Saturday, 5 April 2025
อรวดี ศิริผดุงธรรม

ส่อง 5 ประเทศผู้นำในการส่งออกข้าวของโลก ประจำปี 2024

จากข้อมูลของ USDA Foreign Agricultural Service ได้เก็บข้อมูลการส่งออกข้าวจากประเทศต่าง ๆของปี 2024 และมีการคาดว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวจะสามารถส่งออกข้าวได้เยอะกว่าปีที่แล้ว คือจาก 53.29 ล้านตันในปี 2023 ขยับมาเป็น 55.13 ล้านตันในปี 2024 โดย 5 ประเทศผู้นำที่ส่งออกข้าวมากที่สุดสามารถเรียงตามลำดับได้ดังนี้...

1.อินเดีย เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก โดยส่งออกสัดส่วนมากถึง 37% ของโลก และคาดการณ์ว่าปีนี้จะส่งออกได้ 17 ล้านตัน ซึ่งน้อยลงกว่าปีที่แล้วที่ส่งออกได้ถึง 17.73 ล้านตัน

2.ไทย ประเทศไทยครองสัดส่วน 16% ของโลก โดยไทยส่งออกข้าว 8.5 ล้านตันโดยลดลงจากปีที่แล้วที่ 8.74 ล้านตัน

3.เวียดนาม มีการเติบโตแบบมีนัยสำคัญจนพลิกมาเป็นอันดับ 2 ตอนปี 2023 โดยมีลูกค้าเป็น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และหลายประเทศในแอฟริกา จะสามารถส่งออกข้าวเพิ่มได้จาก 8.23 ล้านตันเป็น 8.3 ล้านตัน

4.ปากีสถาน ส่งออกข้าวประมาณ 4.53 ล้านตันในปีที่แล้ว และจะขยับขึ้นมาเป็น 6.10 ล้านตันในปี 2024 คิดเป็น 7% ของโลก

5.สหรัฐอเมริกา ที่ปีที่แล้วอยู่อันดับ 6 แต่ในปีนี้สามารถแซงหน้ากัมพูชาขึ้นมาได้ โดยมีตัวเลขส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นจาก 2.40 ล้านตันไปเป็น 3.13 ล้านตัน ในปีนี้

How to invest คุยเรื่องลงทุนกับ 'อรวดี ศิริผดุงธรรม' 'หุ้น-ทอง-อสังหาฯ' ในห้วงเวลาที่ต้องคลิกให้ถูกจังหวะ

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณอรวดี ศิริผดุงธรรม Senior Investment Advisory เมื่อวันที่ 3 ส.ค.67 ในประเด็น 'เกาะติดการลงทุนไทย' ว่า...

ช่วงนี้หากมองการลงทุนในตลาดหุ้น คงต้องพิจารณาให้รอบด้าน เนื่องจากมีแรงเทขายหุ้นจากต่างชาติตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้ทิ้งหุ้นไทยทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น ยานยนต์, การแพทย์ และสื่อสาร 

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า นักลงทุนควรมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า เช่น กลุ่มที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ, โรงไฟฟ้า, สายการบิน, สินค้านำเข้า เป็นต้น 

ต่อมา คาดกันว่าในเดือนกันยายนนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติลดดอกเบี้ย ก็จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงในอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสของนักลงทุนเช่นกัน 

ส่วนนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้ ก็อยากให้เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเองก่อนว่า สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน? แนะนำให้ลองกรอกแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก จากนั้นควรศึกษาข้อมูลของบริษัทที่สนใจลงทุนอย่างละเอียด เช่น ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท, ผู้บริหาร, ธรรมาภิบาล, สินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่ 

คุณอรวดี ให้คำแนะนำในส่วนนี้เพิ่มด้วยว่า "การเล่นหุ้น จำเป็นต้องมองภาพใหญ่ของประเทศให้ออก ว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหน เช่น รัฐบาลกำลังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแบบใด แล้วหุ้นตัวไหนที่มีได้อานิสงส์จากโครงการนี้ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม หรือ ร้านค้าปลีก เข้าข่ายไหม จากนั้นก็ค่อย ๆ ทยอยซื้อเก็บไปเรื่อย ๆ พอในระยะยาว เราก็อาจจะสามารถเอาชนะตลาดได้"

เมื่อถามถึงการลงทุนในตลาดทองคำ? คุณอรวดี เผยว่า ปัจจุบันมีผลงานวิจัยรายงานว่าทองคำบนโลกอาจมีให้ขุดได้อีกไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น หมายความว่าปริมาณทองคำจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับความต้องการที่มีมากขึ้น ภายใต้จุดเด่นที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ซึ่งได้รับความนิยมสูง สามารถจับต้องได้ และมูลค่าของทองคำไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย

ทว่า ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่นิยมลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ แต่ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อทำกำไรมากกว่า แต่กลับกันถ้าเศรษฐกิจขาลง นักลงทุนจะหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น 

ดังนั้น การลงทุนทองคำสามารถลงทุนได้เรื่อยๆ แต่ต้องรู้กลยุทธ์ว่าจะลงทุนในรูปแบบใด ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ถ้าลงทุนในระยะยาวมีโอกาสทำกำไรได้สูง 

เมื่อถามถึงการลงทุนในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย? คุณอรวดี กล่าวว่า ในปัจจุบันอสังหาฯ เหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินเย็นมากกว่า เพราะถ้าลงทุนไปแล้ว ไม่สามารถปล่อยเช่า หรือขายได้ ต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากต้องจ่ายค่าเสื่อมและค่าส่วนกลางตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันความต้องการอสังหาฯ ในไทยไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน อาจต้องรอนโยบายจากรัฐบาลมาสนับสนุน เพื่อให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

รู้จัก FOMC การประชุมของ FED ที่ผู้กุมนโยบายการเงินทั่วโลกต่างจับตา เพราะทุกทีท่า ล้วนกระทบเสถียรภาพทาง ศก. 'ระดับชาติ-ระดับโลก'

ถ้าใครติดตามข่าวการลงทุนอยู่เรื่อย ๆ ก็คงสังเกตได้ว่า ช่วงไหนที่มีข่าวการประชุม FOMC หรือการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee - FOMC) ตลาดสินทรัพย์ทุกประเภทก็มักจะมีความผันผวน โดยนักลงทุนบางส่วนก็มีการขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อลดความเสี่ยงลง เพื่อรอดูผลของการประชุมเสมอ

การประชุมนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 คน ได้แก่ สมาชิก 7 คนจากคณะกรรมการผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ, 1 คนเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง New York และอีก 4 คนจะหมุนเวียนกันมาจากผู้ว่าการธนาคารกลางอีก 11 เขตที่เหลือในแต่ละปีค่ะ

โดยวัตถุประสงค์หลักของ FOMC คือ การดูแลและกำหนดนโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค, ทบทวนสภาพเศรษฐกิจและการเงิน, ประเมินความเสี่ยงต่อเป้าหมายระยะยาว และหารือเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสม เช่น ราคาที่มีเสถียรภาพ, ระดับอัตราการจ้างงานสูงสุด และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประชุมกัน 8 ครั้งต่อปี เพื่อหารือและตัดสินใจในมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน

โดยหัวข้อสำคัญ ๆ ที่มักจะถูกพูดถึง คือ...

1. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม: ในการประชุมจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน

2. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่าง ๆ: จะมีการนำเอาตัวเลขที่ใช้การชี้วัดเช่น การเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคมาพิจารณา 

ส่วนหัวข้อสำคัญรองลงมาจะเป็น...

3. สภาพตลาดการเงิน: การประเมินสภาพในตลาดการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วไป

4. พัฒนาการเศรษฐกิจทั่วโลก: การพิจารณาสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เมื่อพิจารณาหัวข้อดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายการเงิน โดยการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC นั้น จะมีผลโดยตรงต่อทิศทางของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการจ้างงานต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว จะส่งผลต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการเงินทั้งในสหรัฐฯ เองและทั่วโลก รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุนทั่วโลกอีกด้วย

ดังนั้น ผลการประชุมนี้ จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยตลาดและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ภายใต้บทบาทสำคัญของ FOMC ที่จะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับโลก 

อ้อ!! แล้วนอกจากการประชุมของธนาคารสหรัฐฯ แล้ว ในโลกก็ยังมีการประชุมธนาคารประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญระดับโลกอีกด้วย อย่างเช่น การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขณะที่ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบนโยบายและสร้างเสถียรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับการประชุม FOMC รอบที่ผ่านมามีขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม แม้จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างนายเจอโรม พาวเวล ก็ได้แสดงท่าทีที่อ่อนโยนลง และระบุว่า ถ้าเงินเฟ้อกำลังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง, ตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง 'เฟด' (FED) เอง ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ค่ะ

🔎10 คนดัง ‘ถือคบเพลิง’ ในพิธีโอลิมปิก Paris 2024 มีใครกันบ้างนะ??

ในพิธี ‘โอลิมปิก Paris 2024’ คบเพลิงจะถูกส่งต่อผ่านคนดังและผู้มีชื่อเสียงที่มาจากหลายแขนงการทำงานทั่วโลกรวมกว่า 10,000 คน โดยการวิ่งถือคบเพลิงจะใช้เวลาทั้งหมด 11 สัปดาห์ ผ่าน 450 เมืองทั่วปารีสก่อนที่จะมาจุดในพิธีเปิดในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้ได้รวบรวม 10 คนดังที่เข้าร่วมวิ่งคบเพลิง ‘โอลิมปิก Paris 2024’ มาไว้ให้แล้ว จะมีใครบ้าง ไปดูกัน!!

1.Jin พี่ใหญ่แห่งวงศิลปินชื่อดังสัญชาติเกาหลี 🇰🇷อย่างวง BTS เขาได้หมายเลขในการวิ่ง E109 

2.Wang Yibo นักแสดงหนุ่มมากฝีมือจากประเทศจีน 🇨🇳 หมายเลข E142 โดยหนุ่มหวังอี้ป๋อเคยถูกแต่งตั้งให้เป็นทูตส่งเสริมโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในปี 2022 ด้วย

3.Zhao Lusi ดาราสาวตัวท็อปชาวจีน 🇨🇳 มาวิ่งในหมายเลข E014 

4.Halle Berry ดาราสาว 🇺🇸 ที่ชนะรางวัล The Academy Award ได้เข้าวิ่งถือคบเพลิงด้วยหมายเลข E022 

