Tuesday, 10 December 2024
APEC2022

ก่อกำเนิด APEC ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เชื่อม 2 ภูมิภาคของโลกให้เป็นหนึ่งเดียว

จากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เกิดขึ้นและสะสมโมเมนตัมมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1980 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ซึ่งในขณะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน มีสมาชิก 6 ประเทศอันได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ร่วมกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการขยายผลจากความสำเร็จนี้ไปสู่การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง 2 ภูมิภาคสำคัญของโลกเข้าด้วยกันนั่นคือ ประเทศในทวีปเอเชีย และประเทศในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก และเรียกกรอบความร่วมมือในเวทีนี้ว่า ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation)’ หรือ ‘APEC’ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1989 หรือกว่า 33 ปีมาแล้ว โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC ครั้งแรก ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 1989 

โดยบุคคลสำคัญที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันจนทำให้เกิดเวทีการประชุมนี้คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลียในขณะนั้น คือนายบ๊อบ ฮอว์ก (Bob Hawke) ที่ต้องการนำเอาออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศที่ต้องการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเองเข้าสู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) เองก็ให้การขานรับ เพราะต้องการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเอเชียท่ามกลางสถานการณ์สุกงอมของการแข่งขันทางอำนาจของสงครามเย็น 

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากไม่มีสถานการณ์พิเศษ ตารางการประชุมสำคัญที่ทั่วโลกจับตาก็คือ การประชุม APEC ที่มักจะนิยมจัดกันในทุกเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาที่เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ‘สหภาพโซเวียต’ ล่มสลายในวันที่ 26 ธันวาคม ปีค.ศ. 1991 แต่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านั้น หลายๆ ประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างก็ต้องการเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ ที่สหรัฐอเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาการค้า การลงทุน และระบบเศรษฐกิจโลก 

ดังนั้นการเข้าเป็นพันธมิตรสำคัญของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เป็นผู้เล่นจึงกลายเป็นสิ่งปรารถนาของหลากหลายประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ประชุม APEC อิทธิพลที่ส่งผลต่อประชากรโลกร่วม 40% เรื่องอะไรที่ 21 เขตเศรษฐกิจ เขาจะคุยกัน?

การประชุม APEC ที่เกิดขึ้น และมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1989 ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นการประชุม APEC Summit หรือการประชุมสุดยอดผู้นำ ที่หัวหน้ารัฐบาลของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขต มาประชุมกันอย่างเป็นทางการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1993 และแน่นอนว่า เมื่อหัวหน้ารัฐบาลมาประชุมกัน นั่นหมายความว่า กระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้นำ APEC ก็จะมีความคล่องตัว และมีผลผูกพันการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจสมาชิกอย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นเอกสารแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ APEC หรือ Joint Statement จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตา เพราะนี่คือ การตัดสินใจร่วมกันในการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งโลก ที่จะส่งผลต่อประชากรราว 40% ของทั้งโลก

โดยความกว้างของมิติทางเศรษฐกิจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม APEC มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากที่แต่เดิมในการประชุมระดับรัฐมนตรีจะเน้นสารัตถะที่มีความสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ (Trade Facilitations) อาทิ การเร่งรัดและสร้างความสอดคล้องในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร การเจรจาเพื่อลด ละ เลิก การใช้มาตรการทางการค้าที่มีลักษณะกีดกัน การสร้างความสอดคล้องพ้องกันของกฎระเบียบของแต่ละเขตเศรษฐกิจสมาชิก

จนเมื่อประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งแรกในปี 2003 (ก่อนหน้านั้น ไทยเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีมาแล้วอีก 1 ครั้งในปี 1992) ในปีนั้น ประเทศไทยได้เสนอวาระสำคัญในการนำเอามิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เป็นจุดเสริมเพิ่มเติมจากที่ทั่วโลกได้ร่วมกันยอมรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ของที่ประชุมสหประชาชาติ มาต่อยอดในที่ประชุม APEC

ก่อนที่ขอบเขตของการประชุมสุดยอด APEC จะถูกขยายเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งในปี 2004 เมื่อประเทศชิลีเป็นประธานการประชุม และบรรจุวาระในเรื่องการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration: REI) ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Connectivity) และการสร้างความสอดคล้องพ้องกันของการเจรจาการค้าในระดับพหุภาคีเข้ามาเป็นประเด็นเพิ่มเติมในการประชุม 

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญของ APEC ได้นำเอามิติการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) เข้ามาเจรจาในการประชุมในปี 2007 

ในขณะที่รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างเวทีในการผลักดันความร่วมมือในมิติการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล และนวัตกรรม ให้กลายเป็นความร่วมมือสำคัญในเวที 21 เขตเศรษฐกิจของโลก ในปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ

จากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ในภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC มีขอบเขตสารัตถะของการประชุมครอบคลุมเกือบจะทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอาจจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

วาระที่โลกจับตา เดินหน้าสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ความคืบหน้าที่ต้องจับตาใน APEC 2022

ภายหลังจากที่ APEC เริ่มยกระดับการประชุมสู่กลไกการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ หรือ APEC Summit ที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1993 เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรก ณ Blake Island ในรัฐวอชิงตัน การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสมาชิกก็ดูจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ตามประเพณีของ APEC เขตเศรษฐกิจที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานในแต่ละปี จะเกิดขึ้นจากฉันทามติของที่ประชุม APEC โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างเขตเศรษฐกิจในทวีป สลับกับเขตเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก 

ในปี 1994 ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในฟากฝั่งทวีปเอเชียจึงได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมต่อจากสหรัฐอเมริกัน ซึ่งถือเป็นสมาชิกทางภาคพื้นแปซิฟิก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเลือกที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้นที่เมือง Bogor ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ลงไปประมาณ 60 กิโลเมตรจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ

ในการประชุมครั้งนั้น สาระสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการประชุมในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ ผู้นำ APEC ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง ‘เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก’ หรือที่ประชุมใช้คำว่า Free and Open Trade and Investment in the Asia-Pacific และได้กำหนดเป็น ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘Bogor Goals’ ที่ตั้งเอาไว้ว่า “สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ระดับสูงและมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว จะเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิก APEC ภายในปี 2010 และให้แต้มต่อกับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และมีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับกำลังพัฒนาให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในปี 2020”

หลังจากนั้น ก็ได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาภาคเอกชนขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีและความร่วมมือในมิติอื่นๆ กับการประชุมของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบาย โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council) หรือ ABAC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1995 และได้ทำหน้าที่ประชุมควบคู่กันไปกับการประชุมของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ Asian Financial Crisis หรือที่พวกเราชาวไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ต่อเนื่องกระแสที่ตกต่ำลงของการประชุมเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก ที่ล้มเหลวในการเปิดการเจรจารอบ Millennium Round ในปี 1999 และความล่าช้าของการเจรจาในรอบ Doha Development Round ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2001 นั้น ได้ทำให้การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบใหญ่ๆ ดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มาให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคี และในระดับภูมิภาค นั่นจึงทำให้การเจรจาการค้าในกรอบ APEC ดูจะซบเซา

อย่างไรก็ตามในปี 2007 แนวคิดที่จะปัดฝุ่นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบ APEC ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยการผลักดันอย่างแข็งแกร่งจากภาคเอกชน ABAC นั่นจึงเป็นการฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของความร่วมมือที่ต่อจากนี้ไปจะถูกเรียกว่า เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) หรือ FTAAP (อ่านว่า เอฟ-แท็บ) 

ด้านสำนักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการทำสรุปประเด็นการก่อกำเนิดของ FTAAP ไว้อย่างน่าสนใจในปี 2009 เอาไว้ว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคืองานศึกษาของเกาหลีใต้ที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยของนักวิชาการต่างๆ โดยรายงานการศึกษาได้ยกคำถามรวมทั้งความเห็นต่อคำถามเหล่านั้นไว้ให้สมาชิกเอเปก หารือกันต่อ คำถามหลัก ๆ อาทิ... 

1.) ทำไมต้องมี FTAAP
2.) FTAAP มีประโยชน์หรือไม่
3.) การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่
4.) การจัดตั้ง FTAAP จะใช้วิธีใด
5.) เอเปกควรศึกษาประเด็นใดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง FTAAP เป็นต้น

>> ‘ทำไมต้องมี FTAAP?’ 
นักวิชาการต่างเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ FTAAP จะเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกในเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปกและโลก คือความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ปัญหา Spaghetti bowl จากความซับซ้อนของการจัดทำ FTA / RTA ของสมาชิกเอเปก รวมทั้งความล้มเหลวในการเปิดเสรีรายสาขาโดยสมัครใจของเอเปกในช่วงที่ผ่านมา

>> ‘FTAAP มีประโยชน์หรือไม่?’ 
ผลจากงานวิจัยได้แสดงผลกระทบด้านความกินดีอยู่ดีในเชิงปริมาณว่า การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปกและเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากเอเปกไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Unilateral Open Regionalism Approach) โดยจะสร้างความแข็งแกร่งแก่การเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แต่ละสมาชิกจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

