Sunday, 15 December 2024
Hard News Team

‘บิ๊กตู่’ เบรก วัคซีนวอล์คอิน หวั่นคนมาไม่ได้ฉีดโวย ให้ยึดหมอพร้อม-กลุ่มเสี่ยงเป็นหลักก่อน สั่ง เร่งปรับปรุงแอปฯ ให้ดี บอก ศบค.ให้ข่าวที่เดียว คนอื่นไม่ได้ข้อสรุปอย่าเพิ่งพูด ลั่น ไม่ล็อคดาวน์ แต่ขอดูสถานการณ์หลังผ่อนนั่งในร้านอาหารก่อน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้มีการหารือกันถึงประเด็นของการวอล์คอินเข้าไปฉีดวัคซีน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงเรื่องวัคซีนวอล์คอินว่า ไม่อยากให้ใช้รูปแบบวอล์คอิน เพราะหากประชาชนแห่กันไปพร้อมกันที่จุดเดียว จะเกิดความชุลมุนขึ้นได้ ในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ กทม.มีคนจำนวนมาก โดยอยากให้ปรับรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ให้ไปลงทะเบียน ณ จุดที่ตั้ง ซึ่งจะมีการกำหนดให้ชัดเจน ต้องใช้เวลา ตอนนี้ให้ยึดแอปพลิเคชันหมอพร้อมไว้ก่อน ให้คนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมและกลุ่มเสี่ยงได้ฉีดก่อน จึงขอให้หน่วยงานไปปรับปรุงและแก้ปัญหาแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อให้พร้อมใช้ อย่าให้เกิดปัญหาประชาชนลงทะเบียนไม่ได้ จึงอยากให้หยุดพูดเรื่องวอล์คอินไปก่อนจนกว่าจะได้มาตรการที่ชัดเจน เดี๋ยวคนวอล์คอินเข้าไปแล้วไม่ได้ฉีดจะโวยวายเอา หากวัคซีนเพียงพอหรือเหลือค่อยมาจัดการกันใหม่ เรื่องวอลค์อินละเอียดอ่อน ต้องจัดการดี ๆ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกำชับเรื่องการให้ข่าวที่ไม่ตรงกันเรื่องวัคซีนวอล์คอิน ว่า ไม่ต้องให้ใครให้ข่าว ให้ ศบค.เป็นคนให้ข่าวแห่งเดียว และอะไรที่ได้ข้อสรุปแล้วถึงค่อยออกมาพูด ส่วนนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ และอยากให้ทบทวนเรื่องวอล์คอิน เพราะถ้าคนเดินทางเข้าไปแล้วไม่ได้ฉีดจะเสียหาย จะด่ารัฐบาลอีก ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ไม่ได้อธิบายหรือพูดอะไรเลยนอกจากกล่าวสั้น ๆ เพียงว่า ‘ตามที่นายกฯ สั่งการครับ’

รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้พูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่เกิน 1 แสนรายว่า อยากให้ดูตัวเลขว่าเป็นอย่างไร ผู้ติดเชื้อกี่คน หายป่วยกี่คน พยายามหามุมดี ๆ มานำเสนอ ส่วนที่มีการเสนอให้ล็อคดาวน์นั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะเราจำเป็นต้องดูแลคนทำงาน ลูกจ้าง ตอนนี้ต้องดูว่าหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดให้รับประทานอาหารในร้านได้ 25% ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้แล้วเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มาจากร้านอาหาร ก็อาจจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเข้ามาอีก เช่น ขยายปริมาณนั่งรับประทานอาหารในร้าน แต่ถ้าพบว่ามีผู้ติดเชื้อจากร้านอาหารก็ต้องทบทวนอีกครั้งว่าอาจต้องปิดเป็นเวลา 14 วันหรือไม่

