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ชูแผนการสอนตามบริบท ให้เด็กได้รู้ทักษะการใช้ชีวิตในภาวะสงคราม เน้นความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ

นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า เดิมกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดการเรียนการสอน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่จากการประเมินความพร้อมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ยังคงมีการปะทะอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้โรงเรียนที่กำลังจะเปิด จึงเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม หากเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์แทรกซ้อน โรงเรียนมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ ซึ่งหากเกิดเหตุได้เตรียมแผนรวบรวมพลเรือน อพยพเข้าไปยังจุดรวมพล พร้อมจัดสรรที่พักอาศัยและอาหาร เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนแผนการเรียนการสอนจะปรับรูปแบบการเรียนการสอน บนฐาน "ทุนที่เรามี" "บริบทที่เราเป็น" และ "พรุ่งนี้ที่อยากเห็น" ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากที่สุด เน้นการออกแบบโดยใช้สถานการณ์ (Phenomenon Based Learning) เช่น ในภาวะสงครามเช่นนี้ จะสร้างทักษะชีวิตด้านใดให้กับนักเรียน การพักอาศัยอยู่ในป่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการ เรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น และที่นี่สอนได้แต่แบบออนไซท์เพราะมีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่สัญญาณต่ำมากไม่เสถียร และยังขาดอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ในห้วงที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ร่วมกับคริสตจักรบ้านท่าตาฝั่ง เยียวยาเรื่องสภาพจิตใจของนักเรียน ผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้เด็กต้องหนีภัยสงคราม ที่ยากกว่านั้นเด็ก ๆ ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพราะยังกลัวกับเสียงปืนและระเบิด ครูจึงต้องปรับการสอนฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กอันดับแรก ในขณะนี้เด็ก ๆ ยังอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง ในอนาคตหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทางโรงเรียนจะเตรียมความพร้อมเรื่องที่พัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้กับนักเรียนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

นครนายก - พระนักพัฒนา มอบข้าวสารวันละ 100 ถุง 13 วัน 13 หมู่บ้าน ช่วยภัยโควิด -19

ที่วัดดงละคร ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก จัดโครงการ”โคกหนอง วัดดงละคร”มอบข้าวสาร วันล่ะ 100 ถุง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด -19

โดย ดร.พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร ร่วมกับ พุทธศาสนิกชนศัทธาวัดดงละคร ได้ทำตามหลักทฤษฎีในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 คือให้ทำทานหรือแจกทานกับผู้ยากไร้หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและอสม. เช็ครายชื่อลูกบ้านของแต่ล่ะหมู่ ในเขต ต.ดงละคร โดยจะทำการแจกข้าวสารทั้ง ต.ดงละคร วันล่ะ 100 ถุง แจกทั้งสิ้น 13 วัน 13 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 1,300 ครัวเรือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนในเขต ต.ดงละคร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพราะเราจะไม่ทิ้งกัน เราจะผ่านมันไปด้วยกัน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและ อสม. จะเป็นผู้ประสานนำชาวบ้านมารับมอบข้าวสารที่วัดดงละคร ทั้งนี้ได้ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด สวมแมส วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนเข้ารับมอบข้าวสารทุกคน

ทั้งนี้ ดร.พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร และผู้รับใบอนุญาต/ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ เป็นพระนักพัฒนา หาปัจจัยสร้างโรงเรียนให้เด็กได้เรียนฟรี ใครอยากบวชแต่ไม่มีเงินก็บวชให้ฟรี เสียชีวิตไม่มีเงินทำศพก็เผาให้ฟรี จัดหารถวิลแชร์และเตียงผู้ป่วยให้กับผู้ป่วยติดเตียงฟรี และที่วัดดงละครยังได้จัดทำโคกหนองนาโมเดล ซึ่งผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ของจังหวัดนครนายก (สัมภาษณ์ ดร.พระมหาสิริวัฒนา  สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร)


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

สุโขทัย - เรือนจำ อบจ.เตรียมพร้อม โรงพยาบาลสนามรับมือโควิด หากแพร่ระบาดในเรือนจำสุโขทัย

เช้าวันนี้ (24 พ.ค.64) วิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยและนายแพทย์ปองพล วรปราณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนามของเรือนจำจังหวัดสุโขทัย

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กระจายเข้าสู่เรือนจำหลายแห่งทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก กรมราชทัณฑ์มีความห่วงใย ในสภาวการณ์ของการระบาด เพื่อให้ญาติผู้ต้องขังและสังคมสบายใจ ได้ให้ทุกเรือนจำทั่วประเทศจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งอาจจะต้องกันแดนไว้ 1 แดนเพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อมรับมือ ในส่วนของเรือนจำจังหวัดสุโขทัยขณะนี้ได้ใช้อาคารโรงฝึกงาน ในแดนฝึกวิชาชีพ เป็นโรงพยาบาลสนาม สามารถรองรับได้ทั้งหมด 100 เตียง โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 50 เตียง

นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำและแพทย์ที่จะมาดูแล ว่าจังหวัดสุโขทัยโดยเรือนจำจังหวัดสุโขทัยและเรือนจำอำเภอสวรรคโลกได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในเรือนจำเป็นอย่างดี โดยจะดำเนินการตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังทั้งเรือนจำให้ครบ 100% มีการคัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังเข้าใหม่ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และเร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป จากเดิมที่มีการคัดกรอง 3 วันแรกจะเปลี่ยนเป็นคัดกรองตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกก่อนที่จะส่งไปเข้าเรือนจำ ทั้งนี้จะมีทีมแพทย์ละพยาบาลเข้ามาดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ด้านนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยเพื่อสร้างโดมอเนกประสงค์ (covid -19) อีกจำนวน 1 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พักรักษา และบุคลากรในการปฏิบัติงานให้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น  หลัง ซึ่งปัจจุบันเรือนจำจังหวัดสุโขทัยมีผู้ต้องราชทัณฑ์ 1077 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top