5.Thierry Henry อดีตนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส 🇫🇷 และบุคคลในตำนานของอาร์เซนอล ได้ใส่เบอร์ E001

6.Charles Leclerc นักแข่งรถฟอร์มูล่าวัน ภายใต้สังกัดเฟอร์รารี่ชาวโมนาโก 🇲🇨 โดยใส่เสื้อเบอร์ E161

7.Nicky Doll 🇫🇷 พิธีกรรายการ Drag Race France และยังเป็นราชินีของ LQBTQ+ โดยใส่เสื้อเบอร์ E077

8.Pharrell Williams 🇺🇸 โดยเขาถือคบเพลิงที่มหาวิหาร The Basilica of Saint-Denis ซึ่งเป็นช่วงท้ายก่อนจะถูกนำไปจุดในพิธีเปิด

9.SnoopDogs เจ้าพ่อ Rapper สัญชาติอเมริกัน 🇺🇸 เข้าร่วมวิ่งคบเพลิงในช่วงสุดท้าย ซึ่งเป็นหน้าบริเวณพิธีเปิดโอลิมปิก โดยใส่เบอร์ E015

10.The Masked เป็นไฮไลต์สุด ๆ ชายที่ใส่หน้ากากโพกผ้าปิดมิดชิด เข้ามาวิ่งถือคบเพลิง วิ่งไปรอบ ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงปารีส โดยมีการคาดเดาว่าการแต่งตัวน่าจะมาจากละครเกมซีรีส์ยอดฮิตอย่าง The Assasin’s Creed ที่มีมากกว่า 10 ภาคและในบางภาคก็มีการนำเอาบรรยากาศของกรุงปารีสมาใช้เป็นฉากประกอบในเกมด้วย

ชวนรู้จัก ‘ตั๋วแลกเงิน หรือ Bill of Exchange’ อีกทางเลือกในยามที่กู้เงินจากแบงก์ไม่ได้

ข่าวใหญ่ที่เราเห็นกันเต็มหน้าสื่อในสัปดาห์นี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นข่าวของบริษัทในตลาดหุ้นที่ขอเลื่อนเวลาชำระตั๋ว BE ซึ่งในช่วงหลัง ๆ มานี้น้อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวที่เกี่ยวกับตั๋วนี้ เพราะข่าวของบริษัทที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของการผิดชำระหุ้นกู้เสียมากกว่า 

วันนี้เลยจะพาไปเจาะลึกตั๋ว BE แบบ 101 กันว่าตั๋วนี้คืออะไร? และทำงานอย่างไร?

ตั๋วแลกเงิน BE หรือ Bill of Exchange เป็นตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งที่ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสำคัญในการทำธุรกิจ และถือว่าเป็นหนึ่งในการระดมทุนของบริษัทเช่นเดียวกันกับหุ้นกู้

แต่อดีตตั๋วแลกเงินเป็นผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารใช้เพื่อปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชน และธนาคารนำไปขายต่อให้กับนักลงทุนอีกทอดหนึ่ง โดยธนาคารจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นการค้ำประกันตั๋วแลกเงินหรือที่เรียกว่า ‘การอาวัลตั๋ว’ โดยธนาคารจะร่วมรับผิดชอบหากผู้กู้เงินไม่สามารถชำระเงินคืนได้ แต่หลัง ๆ มาก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเอกชนออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้กับนักลงทุนโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารค่ะ

การระดมทุนรูปแบบนี้เป็นไปเพราะบริษัทเอกชนต้องการเงินทุนในการดำเนินงานและต้นทุนในการกู้เงินที่ต่ำกว่าการกู้ธนาคาร หรือไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ โดยผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ก็จะได้รับผลตอบแทนการจากให้กู้ค่ะ แต่ความต่างระหว่างหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินจะอยู่ที่ระยะเวลาอายุของตราสารหนี้นั้น ๆ กล่าวคือ ถ้าตราสารหนี้นั้นมีอายุมากกว่า 1 ปี เราจะเรียกว่าตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งมาในรูปแบบของหุ้นกู้ แต่ถ้าตราสารหนี้ไหนที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งแบ่งย่อยออกได้เป็น ตั๋วแลกเงิน (BE), หุ้นกู้ระยะสั้น (Short-Term Debenture) หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Permission Note: P/N)

ซึ่งตั๋ว BE เองก็ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับหุ้นกู้ หรือที่เรียกว่า Credit-Rating และไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะนำเอาหุ้นกู้ของตนเองไปทำ Credit-Rating ค่ะ เพราะมันถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องให้บริษัทจัดอันดับเข้ามาประเมินสถานะบริษัท หรือถ้าบริษัทไหนที่มีสถานะทางการเงินที่มีความเสี่ยงก็จะต้องชดเชยการถูกจัดอันดับนั้นด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อจูงใจนักลงทุนค่ะ ซึ่งการจัดอันดับจะมีทั้งระดับที่ลงทุนได้และระดับที่เสี่ยง หรือแบบ Non-rated BE ซึ่งแบบหลังนี้ก็จะมีกฎตามมาด้วยว่าจะขายให้ได้เฉพาะสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นค่ะ

และเพราะตั๋ว BE มีอายุสั้น ผลตอบแทนที่ได้รับจากอยู่ในรูปของส่วนลด (Discount) แทนที่จะเป็นดอกเบี้ยอย่างหุ้นกู้ระยะยาว อย่างเช่น ตั๋วแลกเงินมูลค่า 1,000,000 บาท ส่วนลด 10% ระยะเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินหรือผู้ให้กู้ก็จะให้เงินเพียงแค่ 900,000 บาท โดยมีส่วนลด 100,000 บาท และตอนคืนเงินผู้กู้ก็จะต้องคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาทค่ะ

ข้อดีของตั๋วแลกเงินอีกอย่างที่นอกเหนือจากระยะเวลาถือครองสั้นแล้วที่ทำให้ตั๋วแลกเงินเป็นที่นิยม คือการเปลี่ยนมือได้ ผู้ให้กู้อาจขายตั๋วที่ได้รับ ไปให้ผู้อื่น และผู้ที่ซื้อตั๋วหรือผู้ถือตั๋วเงินมีสิทธิรับเงินโดยตรงจากผู้ออกตั๋วหรือผู้จ่ายเงินได้ แต่ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ คนที่ซื้อตั๋วต่อไปจะไม่สามารถไปตามเอากับคนที่มีชื่ออยู่บนหลังตั๋วหรือคนที่ขายให้ได้

ข้ามมาดูในด้านความเสี่ยงกันบ้าง การลงทุนในตั๋วแลกเงินจะมีความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้หรือว่าเกิด Default ก็คือการที่ผู้ออกตั๋วไม่สามารถชำระเงินได้เนื่องจากปัญหาจากตัวธุรกิจเองหรือปัญหาอื่น ๆ หรือความเสี่ยงด้านราคา

ในกรณีที่ผู้ให้กู้อยากขายก่อนครบกำหนด อาจจะทำให้ต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง เพราะเนื่องจากตลาดรองในการขายตั๋วแลกมีสภาพคล่องไม่มากทำให้ผู้ให้กู้อาจจะไม่สามารถขายได้ในทันทีค่ะ 

นอกจากกรณีของ EA แล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินตามที่เราเห็นได้จากข่าวค่ะ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นอย่างละเอียด และดูไปถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเราด้วยค่ะ

การควบรวมของ 'สองบริษัท-มากกว่า' เพื่อสร้างบริษัทใหม่ 'ทรัพย์สิน-หนี้สิน-สิทธิทั้งหมด' จะถูกควบรวมเข้าด้วยกัน

ถ้าใครได้ตามข่าวในแวดวงการลงทุนล่าสุด ก็คงจะเห็นข่าวใหญ่ของปีอย่างกรณีการควบรวมกิจการยักษ์ใหญ่อย่าง GULF ที่ควบรวมเข้ากับ INTUCH และก่อตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) ขึ้นมาค่ะ และขณะเดียวกันก็คงจะเริ่มผ่านตากับคำว่า Amalgamation อยู่หลายครั้งด้วย

สำหรับ Amalgamation คือ การควบรวมหรือการผนวกสองบริษัท หรือ มากกว่าเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาค่ะ โดยบริษัทที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวนี้จะมีทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิทั้งหมดเเละความรับผิดชอบของบริษัทที่ถูกควบรวมเข้าด้วยกัน 

ส่วนบริษัทที่ถูกควบรวมนั้น จะหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลค่ะ อย่างเช่น บริษัท ก. รวมกับบริษัท ข. และมาตั้งเป็นบริษัท ค. (ก.+ข.= ค.) ค่ะ โดย Amalgamation มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ...

1. Amalgamation แบบ Merger: การควบรวมบริษัทแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อสองบริษัทหรือมากกว่า รวมตัวกัน โดยทั้งสองบริษัทที่ถูกผนวกจะหยุดการดำเนินการ และเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งมีการโอนสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดไปยังบริษัทใหม่ และ

2. Amalgamation แบบ Purchase: การควบรวมแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหนึ่ง (บริษัทผู้ซื้อ) ซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทอื่น (บริษัทผู้ขาย) โดยบริษัทผู้ขายจะหยุดการดำเนินการ และบริษัทผู้ซื้อจะยังคงดำเนินการต่อไป

โดยประโยชน์ของการทำ Amalgamation จะแบ่งได้เป็น...

1) Economies of Scale โดยการควบควมกิจการจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เนื่องจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น 

2) Increased Market Shares โดยบริษัทใหม่นี้จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น อีกทั้งถ้าแต่ละบริษัทมีความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปก็อาจจะเกิดการประสานงานหรือที่เราเรียกว่า Synergy ทำให้การทำธุรกิจโตแบบก้าวกระโดดได้ 

และ 3) เกิด Diversification เพราะการควบรวมนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงโดยการขยายสินค้าหรือบริการไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้ค่ะ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีนะคะ เพราะการควบรวมกิจการ ก็ย่อมหมายถึงบางตำแหน่งงานที่มีความทับซ้อนกันต้องหายไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ และการกำกับดูแลของภาครัฐที่เข้ามามีส่วน ก็อาจจะมากขึ้นตามขนาดของบริษัทที่ใหญ่ขึ้นด้วยค่ะ เช่น อาจจะมีการนำเอากฎหมายการทางค้ามาใช้เพื่อป้องกันการผูกขาด และอาจจะไปกระทบการทำธุรกิจของบริษัทได้ค่ะ 

นอกจากกรณีของ GULF กับ INTUCH แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ทำ Amalgamation ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 ที่ Walt Disney ควบรวมเข้ากับ Pixar Animation Studios ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้ Disney สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้มากขึ้น 

หรือจะเป็นการทำ Amalgamation ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่บริษัทโทรคมนาคมจากสหราชอาณาจักรอย่าง Vodafone ที่ควบรวมกับบริษัทโทรคมนาคมในเยอรมนีอย่าง Mannesmann ในปี 2000 ซึ่งการควบรวมนี้มีมูลค่าสูงถึง 183 พันล้านดอลลาร์เเละทำให้ Vodafone กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ 

หรือจะเป็นตอนที่สองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Exxon เเละบริษัท Mobil ควบรวมเข้าด้วยกันในปี 1999 ซึ่งทำให้บริษัท Exxonmobil กลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น

ส่วนก่อนหน้านี้ ในไทยเองก็จะเป็นกรณีที่บริษัทโทรคมนาคมอย่าง TRUE ควบรวมกิจการเข้ากับ DTAC ค่ะ

วังวน!! Trade War สงครามการค้าที่ไม่มีใครชนะ ศึกวัดพลังที่ลุกลามไปทั่วโลกจาก 2 บิ๊กมหาอำนาจ

'สงครามการค้า' เป็นความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องการที่จะคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศของตัวเอง ตอบโต้การกระทำที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า รวมไปถึงความต้องการที่จะกีดกันทางการค้า โดยการกีดกันนี้มักจะใช้มาตรการทางภาษี (Tariff), การจำกัดปริมาณการนำเข้า (Quota) เป็นเครื่องมือ ซึ่งถ้าในกรณีที่รุนแรงก็อาจจะนำไปสู่สงครามการลดการค้าระหว่างประเทศได้ค่ะ

ตัวอย่างของสงครามทางการค้าที่โด่งดังมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทั้งสองประเทศนับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกทั้ง 2 ประเทศ โดยสงครามการค้าเกิดขึ้นมาในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ค่ะ 

ตอนนั้นสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าถึง 6 แสนล้านเหรียญ โดยขาดดุลหลักๆ ให้กับประเทศจีนค่ะ ทรัมป์เลยต้องการที่จะลดการขาดดุลทางการค้ารวมถึงต้องการจำกัดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปที่บริษัทจีน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่เขาเคยได้หาเสียงไว้ นั่นคือ 'Make America Great Again' แถมในตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยังกังวลถึงนโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่อยากให้ประเทศจีนกลายเป็นฐานการผลิตโลกภายใต้นโยบาย 'Made in China 2025' และนโยบาย 'อี่ไต้อี่ลู่' หรือ 'One Belt, One Road' ที่เป็นนโยบายการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมที่จะเชื่อมโยงทวีปเอเชีย, ยุโรปและแอฟริกาเข้าด้วยกันค่ะ 

โดยสหรัฐฯ เริ่มต้นเก็บภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน และจีนก็โต้กลับด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯ ก็ตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนกว่า 800 รายการเป็นมูลค่าสูงถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนเองก็ต่างตอบโต้กันอย่างดุเดือดค่ะ

การตอบโต้ของทั้งสองประเทศดำเนินไปอย่างเข้มข้นและรุนแรง จนมาผ่อนคลายชั่วคราวในช่วงปี 2020 และพอเข้าปีที่ 2022 รูปแบบ Trade War ก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมคือ กลายเป็นสงครามการค้าที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวกลางหรือที่เราเรียกว่า Tech War แทน สงครามการค้า 

Tech War ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ห้ามส่งออกชิป Nvidia ไปยังจีน เพื่อให้จีนเข้าไม่ถึงชิปที่ทันสมัย และยังไม่รวมถึงการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ โดยในรอบนี้จะมีการขึ้นภาษีทั้งในรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ด้วยค่ะ 

แต่นอนว่า สงครามการค้าที่รุนแรงและยื้อเยื้อนี้ ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมทั้งลามไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นประเทศแถบยุโรปที่เริ่มหันมาเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ EV จากจีน หลังจากที่พวกเขาเองก็ประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ทำให้จีนเองต้องตอบโต้ด้วยการเริ่มตรวจสอบการทุ่มตลาดเนื้อหมูจาก EU กลับ

ส่วนในไทยเองแม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจจะอ่อนแอลงไป แต่ไทยก็อาจจะได้ประโยชน์ในเรื่องสงครามการค้าจากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และการส่งออกสินค้าไปทั้งสหรัฐฯ และจีนได้มากขึ้นในบางสินค้าอย่าง เช่น การส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯ ค่ะ 

รู้จัก Forced Sell การถูกบังคับขายโดยบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงหุ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

ช่วงนี้เป็นหนึ่งในช่วงที่ลงทุนยากมากในตลาดหุ้นไทยค่ะ แถมหุ้นหลายตัวยังลงไปทำราคาต่ำสุดในวันทั้งหุ้นไซส์ใหญ่ กลางเล็ก ก็โดนกันหมดค่ะ 

พอเราไปตามอ่านข่าวเราก็มักจะเห็นคำว่าหุ้นถูก Forced Sell อยู่หลายครั้ง ทั้งจากการที่เจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นำหุ้นตัวเองไปใช้เพื่อวางหลักประกันใน 'บัญชี Margin' รวมไปถึงมีการถูกบังคับขายในบัญชีนักลงทุนทั่วไป 