>> ‘การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่?’ 
ในรายงานได้กล่าวอย่างระมัดระวัง โดยยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่าเป็นหนึ่งนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปก โดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค (Open Regionalism) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปกยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง (Political Will) ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปก รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง Regional Trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปกอยู่บนหลักของความสมัครใจ (voluntary) เป็นต้น

ในห้วงเวลานั้น สมาชิกเอเปกกำลังทำการบ้านกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำ FTAAP ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกเอเปกและโลก ศึกษาวิเคราะห์กลไกในการจัดทำ FTAAP ศึกษาความเหมือน/แตกต่างของข้อบทต่าง ๆ ในความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปก (เช่น Market Access, Rules of Origin, Customs Procedures, Technical Barriers to Trade) และศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นต้น

ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า!! ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ | THE STATES TIMES Y WORLD EP.2

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ แห่งเดียวในไทย เปิดตัวแบบอลังการ ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า!! จุคนได้เป็นแสน พร้อมรองรับการจัดงานทุกรูปแบบ และทุกไลฟ์สไตล์คนเมือง!

ตามไปดูความอลังการได้ใน THE STATES TIMES Y World

สิ่งที่ไทยได้ทันที กางผลลัพธ์ APEC 2022 ไม่ต้องรอถึงเดือน 11 เพราะผลสำเร็จต่อศก.ไทย เกิดขึ้นแล้วตลอดทั้งปี

สิ่งที่อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดสำหรับหลายๆ คนเกี่ยวกับ APEC นั่นคือ ผู้คนต่างเข้าใจว่า การประชุม APEC หรือ การประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 นั้น คือผลลัพธ์ที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจในราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก แท้จริงแล้วได้เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี และในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการประชุมไปแล้วมากกว่า 14 คลัสเตอร์ 

ที่ต้องใช้คำว่า ‘คลัสเตอร์’ เนื่องจากใน 1 ช่วงเวลาที่มีการจัดการประชุมอาจจะมีการประชุมเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ และการประชุมเองก็มีการจัดทั้งในรูปแบบการประชุมทางไกล ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีการประชุมแบบ On-site ที่เกิดขึ้นทั้งใน กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต และขอนแก่น 

โดยการประชุมคลัสเตอร์สำคัญๆ เฉพาะที่เป็นของภาครัฐ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือ ในระดับตั้งแต่รองอธิบดี, อธิบดี, ปลัดกระทรวง ขึ้นไปจนถึงระดับรัฐมนตรี และช่วงเวลาที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานที่การจัดงานสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> คลัสเตอร์ที่ 1 ตลอดปี 2020-2021 ในช่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 กำลังระบาด การประชุมทางไกล และการประชุมแบบพบหน้า (เท่าที่มีโอกาส) ของหน่วยงานสำคัญๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนในนาม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ร่วมกับ ภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ สื่อสารมวลชน และภาคส่วนต่างๆ ได้มีการจัดขึ้นตลอดทั้ง 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนด Theme ของการประชุมที่ประเทศไทยจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในปี 2022

>> คลัสเตอร์ที่ 2 ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ การประชุม First Senior Officials’ Meeting (SOM1) and Related Meeting ซึ่งเป็นการประชุมหลายครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อม กำหนดวาระ และสารัตถะของการประชุม เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้มีการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล จำนวนหลายครั้ง

>> คลัสเตอร์ที่ 3 เมื่อ 16-17 มี.ค. การประชุมของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจ APEC หรือ Finance and Central Bank Deputies’ Meeting (FCBDM) ก็เกิดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล เพื่อลงลึกในรายละเอียดของความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

>> คลัสเตอร์ที่ 4 เมื่อ 9-19 พ.ค. เริ่มต้นการประชุมแบบพร้อมหน้าครั้งแรก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลาย ตลอดทั้ง 10 วันที่ได้มีการกำหนดตารางเวลาเอาไว้ ก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ Second Senior Officials’ Meeting (SOM2) and Related Meeting เพื่อเจรจาในการเดินหน้าสารัตถะสำคัญที่จะนำเสนอและรับการพิจารณาโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และผู้นำ APEC ก็เกิดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร 

>> คลัสเตอร์ที่ 5 เมื่อ 21-22 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับ และประชุมคณะทำงาน จนถึงการประชุมสำคัญที่สุดอีกประชุมหนึ่งของ APEC นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้า หรือ Ministers Responsible for Trade (MRT) Meeting ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

เอกชนสำคัญ!! รู้จัก ABAC ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค’ กลไกสำคัญขับเคลื่อน APEC