ขณะที่เรื่องการแพร่ระบาดในเรือนจำนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า น่าจะจัดการไม่ยาก สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว เพราะเรือนจำมีพื้นที่ชัดเจน แต่ขอให้กระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขประสานงานแก้ปัญหากันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้มีการยกเลิกทัวร์ริสต์บับเบิล หรือการท่องเที่ยวแบบจับคู่ที่รัฐบาลจะทำก่อนหน้านี้ออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ยังได้กำชับพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมพร้อมเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรายจ่าย 2565 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. ว่าอย่าให้มีปัญหา เพราะถือเป็นวาระสำคัญที่จะต้องประชุม พร้อมกับขอให้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขกันอย่างเคร่งครัด โดยระบุช่วงหนึ่งว่า ‘ก็น่ากลัวอยู่แต่ พ.ร.บ.งบประมาณก็ต้องเข้า’ โดยมีรัฐมนตรีบางคนแซวถึงเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยว่า การใส่หน้ากากอนามัยพูดคงลดความดุเดือดลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ครม.วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ยังได้แจ้งให้กับนายกฯ ทราบว่า ตนเองจะขอแปรญัตติ พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่ตามหลักการแล้วหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วต้องรอ 90 วัน แต่จะขอลดลงมาเหลือ 30 วัน เพราะกฎหมายฉบับนี้ค้างนานแล้ว ไม่ได้เข้าสภาสักที เนื่องจากได้บอกกับประชาชนเอาไว้ว่าจะจัดการปัญหายาเสพติด ขณะที่นายกฯ ไม่ได้พูดอะไร

นายก อบจ.ระยอง รณรงค์ให้ชาวระยอง เข้ารับการ ฉีดวัคซีนโควิด ประกาศหากเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด จ่ายทันที 500,000 บาท ชี้ วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษ หลังเคยติดเชื้อโควิด แต่เชื้อไม่ลงปอด เหตุได้ฉีดซิโนแวคก่อนแล้ว 1 เข็ม

เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ห้องประชุม อบจ.ระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง เปิดแถลงข่าวรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนชาว จ.ระยอง ไปรับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกคน เพื่อให้จ.ระยอง เป็นจังหวัดที่ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19

นายปิยะ กล่าวว่า หลังจากที่ตนติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 ที่ผ่านมา แต่โชคดีที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 1 เข็ม จึงทำให้อาการทั่วไปไม่รุนแรง เชื้อไม่ลงปอด ล่าสุดหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งตนได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จึงควรให้ประชาชนชาว จ.ระยอง เข้ารับการฉีดวัคซีนกันทุกคน เพื่อทุกคนจะได้ปลอดภัยจากโควิด-19 เพราะการฉีดวัคซีนมีประโยชน์กว่าไม่ฉีด และไม่ต้องไปกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากการฉีด เพราะทางภาครัฐก็มีประกันให้ จาก สปสช. หากใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมีการจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 400,000 บาท

นอกจากนี้ ตนก็จะควักเงินส่วนตัวจ่ายเพิ่มให้อีก 400,000บาท และถ้าเป็นคนระยองก็จ่ายเพิ่มให้อีก 100,000 รวม เป็น 500,000 บาท แต่ถ้า ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการพิการหรือสูญเสียอวัยวะทางร่างกาย จ่าย 240,000 บาท ถ้าเป็นประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ จ.ระยอง จ่าย 340,000 บาท และถ้าบาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง จ่าย 100,000 บาท

สำหรับประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน จ.ระยอง จ่าย 200,000 บาท สำหรับการตรวจสอบหลักฐาน จะตรวจสอบจากบัตรประกันสังคม และบัตรพนักงาน และมีเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ขอเชิญให้ชาวระยองและประชาชนที่อยู่ในจังหวัดระยองเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิดทุกคน

ขณะที่ ศูนย์ปฏิบัติการฯโควิด-19 ระยอง โดยนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดระยองว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 10 ราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.-18 พ.ค.64 จำนวน 831 ราย

ศูนย์โควิด-19 จ.ระยอง ยังประกาศ เปิดเกาะเสม็ด ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าท่องเที่ยวได้ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 64 เป็นต้นไป หลังตรวจเชิงรุกและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดแล้วไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ซึ่งการเปิดเกาะเสม็ดจัดให้มีมาตรการรองรับรับในด้านความปลอดภัย ตามมาตรการของสาธารณสุขกำหนด ภายใต้ความร่วมมือของผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวมั่นใจและปลอดภัยจากโควิด-19 อีกด้วย


ที่มา : https://www.amarintv.com/news/detail/80354

ครม.ไฟเขียว ลดเงินสมทบ นายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 เหลือ 2.5 % เป็นเวลา 3 เดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. โดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิ.ย.-ส.ค.64

รวมเป็นเงินที่จะกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 20,163 ล้านบาท โดยการลดเงินสมทบครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ที่กระทรวงแรงงานเสนอ มาตรการแบ่งเบาภาระให้ลูกจ้างและนายจ้างในช่วงวิกฤตโควิด-19

