Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

“อนุทิน” เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20 ชูแนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” นำเสนอการใช้ภูมิปัญญาไทยดูแลสุขภาพ พร้อมกิจกรรมสาธิต นิทรรศการ จับคู่ธุรกิจ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาตรฐานกว่า 500 ร้านค้า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม นี้ ที่ ฮอลล์ 11-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดผู้เข้าร่วมงานกว่า 200,000 คน เงินสะพัดกว่า 400 ล้านบาท

วันนี้ (28 มิถุนายน 2566) ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะผู้บริหาร เปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” พร้อมมอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2566 แก่ พ่อหมอบุญมา มุงเพีย “หมอ 10 บาท รักษาทุกโรค” จากจังหวัดสกลนคร, นายประวิทย์ แก้วทอง เจ้าของแนวคิด “หมอไม่หวงวิชา สอนให้ใครก็ได้ลูกหลานใครก็ได้ที่สนใจ ถ้าไม่ให้วิชาก็จะตายไปกับตัว ถ้าให้เด็กก็จะได้สานต่อช่วยคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสน” จากจังหวัดสงขลา มอบรางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 5 รางวัล และรางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นชมรมผู้สูงอายุด้านการแพทย์แผนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 3 รางวัล

 นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการนำสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Health for Wealth) มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยเฉพาะสมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ โดยการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกร นำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ ซึ่งการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงและใช้บริการการแพทย์แผนไทยฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนเชื่อมั่น ใช้ยาสมุนไพรดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.48% เป็น 15% มีบริการที่เป็นเลิศ โดยเลือกใช้บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 4.58% เป็น 20% รวมถึงบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย ภายในปี 2570 

 ด้านนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายกว่า 230 องค์กร ร่วมกันจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 และได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก โดยในปีนี้มีทั้งกิจกรรมสาธิตและนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Thai Herbs & Medical Cannabis for Health and Wealth” นำเสนอ Innovation and Product, Wellness and Thainess Tourism รวมถึงภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพ การให้บริการและคำปรึกษาด้านสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ “สุขสำราญนิทราคลินิก” รักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับมิติใหม่ การรักษาแบบองค์รวมครบวงจร การบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction Model) และการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมอาทิ เกาหลี มาเลเซีย ศรีลังกา รัสเซีย ลาว และมีบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาตรฐานกว่า 500 ร้านค้า       
                                                        
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร ร่วมกับต่างประเทศ (International Medical Cannabis Conference 2023) และการประชุมกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (BIMSTEC) การประชุมวิชาการประจำปีภายในประเทศ การประกวดผลงานวิชาการประจำปี อบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมอาชีพและการดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนกว่า 200,000 คน และมีเงินสะพัดภายในงานกว่า 400 ล้านบาท


เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

‘เศรษฐา’ เตือน ศก.ไทยอยู่บนปากเหว ‘ส่งออกติดลบ-หนี้ครัวเรือนพุ่ง’ พร้อมแนะ!! ภาคธุรกิจ ‘รักษากระแสเงินสด’ และบริหารองค์กรให้ดีที่สุด

(9 ก.ค. 66)เศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย บรรยายเรื่อง “Thailand’s Tomorrow & What Needs to be Done!” ในงานสัมมนาของข่าวหุ้นธุรกิจ 

เศรษฐาได้ให้ความเห็นว่า ตอนนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ปากเหว เนื่องจากตัวเลขส่งออกติดลบ อีกทั้งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะลุกว่า 90% ของ GDP ทะยานแตะ 16 ล้านล้านบาท การลงทุนจากต่างประเทศก็ชะงัก เพราะไม่แน่ใจในทิศทางของรัฐบาลใหม่ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นต่างๆ 

ขณะเดียวกัน อีกสามเดือนจะเข้าช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ปัญหาต่างๆก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าของนักท่องเที่ยวจีน, โลจิสติกส์ภายในประเทศ, สายการบิน และเรื่องของการบริหารจัดการสนามบินภายในประเทศที่ยังคงเป็นปัญหา ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่จะต้องดูแลอย่างเร่งด่วน

และจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทำให้ตลาดทุนไม่เชื่อมั่นมองว่า ตลาดทุนเป็นตัวชี้นำอย่างหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกได้ถึง Sentiment ของนักลงทุน หากมีปัญหาในการโหวตนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า งบประมาณปี 2567 ไม่ได้ 

ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น การแข่งขันจบลง และภาคประชาชนได้ทำการเลือกแล้ว เขามองจึงอยากให้การโหวตนายกฯ เป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองไม่แตกแถว และยินดีสนับสนุนคุณพิธา เป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย

ส่วนของความคาดหวังภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังจากการจัดรัฐบาลสำเร็จ เศรษฐา ประเมินว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเรื่องดีๆอีกเยอะ เพียงแต่ว่าต้องการผู้นำที่เป็น ‘ผู้นำ’ จริงๆ ต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย และคำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นเชื่อว่าหากจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี และตลาดหุ้นก็จะไปในทิศทางที่ดีอย่างแน่นอน

เมื่อมีคำถามว่า วิกฤตการเงินตอนนี้กับวิกฤตเศรษฐกิจอะไรหนักหนากว่ากัน เศรษฐามองว่า วิกฤตเศรษฐกิจนั้นมีอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกำลังซื้อ แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไม่เหมือนกับเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือสมัยก่อนต้มยำกุ้งก็คงต่อสู้กันไปได้ แต่วิกฤตการเมืองของประเทศไทยตอนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจส่งผลต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ 

จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ แต่เรื่องของจัดตั้งประธานสภาฯ ที่แม้จะมีปัญหา หรือเรื่องตัวนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ แม้การเลือกตั้งจะจบลงไปแล้วกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ช้าเรื่องของการทำเรื่องงบประมาณปี 2567 ก็จะล่าช้าไปด้วย แต่หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคม งบประมาณปี 2567 จะถูกใช้ได้อย่างเร็วสุดคือ 15 มีนาคม 2567 

และทราบว่างบประมาณแผ่นดินของไทย หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีจึงนับเป็นปัญหาใหญ่ 

ดังนั้นในฐานะของคนทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ควรจะต้องมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ หากไม่ได้ ณ วันนั้นก็จะต้องทำให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด 

ในส่วนของเรื่องเศรษฐกิจแม้จะมีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหนี้ครัวเรือนที่สูงมากถึง 90% ปัญหาเรื่องการส่งออกที่ตกต่ำมาโดยตลอด และหลายๆ เรื่องน่าเป็นห่วง ก็อยากให้มองว่าแม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤต แต่ก็ยังคงมีโอกาส ซึ่งประเทศไทยมีดีในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางด้านอาหาร ก็เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสนใจ และจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ในปัจจุบันมีดีมานด์เพิ่มสูงขึ้น แต่เรื่องของวีซ่ายังคงเป็นปัญหา ซึ่งหลายๆ เรื่องต้องได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นเมื่อไปถึงช่วงไฮซีซั่นตอนเดือนตุลาคมก็จะเกิดปัญหาได้ 

ฉะนั้นหากทำทุกอย่างได้เร็วตามที่วางไว้ จากวิกฤตทั้งหมดก็อาจจะบริหารจัดการยากขึ้น และท้าทายมากขึ้น ฉะนั้น ‘ล็อกทางการเมือง’ ก็นับว่าทำให้เกิดการ ‘ติดล็อกทางเศรษฐกิจ’ ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ 

ขณะเดียวกันทางด้านนักลงทุนอยากให้ความชัดเจนของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีให้ถูกต้อง หากดูตัวเลขเสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็ไม่มีจุดใดที่ไม่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้หากเป็นนักลงทุนควรจะต้องรักษากระแสเงินสดให้ดี เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากกำลังซื้อเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตามองและที่สำคัญตอนนี้ทุกคนคอยรัฐบาลใหม่ อย่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศก็ยังคอยความชัดเจน และหนี้ครัวเรือนก็เป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับคีย์สำคัญที่จะทำให้เราได้รู้ว่าต่อไปเราจะตัดสินใจอย่างไรนั้นคือ ต้องดูเรื่องของการเมือง รักษากระแสเงินสด บริหารจัดการองค์กรของตนเองให้ดี เข้าใจลูกค้าตนเอง และพยายามเปิดตลาดใหม่ๆ เพราะปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล การเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ จึงจะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอะไรที่นักธุรกิจหลายคนค่อนข้างทราบพอสมควร

ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความที่คุณเศรษฐาได้มีการบริหารกิจการตัวเองก็มีการปรับตัวมาโดยตลอด ดังนั้นขอบเขตการรอถึงแค่จุดจุดหนึ่งเท่านั้น ทั้งสายป่านก็ดี เงินใช้จ่ายก็ดี เงินหมุนของภาคธุรกิจก็ดี สิ่งเหล่านี้ที่สุดความสามารถในการปรับตัวถึงได้แค่จุดจุดหนึ่งหรือไม่นั้น หากย้อนไปก่อนสมัยต้มยำกุ้งบริษัทเอกชนทั้งหลายที่ประสบปัญหามามีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับงบลงทุนค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหลายได้ถูกยกระดับขึ้นมาสูงมาก จึงนับว่าภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ฉะนั้นจะเห็นอะไรหลายๆอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราทุกคนเสมือนอยู่ในสงครามแต่กระนั้นท่ามกลางวิกฤต ย่อมมีโอกาส แต่ว่าโอกาสที่จากนี้ไปที่คนไทยทั้งประเทศควรจะได้ และในสายตาเวทีโลกจะกลับมาชื่นชมประเทศไทยได้ดีขึ้นกว่าเดิมเหมือนกับหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

เศรษฐา กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน หลายๆ เรื่องที่เราคาดไม่ถึงอย่างเช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลที่เรามีอยู่ เวลานักลงทุนเข้ามาลงทุนจะมีการย้ายถิ่นพำนักเข้ามาจากประชากรจะต้องมองตรงจุดนี้ด้วย อีกทั้งเรื่องของ Internet โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหลายเป็นต่อประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการกระแสเงินสดจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งหนี้เสียก็สูงขึ้นจากตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างมีนัย ดังนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะงบดุลของบริษัทเอกชนทั้งหลายแข็งแกร่งมาก 

รวมทั้งเขามองว่า 2-3 เดือนล็อกการเมืองต้องคลาย ดังนั้นหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ดี ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีตลาดทุนก็จะกลับมาคึกคัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจากการที่ได้ลงพื้นที่ไปพบว่าภัยแล้งก็ถือเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากลงไปถึงระดับฐานราก โดยพบว่าประเทศไทยพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเยอะมาก แม้จะเป็นเพียงแค่ 10% ของ GDP ก็ตาม แต่กลับมีคนที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมสูงถึง 40 ล้านคน 

และหากจะถามว่ามีแสงสว่างอะไรไหมภายใต้ความมืดมนนี้ ก็จะมี 11 ขุนพล ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของแต่ละสาขา แต่ประเทศไทยมีข้อดีจำนวนมาก และมีโอกาส ดังนั้นเราต้องการรัฐบาลที่แข็งแกร่ง และการจัดตั้งรัฐบาลที่เร็วที่สุด เพราะหลายๆ เรื่องไม่สามารถผลักดันได้หากไม่มีรัฐบาล อย่างเช่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะไม่มาแน่นอนหากไม่มีรัฐบาลใหม่ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในขณะนี้ 

ดังนั้นภายใต้วิกฤตที่มี ‘โอกาส’ ก็มี นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องกลับมาดูตัวเอง ในบ้านตัวเองทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทขนาดใหญ่ ต้องกลับมาดูกระแสเงินสดเป็นส่วนสำคัญ รวมทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร การหาตลาดใหม่ๆ ก็สำคัญ เพราะด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้ดีมานด์ต่างๆ หดหายไป ดังนั้นถ้าเราสามารถไปเปิดตลาดใหม่ๆ ได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี และธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทยอย่างธุรกิจความมั่นคงทางด้านอาหาร หรืออาหารแห่งอนาคตเป็นเรื่องที่เราสามารถ Build on จากภาคเกษตรกรรมของเราได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดีเป็นอันดับแรก

