Saturday, 29 June 2024
Hard News Team

“วิษณุ” ระบุ ร่างแก้ รธน. ของ พปชร. ไม่ใช่ร่างรัฐบาล บอก รอดูรายละเอียดอยู่ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่จะยื่นวันที่ 7 เมษายน จะถือเป็นร่างของรัฐบาลหรือไม่ ว่า เป็นร่างของพรรคพลังประชารัฐที่เขาไปล่าลายเซ็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 100 กว่าคนตามหลักเกณฑ์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเสนออีกหนึ่งร่าง แสดงว่าเป็นร่างของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ตนยังไม่เห็นเนื้อหาสำคัญของร่างพรรคพลังประชารัฐเห็นแต่ที่เป็นข่าว ซึ่งก็อยากเห็นอยู่เหมือนกันว่ารายละเอียดเห็นเช่นไร 

เมื่อถามว่าประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐเสนอสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าเป็นโจทย์ของใคร คำว่าโจทย์ของประเทศอาจมองไม่เหมือนกัน แม้กระทั้งการแก้เรื่องบัตรเลือกตั้งที่เสนอเป็น 2 ใบ ตนก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันเพราะบางพรรคก็ได้ประโยชน์จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว บางพรรคก็ได้ประโยชน์กับบัตรเลือกตั้งสองใบ ดังนั้นอาจทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกันทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่แต่ละพรรคการเมืองไม่สามารถทำให้เสนอร่างร่วมกันได้   

เมื่อถามว่าการที่พรรคพลังประชารัฐไม่แก้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จะเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องไปถามสังคม จะมาถามอะไรตน เมื่อถามว่าการที่แต่ละพรรคเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเองแล้วจำเป็นที่รัฐบาลต้องเสนอร่างของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ยังไม่เคยเห็นพูดกันในส่วนนี้ เมื่อถามย้ำว่าก่อนหน้านี้นายกฯเคยบอกว่าจะมีร่างแก้ไขรธน.ของรัฐบาล นายวิษณุ ถามกลับว่า “ท่านพูดเหรอ” สื่อจึงตอบกลับไปว่าพูดก่อนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำในวาระ 3 นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่ทราบ”

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐเสนอแก้มาตรา 144 เกี่ยวกับการใช้งบประมาณจะทำให้ระบบการตรวจสอบลดลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มาตรา 144 เพิ่งมามีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อมีแล้วทำให้ระบบตรวจสอบเข้มข้นขึ้นถือเป็นจุดแข็งอันนึ่งของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งพอไปแก้ตนก็อยากเห็นเหมือนกันว่าจะแก้อย่างไร ตอนนี้ยังตอบไม่ถูกเพราะยังไม่เห็นร่าง 

เมื่อถามว่าการแก้ไขมาตรา 185 ที่ห้าม ส.ส. เข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับราชการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อลงไปเช่นนั้นแต่ตนขอดูรายละเอียดก่อนว่าเขาแก้อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ส.ส. ก็ไปยุ่งกับข้าราชการไม่ได้อยู่แล้วและหลักของมาตราดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ใช้มานานแล้วในรัฐธรรมนูญหลายฉบับไม่ได้เพิ่งมามีในรัฐธรรมนูญ 60 

เมื่อถามว่า สำหรับมาตรา 270 จากเดิมให้ ส.ว. เป็นผู้ตรวจสอบติดตามการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แล้วให้ ส.ส. เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้จะมีผลดีผลเสียอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ซึ่งตนยังไม่เห็นแต่การให้ ส.ส. เข้ามามีส่วนร่วมก็ถือเป็นเรื่องดีมาก ๆ แต่ก็ต้องดูว่ามาตรานี้มีหลายวรรคว่าเขาจะแก้อย่างไร ซึ่งตนก็อยากให้แก้เรื่องการรายงานรัฐสภาทุกสามเดือนเพราะเป็นภาระแก้ทุกฝ่ายและวรรคอื่น ๆ ที่บอกว่าหากเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายังไม่เห็นว่าเขาจะแก้หรือไม่ 

“แรมโบ้" จวก "ตู่ - เต้น" เคลื่อนไหวเพื่อใคร ย้อนถามประกาศ ”จงรักภักดี” หลังออกคุก แต่กลับเคลื่อนไหว ชี้ ไล่ "บิ๊กตู่" ออกจะให้ใครเป็นนายกฯ แทน

วันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เตรียมเคลื่อนไหวชุมนุมชุมนุม ในวันที่ 4 เมษายนว่า ที่จริงมีการพูดคุยกันมาตลอดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนายจตุพร เคยพูดตอนออกจากเรือนจำว่าถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออะไร อยู่ในคุกเหมือนการอยู่ในนรกของคนเป็น ตนจึงต่อสายให้ได้คุยกับผู้ใหญ่ให้ทราบถึงความเดือดร้อนและการสนับสนุนช่วยเหลือ และที่ผ่านมาเตือนตลอดว่าหมดเวลาเป็นแกนนำเสื้อแดงเพราะในที่สุดเราก็ถูกทอดทิ้ง และการกลับมาประกาศชุมนุมต้องถามว่าที่ผ่านมาสู้เพื่อใคร สู้เพื่อตัวเองหรือสู้เพื่อใคร 

สู้เพื่อตัวเองเพื่อจะได้มีตำแหน่งเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี และสู้แล้วรวย ที่เคยบอกว่า นปช. มีจุดยืนอยู่ตรงกลางเพื่อประชาชน แต่สุดท้ายก็สู้เพื่อตัวเองให้คนนามสกุลชินวิตรกลับมามีอำนาจ ไม่ได้สู้เพื่อประชาชน คือสิ่งที่สะท้อนให้เสื้อแดงได้รับรู้ว่าใครที่หลอกลวงพาประชาชนไปตายไม่ได้เป็นการปกป้องประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และคนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวบอกว่าเพื่อประชาธิปไตย มีใครออกมารับผิดชอบหรือไม่ ตนจึงต้องเอาความจริงมาแฉให้หมด และจะแฉต่อไป หากนายจตุพร รวมถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ประกาศยืนข้างนักศึกษา ม็อบคณะราษฎรหรือนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์ ซึ่งจิตใจของคนพวกนี้ไม่มีสำนักในความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ประเทศชาติ และประชาชน ออกมาเคลื่อนไหว 

นายจตุพร กล่าวว่า อย่ามาบอกว่าออกมาจากเรือนจำ จะจงรักภักดีและปกป้องสถาบัน แต่พอถึงเวลาอาจถูกใครชักจูงหรือให้งบประมาณ ซึ่งตนก็ไม่ทราบ แต่เมื่อจงรักภักดีต่อสถาบันจะมาเคลื่อนไหวโดยอ้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างนี้ไม่ได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยสั่งการอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ แต่การมากล่าวหาว่าเป็นตัวขัดขวางกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นข้อเท็จจริง ถามว่าถ้านายจตุพรและนายณัฐวุฒิ ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จะให้ใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ทั้งที่คนเหล่านี้โดน มาตรา 112 และต้องการที่จะเข้าล่วงจาบจ้วงสถาบัน อย่างไรก็ตามถ้ายังไม่หยุดเคลื่อนไหวตนจะออกมาแฉพฤติกรรมของทั้งคู่เป็นระยะ

“บิ๊กป้อม" ยืนยัน ชายแดนไทย เตรียมพร้อม รับมือ เมียนมาร์หนีภัย พร้อมย้ำ! ไล่บิ๊กตู่ 4 เมษา อย่าทำผิดกฎหมาย

วันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการแก้ปัญหาชายแดนไทย - เมียนมาร์ ซึ่งขณะนี้ มีผู้หนีภัยจากการสู้รบในเมียนมาร์ทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก ว่า ตอนนี้เราเตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปหมดแล้วแล้วจะมาถามอะไรอีก 

นอกจากนี้ยังให้สัมภาษณ์ ถึงกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระดม ประชาชนมาร่วมขับไล่นายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 เมษายนนี้ ว่า แล้วจะให้ตนทำอย่างไร อย่าทำผิดกฏหมายก็แล้วกัน จะชุมนุมกันอย่างไรก็ว่าไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ความรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่หรอก ๆ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการรายงานว่าจะมีความรุนแรงแต่อย่างใดเมื่อถามว่า ทางการข่าวมีการประเมินหรือไม่ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังนายจตุพร พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า สื่อก็ไปดูเอา

“บิ๊กตู่” ถก ศบค. ชุดเล็ก หารือแอปพลิเคชั่นวัคซีน หมอพร้อม

วันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุม ศบค. ชุดเล็กและกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นวัคซีน (หมอพร้อม) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นานอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขา สมช. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เข้าร่วมประชุม 

นายกฯ ยึดหลัก “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” ดันเพิ่มป่า - เพิ่มเศรษฐกิจ จัดสรรที่ทำกินแล้วเกือบ 7 แสนไร่ ป่าชุมชนกว่า 6 ล้านไร่ 

