Sunday, 28 April 2024
เอเปก

เอกชนสำคัญ!! รู้จัก ABAC ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค’ กลไกสำคัญขับเคลื่อน APEC

หลังจากการกำหนดเป้าหมาย ‘โบกอร์’ (Bogor Goals) ในปี 1994 ที่สมาชิก APEC ต้องการเดินหน้าไปสู่การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในระหว่างสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ต่อมาในปี 1995 กับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ณ ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำ APEC ก็ได้มีมติร่วมกันที่จะจัดตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก’ (APEC Business Advisory Council) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า ABAC (อ่านว่า เอ-แบค) เพื่อให้ภาคธุรกิจ, ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน เข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อเสนอแนะ ศึกษา ตลอดจนสร้างกลไกในการร่วมกันกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ

กลไกการทำงานของ ABAC ประกอบขึ้นจากตัวแทนของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 ท่าน ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคจำนวนทั้งสิ้น 63 ท่าน

โดยในกรณีของประเทศไทย ตัวแทน 3 ท่านจะมาจาก หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย 

ทั้งนี้ 63 ท่านจาก 21 เขตเศรษฐกิจ จะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง พร้อมทั้งมีการจัดงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในการประชุมสุดยอดผู้นำในแต่ละปี โดยในปี 2022 ‘คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล’ รับหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก เพื่อนำข้อเสนอไปหารือกับคณะผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ 

จากการเตรียมงานอย่างทุ่มเทของภาคเอกชนไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี 2022 ... ABAC ก็ได้มีการกำหนด theme ของการประชุมภาคเอกชนในปีนี้ไว้ว่า Embrace. Engage. Enable

- Embrace หมายถึงการกลับมาใกล้ชิดพร้อมหน้ากันอีกครั้งในการร่วมประชุม หลังจากที่ต้องไปประชุมทางไกลมาตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19
- Engage หมายถึง การลงมือทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง...
- เพื่อให้ Enable นั่นคือ สามารถผลักดันกลไก APEC ให้เดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง

ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องร่วมกันกับทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิก โดยแบ่งมิติการทำงานร่วมกันออกเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่ ‘การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว’ โดยทั้ง 5 คณะทำงาน และ 5 กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่...

1.) Regional Economic Integration: เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2.) Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน  

2 เหตุผลใหญ่ ทำไมการประชุม APEC ปี 2022 ที่ไทย คนทั่วทั้งโลกต้อง ‘ทบทวน-พิจารณา’

ปี 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก 

ทำไม? เราถึงสามารถกล่าวเช่นนี้ได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะอย่างน้อย 2 เหตุผลด้วยกัน...

>> เหตุผลส่วนแรก
APEC คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก และนี่คือกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

พิจารณาได้จากสัดส่วนของประชากรของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่มีสัดส่วนของคนจนสูงถึง 41.7% ของประชากรในปี 1990 โดยปัจจุบันตัวเลขนี้ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.8% ของประชากร APEC เท่านั้นที่ยังอยู่ในสถานะยากจน 

นอกจากนี้ APEC ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก

ยิ่งไปกว่านั้นตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากปี 1990 ถึง 2020 มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC เพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 67.9% นั่นแปลว่า 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือผู้ลงทุนรายสำคัญที่ต่างก็ลงทุนภายกลุ่ม APEC ด้วยกันเอง ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากการที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง APEC ที่เน้นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) อาทิ การลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี, การสร้างความร่วมมือเพื่อให้พิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น, ลดความซับซ้อนลง หรือ การอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ APEC ได้ทำให้ดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB Index) เฉลี่ยของทั้งกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11.3% 

เป้าหมายกรุงเทพฯ กลไกสำคัญ ยกระดับคุณภาพชีวิต 2 พันล้านคน ใน 21 เขตเศรษฐกิจ

จากการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ล้มเหลวในปี 2018 และ 2019 สู่การประชุมทางไกล ที่ผู้นำไม่มีโอกาสได้พบหน้าหารือ โอภาปราศรัย ทั้งระหว่างผู้นำและระหว่างผู้นำกับประชาคมนักธุรกิจของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ สู่การประชุมที่มีแรงกดดันสูงในปี 2022

ที่เกริ่นเช่นนี้เพราะ...ไม่ว่าใครจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี 2022 ก็ต้องประสบกับแรงกดดันของการเป็นเจ้าภาพของการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำจะได้มาเจอหน้ากันอีกครั้งทั้งนั้น ท่ามกลางภาวะวิกฤตทั้งจาก สงครามระหว่างรัสเซียกับพันธมิตร NATO ที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามในยูเครน, ความพยายามของชาติมหาอำนาจในการยกระดับจากสงครามเศรษฐกิจ

อีกทั้งยังมี สงครามการค้าแบบเดิม ที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้า ไปสู่การ Weaponized Economic Interdependency หรือการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ บริการการเงิน, การธนาคาร, การโอนย้ายเงินระหว่างประเทศ, ระบบโลจิสติกส์, ระบบประกันภัย ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือประหัตประหารซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจจนโลกเกิดทั้งวิกฤตอาหาร, วิกฤตพลังงาน และการดำเนินนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สร้างขึ้นด้วยตนเองในอดีต จนนำไปสู่การดูดสภาพคล่อง ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ที่ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากหลายเขตเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน 

ยิ่งไปกว่านั่น การที่บางประเทศเลือกที่จะนำเอาประเด็นทางด้านการเมือง (หรือแม้แต่เหตุผลส่วนตัวด้านครอบครัว) เข้ามาเป็นข้ออ้างในการที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้กับเจ้าภาพการประชุม APEC ได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเชื่อมั่นใจ ‘ประเทศไทย’ ในฐานะประเทศ และเจ้าภาพการประชุมได้ครับ เพราะไทยเรามีความแข็งแกร่งในด้านการมีน้ำใจที่ดีงาม เปิดกว้าง และรักการให้บริการ Thailand Hospitality ซึ่งเหล่านี้ เป็นหนึ่งในหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า ในฐานะประธานและเจ้าภาพ เราจะให้การต้อนรับผู้แทนในทุกระดับ และคณะทำงานทุกคนที่เข้ามาประชุมในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีที่สุด 

หากแต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ ‘สารัตถะ’ และการประสานงานของเจ้าภาพอย่างประเทศไทยต้องการผลักดัน ยังคงต้องเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความแตกแยก แม้จะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำจากทุกเขตเศรษฐกิจร่วมกันได้ก็ตาม แต่ประเทศไทยต้องประสานงาน ดำเนินการทั้งในทางปกติ และในทางลับ เพื่อให้ในที่สุด แม้จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็ตาม ประเทศไทยในฐานะประธานจะยังสามารถออกแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุม ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 21 เขตได้ และ สารัตถะสำคัญ นั้นคือ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ Bangkok

เป้าหมายกรุงเทพฯ คือ การต่อยอดจากโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ของประเทศไทยที่วางอยู่บนแนวคิดสำคัญคือ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ และความต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs 2030) ที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกันสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Economies) 

เปิดตัว 5 ผู้นำใหม่ใน APEC 2022 ครั้งแรกบนเวทีที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา

Highlight สำคัญของการประชุม APEC ในปี 2022 ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมตลอดทั้งปีของหลากหลายคณะทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมทั้งการประชุมของภาคเอกชนที่จะเสนอแนะข้อเสนอต่อผู้นำในรูปแบบของ Track 2 และการสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้วยกันเองระหว่างภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองการประชุม APEC ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง APEC Week เดือนพฤศจิกายน 2022 ในประเทศไทย นั่นก็คือ ‘การเปิดตัวผู้นำใหม่ของโลกหลายๆ คน ที่จะเดินทางมาประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เป็นครั้งแรก’ 

โดยท่าทีของผู้นำใหม่เหล่านี้ในเวทีการประชุมหลัก การประชุมย่อย และการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน จะเป็นอีกมิติที่ทั่วโลกจับตา โดยผู้นำใหม่เหล่านี้ได้แก่…

1. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแรงงาน และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของ อดีตนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ออสเตรเลียนำพาประเทศออกจากความร่วมมือ Quadrilateral Security Dialogue (QSD) หรือ The Quad ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ และเขายังต้องเข้ามาสะสางปัญหาความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่ไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Scott Morrison นำพาประเทศไปสู่การติดอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือ AUKUS นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมพันธ์กับความมั่นคง จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา


2. Gabriel Boric ประธานาธิบดีของประเทศชิลี ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นประธานาธิบดีจากกลุ่มแนวคิดซ้ายจัดรายแรกและรายใหม่ของประเทศ ภายหลังจากที่ประเทศชิลีมีอดีตประธานาธิบดี 2 ท่าน คือ Michelle Bachelet (ปนวคิดกลาง-ซ้าย) และ Sebastián Piñera (แนวคิดอนุรักษ์นิยม) ที่หมุนเวียนผลัดกันขึ้นมาผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2006-2022 จนนำไปสู่การประท้วงทางการเมืองที่ใหญ่โตรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2019-2022 เพื่อขับไล่ ปธน. Sebastián Piñera โดยคาดการณ์ว่าในการประท้วงต่อเนื่องนี้ มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมมากกว่า 3.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บเรือนหมื่น และถูกคุมขังกว่า 28,000 คน ชิลี คือตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี แบบปรับค่าเสมอภาคของค่าเงิน (Per Capita GDP (PPP)) ที่สูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง 

3. John Lee หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่ Carrie Lam เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 แน่นอนว่า เขาคือผู้นำสูงสุดของฮ่องกงที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่อง และเป็นผู้นำคนแรกภายหลังจากที่ฮ่องกงมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง รวมทั้งในการเลือกตั้งที่ชนะเลิศและได้รับการดำรงตำแหน่งจากคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีเครื่องหมายคำถามมากมาย เพราะเขาคือตัวเลือกเพียงตัวเลือกเดียว เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งว่าเป็นผู้รักชาติ ดังนั้นชะตากรรมของพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคือสิ่งที่ทุกคนจับตาดูจากการดำเนินนโยบายของเขา

4. Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งพึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ท่ามกลางเสียงครหาที่ว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2022 คือการเลือกตั้งเพื่อเลือกตัวแทนที่ย่ำแย่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนดั้งเดิมที่เป็นที่คาดหมายและวางตัวของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีในเวลานั้นต่างก็เผชิญหน้ากับวิบากต่างๆ จนไม่สามารถลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ยังทำให้มีเครื่องหมายคำถามเช่นกัน เนื่องจาก Yoon Suk-yeol เอาชนะ Lee Jae-myung ด้วยสัดส่วนคะแนนเพียง 0.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิกัน 77.1% รวมทั้งคำถามอีกมากมายที่คนเกาหลีถามถึงในมิติภาวะผู้นำ ทั้งที่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญที่คนเกาหลีห่วงกังวล

‘เพรียงทราย’ วัตถุดิบก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด รับผู้นำเอเปก โปรตีนทางเลือกคุณภาพสูงเทียบเท่าไข่ไก่

เมนูเด็ดประเทศไทยที่จะเตรียมเสริฟแก่ผู้นำ APEC นั่นก็คือ 'เพรียงทราย' ไส้เดือนทะเล วัตถุดิบเมนูก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด ต้อนรับผู้นำเอเปกโปรตีนคุณภาพสูงจาก 'ไส้เดือน'

จากที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก 2022 หรือ APEC 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ได้มีการเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้ธีม 'เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล' หรือ 'Open. Connect. Balance.' และยังจัดเตรียมอาหารไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเมนูอาหารอนาคตจากการประกวด จะนำมาเป็นเมนูในการประชุมเอเปก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพด้านซอฟต์พาวเวอร์ อาหารไทย ไปสู่สายตาชาวโลก

แต่ละเมนูมีความหลากหลาย จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เมนูเสริมสุขภาพ และเมนูใช้นวัตกรรมเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของวัตถุดิบที่มาจากในประเทศไทย รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย 8 เมนู 

1.) ข้าวถั่วลูกไก่ยำปักษ์ใต้ผัก 5 สี โปรตีนสูง 
2.) ราเมนจากเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ 
3.) ไอศกรีมปราศจากนม เพิ่มรสชาติด้วยผัดเคล และเสาวรส 
4.) ห่อหมกวีแกนเพื่อสุขภาพ 
5.) ขนมชั้นสูตรลดน้ำตาลเสริมใยอาหาร และโปรไบโอติกส์ 
6.) โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส 
7.) ก๋วยเตี๋ยวจากเพรียงทราย โซเดียมต่ำ ภูมิปัญญาชุมชน 
และ 8.) ไอติมจากโปรตีนจิ้งโกร่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top