Monday, 28 April 2025
Hard News Team

ครม. ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมาย ชี้ ให้ชำระบัญชี นำเงินคืนคลัง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบ ให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน และให้นำเงินคงเหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายแล้ว  และไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา เนื่องจากเป็นงานซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติของหน่วยงานและซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนอื่นในการสนับสนุนเงินเยียวยาค่ารักษาแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ให้บริการสถานที่ออกกำลังกายควรเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยในการใช้สถานที่ รวมทั้งไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเป็นภารกิจปกติของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558  ที่บัญญัติให้ทุนหมุนเวียนที่หน่วยงานของรัฐขอจัดตั้งจะต้องไม่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับภารกิจปกติของหน่วยงานรัฐและต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น หรือทุนหมุนเวียนที่ดำเนินการอยู่แล้วด้วย

ครม.ไฟเขียว ให้บินไทย จัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)เป็นสายการบินแห่งชาติเฉพาะภารกิจขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอุดีอาระเบีย ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาติของไทย โดยไม่อนุญาตให้สายการบินของประเทศอื่น เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนของซาอุดีอาระเบีย ให้ดำเนินการโดยรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ แม้ปัจจุบันการบินไทย จะมีสถานภาพเป็นสายการบินของเอกชนเทียบเท่ากับสายการบินอื่น แต่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)แต่เป็นสายการบินเดียวที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นสายการบินเดียวที่ปฏิบัติภารกิจขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย

นายอนุชา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายการการจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ จำนวน 46,477,000 บาท ไว้แล้ว สำหรับปีต่อไป กรมการปกครอง จะจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้กรมการปกครองได้เตรียมจัดทำโครงการสนับสนุนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดเที่ยวบินพิเศษขนส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่เดินทางไป - กลับ ณ ท่าอากาศยานนราธิวาส ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 46.48 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อขนส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ในส่วนที่เพิ่มเติมจากราคาบัตรโดยสารให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดเที่ยวบินพิเศษสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากท่าอากาศยานนราธิวาสไปยังท่าอากาศยานซาอุดีอาระเบีย จำนวน 9 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 287 คน รวมทั้งสิ้น 2,583 คน ทั้งขาไปและขากลับ ระหว่างเดือนพ.ค. - ก.ย. 2565

ครม. เปิดตัว “โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19” วงเงิน 68 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ วงเงิน 68 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ธ.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพแก่คนว่างงานและตกงาน กระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์และการขยายการลงทุนในธุรกิจให้กับแฟรนไชส์ เพิ่มช่องทางการหารายได้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 

โดยกิจกรรม ประกอบด้วย 1.จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show 2021 ในภูมิภาค รวม 15 ครั้ง เดือนละ 2 จังหวัด มีเป้าหมาย 100 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น 

2.จัดงาน DBD Franchise & SME Expo 2021 ส่วนกลาง 1 ครั้ง เป้าหมาย 400 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น   ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ 500 ราย จะได้นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้ว่างงาน ได้ร่วมกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ จำนวน 1 หมื่นราย

"บิ๊กตู่" สั่ง ปรับโฉม มอบรมต.คุมพื้นที่ ยึด จว.ฐานเสียง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่  85  /2564 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับ พื้นที่จังหวัด เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

นายอนุชา นาคาศัย  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลพื้นที่ จังหวัดชัยนาท สมุทรปราการ ลพบุรี , พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดูแลพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี ศรีสะเกษ , นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ดูแลพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิจิตร

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดูแลพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่  , นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร พัทลุง , นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดูแลพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม , นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ดูแลพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พังงา

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต , นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และ เลย , นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลพื้นที่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดูแลพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ , นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดูแลพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ , นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดูแลพื้นที่จังหวัดสกลนครมุกดาหาร , นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดูแลพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี
 
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม , นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดูแลพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด , พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน
 
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล , นายทรงศักดิ์ ทองศรีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลพื้นที่จังหวัดนครพนม หนองคาย บึงกาฬ , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดูแลพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร ตาก , นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดูแลพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี ระนอง

นางนฤมล ภิญโญสินวัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ดูแลพื้นที่จังหวัดพะเยา เชียงราย น่าน , นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ดูแลพื้นที่จังหวัดชลบุรี ลำปาง ฉะเชิงเทรา , นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลพื้นที่จังหวัดสระแก้ว นครสวรรค์ พิษณุโลก , คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม 

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก , นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลพื้นที่จังหวัดแพร่ สระบุรี ราชบุรี ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

“บิ๊กตู่” แจงครม. เร่งฉีดวัคซีนให้ปชช.สั่งมท. - สธ.รายงานทุกวัน แนะปชช.พบติดเชื้อ ให้รักษาในรพ. เท่านั้น ห้ามกักตัวที่บ้าน! หาพบเชื้อ ย้ำ เตียง-ยา-เวชภัณฑ์ พร้อมรองรับ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมแจ้งให้ที่ประชุมครม.รับทราบถึงมติของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 )หรือศบค.ที่เห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วประเทศและมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์เพื่อลดการแพร่เชื้อที่สัมพันธ์กับสถานบันเทิงการรวมกลุ่มสังสรรค์ต่างๆไม่ให้แพร่ระบาดไปในวงกว้างโดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ และจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง การที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงมาตรการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมากเกินไป จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การควบคุมแพร่ระบาดในรอบนี้เกิดผลสำเร็จ

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯได้เร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหลังกระจายไปแล้วทั่วประเทศและสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าให้ทราบทุกวัน และให้ทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการตั้งโรงพยาบาลสนามในจุดต่างๆ การตรวจเชื้อ การคัดกรอง ที่สำคัญหากประชาชนที่ตรวจพบติดเชื้อให้รักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้

การจัดหาวัคซีนทางเลือกนายกได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเร่งดำเนินการนำเข้าวัคซีนเพิ่ม ขณะนี้มีวัคซีนที่เข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส ในเดือนเม.ย.และพ.ค.คาดว่าจะมีวัคซีนของซิโนแวค เข้ามาเพิ่มเติม จากนั้นจะเป็นของแอสตราเซเนกา เข้ามาในช่วงเดือนมิ.ย.ประมาณ6-10 ล้านโดส ต่อเดือน จะทำให้การฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น โดยจะเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หมอพร้อมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป

สำหรับการจัดหาเวชภัณฑ์และเตียงผู้ป่วย ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ขณะนี้มีรองรับทั้งสิ้นมากกว่า 2.8หมื่นเตียง ทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน เตียงในฮอสพิเทล และโรงพยาบาลสนาม และจะเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย และมีเครื่องช่วยหายใจกว่า 1 กมื่นเครื่อง ที่พร้อมขยายตามสถานการณ์ ด้านอุปกรณ์ป้องกันตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มีหน้ากากN95กว่า1.6ล้านชิ้น และสั่งซื้อสำรองต่อเนื่อง ส่วนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีมากกว่า 94ล้านชิ้น และเตรียมการชุดพีพีอี มากกว่า 5.4 แสนชิ้น นอกจากนั้นได้กระจายยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อรักษาอาการติดเชื้อไปแล้วทั่วประเทศซึ่งมีพอเพียงและสั่งซื้อมาสต๊อกต่อเนื่องและจะนำเข้ามาไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านเม็ด ให้เพียงพอสำหรับผู้ป่วย ขณะที่ห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ มีมากกว่า 270 แห่ง กำลังการตรวจได้กว่า 8 หมื่นตัวอย่างต่อวัน

ทั้งนี้นายกฯห่วงบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร พลเรือน ที่เป็นอาสาสมัคร เพราะเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออยู่ตลอดเวลาจึงให้กำลังใจทุกคนในการทำหน้าที่ พร้อมขอให้ประชาชนเข้าใจว่าทำงานหนักให้ร่วมเป็นกำลังใจให้บุคคลเหล่านี้

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.

ที่ประชุมครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท โดยขั้นตอนต่อจากนี้สำนักงบประมาณจะดำเนินการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2565 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 - 28 พฤษภาคม 2564 ต่อไป

ทั้งนี้สำนักงบประมาณ ได้เสนอถึงการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงบประมาณได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม – 7 เมษายน 2564 และทำหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยรับงบประมาณ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

พร้อมทั้งเสนอร่างพ.ร.บ.งบฯ การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบฯ เป็นไปตามรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยร่างพ.ร.บ.งบฯ 2565 มีโครงสร้างแตกต่างจากพ.ร.บ.งบฯ ปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 7 หมวด โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้เพิ่มหมวดหมู่กฎหมายจำนวน 2 หมวด ได้แก่ หมวด 8 งบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และหมวด 9 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย เนื่องจากมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565

ครม.เคาะเยียวยาช่วยสวนลำไยเพิ่ม 160 ครัวเรือน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบขยายจำนวนครัวเรือนเกษตรกรเป้าหมายในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จากจำนวน 202,013 ครัวเรือน เป็น 202,173 ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 160 ครัวเรือน เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์เยียวยาแต่ตกหล่นในระบบ โดยเบิกจ่ายภายใต้กรอบวงเงินเดิมของโครงการ จำนวน 3,440 ล้านบาท 

ทั้งนี้ยังเห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 64 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.64 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ประสบปัญหาภาวะลำไยล้นตลาดในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 

ก่อนหน้านี้ ครม. เคยมีมติเมื่อ 26 มกราคม 2564 ขยายจำนวนครัวเรือนเกษตรกรในโครงการมาแล้วครั้งหนึ่ง จาก 200,000 ครัวเรือน เป็น 202,013 ครัวเรือน สำหรับการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยในครั้งนี้ ยังคงใช้หลักการเดิม คือ เยียวยาไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินให้เกษตรกรโดยตรง

ครม.ทุ่มงบฯเกือบ 600 ล้าน เตรียมแผนรองรับ สถานการณ์ฉุกเฉิน-ภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขพ.ศ.2563 – 2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบบูรณาการที่ครบวงจรและมีเอกภาพ 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับโรคและภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรงในหลายรูปแบบ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ อุทกภัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติรวมถึงเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองของประเทศด้วย จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นมาให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูหลังเกิดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพได้กำหนดวิสัยทัศน์ตามแผนดังกล่าว คือ ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้รับบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความมั่นใจในระบบบริการสาธารณสุขทุกระยะของการเกิดภัยอย่างทันท่วงทีในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์แรก ส่งเสริมการลดความเสี่ยงต่อสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ได้แก่ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน, จัดทำระบบบริหารความต่อเนื่อง ที่สามารถสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรแก่การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการระบบและให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ พัฒนาระบบสื่อสารในภาวะฉุกเฉินและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้,  พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย ระบบบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน  

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขหลังเกิดสาธารณภัย โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีในระดับปฏิบัติการพื้นที่พัฒนาระบบปฏิบัติการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขให้สอดคล้องกับแนวทางการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพและกลไกการบริหารจัดการเชิงบูรณาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ พัฒนาขีดความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข, เสริมสร้างทักษะและความชำนาญของเครือข่ายด้านการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุข และส่งเสริมมาตรฐานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์รวมทั้งสิ้น 588.41 ล้านบาท  โดยแหล่งเงินที่จะใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการในปี 2563-2565 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณที่สอดรับกับแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานต่อไป

ก.ยุติ รายงานครม. ผลงานกองทุนยุติธรรมปี 63 แจง ช่วยเหลือปชช.ดำเนินคดี-ขอปล่อยตัวชั่วคราว-ผู้ถูกละเมิดสิทธิ-ให้ความรู้กฎหมาย

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กองทุนยุติธรรม โดยกระทรวงยุติธรรมรายงานว่า กองทุนยุติธรรมซึ่งตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 มีภารกิจในการเป็นแหล่งทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน  บริหารจัดการโดยสำนักงานกองทุนยุติธรรม

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาได้มีการใช้จ่ายในกิจการของกองทุนยุติธรรมไปทั้งสิ้น 170.47 ล้านบาท  ช่วยเหลือประชาชน 5,808 ราย แยกเป็น การใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี เช่น ค่าจ้างทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายการพิสูจน์หลักฐาน 23.28 ล้าน ช่วยเหลือประชาชนดำเนินคดี 3,166 ราย แยกเป็นค่าจ้างทนายความ 17.49 ล้านบาท ค่าฤชาธรรมเนียมศาล 5.33 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับการดำเนินคดีเช่น การพิสูจน์หลักฐาน 328,434 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 120,722 บาท

พร้อมยังกล่าวว่าการขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย 101.21 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชน 2,440 ราย ซึ่งการช่วยเหลือได้พิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ขอรับความช่วยเหลือมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีบุคคลรับรอง มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนรวม  44,510 บาท ช่วยเหลือประชาชน 52 ราย โดยช่วยเหลือเป็นค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การให้ความรู้ทางกฎหมาย 3.23 ล้านบาท โดยให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน 150 ราย เป็นให้ความรู้กฎหมายเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายครอบครัว มรดก การเข้าใจถึงสิทธิของตนเองและผู้อื่น ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยกล่าวอีกว่า มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารงานของกองทุน การศึกษาวิจัย และภารกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุนรวม 42.69 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 กองทุนยุติธรรมมีทรัพย์สิน 895.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.44 ล้านบาท จาก 814.63 ล้านบาทในปีงบประมาณก่อนหน้า ส่วนหนี้สินอยู่ที่ 5.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.65 ล้านบาท จาก ลบ2.92 ล้านบาท ในปีงบประมาณก่อนหน้า

ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบ 3,042 ล้าน ขยายสิทธิเราชนะเพิ่ม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการปรับปรุงโครงการเราชนะ โดยให้ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการ จากเดิมกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 31.1 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมาย 33.5 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท และขยายเวลาการใช้จ่ายเงินจากสิ้นสุดในเดือนพ.ค.64 เป็นสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 64 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้พิการ และผู้สูงวัย ซึ่งได้รับวงเงินไปเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า จากการดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมามีผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 33.1 ล้านคน เกินกว่ากลุ่มเป้าหมายเดิมที่ครม.อนุมัติไว้ และปัจจุบันโครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีประชาชนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคัดกรองข้อมูลอีก 8.6 หมื่นคน อีกทั้งยังเปิดรับลงทะเบียนสำหรับกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักอาศัย และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ในการรับลงทะเบียน จนถึงวันที่ 9 เมษายน 64 และมีการทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงจึงทำให้จำวนวนผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพิ่มขึ้นได้อีก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top