วันที่ 2 เมษายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการดูแลประชาชนให้มีพื้นที่ทำกินและยกระดับความเป็นอยู่ว่า ภายใต้การบริหารราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จัทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เดินหน้าการพัฒนาที่ดินเพื่อประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างมั่นคง อีกทั้งมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า โดยยึดหลัก “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” ซึ่งรัฐบางได้ริเริ่มนโยบายใหม่ที่ครอบคลุมหลายมิติ ดังเห็นได้จาก การแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติป่าชุมชน ช่วยไม่ให้ชาวบ้านที่เก็บของป่ามาขายต้องถูกจับเหมือนในอดีต และให้อำนาจชาวบ้านในชุมชนในการตัดสินใจดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ของชุมชนตัวเอง ณ ปัจจุบัน มีการประกาศจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้ว 11,327 ป่าชุมชน พื้นที่ 6.29 ล้านไร่ และมีแผนการจัดตั้งป่าชุมชนใหม่ในปี 2564 อีก 300 ป่าชุมชน 

มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ ปลดล็อก พระราชบัญญัติป่าไม้ อนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้หวงห้าม 158 ชนิดในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ถือเป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เปิดให้ลงทะเบียน “ปลูกไม้มีค่า” กับกรมป่าไม้ ถ้าปลูกในที่ดินของตัวเอง มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ก็สามารถทำไม้ ตัด แปรรูป ส่งออก หรืออื่น ๆ ได้ แต่ถ้าขึ้นอยู่ในป่า ยังถือเป็น “ไม้หวงห้าม” ปัจจุบันนี้ประชาชนปลูกไม้มีค่าและลงทะเบียนกับกรมป่าไม้แล้ว 7 หมื่นกว่าราย เนื้อที่รวม ล้านกว่าไร่ โดยมีโครงการคู่ขนานไปด้วย คือ ประชาชนสามารถนำไม้มีค่า ที่กำหนดไว้ 58 ชนิด (เช่น สัก ประดู่ พะยูง เต็ง มะค่าโมง เป็นต้น) ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรได้อีกด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนมี่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลไกภาครัฐจึงต้องขับเคลื่อนในทิศทางที่ส่งเสริมโอกาสแก่ประชาชน ลดความขัดแย้ง ไม่ขัดกฎหมาย แนวคิด “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน ทั้งนี้ แม้จะพบปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินซ้ำซ้อนอยู่ในบางพื้นที่ ในภาพรวมของการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชุมชนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ / ป่าชายเลน / ที่สปก. / ที่ราชพัสดุ / ที่สาธารณะประโยชน์ นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จัดสรรให้แล้ว 60,419 ราย 74,612 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 665,000 ไร่ และไม่ใช่เพียงแค่นั้น รัฐบาลยังได้ดำเนินการอย่างบูรณาการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า และถนน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่เป็นอาชีพเสริม เพื่อชุมชนมีรายได้เพี่มจากโครงการคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

คมนาคม ผุดคณะทำงาน ฟื้นฟู ขสมก. ตั้ง “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” เป็นประธาน

วันที่ 2 เมษายน 2564 นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานฯ ในการพิจารณาเพื่อปรับแผนแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม และนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นเลขานุการคณะทำงาน รวมทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ดูสัญญาเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบันแผนดังกล่าว จะนำรถร่วมเอกชนเข้ามาให้บริการด้วย โดยทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเจรจาในการจ้างเช่าวิ่งตามระยะทางร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยเชื่อว่า เรื่องดังกล่าว สามารถอธิบายได้ ขณะเดียวกัน ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร เป็นอัตราเดียว (Single Price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนนั้น หากประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งใช้ค่าโดยสารไม่ถึง 30 บาท/วัน จะเรียกเก็บค่าโดยสารตามเดิมของรถโดยสารสาธารณะในแต่ละเส้นทาง ซึ่งต้องมาพิจารณาด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนการขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) นั้น ที่ผ่านมา ขสมก.ได้เสนอของบประมาณเพื่อขออุดหนุน จำนวน 9,000 ล้านบาท แต่ทางกระทรวงคลัง สภาพัฒน์ฯ และสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่าควรปรับปรุงรายละเอียดของแผนฟื้นฟู ขสมก.ในบางประเด็นให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการขอเงินอุดหนุนนั้นสามารถดำเนินการได้ ต่อเมื่อเป็นราคาที่ถูกจำกัดเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่งผลให้ขาดทุนจึงจะสามารถขอเงินอุดหนุนได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันการเสนอขอเงิน PSO ไม่ใช่ราคาที่ถูกจำกัดเพื่อประชาชนเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายแผนปฏิรูป ขสมก.ในระยะ 7 ปี

