เป้าหมายกรุงเทพฯ กลไกสำคัญ ยกระดับคุณภาพชีวิต 2 พันล้านคน ใน 21 เขตเศรษฐกิจ

จากการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ล้มเหลวในปี 2018 และ 2019 สู่การประชุมทางไกล ที่ผู้นำไม่มีโอกาสได้พบหน้าหารือ โอภาปราศรัย ทั้งระหว่างผู้นำและระหว่างผู้นำกับประชาคมนักธุรกิจของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ สู่การประชุมที่มีแรงกดดันสูงในปี 2022

ที่เกริ่นเช่นนี้เพราะ...ไม่ว่าใครจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี 2022 ก็ต้องประสบกับแรงกดดันของการเป็นเจ้าภาพของการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำจะได้มาเจอหน้ากันอีกครั้งทั้งนั้น ท่ามกลางภาวะวิกฤตทั้งจาก สงครามระหว่างรัสเซียกับพันธมิตร NATO ที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามในยูเครน, ความพยายามของชาติมหาอำนาจในการยกระดับจากสงครามเศรษฐกิจ

อีกทั้งยังมี สงครามการค้าแบบเดิม ที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้า ไปสู่การ Weaponized Economic Interdependency หรือการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ บริการการเงิน, การธนาคาร, การโอนย้ายเงินระหว่างประเทศ, ระบบโลจิสติกส์, ระบบประกันภัย ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือประหัตประหารซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจจนโลกเกิดทั้งวิกฤตอาหาร, วิกฤตพลังงาน และการดำเนินนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สร้างขึ้นด้วยตนเองในอดีต จนนำไปสู่การดูดสภาพคล่อง ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ที่ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากหลายเขตเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน 

ยิ่งไปกว่านั่น การที่บางประเทศเลือกที่จะนำเอาประเด็นทางด้านการเมือง (หรือแม้แต่เหตุผลส่วนตัวด้านครอบครัว) เข้ามาเป็นข้ออ้างในการที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้กับเจ้าภาพการประชุม APEC ได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเชื่อมั่นใจ ‘ประเทศไทย’ ในฐานะประเทศ และเจ้าภาพการประชุมได้ครับ เพราะไทยเรามีความแข็งแกร่งในด้านการมีน้ำใจที่ดีงาม เปิดกว้าง และรักการให้บริการ Thailand Hospitality ซึ่งเหล่านี้ เป็นหนึ่งในหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า ในฐานะประธานและเจ้าภาพ เราจะให้การต้อนรับผู้แทนในทุกระดับ และคณะทำงานทุกคนที่เข้ามาประชุมในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีที่สุด 

หากแต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ ‘สารัตถะ’ และการประสานงานของเจ้าภาพอย่างประเทศไทยต้องการผลักดัน ยังคงต้องเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความแตกแยก แม้จะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำจากทุกเขตเศรษฐกิจร่วมกันได้ก็ตาม แต่ประเทศไทยต้องประสานงาน ดำเนินการทั้งในทางปกติ และในทางลับ เพื่อให้ในที่สุด แม้จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็ตาม ประเทศไทยในฐานะประธานจะยังสามารถออกแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุม ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 21 เขตได้ และ สารัตถะสำคัญ นั้นคือ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ Bangkok

เป้าหมายกรุงเทพฯ คือ การต่อยอดจากโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ของประเทศไทยที่วางอยู่บนแนวคิดสำคัญคือ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ และความต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs 2030) ที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกันสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Economies) 

เป้าหมายกรุงทพฯ ต้องการให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายร่วมกันใน 4 มิติ ได้แก่...
1. ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade and Investment)
2. ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยั่งยืน
3. ร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
4. ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 4 นี้ ประเทศไทยเสนอให้ต้องมีการดำเนินการพร้อมกันใน 4 ด้าน...
1. สร้างกรอบการกำกับดูแลทางนโยบาย และบังคับใช้กฎเกณฑ์ในรูปแบบที่ทำได้จริง
2. ร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง
3. สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
4. ผลักดันให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับโลก

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ที่ประเทศไทยต้องการผลักดัน คือ กลไกสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกว่า 2 พันล้านคน ใน 21 เขตเศรษฐกิจ และต่อเนื่องถึงระดับโลก ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบที่สูงขึ้นของทุกภาคส่วน

เรื่อง: รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย