Saturday, 5 April 2025
อรวดี ศิริผดุงธรรม

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าของบริษัทตึ๊งหุ้นตัวเอง สัญญาณเตือน! บริษัทอาจกำลังขาดสภาพคล่อง

(9 ม.ค. 68) ในช่วงนี้ถ้าใครที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นก็จะเห็นบรรดาข่าวที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นบ้านเราเต็มไปด้วยปัจจัยลบทั้งจากตัวเศรษฐกิจเองที่เงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาด หรือมาตรการของภาครัฐที่กดดันหุ้นอุตสาหกรรมบางประเภท อย่าง กลุ่มโรงไฟฟ้า และหุ้นที่พากันลงไปแตะที่ระดับต่ำสุดของวันหรือที่เราเรียกว่า หุ้นลงแตะที่ฟลอร์ จากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นตัวนั้นๆเอง 

ล่าสุดเราก็จะเห็นได้จากกรณีของหุ้นตัวหนึ่งที่ลงไปแตะฟลอร์หลายวันติดกันจากกรณีที่เจ้าของนำหุ้นตัวเองไปตึ๊ง เพื่อนำเงินไปหมุนเวียน และเมื่อมีการกู้ที่เยอะเกินกว่าปกติทำให้โบรกเกอร์เริ่มจำกัดวงเงิน และส่งผลทำให้หมุนเงินไม่ทัน จนนำมาซึ่งการถูกบังคับขาย แล้วการตึ๊งหุ้นตัวเองคืออะไร เดี๋ยววันนี้จะมาสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆกันค่ะ 

การตึ๊งหุ้นตัวเองก็คือการที่ผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำหุ้นของบริษัทตนเองออกไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงิน และนำเงินที่กู้ได้นั้นไปเชื่อเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเอาหุ้นที่เรามีไปวางเป็นหลักประกันเพื่อที่จะขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นด้วยวงเงินที่สูงขึ้น ที่เรารู้จักคุ้นหูว่า “บัญชีมาร์จิ้น” โดยเราจะเรียกพฤติการณ์การทำแบบนี้ในทางการว่า “ธุรกรรมหุ้นหลักประกัน” 

แม้ว่าการกระทำเช่นนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายและก็ถือเป็นสิทธิของผู้กู้และผู้ให้กู้อยู่แล้ว แต่การทำเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงมากมายที่อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อนักลงทุนและราคาหุ้นตัวนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นตัวนั้นมีข่าวที่ไม่ดีอย่างงบการเงินที่ออกมาไม่ดี หรือข่าวที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลของเจ้าของบริษัท ก็จะทำให้เกิดแรงขายในหุ้นตัวนั้นได้ และเมื่อมูลค่าหุ้นลดลง เจ้าของที่ทำการกู้เงินจากการตึ๊งหุ้นตัวเองก็จำเป็นต้องเติมเงินเข้ามาเพื่อรักษามูลค่า หรือที่เรียกว่า Margin Call และถ้าไม่สามารถหาเงินมาเติมได้ก็จะถูกให้บังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่มี และนั่นก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ราคาหุ้นตกลงไปอีก และยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นตัวนั้นในแย่ลงไปอีก

ซึ่งเรื่องนี้บอกอะไรเราในฐานะนักลงทุนบ้าง? ในฐานะนักลงทุนพวกเราควรเห็นสัญญาณเตือนนี้ว่า การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นของตัวเองไปจำนำ อาจสะท้อนถึงความต้องการเงินสดเร่งด่วน ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเพราะบริษัทมีปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการเงินทุนสำหรับโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เราเองจึงตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงต้องมองหาบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบและโปร่งใส รวมถึงศึกษาหาข้อมูลจากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตค่ะ 

เจาะลึก Honda กับ Nissan ก่อนการควบรวมกิจการ

​จากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2024 บริษัทฮอนด้า (Honda) และนิสสัน (Nissan) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการ การควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้าและนิสสันจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยการรวมทรัพยากรและเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ในตลาดโลก และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น เทสลา (Tesla) และบีวายดี (BYD)

​แล้วทั้ง 2 บริษัทมาความเป็นมาอย่างไร เดี๋ยววันนี้จะพาไปรู้จักกันค่ะ

โดยสรุปคือ แม้ฮอนด้าจะมีมูลค่าตลาดสูงกว่านิสสันประมาณ 5 เท่า รวมถึงยอดขายที่สูงกว่า แต่การผนึกกำลังครั้งนี้ก็จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้นค่ะ