ขณะเดียวกัน ขสมก. มีงบประมาณที่ต้องให้ค่าตอบแทนแก่พนักงาน ซึ่งมีอัตราการจ้างที่สูงกว่าปกติ ซึ่งหลังจากนั้นภายใน 7 ปี พนักงาน ขสมก.จะเกษียณอายุราชการ ทำให้ ขสมก.ต้องจ้างพนักงานภายนอก (เอาท์ซอร์ส) เข้ามาเพิ่มในการบริหารจัดการแทน อย่างไรก็ตาม มองว่า หากดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟู ขสมก. ล่าช้า จะทำให้ ขสมก.มีผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน ขสมก. ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท หรือขาดทุนปีละ 4,000 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า คณะทำงานชุดดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติในกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สำนักงบประมาณ ที่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก.ในบางประเด็น หลังจากนั้น ขบ. และ ขสมก.จะดำเนินการพิจารณาสรุปรายละเอียด พร้อมทั้งจัดทำแผนลงทุน เพื่อเสนอต่อสภาพัฒน์ฯ ภายใน พ.ค. 2564 ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด

“ก้าวไกล” ชี้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ น่ากังวล ใช้หลักการ "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น" 

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เห็นชอบเสนอร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ.... อันเป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำลังเปลี่ยนหลักการของกฎหมายที่ได้ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่เน้นการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” กลายเป็น “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” โดยร่าง พ.ร.บ. ที่ ครม.เสนอมีการแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญ 16 ประเด็น เช่น การเพิ่มนิยาม “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านระบบดิจิทัล การกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีการอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ตนได้ศึกษา และได้พูดคุยกับนักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกันว่ามีเรื่องที่น่าห่วงอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกำหนดที่ระบุว่าข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อมูลด้านความมั่นคงของรัฐ ด้านการทหาร ด้านการป้องกันประเทศ ไปจนถึงความมั่นคงของรัฐด้านอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดจะเปิดเผยไม่ได้ เรื่องนี้กลายเป็นผิดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการทำงานที่รัฐบาลเองพูดมาโดยตลอด เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้ ครม. กำหนด ซึ่งอาจมีการกำหนดจนทุกเรื่องกลายเป็นความมั่นคงของรัฐไปเสียหมด

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ตนประหลาดใจมาก คือ การที่กฎหมายจะกำหนดว่าหน่วยงานอาจปฏิเสธให้ข้อมูลหากเห็นว่าผู้ยื่นคำขอขอข้อมูลเป็นจำนวนมากหรือบ่อยครั้ง ถึงแม้จะพยายามบอกว่าเฉพาะกรณีก่อกวนการปฏิบัติงานหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการตีความ เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดที่ผิดมาก แทนที่หน่วยราชการจะยินดีที่ประชาชนสนใจในสิ่งที่ตนทำงาน แต่กลับมาหาว่าประชาชนเป็นปัญหาที่จะมาขอข้อมูล มิเช่นนั้นหน่วยราชการจะเก็บข้อมูลจำนวนมากไปทำไม หากไม่ให้ประชาชนใช้ได้ หรือกลัวประชาชนจะตรวจสอบได้ว่าหลายครั้งเป็นการใช้งบประมาณเกินจำเป็น

เรื่องการอุทธรณ์กรณีที่หน่วยราชการไม่ให้เปิดเผยต่อศาล ร่างกฎหมายนี้เขียนบังคับการทำหน้าที่ของศาลโดยได้ระบุว่าให้ศาลพิจารณาเป็นการลับและห้ามมิให้เปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูล และวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลในคำพิพากษาหรือคำสั่ง เรื่องนี้ในแต่ละศาลจะมีกฎหมายที่ระบุไว้อยู่และให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องลับและบันทึกข้อมูลแบบใด กฎหมายไม่ควรไปกำหนดแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาล อีกทั้งให้มีการอุทธรณ์ได้ในศาลปกครองชั้นต้นเพียงชั้นเดียวและถือเป็นที่สุด จะทำให้ศาลปกครองสูงสุดไม่มีโอกาสได้ทบทวนและวินิจฉัยคดีวางบรรทัดฐานในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ

อีกทั้ง ครม. เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ซึ่งระบุให้พิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา โดยหลายกฎหมายที่ผ่านมาพบว่าฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภาจะพิจารณาและลงมติไปในทิศทางเดียวกันทั้งในชั้นรับหลักการวาระ 1 และชั้นพิจารณาวาระ 2 ทำให้หากจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระที่ไม่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน จะต้องช่วยกันส่งเสียงท้วงติงร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ตอนนี้