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับต่อนายจ้างและผู้ประกันตน ดังนี้ นายจ้าง 481,113 ราย ลดภาระค่าใช้จ่ายลง 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่ายลง 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย 1,189 ล้านบาท รวมผู้ประกันตนทุกมาตราจำนวน 12.9 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่ายลง 10,676 ล้านบาท

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานเล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดต่อแรงงานและนายจ้าง จึงดำเนินการเสนอให้ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2564 โดยครั้งแรกช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 23,119 ล้านบาท รวม 2 ครั้งในปีนี้สามารถเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 43,282 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่อง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าของนายจ้างและผู้ประกันตน ช่วยให้ชีวิดความเป็นอยู่ของผู้ประกันตนดีขึ้น และที่สุดรักษาการจ้างงานไว้” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนก.ย.64 เป็นต้นไป นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ถึงจะกลับมาจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% ในอัตราปกติตามกฎหมายกำหนด ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะกลับมาจ่าย 432 บาทต่อเดือนตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน

‘บิ๊กแดง’ เป็นลูก ‘บิ๊กจ๊อด’

จากกรณีที่ทวิตเตอร์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม @ThammasatUFTD ได้โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 18.32 น. วันที่ 17 พฤษภาคม ระบุว่า พฤษภาทมิฬ คือการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ พ่อของ “แดง” อดีตผบ.ทบ. ปัจจุบันได้รับหน้าที่เป็นถึงองคมนตรี

แต่แท้ที่จริงแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นลูกของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์เเละดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11 หมายเลข 6 ไม่ได้เป็นลูกของพล.อ.สุจินดา คราประยูร และไม่ได้เป็นองคมนตรีแต่อย่างใด

ขณะที่ นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้โพสต์เฟซบุ๊กสวนกลับว่า ในฐานะศิษย์เก่ามธ. โคตรอายเลยว่ะ ที่มีรุ่นน้องพร่องความรู้ทางประวัติศาสตร์เยี่ยงนี้


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1405748736448566&id=100010403598013

 

วัคซีนพระสงฆ์ ! “รมต.อนุชา” ให้พศ. นิมนต์พระสงฆ์เข้ารับการฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการแพร่ระบาดในวัด

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ติดตามและอำนวยการความสะดวกแก่พระสงฆ์ที่เข้ารับถวายการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) ที่โรงพยาบาลสงฆ์จัดทำขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้มีพระสงฆ์เข้ารับถวายการฉีดวัคซีน ในวันแรก 350 รูป โดยข้อกำหนดของทางโรงพยาบาลที่จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อถวายการฉีดวัคซีนแด่พระสงฆ์ อายุ 60 ปี ขึ้นไป พระสงฆ์อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคร่วม 7 โรค และพระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาดสีแดงเข้ม

นายอนุชา กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีพุทธศาสนิกชนเดินทางไปเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งมีการประกอบพิธีฌาปนกิจศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้พระสงฆ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ การจัดโครงการถวายการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) แด่พระภิกษุสงฆ์ของโรงพยาบาลสงฆ์ จึงสอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในวัด ซึ่งเป็นการป้องกันทั้งพระภิกษุสงฆ์เอง และญาติโยมที่เดินทางไปวัด 

นายอนุชา กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำรวจจำนวนพระสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่าพระสงฆ์ที่ติดเชื้อและมีอาการอาพาธ มีจำนวน 14 ราย และพระสงฆ์และสามเณรที่มรณภาพ มีจำนวน 3 ราย ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานไปยังวัดทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด พร้อมหาแนวทางให้ความช่วยเหลือโดยด่วน

มณฑลกวางตุ้ง คุมเข้มสกัดโควิด-19 ออกมาตรการกักตัว และสังเกตอาการผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง รวมประเทศไทย เป็นเวลา 14 วัน บวกสังเกตอาการเพิ่มอีก 7 วัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ออกประกาศเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ค.ศ.2021 แจ้งมาตรการเพิ่มเติมเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้แก่ การตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดยต้องตรวจเชื้อ 2 ครั้งในระกว่างการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีอัตราเสี่ยงการติดเชื้อฯ สูง ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย จะต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 1, 4, 7, 10, และ 14 ของการกักตัว

นอกจากนี้ ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการสังเกตอาการเพิ่มเติมอีก 7 วัน กล่าวคือ ผู้ที่กักตัวครบ 14 วันแล้ว จะต้องสังเกตอาการอีก 7 วันในที่พักของตน โดยมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 2 และวันที่ 7 ของช่วงสังเกตการนี้

สำหรับผู้เดินทางเข้าจีนที่เมืองเซินเจิ้น ต้องกักตัว 14 วัน และสังเกตอาการ 7 วันที่เมืองเซินเจิ้น ก่อนออกเดินทางไปเมืองอื่นๆ


https://mgronline.com/china/detail/9640000047686

ครม. เห็นชอบ มาตรการรับมือฤดูฝน เน้น ป้องกัน-ลดความเสียหายจากภัยพิบัติในฤดู

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ป้องกัน และลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝน

ซึ่งประมาณการปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีปริมาณน้ำรวม 38,722 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 47 ของความจุ) และเมื่อเข้าฤดูฝนจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 96,249 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำถึง 57,527 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น สทนช. จึงกำหนดแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน และมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ดำเนินการควบคู่กันไป โดยแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน กำหนดให้ใช้น้ำฝนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แบ่งประเภทการใช้น้ำ ดังนี้

1.) การอุปโภคบริโภค รวม 3,429 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.) การรักษาระบบนิเวศ รวม 12,888 ล้านลูกบาศก์เมตร

3.) การเกษตรกรรม รวม 78,905 ล้านลูกบาศก์เมตร

4.) การอุตสาหกรรม รวม 1,027 ล้านลูกบาศก์เมตร  

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ดังนี้

1.) ในเขตชลประทาน มีจำนวน 11.56 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 10.62 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 6.1 แสนไร่ และพืชผัก จำนวน 3.2 แสนไร่

2.) นอกเขตชลประทาน มีจำนวน 61.49 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่1 (นาปี) จำนวน 48.95 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 11.75 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 7.9 แสนไร่ 

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้

1.) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยปรับปรุงข้อมูลทุกสิ้นเดือน  

2.) บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 15 สิงหาคม 2564

3.) ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 เมษายน 2564

4.) ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานภายใน 30 มิถุนายนนี้

5.) ปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้

6.) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้

7.) เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้

8.) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำตลอดระยะเวลาฤดูฝน

9.) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ

10.) ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวด้วย

ครม. ตั้ง "พสุ โลหารชุน" นั่ง ประธานบอร์ดเอ็กซ์ซิมแบงค์

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็น กรรมการ, น.ส.ลดาวัลย์ คำภา เป็น กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.) นายพสุ โลหารชุน เป็น ประธานกรรมการ

2.) นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ เป็น กรรมการ

3.) นายคณิทธ์ สว่างวโรรส เป็น กรรมการ  

4.) นายสุวัฒน์ กมลพนัส เป็น กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ครม. เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้ง นายศุภชัย เอกอุ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกอัตราเดือนละ 465,000 บาท (ตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ส่วนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นรวมทั้งเงื่อนไขการจ้างและการประเมินการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ 

ครม.เห็นชอบมอบหมายให้ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลำดับที่สอง แทน นายถาวร เสนเนียม ที่พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ครม. ไฟเขียว ลดเงินสมทบ ม.33 ลูกจ้าง-นายจ้าง บรรเทาโควิด เหลือ 216 บาท 3 เดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. เพื่อปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะปรับจากร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบลดลงจากเดิมเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 216 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 2564 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งยังช่วยรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า การลดอัตราเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้กองทุนจัดเก็บเงินสมบทได้ลดลงจำนวน 20,163 ล้านบาท แต่นายจ้างและผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของนายจ้างจำนวน 485,113 ราย จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท รวมเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 20,163 ล้านบาท

ผลสำรวจชาวบ้านแนะรัฐแจกเงินสดเยียวยาโควิด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ปี 64 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มี.ค. 64 พบว่า ประชาชน 99.7% รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ โดยมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 81.2% พอใจปานกลาง 15.9% พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด 2.3% และไม่พึงพอใจ 0.6%  

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3 อันดับแรกดังนี้ คือ ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน, ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ และควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา, ควรเพิ่มวงเงิน และควรให้เป็นเงินสด

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะ 62.9% โครงการคนละครึ่ง 26.3% โครงการ ม.33 เรารักกัน 6.1% โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.7% และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 0.6%

นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐพบว่า ประชาชน 60.7% มีความพร้อม 39.3% ไม่พร้อม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 66.3% 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top