วันนี้เลยจะพาไปรู้จักค่ะว่า ‘Forced Sell’ คืออะไร? และส่งผลต่อราคาหุ้นตัวนั้น ๆ อย่างไรบ้างค่ะ

‘Forced Sell’ พูดง่าย ๆ ก็คือการถูก ‘บังคับขาย’ โดยบริษัทหลักทรัพย์จะทำการขายหลักทรัพย์ของลูกค้าโดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่ลูกค้าค้างชำระ หรือเพื่อรักษาระดับความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ในสถานการณ์ปกติเจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถเอาหุ้นของตัวเองมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อกู้เงินบางส่วนกับทางบริษัทหลักทรัพย์ได้ โดยเงินที่กู้ได้บริษัทสามารถเอาไปใช้เพื่อซื้อหลักทรัพย์อื่น, เอาไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทตัวเอง, จองซื้อหุ้น IPO หรือกู้เพื่อเอาเงินไปใช้ในการทำธุรกิจได้ค่ะ เพราะในบางครั้งการกู้วิธีนี้ง่ายและสะดวกกว่าการกู้ธนาคาร ส่วนนักลงทุนทั่วไปก็มักจะเอาหลักทรัพย์ในบัญชีมาวางเป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินไปซื้อหลักทรัพย์อื่น ๆ ค่ะ

ซึ่งเราจะเรียกบัญชีประเภทนี้ว่า บัญชี Margin โดยการกู้ผ่านบัญชี Margin นี้ นักลงทุนต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทหลักทรัพย์เป็นค่าตอบแทนค่ะ และบริษัทหลักทรัพย์ก็จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกค้ารายนั้นค่ะ

แต่ถ้าหากมูลค่าหลักประกันลดลง จนไม่เพียงพอต่อการค้ำประกันเงินกู้ บริษัทหลักทรัพย์จะส่ง Margin Call เพื่อให้เจ้าของบัญชีการดำเนินการบางอย่าง โดยอาจจะทำการเติมเงินเข้ามา หรือขายหลักทรัพย์บางส่วนออกเพื่อลดวงเงินกู้ และทำให้มูลค่าหลักประกันกลับไปอยู่ในระดับที่กำหนด และความเสี่ยงก็กลับไปอยู่ในเกณฑ์ค่ะ 

แต่ถ้าเจ้าของบัญชีไม่ดำเนินอะไรภายในระยะเวลาที่กำหนด บริษัทหลักทรัพย์ก็มีสิทธิ์ที่จะบังคับขายหลักทรัพย์ในพอทของเจ้าของบัญชีออกมาเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เจ้าของบัญชีขาดทุนอย่างหนักค่ะ เพราะการขายจะเป็นการขายที่ ณ ราคาในขณะนั้นเลย ซึ่งอาจจะต่ำกว่าราคาที่เจ้าของบัญชีอยากขาย และถ้าเป็นการขายเพื่อปิดสถานะด้วยหุ้นจำนวนมากก็จะยิ่งส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนี้ตกลงอย่างรวดเร็ว แถมยังทำให้เจ้าของบัญชีถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงด้วยค่ะ

หลักเกณฑ์นี้ ก็ถูกนำมาใช้กับฝั่งที่คนขาย Short หุ้น (การทำกำไรในหุ้นขาลง) ด้วยเช่นกันค่ะ ถ้าลูกค้าทำการขาย Short หุ้นไว้ แล้วหุ้นตัวนั้นกลับวิ่งขึ้นสวนทางไปจากที่นักลงทุนคาดไว้ จนมูลค่าพอลดลงไปจนถึงระดับนึง ทางบริษัทหลักทรัพย์ก็สามารถทำการ Margin Call ในหุ้นตัวนั้น ๆ เพื่อให้ลูกค้าทำการเติมเงินหรือปิดสถานะบางส่วน และถ้าลูกค้าไม่ทำอะไรเลย ก็อาจจะโดน Forced Sell ได้เช่นเดียวกันค่ะ 

นอกจากนี้ถ้าการซื้อขายเป็นการซื้อขายที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือ การกระทำที่ผิดกฎหมายก็อาจจะส่งผลให้ถูก Forced Sell ได้เช่นกันค่ะ

วิเคราะห์ 6 กลยุทธ์การออกจากตลาด ที่เจ้าของกิจการมักใช้ในกิจการและตลาดหุ้น

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘Exit Strategy’ แต่นัยจริง ๆ ของมันคืออะไร?

‘Exit Strategy’ หรือ กลยุทธ์การออกจากตลาด คือ แผนการรับมือของนักลงทุนและเจ้าของธุรกิจที่วางไว้ล่วงหน้า เพื่อขายหุ้นออกจากพอร์ตการลงทุนหรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจในสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมทั้งในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คิด และยังเป็นหนึ่งในวิธีบริหารความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นและเจ้าของด้วยค่ะ 

โดยการลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของนี้ ก็จะส่งต่อความเป็นเจ้าของนั้นให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือกิจการอื่น ๆ ค่ะ ซึ่งการ Exit นี้มีได้ทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจค่ะ 

อย่างเช่น ถ้าเจ้าของมองว่า มีคนที่มีความสามารถบริหารงานได้ดีกว่าตัวเองก็อาจจะถูกทำให้ Exit เพื่อให้คนนั้นเข้ามาบริหารแทนค่ะ 