"จะเห็นว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ต้องอยู่บนหลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ที่ ครม. มีมติเห็นชอบนี้ไม่ได้อยู่บนหลักการดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงตั้งคณะทำงานศึกษาเนื้อหาสาระที่แก้ไข พร้อมเสนอความเห็นต่อที่ประชุม ส.ส. พิจารณาว่าควรจะรับหรือไม่รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ต่อไป” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ไม่ต้องตกใจ...!!!! ทบ. แจ้งเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะ 3 เม.ย. 64 นี้

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ร.2 รอ.) แจ้งประชาสัมพันธ์ เคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะ ของกองพันทหารม้าที่ 2 และกองทหารพลาธิการที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ภายหลังจากการฝึกเป็นหน่วยกองพัน ประจำปี 2564 ณ พื้นที่ฝึกฯ จ.สระแก้ว

ในวันที่ 3 มษายน 2564 เคลื่อนย้ายทางรถยนต์จากพื้นที่ฝึกฯ จ.สระแก้ว – อ.วัฒนานคร – อ.กบินทร์บุรี – ถ.สุวรรณศร – กองพันทหารม้าที่ 2 และกองทหารพลาธิการที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี  จึงขอแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ และขออภัยในความไม่สะดวก

“เทพไท”ข้องใจพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เสนอแก้ รธน. ร่วมกัน อัดเป็นแค่ละครตบตา ปชช. หวังลดกระแสเคลื่อนไหว เสนอ “บิ๊กตู่” ชูธงนำ สยบ ม็อบ

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตอนนี้มีความชัดเจนเรื่องประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วว่า จะมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้ง 2 กลุ่มโดยมีร่างของพรรคพลังประชารัฐที่จะแก้ไขใน 5 ประเด็น 13 มาตรา และในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ก็จะมีการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายฉบับ 

ซึ่งมีทั้งหมด 6 ประเด็น 6 ฉบับ นับว่าเป็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ที่สร้างความแปลกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่งจึงเกิดคำถามว่า ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดไม่เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน ทั้งที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน หรือต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลฟรีโหวตเหมือนตอนลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำมาแล้ว แต่ไม่มีใคร หรือพรรคการเมืองใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเลย

“การเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคการเมือง สามารถเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอิสระ เป็นการแสดงความไม่จริงใจและไม่เอาจริงเอาจังในการผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เป็นการแสดงละครตบตาประชาชน เพื่อต้องการลดกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเคลื่อนไหวการกดดันให้รัฐบาลอยู่ในตอนนี้ ถ้าหากรัฐบาลมีความจริงใจและต้องการให้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเป็นจริงในทางปฏิบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องเป็นผู้ชูธงนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง จะได้สยบความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ด้วย” นายเทพไท กล่าว

ชินวรณ์เผย ผลหารือ 3 พรรค มอบ “ประชาธิปัตย์” ยกร่าง พร้อมหนุนแก้ รธน. เป็นรายมาตรา 

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรค ได้หารือร่วมกันกับตัวแทนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 3 พรรค ประกอบด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ นายศุภชัย ใจสมุทร นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนงค์ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจากการหารือมีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา โดยจะแยกเสนอเป็นรายฉบับดังนี้ 

ฉบับที่ 1 ประเด็นมาตรา 256 แก้ไขจากยากให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียง 3 ใน 5  
ฉบับที่ 2 ประเด็นมาตรา 272 ส.ว. ไม่สิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี
ฉบับที่ 3 ประเด็นหมวดสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน 
ฉบับที่ 4 ประเด็นหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล 
ฉบับที่ 5 ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 
และฉบับที่ 6 ประเด็นที่ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบบัตร 2 ใบ 

ซึ่งจากการหารือได้มอบหมายให้พรรคประชาธิปัตย์ไปยกร่างและนำกลับมาหารือร่วมกันอีกรอบในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้แน่นอน 

นายชินวรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีพรรคพลังประชารัฐ ให้ ส.ส. ลงนามเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 5 ประเด็น 13 มาตรานั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และได้คุยกับประธานวิปรัฐบาล นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ และนายอนุชา นาคาศัย แล้วว่าประเด็นใดที่เห็นพ้องต้องกันก็พร้อมที่สนับสนุนกัน ในส่วน 3 พรรคที่หารือกันนั้นก็มีข้อสรุปตรงกันว่ายินดีร่วมมือกับทุกพรรครวมถึงภาคประชาชนด้วย เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top