2 เหตุผลใหญ่ ทำไมการประชุม APEC ปี 2022 ที่ไทย คนทั่วทั้งโลกต้อง ‘ทบทวน-พิจารณา’
ปี 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก
ทำไม? เราถึงสามารถกล่าวเช่นนี้ได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะอย่างน้อย 2 เหตุผลด้วยกัน...
>> เหตุผลส่วนแรก
APEC คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก และนี่คือกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
พิจารณาได้จากสัดส่วนของประชากรของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่มีสัดส่วนของคนจนสูงถึง 41.7% ของประชากรในปี 1990 โดยปัจจุบันตัวเลขนี้ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.8% ของประชากร APEC เท่านั้นที่ยังอยู่ในสถานะยากจน
นอกจากนี้ APEC ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก
ยิ่งไปกว่านั้นตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากปี 1990 ถึง 2020 มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC เพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 67.9% นั่นแปลว่า 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือผู้ลงทุนรายสำคัญที่ต่างก็ลงทุนภายกลุ่ม APEC ด้วยกันเอง ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากการที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง APEC ที่เน้นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) อาทิ การลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี, การสร้างความร่วมมือเพื่อให้พิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น, ลดความซับซ้อนลง หรือ การอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ APEC ได้ทำให้ดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB Index) เฉลี่ยของทั้งกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11.3%
>> เหตุผลส่วนที่สอง ที่ยิ่งขับให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญนี้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย ก็เนื่องจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา การประชุม APEC มักจะเกิดอุปสรรคขึ้นเสมอๆ เริ่มตั้งแต่ สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นประกาศสงครามการค้ากับ 15 ประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าด้วย โดยเฉพาะ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสงครามการค้าในครั้งนี้ที่เริ่มต้นในปี 2018 ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ควรจะต้องหารือกัน เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่สามารถบรรลุผลการประชุมร่วมกันและออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ในปี 2018 ที่ประเทศปาปัวนิวกีนีเป็นเจ้าภาพ ต่อเนื่องด้วยปี 2019 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองขึ้นในประเทศเจ้าภาพการประชุม นั่นคือ ประเทศชิลี ทำให้ในปี 2019 ไม่มีการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC
จากนั้นทั่วทั้งโลกก็เผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ในปี 2020 และ 2021 การประชุม APEC ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบพบหน้าในที่ประชุม หากแต่ต้องใช้ระบบการประชุมทางไกล ซึ่งถึงแม้จะสามารถบรรลุเป้าหมายสามารถออก วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และ แผนปฏิบัติการ เอาทีรัว ได้ หากแต่สิ่งที่ทั่วโลกจับตามมองมากกว่าการประชุมใน Plenary Session นั่นก็คือ Sideline meetings ที่ผู้นำจะได้พบปะกันเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษมากกว่าการประชุมหลัก รวมทั้งการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้นำกับผู้นำ ระหว่างผู้นำประเทศกับผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจ ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ 3 ปีแล้ว
ดังนั้นการประชุมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2022 และการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2022 จึงเป็นการประชุมแบบพบปะ ถกแถลง เสวนาแบบเจอตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทั่วทั้งโลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อฟื้นฟูห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติหลังการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางปัญหาวิกฤตการณ์อาหาร วิกฤตการณ์พลังงาน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และความพยายามของบางชาติที่ต้องการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธในการกดดันประหัตประหารบางเขตเศรษฐกิจ
สถานการณ์เหล่านี้ ทำให้โลกต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพก็ได้เตรียมความพร้อม จัดการวาระการประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเพียบพร้อมมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้า เพื่อให้การประชุมครั้งสำคัญนี้บรรลุผลดังที่ทุกคนต้องการ นั่นคือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบเพื่อให้เศรษฐกิจของทั้ง 21 เขต และของทั้งโลกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ดังนั้นผู้นำที่ไม่มาเข้าร่วม หรือมาเข้าร่วมแต่กลับมาสร้างความแตกแยก แทนที่จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเรือนหลายพันล้านคน จึงเป็นผู้นำที่คนทั่วทั้งโลกคงต้องทบทวนพิจารณา