การ Exit นี้เกิดได้ทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมไปถึง Startup และการร่วมทุนในหลายรูปแบบค่ะ

โดยวิธีการ Exit มีด้วยกันทั้งหมด 6 วิธีค่ะ 

วิธีแรก คือ IPO หรือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกค่ะ จริงอยู่ที่ IPO เป็นการระดมทุนให้กับบริษัท แต่ในมุมตรงกันข้าม มันก็คือการลดสัดส่วนเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิมลงด้วยเช่นกัน ยิ่งบางธุรกิจที่มีนักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้นเดิมอยู่ เมื่อทำ IPO เข้ามาแล้ว นักลงทุนรายใหญ่หรือ Angle Investors ก็อาจจะนำเงินที่ได้จากการ IPO ไปลงทุนในธุรกิจอื่นแทนค่ะ 

วิธีที่สอง คือการขายกิจการ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับกิจการที่มีผลประกอบการไม่ค่อยดีค่ะ การขายกิจการตัวเองออกไปอาจจะช่วยลดความเสียหายและลดความเครียดที่เกิดกับเจ้าของกิจการนั้นได้ค่ะ หรือในทางตรงกันข้ามกับบริษัทที่ธุรกิจดี การขายกิจการหรือขายหุ้นออกไปก็จะเป็นการรักษาผลกำไรที่ตัวเองต้องการได้ค่ะ วิธีนี้จะขายแบ่งเฉพาะตัวธุรกิจเอง หรือขายธุรกิจรวมกับผู้บริหารและพนักงานเดิมก็ได้ค่ะ 

วิธีที่สามคือ M&A หรือ Mergers and Acquisitions หรือเราเรียกวิธีนี้ว่าการควบรวมกิจการ โดย Mergers ซึ่งเป็นวิธีที่กิจการตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปมาควบรวมกันค่ะ อย่างเช่น ตอนที่ธนาคารทหารไทยควบรวมกับธนาคารธนชาต และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต ส่วน Acquisitions คือการขายกิจการของตัวเองให้กับบริษัทอื่น โดยจะขายผ่านทรัพย์สินหรือหุ้นก็ได้ค่ะ อย่างเช่นตอนที่ Facebook เข้าไปซื้อกิจการของ Instagram ค่ะ 

วิธีที่สี่ คือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับคนในวงจำกัด หรือ Private Placements (PP) วิธีนี้ไม่ยุ่งยากเท่า IPO เพราะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กลต. แถมขั้นตอนการดำเนินการก็ยุ่งยากน้อยกว่าด้วยค่ะ โดยวิธีนี้เจ้าของเดิมที่ถือหุ้นอยู่จะลดสัดส่วนตัวเองลงไปให้กับผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นค่ะ 

วิธีที่ห้า คือ การสืบทอดกิจการครอบครัวค่ะ วิธีนี้จะเป็นการถ่ายโอนธุรกิจหรือสัดส่วนความเป็นเจ้าของให้กับทายาท และ...

วิธีสุดท้ายคือ ล้มละลาย ซึ่งวิธีนี้เจ้าของกิจการจะถูกฟ้องเพื่อยึดทรัพย์สินและถูกบังคับให้ออกจากธุรกิจนั้นไปโดยปริยายค่ะ

ถอดรหัสชีวิตที่ไม่สวยหรูของ ‘Elon Musk’  ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกประจำเดือนมิถุนายน 2567 

ในทุก ๆ วัน สื่ออย่าง Forbes จะมีการอัปเดตการจัดอันดับคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งถ้าเข้าไปดูในหน้าเว็บไซต์จะเห็นการจัดอันดับความมั่งคั่งของบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลกแบบ Real-Time รวมถึงเห็นตัวเลขความมั่งคั่งสุทธิของคน ๆ นั้นได้

และเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ก็ได้มีการจัดอันดับเช่นเดียวกัน โดยคนที่รวยที่สุดของเดือนนี้ คือ Elon Musk ซึ่งเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ราว ๆ 213 Billion Dollars (สองแสน-หนึ่งหมื่น-สามพันล้านเหรียญ) 

เงินจำนวนนี้เยอะขนาดไหน? ถ้าเทียบกับเครื่องบินลำใหญ่อย่าง Boeing 777 จำนวน 1 ลำที่มีราคา 300 ล้านเหรียญดอลลาร์แล้ว เงิน 213 Billion ก็จะทำให้ Elon เป็นเจ้าของเครื่องบินได้มากถึง 710 ลำค่ะ 

แล้วเขาเป็นใครทำไมถึงร่ำรวยเป็นที่ 1 ของโลก สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเขา เดี๋ยววันนี้จะพาไปรู้จักคน ๆ นี้กันค่ะ

Elon Musk เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของบริษัท SpaceX, Tesla, Inc., Neuralink, และ The Boring Company และถ้าเราจำกันได้เขาคือคนที่เอา Mini Submarine แคปซูลเคลื่อนย้ายมนุษย์ใต้น้ำเหมือนเรือดำน้ำขนาดเล็ก มาใช้ในการช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ทีมนักฟุตบอล 13 หมูป่าที่ติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งตัวเขาก็ได้เดินทางมาถึงหน้าถ้ำจริง ๆ ด้วย แม้ว่าสุดท้ายเรือดำน้ำนั้นจะไม่ได้ถูกเอามาใช้ก็ตาม

Elon Musk เกิดที่เมือง Pretoria (พรีทอเรีย) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในแอฟริกาใต้ ก่อนจะย้ายมายังแคนาดา และมาศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ด้วยความที่เขามีพ่อเป็นวิศวกร ส่วนเเม่เป็นนักโภชนาการ เขาเริ่มเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และเขียนโค้ดขายวิดีโอเกมได้ในราคา 500 เหรียญ ตั้งแต่เขาอายุได้ 12 ปีเท่านั้น เขายังชอบอ่านหนังสือพวกนิยายวิทยาศาสตร์และสารานุกรม บางวันอ่านนานถึงวันละ 10 ชั่วโมง เพราะในวัยเด็กเขามักจะถูกเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนรังแก จนครั้งหนึ่งเขาถูกทำร้ายจนสลบ นั่นทำให้เขาเองชอบใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเเทน 

โดยเขาได้ก่อตั้งบริษัทแรกขึ้นกับน้องชายในชื่อ Zip2 เป็นธุรกิจฐานข้อมูลและจัดหาข้อมูลให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังเจ้าต่าง ๆ อย่างนิวยอร์กไทมส์ เป็นต้น (นึกถึงวันที่โลกยังไม่มี Google และต้องหาข้อมูล หาเบอร์คนต่าง ๆ จากสมุดหน้าหลือง) บริษัทประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนได้ขายบริษัทออกไปให้กับบริษัท Compaq ตอนเขาอายุ 28 ปี ด้วยมูลค่าถึง 307 ล้านดอลลาร์ หลังจากเขาปั้นบริษัทแห่งนี้มาได้แค่ 4 ปีเท่านั้น 

จากนั้นก็มีการก่อตั้งธนาคารออนไลน์ ที่ชื่อว่า X.com ก่อนจะถูกควบรวมเข้ากับบริษัทคอนฟินิตี ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า Paypal มันประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล เขาได้รับคำเสนอซื้ออีกครั้งจาก Ebay และเขาตัดสินใจขายมัน นั่นทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีพันล้านในวัยเพียง 31 ปี

พอในปี 2002 เขาก็ได้เปิดบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศ เขาฝันว่าวันหนึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศจะเป็นเทคโลโลยีที่ราคาไม่แพงและเป็นอะไรที่สามารถเข้าถึงได้ พอปี 2004 เขาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลามอเตอร์ส เขาเป็นทั้งประธานและสถาปนิกผลิตภัณฑ์ 

ในปี 2006 เขาช่วยสร้างโซลาร์ซิตีซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต่อมาถูกซื้อโดยเทสลา และกลายเป็นเทสลาเอนเนอร์ยี 

ในปี ค.ศ. 2015 เขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัทโอเพนเอไอ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร 

ในปี 2016 เขาได้ร่วมก่อตั้งนิวรัลลิงก์ที่พัฒนาส่วนติดต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ที่เคยทำการทดลองในลิงที่ถูกฝังชิปในสมองให้มีความสามารถในการเล่นเกมได้ และเดอะบอริงคอมพานี ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างอุโมงค์ ทำไฮเปอร์ลูป โดยมีเเนวคิดในการส่งมนุษย์เดินทางผ่านท่อความเร็วสูงจากแรงลม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงเราจะเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ได้ในเวลาเพียงเเค่ 20 นาทีค่ะ เเละในปี ค.ศ. 2022 มัสก์ซื้อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันที่จริงชีวิตของ Elon ก็ไม่ได้มีแค่ด้านสวยหรูนะคะ เพราะเขาก็เคยถูกปฏิเสธเข้าทำงานจากบริษัท Netscape ซึ่งเป็นบริษัทคิดค้นเว็บเบราว์เซอร์ World Wide Web (WWW) ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน และนั่นก็เป็นการจุดประกายให้เขาก่อตั้งบริษัทตัวเองค่ะ

โดยรวมแล้วชีวิตเขาก็ไม่ได้ราบรื่นมาตลอด พ่อแม่หย่าร้างกัน แถมยังมีช่วงที่เขาขาดสภาพคล่องจนต้องหาแหล่งเงินทุนมาช่วยธุรกิจเขา / เขาเคยไปขอให้ Apple เข้ามาซื้อกิจการแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ / ถูกหักหลัง / ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหาร / ลูกชายคนแรกเสียชีวิตหลังคลอดได้ 10 เดือน / ถูกฟ้องหย่า 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยความที่เขาเป็นคนไม่ยอมแพ้ มุ่งมั่น และมีความพยายามที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และไม่เคยย่อท้อ ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคอะไร อย่างเช่นการทดลองจรวด แม้จะโดนดูถูก เยาะเย้ย แต่เขาเองไม่เคยใส่ใจ ต่อให้การทดลองจะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุก ๆ ครั้งเขาจะกลับมาและทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม

และนั่นจึงทำให้เขาเป็น 'มหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง' ของโลกค่ะ 

ที่สำคัญตอนนี้พวกเราคนไทยเอง ก็สามารถซื้อหุ้นของ Elon Musk ผ่านทางโบรกเกอร์ที่มีบริการซื้อหุ้นต่างประเทศได้ด้วยนะคะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top