ส่องพลังเศรษฐกิจโลก ใครคือมหาอำนาจตัวจริง!!
(19 พ.ย. 67) GDP ที่อาศัยการดูข้อมูลจากความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity หรือ PPP) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจศักยภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของแต่ละประเทศ โดยปรับตัวเลข GDP ให้คำนึงถึงค่าครองชีพและราคาสินค้าท้องถิ่น ช่วยให้เปรียบเทียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้อย่างสมจริงมากขึ้น ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนความเป็นจริงมากกว่าการใช้ GDP แบบ Nominal (มูลค่าตลาด)
โดย Purchasing Power Parity หรือ PPP เป็นทฤษฎีที่มีมาอย่างเนิ่นนานทางเศรษฐศาสตร์ โดยได้มีการเสนอมุมมองว่าราคาสินค้าของแต่ละประเทศควรจะต้องมีราคาเท่าเทียมกัน หลายคนเรียกกันเป็นภาษาไทยว่า ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น PPP จะแปลงค่าเงินของแต่ละประเทศให้อยู่ในหน่วยเดียวกัน โดยใช้ “ตะกร้าสินค้า” ที่คล้ายกันเพื่อเปรียบเทียบราคา เช่น หากกาแฟแก้วหนึ่งในสหรัฐฯ ราคา $3 และในอินเดียราคา ₹75 PPP จะเปรียบเทียบว่า ₹75 มีมูลค่าเทียบเท่ากับ $3 ในแง่กำลังซื้อ
แล้วทำไมเราต้องสนใจ GDP (PPP) ก็เพราะ GDP (PPP) ช่วยสะท้อนถึง “ความมั่งคั่งที่แท้จริง” โดยดูว่าประชาชนในแต่ละประเทศมีกำลังซื้ออย่างไร ตัวเลขนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจในด้านการลงทุน การกำหนดนโยบาย และรวมถึงการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ ๆ
และจากข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดในปี 2024 จาก Country Cassette และ CIA World Factbook แม้จะมีตัวเลขที่คำนวณออกมาต่างกัน แต่นั่นก็ช่วยทำให้เราเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ค่ะ
โดย 10 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (ข้อมูลจากทั้งสองแหล่ง) ประกอบไปด้วย จีน, สหรัฐ อเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, อินโดนีเซีย, บราซิล, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ยังมี 3 ประเด็นที่น่าสนใจจากทั้งสองแหล่งว่า
1.จีนและอินเดีย
•ทั้งสองแหล่งข้อมูลยืนยันว่า จีนยังคงเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ด้วย GDP (PPP) ที่มากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่อินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยทั้งสองประเทศแสดงศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกในอนาคต
2.สหรัฐอเมริกา
•ยังคงครองอันดับ 2 อย่างต่อเนื่อง แต่ GDP (PPP) ของสหรัฐฯ ตามรายงานของ Country Cassette และ CIA World Factbook นั้นใกล้เคียงกัน โดยยังคงมีความสำคัญในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลกแบบดั้งเดิม
3.อินโดนีเซียและบราซิล
•อินโดนีเซียกำลังกลายเป็นเศรษฐกิจที่โดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบราซิลยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกา ทั้งสองประเทศแสดงให้เห็นศักยภาพการเติบโตที่น่าสนใจ
และแม้ PPP เองจะสะท้อนภาพได้ดีกว่าก็จริง แต่ PPP เองก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน นั่นคือ
•สินค้าบางประเภทไม่ได้ถูกผลิตหรือบริโภคในทุกประเทศ ทำให้การคำนวณ PPP อาจไม่สะท้อนทุกมิติ
•การเก็บข้อมูลในบางประเทศ เช่น ประเทศที่มีเศรษฐกิจปิด อาจทำให้การเปรียบเทียบขาดความแม่นยำค่ะ
ที่มา : จากข้อมูลล่าสุดของ Country Cassette และ CIA World Factbook
เรื่อง : อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP