วิเคราะห์ 6 กลยุทธ์การออกจากตลาด ที่เจ้าของกิจการมักใช้ในกิจการและตลาดหุ้น
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘Exit Strategy’ แต่นัยจริง ๆ ของมันคืออะไร?
‘Exit Strategy’ หรือ กลยุทธ์การออกจากตลาด คือ แผนการรับมือของนักลงทุนและเจ้าของธุรกิจที่วางไว้ล่วงหน้า เพื่อขายหุ้นออกจากพอร์ตการลงทุนหรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจในสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมทั้งในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คิด และยังเป็นหนึ่งในวิธีบริหารความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นและเจ้าของด้วยค่ะ
โดยการลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของนี้ ก็จะส่งต่อความเป็นเจ้าของนั้นให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือกิจการอื่น ๆ ค่ะ ซึ่งการ Exit นี้มีได้ทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจค่ะ
อย่างเช่น ถ้าเจ้าของมองว่า มีคนที่มีความสามารถบริหารงานได้ดีกว่าตัวเองก็อาจจะถูกทำให้ Exit เพื่อให้คนนั้นเข้ามาบริหารแทนค่ะ
การ Exit นี้เกิดได้ทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมไปถึง Startup และการร่วมทุนในหลายรูปแบบค่ะ
โดยวิธีการ Exit มีด้วยกันทั้งหมด 6 วิธีค่ะ
วิธีแรก คือ IPO หรือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกค่ะ จริงอยู่ที่ IPO เป็นการระดมทุนให้กับบริษัท แต่ในมุมตรงกันข้าม มันก็คือการลดสัดส่วนเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิมลงด้วยเช่นกัน ยิ่งบางธุรกิจที่มีนักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้นเดิมอยู่ เมื่อทำ IPO เข้ามาแล้ว นักลงทุนรายใหญ่หรือ Angle Investors ก็อาจจะนำเงินที่ได้จากการ IPO ไปลงทุนในธุรกิจอื่นแทนค่ะ
วิธีที่สอง คือการขายกิจการ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับกิจการที่มีผลประกอบการไม่ค่อยดีค่ะ การขายกิจการตัวเองออกไปอาจจะช่วยลดความเสียหายและลดความเครียดที่เกิดกับเจ้าของกิจการนั้นได้ค่ะ หรือในทางตรงกันข้ามกับบริษัทที่ธุรกิจดี การขายกิจการหรือขายหุ้นออกไปก็จะเป็นการรักษาผลกำไรที่ตัวเองต้องการได้ค่ะ วิธีนี้จะขายแบ่งเฉพาะตัวธุรกิจเอง หรือขายธุรกิจรวมกับผู้บริหารและพนักงานเดิมก็ได้ค่ะ
วิธีที่สามคือ M&A หรือ Mergers and Acquisitions หรือเราเรียกวิธีนี้ว่าการควบรวมกิจการ โดย Mergers ซึ่งเป็นวิธีที่กิจการตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปมาควบรวมกันค่ะ อย่างเช่น ตอนที่ธนาคารทหารไทยควบรวมกับธนาคารธนชาต และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต ส่วน Acquisitions คือการขายกิจการของตัวเองให้กับบริษัทอื่น โดยจะขายผ่านทรัพย์สินหรือหุ้นก็ได้ค่ะ อย่างเช่นตอนที่ Facebook เข้าไปซื้อกิจการของ Instagram ค่ะ
วิธีที่สี่ คือ วิธีการเสนอขายหุ้นให้กับคนในวงจำกัด หรือ Private Placements (PP) วิธีนี้ไม่ยุ่งยากเท่า IPO เพราะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กลต. แถมขั้นตอนการดำเนินการก็ยุ่งยากน้อยกว่าด้วยค่ะ โดยวิธีนี้เจ้าของเดิมที่ถือหุ้นอยู่จะลดสัดส่วนตัวเองลงไปให้กับผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นค่ะ
วิธีที่ห้า คือ การสืบทอดกิจการครอบครัวค่ะ วิธีนี้จะเป็นการถ่ายโอนธุรกิจหรือสัดส่วนความเป็นเจ้าของให้กับทายาท และ...
วิธีสุดท้ายคือ ล้มละลาย ซึ่งวิธีนี้เจ้าของกิจการจะถูกฟ้องเพื่อยึดทรัพย์สินและถูกบังคับให้ออกจากธุรกิจนั้นไปโดยปริยายค่ะ
เรื่อง: อรวดี ศิริผดุงธรรม, IP