10 ประเทศพันธมิตรสหรัฐที่กำลังจะเผชิญความเสี่ยงจากทรัมป์มากที่สุด

(17 ธ.ค. 67) ในขณะที่ทั่วโลกกำลังหวาดหวั่นกับการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่เตรียมเดินหน้านโยบาย “America First” ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศพันธมิตรที่ทรัมป์มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ ในด้านการค้าและความมั่นคงทางการทหาร

ไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 2 ในบรรดาประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นพันธมิตรของสหรัฐ เพราะจากข้อมูลล่าสุดเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (Information Technology & Innovation Foundation : ITIF) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไรของสหรัฐ ที่เผยแพร่รายงานออกมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมาได้จัดทำดัชนีประเมินความเสี่ยงดัชนีต่อภาษีนำเข้า (Trump Risk Index) ของประเทศพันธมิตรที่อาจเผชิญกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1. งบประมาณกลาโหม: ประเทศที่จัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมต่ำกว่า 2% ของ GDP อาจถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือในด้านความมั่นคงร่วมกัน
2. ดุลการค้า: ประเทศที่มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงมาก อาจถูกกล่าวหาว่ามีการค้าที่ไม่เป็นธรรม
3. อุปสรรคทางการค้า: ประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีหรือนโยบายที่กีดกันสินค้าสหรัฐฯ อาจตกเป็นเป้าหมาย
4. ท่าทีต่อจีน: พันธมิตรที่มีนโยบายอ่อนข้อหรือไม่สนับสนุนท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจีน อาจถูกเพ่งเล็ง 

โดยถ้าผลการประเมินวิเคราะห์ถูกจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง “ดัชนีความเสี่ยงจากทรัมป์ของ ITIF” (ITIF’s Trump Risk Index) ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปผลคะแนนรวมที่ต่ำหรือติดลบมาก โดยทั้ง 10 ประเทศประกอบไปด้วย

ในทางกลับกัน ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย โปแลนด์ ลัตเวีย และ ออสเตรเลีย ซึ่งมีการใช้จ่ายด้านกลาโหมสูง ดุลการค้าที่สมดุล และนโยบายที่สนับสนุนสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าแต่ละประเทศที่มีความเสี่ยงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องก็อาจช่วยให้พันธมิตรเหล่านี้สามารถรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืน พร้อมหลีกเลี่ยงความเสียหายจากมาตรการภาษีนำเข้าในอนาคตได้ค่ะ

การบริโภคของคนเเต่ละเจเนอเรชัน

(9 ธ.ค. 67) อำนาจการใช้จ่ายทั่วโลกในแต่ละเจเนอเรชัน (คนยุคไหนที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก)

เมื่อพูดถึงอำนาจการใช้จ่ายทั่วโลก สิ่งที่น่าสนใจคือการแบ่งปันทรัพยากรทางเศรษฐกิจในคนแต่ละเจเนอเรชัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก เจเนอเรชันต่าง ๆ ไม่ได้เพียงแค่มีอำนาจการใช้จ่ายที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดและแนวโน้มทางสังคมอีกด้วย

เบบี้บูมเมอร์ : ความมั่งคั่งที่สั่งสม

เจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ (เกิดระหว่างปี 1946–1964) เป็นอีกกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ด้วยสัดส่วนการใช้จ่ายทั่วโลกที่ 20.8% แม้ว่าพวกเขาจะมีสัดส่วนประชากรเพียง 12.1% เจเนอเรชันนี้ได้สะสมความมั่งคั่งจากการทำงานหนักและการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกเขามักมองหาความมั่นคงทางการเงินและการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพและการเดินทาง

เจเนอเรชัน X : ผู้นำการใช้จ่ายของโลก

เจเนอเรชัน X (เกิดระหว่างปี 1965–1980) กำลังครองตำแหน่งเจเนอเรชันที่มีอำนาจการใช้จ่ายสูงสุดในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพียง 18.3% ของโลก การใช้จ่ายเฉลี่ยของเขาในปี 2024 สูงถึง 23.5% ของสัดส่วนการใช้จ่ายทั่วโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในทุกเจเนอเรชัน

เจเนอเรชันนี้เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับการเปลี่ยนผ่านของโลกจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล พวกเขามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว และยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของสินค้าและบริการที่มุ่งเน้นคุณภาพและการลงทุนระยะยาว

มิลเลนเนียล: ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่

เจเนอเรชันมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 1981–1996) เป็นกลุ่มที่มีทั้งจำนวนประชากรและอำนาจการใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน โดยพวกเขามีสัดส่วนประชากร 22.9% และมีสัดส่วนการใช้จ่ายทั่วโลก 22.5% มิลเลนเนียลเป็นกลุ่มที่ปรับตัวกับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เน้นการใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการดิจิทัล เช่น การช็อปปิ้งออนไลน์ การท่องเที่ยว และการลงทุนในประสบการณ์ชีวิต

เจเนอเรชัน Z : พลังแห่งอนาคต

แม้ว่าเจเนอเรชัน Z (เกิดระหว่างปี 1997–2012) จะมีสัดส่วนประชากรมากที่สุดที่ 24.6% แต่ปัจจุบันพวกเขามีสัดส่วนการใช้จ่ายเพียง 17.1% เนื่องจากส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยศึกษาและเริ่มต้นการทำงาน อย่างไรก็ตาม เจเนอเรชัน Z มีแนวโน้มที่จะเติบโตในด้านอำนาจการใช้จ่ายเร็วที่สุด โดยคาดว่าภายในปี 2034 พวกเขาจะเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายทั่วโลกเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์

เจเนอเรชันนี้ถือเป็น “Digital Natives” ที่เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ การใช้จ่ายของพวกเขามักเน้นไปที่สินค้าและบริการที่มีความยั่งยืนและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง การสมัครสมาชิกบริการต่าง ๆ และการบริโภคสินค้าทางออนไลน์

เจเนอเรชันอัลฟ่า : ผู้บริโภคแห่งวันพรุ่งนี้

เจเนอเรชันอัลฟ่า (เกิดระหว่างปี 2013–2025) กำลังจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในอนาคต พวกเขามีสัดส่วนประชากร 19.5% และมีส่วนร่วมในอำนาจการใช้จ่ายทั่วโลก 10.6% ซึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพาผู้ปกครองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ด้วยการเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี AI และโลกดิจิทัล พวกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นผู้บริโภคที่มีอิทธิพลอย่างมากในอนาคต

จริงอยู่ที่ในด้านภูมิภาค อำนาจการใช้จ่ายมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา เจเนอเรชัน Z คาดว่าจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายถึง 30% ภายในปี 2030 ซึ่งใกล้เคียงกับเจเนอเรชันมิลเลนเนียล ในขณะที่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ เจเนอเรชัน Z คาดว่าจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายประมาณ 15% ภายในปี 2030 โดยเจเนอเรชัน X และเบบี้บูมเมอร์ยังคงครองสัดส่วนการใช้จ่ายเกินครึ่งของการบริโภคทั้งหมด

แต่โดยรวมแล้ว แม้ว่าเจเนอเรชันที่มีอายุมากจะยังคงครองอำนาจการใช้จ่ายในปัจจุบัน แต่เจเนอเรชันที่อายุน้อยกว่า โดยเฉพาะเจเนอเรชัน Z ก็มีการคาดว่าจะขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมากในอนาคต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตลาดผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญในปีต่อ ๆ ไปค่ะ

10 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

นับตั้งแต่ต้นปี 2024 มาภาพรวมของมูลค่าบริษัทระดับโลกยังคงมีการสลับผลัดเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำอย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่มีบริษัทไหนสามารถแซงบริษัทเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นผู้นำได้เลย แต่บริษัทผู้นำทั้ง 10 บริษัทนี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างแนวโน้มใหม่ ๆ สำหรับอนาคตด้วยการลงทุนใน AI, พลังงานสะอาด, และเทคโนโลยีที่ยั่งยืน 

ยิ่งในเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีครองตลาดถึง 7 ใน 10 อันดับแรก ยิ่งตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ NVIDIA และ Microsoft ที่เติบโตจากการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่ภาคพลังงานยังคงมีความสำคัญ โดย Saudi Aramco ยังคงเป็นผู้นำท่ามกลางกระแสพลังงานสะอาด ด้านบริษัทที่เน้นผู้บริโภคอย่าง Apple และ Amazon ยังคงเป็นตัวอย่างเด่นของการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับผู้ใช้งาน ทำให้พวกเขารักษาความได้เปรียบในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง

โดย 10 อันดับบริษัทในหลายอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดตั้งแต่ต้นปีประกอบไปด้วย 
1. NVIDIA - 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• NVIDIA เป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยมูลค่าตลาด 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ ความต้องการเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและ AI ที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมทำให้บริษัทนี้ครองอันดับ 1 ได้อย่างต่อเนื่อง

2. Apple - 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Apple ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ความสำเร็จของบริษัทมาจากผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น เช่น iPhone, Mac และ Apple Watch รวมถึงรายได้จากบริการต่าง ๆ เช่น Apple Music และ iCloud

3. Microsoft - 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Microsoft ยังคงเป็นผู้นำในด้านซอฟต์แวร์องค์กร, คลาวด์คอมพิวติ้ง และ AI ด้วยมูลค่า 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยผลิตภัณฑ์ Azure และการผสาน AI ใน Office 365 และ Teams เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโต

4. Amazon - 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Amazon ครองอันดับ 4 ด้วยมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ความสำเร็จมาจากอีคอมเมิร์ซและการเติบโตของ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นผู้นำในบริการคลาวด์

5. Alphabet (Google) - 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Alphabet หรือบริษัทแม่ของ Google มีมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการครองตลาดโฆษณาออนไลน์ และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ (Waymo) และ AI (DeepMind)

6. Saudi Aramco - 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Saudi Aramco เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลก ด้วยมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่ Aramco ยังคงเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก

7. Meta (Facebook) - 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Meta Platforms มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเน้นการขยายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram และ WhatsApp รวมถึงการลงทุนในโลกเสมือน (Metaverse)

8. Tesla - 1.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Tesla กลับเข้าสู่กลุ่มบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์อีกครั้ง ด้วยการนำของ Elon Musk และความมั่นใจจากนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากความสัมพันธ์ของ Musk กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่

9. TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) - 1.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
• TSMC เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยมูลค่า 1.0 ล้านล้านดอลลาร์ บริษัทนี้มีความสำคัญต่อการผลิตชิปที่ใช้ใน AI และเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง

10. Berkshire Hathaway - 999 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
• Berkshire Hathaway ซึ่งนำโดย Warren Buffett ปิดท้ายรายการด้วยมูลค่า 999 พันล้านดอลลาร์ บริษัทมีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมประกันภัย พลังงาน และการถือหุ้นในบริษัทชั้นนำ
และทั้งหมดนี้คือ 10 บริษัทผู้นำระดับโลกที่คอยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับโลกเราค่ะ

ส่องพลังเศรษฐกิจโลก ใครคือมหาอำนาจตัวจริง!!

(19 พ.ย. 67) GDP ที่อาศัยการดูข้อมูลจากความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity หรือ PPP) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจศักยภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของแต่ละประเทศ โดยปรับตัวเลข GDP ให้คำนึงถึงค่าครองชีพและราคาสินค้าท้องถิ่น ช่วยให้เปรียบเทียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้อย่างสมจริงมากขึ้น ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนความเป็นจริงมากกว่าการใช้ GDP แบบ Nominal (มูลค่าตลาด)

โดย Purchasing Power Parity หรือ PPP เป็นทฤษฎีที่มีมาอย่างเนิ่นนานทางเศรษฐศาสตร์ โดยได้มีการเสนอมุมมองว่าราคาสินค้าของแต่ละประเทศควรจะต้องมีราคาเท่าเทียมกัน หลายคนเรียกกันเป็นภาษาไทยว่า ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น PPP จะแปลงค่าเงินของแต่ละประเทศให้อยู่ในหน่วยเดียวกัน โดยใช้ “ตะกร้าสินค้า” ที่คล้ายกันเพื่อเปรียบเทียบราคา เช่น หากกาแฟแก้วหนึ่งในสหรัฐฯ ราคา $3 และในอินเดียราคา ₹75 PPP จะเปรียบเทียบว่า ₹75 มีมูลค่าเทียบเท่ากับ $3 ในแง่กำลังซื้อ

แล้วทำไมเราต้องสนใจ GDP (PPP) ก็เพราะ GDP (PPP) ช่วยสะท้อนถึง “ความมั่งคั่งที่แท้จริง” โดยดูว่าประชาชนในแต่ละประเทศมีกำลังซื้ออย่างไร ตัวเลขนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจในด้านการลงทุน การกำหนดนโยบาย และรวมถึงการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ ๆ

และจากข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดในปี 2024 จาก Country Cassette และ CIA World Factbook แม้จะมีตัวเลขที่คำนวณออกมาต่างกัน แต่นั่นก็ช่วยทำให้เราเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ค่ะ

โดย 10 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (ข้อมูลจากทั้งสองแหล่ง) ประกอบไปด้วย จีน, สหรัฐ อเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, อินโดนีเซีย, บราซิล, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ยังมี 3 ประเด็นที่น่าสนใจจากทั้งสองแหล่งว่า

1.จีนและอินเดีย
•ทั้งสองแหล่งข้อมูลยืนยันว่า จีนยังคงเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ด้วย GDP (PPP) ที่มากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่อินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยทั้งสองประเทศแสดงศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกในอนาคต

2.สหรัฐอเมริกา
•ยังคงครองอันดับ 2 อย่างต่อเนื่อง แต่ GDP (PPP) ของสหรัฐฯ ตามรายงานของ Country Cassette และ CIA World Factbook นั้นใกล้เคียงกัน โดยยังคงมีความสำคัญในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลกแบบดั้งเดิม

3.อินโดนีเซียและบราซิล
•อินโดนีเซียกำลังกลายเป็นเศรษฐกิจที่โดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบราซิลยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกา ทั้งสองประเทศแสดงให้เห็นศักยภาพการเติบโตที่น่าสนใจ

และแม้ PPP เองจะสะท้อนภาพได้ดีกว่าก็จริง แต่ PPP เองก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน นั่นคือ

•สินค้าบางประเภทไม่ได้ถูกผลิตหรือบริโภคในทุกประเทศ ทำให้การคำนวณ PPP อาจไม่สะท้อนทุกมิติ

•การเก็บข้อมูลในบางประเทศ เช่น ประเทศที่มีเศรษฐกิจปิด อาจทำให้การเปรียบเทียบขาดความแม่นยำค่ะ

‘วันคนโสด 11.11.‘ มหกรรมขายของออนไลน์แดนมังกร สู่แคมเปญใหญ่ที่ขยายไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก

เทศกาล 11.11 หรือเทศกาลวันคนโสด วันที่ 11 พฤศจิกายน (11.11) เริ่มต้นขึ้นที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ในประเทศจีน โดยบริษัทได้พัฒนาจนกลายมาเป็นวันหยุดช้อปปิ้งระดับโลก ซึ่งเทียบได้กับกิจกรรมอย่าง Black Friday และ Cyber Monday ในสหรัฐอเมริกา เทศกาลนี้เริ่มจากกิจกรรมภายในประเทศและขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเทศกาลนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนเราไปดูกันค่ะ

• ด้านตัวเลขยอดขายที่สูงลิ่ว
ในปี 2023 Alibaba และ JD.com สองยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนรายงานการเติบโตของยอดขายในวันคนโสด 11.11 แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการก็ตาม เป็นปีที่สองติดต่อกันที่ทั้งสองบริษัทเลือกที่จะไม่เปิดเผยยอดขายในงานนี้ แต่ข้อมูลจาก Syntun ผู้ให้บริการด้านข้อมูลระบุว่า มูลค่าสินค้ารวม (GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักๆ ในช่วงวันคนโสด 2023 เพิ่มขึ้น 2.08% เป็นประมาณ 1.14 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 156.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

ส่วนในปี 2022 ยอดขายของ Alibaba เองสามารถทำยอดขายไปได้สูงถึง 84.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโตมากเมื่อเทียบกับยอดขายของ Prime Day ของ Amazon ที่ทำยอดขายไปได้เพียง 12.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

• ด้านการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของแบรนด์ต่างประเทศ

ในปี 2023 Alibaba รายงานว่ามีแบรนด์จากทั่วโลกเข้าร่วมในวัน 11.11 กว่า 290,000 แบรนด์ โดยแบรนด์ระดับนานาชาติใหญ่ๆ อย่าง Apple, Nike และ L’Oreal ได้เสนอส่วนลดพิเศษ โดยแบรนด์จากสหรัฐฯ มีการเข้าร่วมสูงมาก โดยคิดเป็นประมาณ 15% ของยอดขายทั้งหมดในช่วง 11.11 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐานด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถเข้าถึงสินค้าต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

• ด้านผลกระทบต่อซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

ความต้องการสูงสุดในวัน 11.11 กดดันให้ซัพพลายเชนและระบบโลจิสติกส์ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดย Cainiao ซึ่งเป็นฝ่ายโลจิสติกส์ของ Alibaba รายงานการจัดการพัสดุจำนวนมากในช่วงสองสัปดาห์หลังจากวัน 11.11 ในปี 2023 และนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและ AI มาใช้เพื่อรับมือกับความต้องการสูงสุดนี้

• ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ในปี 2023 ความสนใจของผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยการสำรวจของ Nielsen พบว่า 43% ของผู้ช้อปปิ้งในช่วงวัน 11.11 เลือกซื้อจากแบรนด์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

• ด้านการเข้าถึงทั่วโลกและการขยายตัว

แม้ 11.11 เริ่มต้นจากประเทศจีนแต่ได้กลายเป็นที่นิยมทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพลตฟอร์ม Lazada รายงานว่ายอดขายเพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงหนุนจากประชากรที่อายุน้อยและการเติบโตของการช้อปปิ้งผ่านมือถือ

ด้านยุโรปเอง การช้อปปิ้งออนไลน์ในวัน 11.11 เติบโตขึ้น 18% ในปี 2023 เมื่อแพลตฟอร์มอย่าง AliExpress และร้านค้าท้องถิ่นเสนอข้อเสนอที่หลากหลาย ทำให้เป็นวันที่สำคัญในปฏิทินการช้อปปิ้งในช่วงเทศกาลนอกสหรัฐอเมริกาค่ะ

เปิดประวัติ ว่าที่ประธานาธิบดี ‘Donald Trump’ ชีวิตส่วนตัว!! ในมุมที่ไม่มีใครเคยรู้

(9 พ.ย. 67) 10 ข้อเท็จจริงที่ใครอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump

1. ชื่อเล่นวัยเด็ก : ในวัยเด็ก โดนัลด์ ทรัมป์ มีชื่อเล่นว่า ‘ดอนนี่; แม้ในปัจจุบันเขาจะไม่ค่อยถูกใครเรียกด้วยชื่อนี้แล้วก็ตาม 

2. ดาวบนฮอลลีวูดวอล์คออฟเฟม : บทบาทของเขาในรายการ The Apprentice และ Celebrity Apprentice ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและทำให้ภาพลักษณ์ของเขาที่ดูเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ จนทำให้ทรัมป์ได้รับดาวบนฮอลลีวูดวอล์คออฟเฟมในปี 2007 จากบทบาทในรายการ แต่ดาวของเขามักถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนั้นแล้วทรัมป์เคยปรากฏตัวในภาพยนตร์และรายการทีวีหลายรายการในฐานะตัวเขาเอง การปรากฏตัวที่มีชื่อเสียงของเขารวมถึง Home Alone 2: Lost in New York, The Fresh Prince of Bel-Air, และ Sex and the City อีกด้วย

3. ทรัมป์และเกียรติยศในวงการมวยปล้ำ : ทรัมป์เคยปรากฏตัวใน WWE (เวิลด์เรสลิงเอนเตอร์เทนเมนต์) และขึ้นสังเวียนใน WrestleMania 23 ในปี 2007 เขา ‘ต่อสู้’ กับวินซ์ แม็กมาฮอน ซีอีโอของ WWE ในศึก ‘Battle of the Billionaires’ ซึ่งตัวแทนของทรัมป์เป็นผู้ชนะ ทำให้เขาโกนหัวแม็กมาฮอน

4. ความชอบในอาหารฟาสต์ฟู้ด : แม้จะมีความมั่งคั่ง แต่ทรัมป์กลับชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ เขาเคยบอกว่าเขาไว้ใจในอาหารเหล่านี้ เพราะมาตรฐานความสะอาดและความสม่ำเสมอของแบรนด์

5. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ : ทรัมป์ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลยในชีวิต ซึ่งเป็นการให้เกียรติแก่เฟร็ด ทรัมป์ จูเนียร์ พี่ชายที่ต่อสู้กับการติดแอลกอฮอล์ก่อนที่จะเสียชีวิต

6. จบการศึกษาจากวอร์ตัน : ทรัมป์เรียนที่ Wharton School of Finance ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และจบการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเขาย้ายไปที่นั่นหลังจากเรียนที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมเป็นเวลา 2 ปี เพราะ Wharton เป็นที่รู้จักในด้านชื่อเสียงที่แข็งแกร่งในหลักสูตรธุรกิจและการเงิน

7. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมายาวนานที่สุด : ทรัมป์เคยคิดจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หลังจากที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการคิดสุดท้ายเขาลงสมัครอย่างเป็นทางการในปี 2016 และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 และทรัมป์เคยเปลี่ยนพรรคการเมืองหลายครั้ง เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เข้าร่วมพรรครีฟอร์มในปี 2000 แต่ถอนตัวออกไป และสุดท้ายเปลี่ยนมาอยู่กับพรรครีพับลิกันจนได้ลงสมัครและชนะการเลือกตั้งในปี 2016

8. ประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทหารหรือการเมือง : ทรัมป์ทำลายสถิติด้วยการเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านทหารหรือการเมืองมาก่อน โดยพื้นฐานของเขาคือการเป็นนักธุรกิจและสื่อบันเทิง

9. ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสองครั้ง : ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสองครั้ง สภาผู้แทนราษฎรถอดถอนเขาครั้งแรกในปี 2019 และอีกครั้งในปี 2021 ทั้งสองครั้ง แต่วุฒิสภายกฟ้องเขา ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ

10. ความฝันในการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล : ทรัมป์เคยพยายามเป็นเจ้าของทีม NFL โดยเขาเคยลงทุนในลีก USFL (ยูไนเต็ดสเตทฟุตบอลลีก) และหวังจะรวมลีกกับ NFL แต่ลีกดังกล่าวล้มเหลวก่อนที่จะเกิดขึ้น

Blackrock คือใคร และถือหุ้นอะไรบ้าง

BlackRock ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1988 โดยกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในแวดวงการเงิน 8 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Larry Fink ซึ่งปัจจุบันเขายังคงดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท BlackRock และเขาได้มีบทบาทสำคัญในการทำให้บริษัทเติบโตจนกลายเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการหรือ AUM ณ ปี ค.ศ. 2024 มากกว่า 11.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก และมีการดำเนินงานทั่วโลกด้วยเครือข่ายสำนักงานกว่า 70 แห่งใน 30 ประเทศ

ในปี 1999 BlackRock ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ภายใต้สัญลักษณ์ “BLK” โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ The Vanguard Group ที่ถือหุ้นเป็นสัดส่วน 9.08%  นอกจากนี้ Blackrock เองยังได้ไล่ซื้อกิจการของอีกหลายบริษัททั้ง SSRM Holdings, Inc. จาก MetLife ด้วยมูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรูปของเงินสด และ 50 ล้านดอลลาร์ในรูปของหุ้น ควบรวมกับแผนกบริหารการลงทุนของ Merrill Lynch (MLIM) และอีกหลายต่อหลายดีลค่ะ

โดย Blackrock เองได้เข้าถือหุ้นหลายบริษัทชั้นนำทั้งในสหรัฐและนอกสหรัฐ และ 10 บริษัทแรกที่ BlackRock เข้าไปถือหุ้นเยอะสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2024 จะประกอบไปด้วย
1. Microsoft Corporation โดยถือเป็นสัดส่วน 5.6%
2. Nvidia Corporation โดยถือเป็นสัดส่วน 5.2%
3. Apple Inc. โดยถือเป็นสัดส่วน 5.0%
4. Alphabet Inc. (Google) โดยถือเป็นสัดส่วน 3.2%
5. Amazon.com Inc. โดยถือเป็นสัดส่วน 2.9%
6. Meta Platforms, Inc. (Facebook)โดยถือเป็นสัดส่วน 1.8%
7. iShares (BlackRock's own ETF products) โดยถือเป็นสัดส่วน 1.5%
8. Eli Lilly and Co. โดยถือเป็นสัดส่วน 1.4%
9. Broadcom Inc. โดยถือเป็นสัดส่วน 1.2%
10. Berkshire Hathaway Inc. โดยถือเป็นสัดส่วน 1.2%

ด้วยกลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการและการลงทุนในบริษัทชั้นนำ BlackRock ไม่ได้มุ่งเน้นแค่ผลตอบแทน แต่ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งการลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกเลยค่ะที่บริษัทนี้จะเติบโตขึ้นยิ่งใหญ่และมั่นคงค่ะ

ส่องนโยบายเศรษฐกิจ 10 ปธน.สหรัฐฯ ‘ใครปัง – ใครแป้ก’ ก่อนถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่

ย้อนอดีต 10 ประธานาธิบดีสหรัฐ มีนโยบายอะไร และนโยบายพวกนั้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่กันบ้าง

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะถึงเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐอเมริกาและโลกของเราอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกันแล้วค่ะ ซึ่งการเลือกตั้งนี้จะส่งผลเป็นวงกว้างทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมค่ะ โดยทั้ง 2 ตัวแทนของทั้ง 2 พรรคก็มีการนำเสนอนโยบายที่ต่างกันสุดขั้ว ดังนั้นแล้วไม่ว่าใครที่จะได้ตำแหน่งไป นโยบายของพรรคนั้นก็จะส่งผลกระทบกับทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยเราเองด้วยค่ะ

วันนี้เลยพาย้อนไปดูนโยบายที่ผ่านมาของทั้ง 10 ประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา ว่ามีนโยบายอะไรที่ถูกนำมาใช้และส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้างค่ะ 

ปี 2021-ปัจจุบัน : โจ ไบเดน (Joe Biden) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบาย 'Build Back Better' ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด, และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจ

• การเติบโตของ GDP: ในปี 2021 GDP สหรัฐฯ เติบโตประมาณ 5.7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1984 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19

ปี 2017-2021 : โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายภาษีที่ลดอัตราภาษีรายได้ (Tax Cuts and Jobs Act), การปฏิรูปนโยบายการค้า เช่น การปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (USMCA), และนโยบาย 'America First' ที่เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
• การเติบโตของ GDP: ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 GDP เติบโตประมาณ 2.3% ในปี 2019 แต่หดตัวถึง -3.4% ในปี 2020 เนื่องจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาด

ปี 2009-2017 : บารัก โอบามา (Barack Obama) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกฎหมาย American Recovery and Reinvestment Act มูลค่า 787 พันล้านดอลลาร์, การปฏิรูประบบสุขภาพ (Affordable Care Act), และการควบคุมทางการเงินภายใต้กฎหมาย Dodd-Frank Act
• การเติบโตของ GDP: หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 GDP ฟื้นตัวและมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปีในช่วงการดำรงตำแหน่ง

ปี 2001-2009  : จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) 
• นโยบายสำคัญ: การลดภาษีครั้งใหญ่ในปี 2001 และ 2003, นโยบายความมั่นคงหลังเหตุการณ์ 9/11 รวมถึงสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน, และการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008
• การเติบโตของ GDP: มีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.1% ต่อปี แต่ช่วงปลายการดำรงตำแหน่ง GDP หดตัวถึง -0.1% ในปี 2008 อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ปี 1993-2001 : บิล คลินตัน (Bill Clinton) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายการคลังที่มุ่งเน้นการลดหนี้สาธารณะ, การปฏิรูปสวัสดิการ (Welfare Reform Act), และการขยายการค้าเสรีผ่าน NAFTA
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.8% ต่อปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ปี 1989-1993 : จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช (George H.W. Bush) 
• นโยบายสำคัญ: การตอบสนองต่อสงครามอ่าวเปอร์เซีย, นโยบายภาษีเพิ่มขึ้นในปี 1990 เพื่อควบคุมการขาดดุลการคลัง, และการลงนามใน NAFTA แม้ว่าเนื้อหาจะสำเร็จในยุคคลินตัน
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.1% ต่อปี แต่ประสบภาวะถดถอยในปี 1990-1991

ปี 1981-1989 : โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) 
• นโยบายสำคัญ: การลดภาษี (Economic Recovery Tax Act of 1981), การลดการควบคุมทางธุรกิจ, และนโยบายการป้องกันประเทศที่เพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพ
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.5% ต่อปี โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980

ปี 1977-1981 : จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบายพลังงานเพื่อควบคุมปัญหาน้ำมัน, การปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชน และการควบคุมเงินเฟ้อผ่านนโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงท้ายของการบริหาร
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.3% ต่อปี แต่ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงและวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1979

ปี 1974-1977 : เจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) 
• นโยบายสำคัญ: นโยบาย WIN (Whip Inflation Now) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ, การยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมัน, และการลดการใช้จ่ายภาครัฐ
• การเติบโตของ GDP: ในช่วงการบริหาร GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.6% ต่อปี แต่ช่วงแรกต้องเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 1974-1975

ปี 1969-1974 : ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) 
• นโยบายสำคัญ: การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน, การยุติสงครามเวียดนาม, และการใช้นโยบายการควบคุมราคาเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
• การเติบโตของ GDP: GDP เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.1% ต่อปี แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วงปลายการบริหาร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top