หลังจากการกำหนดเป้าหมาย ‘โบกอร์’ (Bogor Goals) ในปี 1994 ที่สมาชิก APEC ต้องการเดินหน้าไปสู่การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในระหว่างสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ต่อมาในปี 1995 กับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ณ ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำ APEC ก็ได้มีมติร่วมกันที่จะจัดตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก’ (APEC Business Advisory Council) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า ABAC (อ่านว่า เอ-แบค) เพื่อให้ภาคธุรกิจ, ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน เข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อเสนอแนะ ศึกษา ตลอดจนสร้างกลไกในการร่วมกันกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ

กลไกการทำงานของ ABAC ประกอบขึ้นจากตัวแทนของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 ท่าน ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคจำนวนทั้งสิ้น 63 ท่าน

โดยในกรณีของประเทศไทย ตัวแทน 3 ท่านจะมาจาก หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย 

ทั้งนี้ 63 ท่านจาก 21 เขตเศรษฐกิจ จะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง พร้อมทั้งมีการจัดงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในการประชุมสุดยอดผู้นำในแต่ละปี โดยในปี 2022 ‘คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล’ รับหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก เพื่อนำข้อเสนอไปหารือกับคณะผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ 

จากการเตรียมงานอย่างทุ่มเทของภาคเอกชนไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี 2022 ... ABAC ก็ได้มีการกำหนด theme ของการประชุมภาคเอกชนในปีนี้ไว้ว่า Embrace. Engage. Enable

- Embrace หมายถึงการกลับมาใกล้ชิดพร้อมหน้ากันอีกครั้งในการร่วมประชุม หลังจากที่ต้องไปประชุมทางไกลมาตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19
- Engage หมายถึง การลงมือทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง...
- เพื่อให้ Enable นั่นคือ สามารถผลักดันกลไก APEC ให้เดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง

ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องร่วมกันกับทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิก โดยแบ่งมิติการทำงานร่วมกันออกเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่ ‘การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว’ โดยทั้ง 5 คณะทำงาน และ 5 กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่...

1.) Regional Economic Integration: เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2.) Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน  

เกิดไหม ? FTAAP เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกใน APEC2022 | APEC Insight Part 3

การประชุม APEC ทำไมต้องมี FTAAP หรือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก?
.

THE STATES TIMES ‘Y World’ ตอน APEC Insight ชวนมาไขข้อสงสัยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2 เหตุผลใหญ่ ทำไมการประชุม APEC ปี 2022 ที่ไทย คนทั่วทั้งโลกต้อง ‘ทบทวน-พิจารณา’

ปี 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก 

ทำไม? เราถึงสามารถกล่าวเช่นนี้ได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะอย่างน้อย 2 เหตุผลด้วยกัน...

>> เหตุผลส่วนแรก
APEC คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก และนี่คือกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

พิจารณาได้จากสัดส่วนของประชากรของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่มีสัดส่วนของคนจนสูงถึง 41.7% ของประชากรในปี 1990 โดยปัจจุบันตัวเลขนี้ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.8% ของประชากร APEC เท่านั้นที่ยังอยู่ในสถานะยากจน 

นอกจากนี้ APEC ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก

ยิ่งไปกว่านั้นตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากปี 1990 ถึง 2020 มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC เพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 67.9% นั่นแปลว่า 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือผู้ลงทุนรายสำคัญที่ต่างก็ลงทุนภายกลุ่ม APEC ด้วยกันเอง ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากการที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง APEC ที่เน้นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) อาทิ การลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี, การสร้างความร่วมมือเพื่อให้พิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น, ลดความซับซ้อนลง หรือ การอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ APEC ได้ทำให้ดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB Index) เฉลี่ยของทั้งกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11.3% 

รัฐบาล เฟ้นหา สุดยอดอาหารไทย เสิร์ฟขึ้นโต๊ะประชุมผู้นำเอเปก

(21 ต.ค. 65) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก กล่าวว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 29 หรือ เอเปก 2565 ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพให้ทั่วโลกได้เห็นว่าไทยมีความสามารถแข่งขันในเวทีโลก

โดย อาหารไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจและพัฒนาให้มีความเป็นสากลได้ ทั่วโลกยกย่องอาหารไทย สังเกตได้จากร้านอาหารไทยที่กระจายอยู่หลายประเทศ และเรามีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรอาหาร สิ่งนี้ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งหากเชฟชาวไทยได้มีโอกาส ได้พัฒนาทักษะ ก็จะเป็นหนทางในการสร้างรายได้ ต่อยอดทางธุรกิจการทำอาหาร ตนจึงได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำโครงการ Future Food for Sustainability ส่งเมนูอาหารอนาคต เทรนด์อาหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ผสมผสานกับความเป็นไทย เพื่อเตรียมนำไว้ให้คณะผู้นำเอเปก และชาวต่างชาติได้สัมผัส ในช่วงสัปดาห์การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top