การควบรวมของ 'สองบริษัท-มากกว่า' เพื่อสร้างบริษัทใหม่ 'ทรัพย์สิน-หนี้สิน-สิทธิทั้งหมด' จะถูกควบรวมเข้าด้วยกัน
ถ้าใครได้ตามข่าวในแวดวงการลงทุนล่าสุด ก็คงจะเห็นข่าวใหญ่ของปีอย่างกรณีการควบรวมกิจการยักษ์ใหญ่อย่าง GULF ที่ควบรวมเข้ากับ INTUCH และก่อตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) ขึ้นมาค่ะ และขณะเดียวกันก็คงจะเริ่มผ่านตากับคำว่า Amalgamation อยู่หลายครั้งด้วย
สำหรับ Amalgamation คือ การควบรวมหรือการผนวกสองบริษัท หรือ มากกว่าเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาค่ะ โดยบริษัทที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวนี้จะมีทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิทั้งหมดเเละความรับผิดชอบของบริษัทที่ถูกควบรวมเข้าด้วยกัน
ส่วนบริษัทที่ถูกควบรวมนั้น จะหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลค่ะ อย่างเช่น บริษัท ก. รวมกับบริษัท ข. และมาตั้งเป็นบริษัท ค. (ก.+ข.= ค.) ค่ะ โดย Amalgamation มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ...
1. Amalgamation แบบ Merger: การควบรวมบริษัทแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อสองบริษัทหรือมากกว่า รวมตัวกัน โดยทั้งสองบริษัทที่ถูกผนวกจะหยุดการดำเนินการ และเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งมีการโอนสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดไปยังบริษัทใหม่ และ
2. Amalgamation แบบ Purchase: การควบรวมแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหนึ่ง (บริษัทผู้ซื้อ) ซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทอื่น (บริษัทผู้ขาย) โดยบริษัทผู้ขายจะหยุดการดำเนินการ และบริษัทผู้ซื้อจะยังคงดำเนินการต่อไป
โดยประโยชน์ของการทำ Amalgamation จะแบ่งได้เป็น...
1) Economies of Scale โดยการควบควมกิจการจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เนื่องจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น
2) Increased Market Shares โดยบริษัทใหม่นี้จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น อีกทั้งถ้าแต่ละบริษัทมีความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปก็อาจจะเกิดการประสานงานหรือที่เราเรียกว่า Synergy ทำให้การทำธุรกิจโตแบบก้าวกระโดดได้
และ 3) เกิด Diversification เพราะการควบรวมนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงโดยการขยายสินค้าหรือบริการไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้ค่ะ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีนะคะ เพราะการควบรวมกิจการ ก็ย่อมหมายถึงบางตำแหน่งงานที่มีความทับซ้อนกันต้องหายไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ และการกำกับดูแลของภาครัฐที่เข้ามามีส่วน ก็อาจจะมากขึ้นตามขนาดของบริษัทที่ใหญ่ขึ้นด้วยค่ะ เช่น อาจจะมีการนำเอากฎหมายการทางค้ามาใช้เพื่อป้องกันการผูกขาด และอาจจะไปกระทบการทำธุรกิจของบริษัทได้ค่ะ
นอกจากกรณีของ GULF กับ INTUCH แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ทำ Amalgamation ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 ที่ Walt Disney ควบรวมเข้ากับ Pixar Animation Studios ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้ Disney สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้มากขึ้น
หรือจะเป็นการทำ Amalgamation ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่บริษัทโทรคมนาคมจากสหราชอาณาจักรอย่าง Vodafone ที่ควบรวมกับบริษัทโทรคมนาคมในเยอรมนีอย่าง Mannesmann ในปี 2000 ซึ่งการควบรวมนี้มีมูลค่าสูงถึง 183 พันล้านดอลลาร์เเละทำให้ Vodafone กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ
หรือจะเป็นตอนที่สองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Exxon เเละบริษัท Mobil ควบรวมเข้าด้วยกันในปี 1999 ซึ่งทำให้บริษัท Exxonmobil กลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น
ส่วนก่อนหน้านี้ ในไทยเองก็จะเป็นกรณีที่บริษัทโทรคมนาคมอย่าง TRUE ควบรวมกิจการเข้ากับ DTAC ค่ะ
เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP