Saturday, 20 April 2024
เศรษฐกิจไทย

"บิ๊กตู่” ยินดี “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปี 65

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงว่า ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีกับผลการประเมินของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นภายในปี 65 โดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง และสภาพแวดล้อมจากทั่วโลกที่มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทไทยรายใหญ่ต่าง ๆ มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้นายกฯ ยอมรับว่า ตามผลการประเมิน ได้สะท้อนถึงมุมมองของภาคเอกชนในต่างประเทศที่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย โดยย้ำว่ารัฐบาลพร้อมจะต่อยอดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง สอดรับกับการเจรจากับต่างประเทศ และในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในเวทีโลก ควบคู่กับการพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมให้ทันต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต  

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลได้คำนึงถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่สาธารณสุขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการประกาศเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุดจนเห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว จนขยายเป็นโครงการอื่น ๆ และนายกรัฐมนตรียังได้ประกาศจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศในวันที่ 1 พ.ย.64 นี้  

'แบงก์ชาติ' ฟันธงเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด แต่คนว่างงานยังวิกฤต พุ่ง 3.4 ล้านคน

15 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 6/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2564 ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยประเมินว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 0.7% และในปี 2565 ที่ระดับ 3.9% จากการทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ขณะที่การส่งออกจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหา global supply disruption 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตาม 1.) แนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว 2.) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน 3.) ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป และ 4.) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า

“กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีนทั้งการนำเข้าและการกระจายตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดหากการระบาดกลับมารุนแรงขึ้น” 

คลัง เผย เศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่ 1% แม้รัฐลุยเปิดประเทศ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากเดิมประเมินว่าจะขยายตัว 1.3% เหลือ 1% หลังจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3 เจอผลกระทบจากไวรัวโควิด-19 ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการออกข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างเคร่งครัด 

สำหรับการปรับตัวเลขเศรษฐกิจลงครั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ คือ การเติบโตของประเทศคู่ค้า 15 ประเทศ เศรษฐกิจโลกเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัญหาโควิด-19 อัตราแลกเปลี่ยน ปี 2564 มีแนวโน้มอ่อนค่าลง 31.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ 65.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.2564 และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ  

'สุพัฒนพงษ์' หวังเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตพรวด 6%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาบูสอัพไทยแลนด์ 2022 เรื่องบูสอัพทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย ว่า เศราฐกิจไทยในปี 65 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5-6% หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าหากทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกันรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นภายในประเทศ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วก็เป็นไปได้ แต่อาจจะกลับไปไม่เหมือนเดิม เพราะจะกลายเป็นเศรษฐกิจในวิถีใหม่ ซึ่งจะมีความเข็มแข็งมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างระบบนิเวศน์ให้เอื้อกับการลงทุน และสร้างรายได้ใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งบางอย่างต้องใช้เวลา แต่เชื่อมั่นว่าจะเริ่มเห็นผลที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เรื่องของการลงทุนที่เกิดจากนโยบายในการกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่สำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งสนามบิน และท่าเรือ ซึ่งเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนจากตัวเลขการลงทุน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.64) พบว่า การขอส่งเสริมการลงทุนมีวงเงินสูงถึง 5.2 แสนล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนและคาดว่าทั้งปีจะถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

'โฆษกรัฐบาล' เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 65 ส่งสัญญาณดี เอกชนขานรับนโยบาย 'บิ๊กตู่' มั่นใจแรงหนุนจากมาตรการรัฐ  ขณะที่ ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 เติบโต 3.9% 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2565 เติบโตต่อเนื่อง จากการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตร้อยละ 3.9  เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตร้อยละ 1 ในปีนี้  สอดคล้องกับผลวิจัยกรุงศรีโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  รายงานแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2565 จะเติบโตที่ 3.6% จากที่ในปี 64 เติบโตอยู่ที่ 1.1% 

นายธนกร กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นภาคเอกชนสูงขึ้นในปีหน้าเป็นผลมาจาก แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปได้รวดเร็วและทั่วถึง และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับต่ำ

‘ม.เกษตร’ จัดงาน! “ชวน เช็ค ชิม ช็อป แชร์ผลิตภัณฑ์ดี นวัตกรรมเด่น” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลอย่างยั่งยืน!! พบกัน 21-22 ธันวาคม 2564 นี้

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์  อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เปิดเผยถึง การจัดงาน “ถ่ายทอดนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลอย่างยั่งยืน” ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือที่รู้จักกันในนามของ U2T 

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับผิดชอบ 17 Cluster ในพื้นที่ดำเนินการ 27 จังหวัด 140 ตำบล ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้นำผลิตภัณฑ์ดี นวัตกรรมเด่น ทั้งของอุปโภค บริโภค มาจัดแสดงและจัดจำหน่าย ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2564 จึงขอเชิญชวนประชาชนได้เข้ามาร่วม เช็กอิน ชมนวัตกรรม ชิม ช็อป และ แชร์ หรือบอกต่อผลิตภัณฑ์ของชุมชนในพื้นที่ U2T ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีคุณภาพ สามารถนำไปเป็นของใช้ และของฝากในช่วงเทศกาลได้  อีกทั้งผู้มาร่วมงานยังจะได้รับแจกกล้าไม้พันธุ์ดีที่ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมป่าไม้ด้วย

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ดำเนินโครงการ “ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” ทั้งส่วนการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาให้มีงานทำ และร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในพื้นที่ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยเน้นการพัฒนาชุมชนผ่านการดำเนินกิจกรรม 4 ด้านหลัก คือ 1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2. ด้านการท่องเที่ยว 3. ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และ 4. ด้านการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการจัดงาน"ถ่ายทอดนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลอย่างยั่งยืน"

 

 

 

EEC + SEC อนาคตไทยหลังโควิด!! | Click on Clear THE TOPIC EP.122

📌 พลาดไม่ได้!! ชวนคิดเศรษฐกิจไทย กับ ‘อ.ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์’ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

📌 ใน Topic : EEC + SEC อนาคตไทยหลังโควิด!!

ร่วมจับประเด็น เน้นความรู้ได้ในรายการ Click on Clear THE TOPIC

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

ผช.รมว.แรงงาน เปิดประชุมทวิภาคี ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม ช่วงระหว่างและหลังการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

วันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวต้อนรับพิธีเปิดการประชุมทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรมระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทยในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom โดยกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ขึ้นทะเบียนมีจำนวนกว่า 2.1 ล้านคน โดยแรงงานกัมพูชามีจำนวน 448,492 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการก่อสร้าง การเกษตร งานบริการต่าง ๆ การผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การค้าส่ง ค้าปลีก และแผงลอยในตลาด

ประเทศไทยและกัมพูชามีการลงนามใน MOU ฉบับแรก ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานในประเทศไทยเป็นปกติและปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมได้อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และขจัดการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติได้จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้พัฒนากฎหมายและข้อบังคับอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม โดยมีนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 กำหนดห้ามการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางานจากแรงงานข้ามชาติ และควบคุมให้กระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ตลอดจนเคารพสิทธิของแรงงาน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และจากการระบาดของโรคโควิด-19

ประเทศไทยจำเป็นต้องชะลอการนำแรงงานเข้ามาทำงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงแรงงานจึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายในประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการ รวมถึงมีการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้อยู่ต่อและทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตลอดจนผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันกับที่ใช้ช่วยเหลือแรงงานไทย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น การให้บริการฉีดวัคซีน การให้คำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเอง การบริจาคอาหารกรณีแรงงานภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการ

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณากำหนดแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตามระบบ MOU ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้นายจ้างและสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายอันจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ ทั้งนี้ นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินการ เช่น ค่ากักตัว ค่าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

 

ศอ.บต.ชี้!! จะนะ เป็นเมืองอุตสาหกรรม BCG - รองเจ้าคณะจังหวัด 18 ชี้!! ‘เมืองอุตสาหกรรมจะนะ’ จะทำให้เศรษฐกิจ จชต.รุ่งเรือง

จากกรณี เพจ "BRN" Barisan Revolusi National โพสต์ข้อความประเด็นที่มีการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 11 - 12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาโดยหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดคุย นั้นเป็นเรื่องของ การมีส่วนร่วมทางการเมือง อะไรคือการนิยามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของรัฐไทย เมื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่รัฐพยายามกีดกันผู้เห็นต่างทางการเมือง สร้างพยานหลักฐานในการจัดทำกระบวนการการมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อ.เทพา จากพื้นที่สีเขียวให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุน ฯลฯ

ล่าสุดฝ่ายบริหาร ศอ.บต. ได้แสดงความเห็นต่อท่าทีดังกล่าวว่าเรากำลังเข้ากับดักของเขา นั้นหมายถึง เขาไม่ให้ความเจริญเข้าถึงพื้นที่ ก็เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ก่อการได้เขียนเอาไว้ เกิดการพัฒนาพื้นที่จะทำให้คนมีอิสระความคิดมีการศึกษาและมีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้นซึ่งก็จะยากต่อการควบคุมจัดการของฝ่ายตรงข้ามทันทีโดยหลักการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ก็เป็นเช่นนี้กัน

อุตสาหกรรมที่จะเกิดรับรองว่าเป็น BCG และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเช่นเครื่องของการผลิตชิปผลิตรถยนต์ EV Car ซึ่งเป็นความต้องการตลาดปัจจุบันไม่มีมลพิษที่สำคัญไม่มีปิโตรเคมีแน่นอนแต่ฝ่ายค้านชอบเอาประเด็นนี้มันเล่นกันเสมอต้องทำให้เห็นภาพว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะเชื่อมโยงผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด เด็กในปัจจุบันก็จะมีทางเดินออกไม่ต้องเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศหรือนอกพื้นที่เช่นที่ผ่านมา

ทางด้าน พระสิริจริยาลังการ เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร รองเจ้าคณะภาค 18 กล่าวว่า อยากเห็นการพัฒนาเรื่องการค้าขายระหว่างไทยมาเลเซีย ทำให้เป็นจุดใหญ่ ๆ ที่พัก พระอาจารย์คิดแบบนี้อย่าง  เรื่องที่จะนะสมควรทำ แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ก็ต้องหาวิธีแก้ช่วยเขา เข้าไปแก้ให้เขา เขาได้รับผลกระทบเรื่องไหน เข้าไปช่วยเลยเป็นจุด ๆ ไป เพราะถ้าเราเอาจุดเดียวมาเป็นปัญหาใหญ่ มันไม่ได้ ต้องดูว่าจุดที่เขาเรียกร้องอยู่ผลกระทบจริง ๆ เรื่อง วิถีชีวิตกระทบยังไง เข้าไปจัดการให้เป็นพิเศษเลย ดูคนตรงนั้น จุดตรงนั้น วิถีชีวิตตรงนั้น ให้เป็นพิเศษว่าจะเอายังไงให้อยู่กับเมืองอุตสาหกรรมที่มันจะเอื้อต่อคนหมู่มาก และเอื้อต่อการค้าไทยมาเลเซีย และจะนะเป็นเมืองด่าน ถ้าทำได้พระอาจารย์รับรองว่ารุ่งเรืองแน่สามจังหวัดนี้ คือพอคนมีอาชีพ เรื่องอื่น ๆ ก็จะหายไป

คำว่าความสงบ การสูญเสียในชีวิต ยังไม่เห็นว่าจะจบได้อย่างไรเพราะกลุ่มที่ มีอุดมการณ์ ก็ยังมีอยู่ ยังเป็นกองกำลังที่ใช้อาวุธใช้ความรุนแรง กับสถานการณ์ ที่ใช้ความรุนแรงในการทำลายมันยังมีอยู่ยังไม่จบ ยังปราบไม่ได้ปราบด้วยวิธีไหนยังไม่หมด ยังไม่จบ  เพียงแต่ว่าทางเศรษฐกิจอาจจะดีขึ้น จังหวัดชายแดนภาคใต้มีชายแดนติดมาเลเซีย เห็นกำลังรัฐบาลพยายามที่จะจับเรื่องการค้าชายแดน ทำอะไรต่าง ๆ ที่มันจะเอื้อต่อการค้าการขาย พระอาจารย์ว่าถ้าทำสำเร็จ ตรงนี้ หรือทำให้เดินไปได้ ถ้าเศรษฐกิจดี ปัญหาตรงนี้ อาจหมดไปได้ การสร้างนิคมอุตสาหกรรม ต้องมีแล้วที่จะนะที่เขาคุยกัน แต่อาจต้องมีผลกระทบบ้าง

 

เศรษฐกิจไทยปี 65!! เหนื่อย…แต่ดีกว่าปี 64 จริงหรือ!? | Click on Clear THE TOPIC EP.132

📌 ฟ้าหลังฝน...!! มองเศรษฐกิจไทยปี 65 กับ ‘คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

📌 ใน Topic : เศรษฐกิจไทยปี 65!! เหนื่อย…แต่ดีกว่าปี 64 จริงหรือ!?

ร่วมจับประเด็น เน้นความรู้ได้ในรายการ Click on Clear THE TOPIC

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top