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว

เมื่อรัฐบาลรักษาการ ไม่ใช่จะทำได้ทุกเรื่อง  ปล่อยนาน ‘ศก.ฟุบ-ลงทุนหด-ประเทศชาติพัง’

มีบางคนเสนอว่า ให้รออีก 10 เดือน เพื่อให้ 250 สว.หมดวาระ และหมดสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเสนอเช่นนั้น ผมตั้งสมมติฐานว่า เป็นการเสนอเป็นทางออกให้กับพรรคก้าวไกล ในการเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบใหม่เมื่อไม่มี สว.คอยขัดขวางแล้ว

แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อให้เป็นทางออกของการเมือง ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เวลานี้การเมืองยังมีไพ่ให้เล่นอีกหลายใบ บางพรรคอาจจะอมสเปโตอยู่ แต่ตีบทใจแข็ง ‘ก็ไม่ถอย’ ระวังเพื่อน ‘น็อคมืด’ ตัวเองติดสเปโตด้วย

แต่บางพรรคอาจจะไม่มีไพ่ดีในมือ แค่ส่งเสียงขู่ คำราม ตีไพ่เสียงดัง หรือตีไพ่ให้เพื่อนกิน เผื่อตัวเอง ‘น็อคมืด’

พรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ควรเร่งรีบเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็แล้วแต่ เพราะยิ่งช้าประชาชนจะยิ่งเสียโอกาส

รัฐบาลรักษาการไม่ใช่ทำได้ทุกเรื่อง บางอย่างมีข้อจำกัดอยู่ ปล่อยให้มีรัฐบาลรักษาการไปนานๆ ประเทศชาติจะเสียหาย กระทบกับเศรษฐกิจ การลงทุน

สิ่งที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย คือ ต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ภาคเอกชนเป็นตัวเสริม

อีกสองเดือนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็จะจบลงแล้ว และ 1 ตุลาคม ต้องเริ่มต้นปีงบประมาณให้ 2567 แต่จนถึงขณะพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา 100% ไม่อาจพิจารณาให้ทันใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นแน่แท้

กระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปี ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน จึงเชื่อได้ว่า วงเงินงบประมาณใหม่ปี 2567 น่าจะใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับการเมืองว่าจะจบ หรือเข้ารูปเข้ารอยเมื่อไหร่ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางกรอบและจัดทำร่างไว้เสร็จแล้ว รอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเท่านั้นเอง

เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ จึงต้องใช้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2566 ไปก่อนได้ สำหรับใช้เป็นงบบริหาร เช่น เงินเดือนข้าราชการ แต่จะใช้งบลงทุนใหม่ไม่ได้ ตรงงบลงทุนที่ทำอะไรไม่ได้นี้แหละจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมกระทบต่อประชาชนด้วย การจ้างงานก็อาจจะมีปัญหา

รัฐบาลหน้าจึงมีเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 เพื่อการลงทุนภาครัฐเพียงประมาณ 8 เดือนเท่านั้นเอง

ปัญหาที่เห็นอยู่ข้างหน้า...

1. การจัดทำ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปอีก 
2. นักลงทุนต่างชาติเข้าสูโหมด Wait&See รอนโยบายจากรัฐบาลใหม่
3. ภาคเอกชนในประเทศรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่เช่นกัน
4. ประเทศขาดรัฐบาลมาวางนโยบาย ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ
5. GDP ปีหน้าน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่เรียกว่า ‘แย่’ ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

ฉะนั้นการเสนอให้รออีก 10 เดือนจะยิ่งไปกันใหญ่ พรรคการเมืองก็ไม่ควรคิดในกรอบนี้ อันเป็นข้อเสนอที่หาทางออกให้พรรคการเมืองบางพรรค ไม่ใช่หาทางออกให้ประเทศ ประเทศชาติยังมีทางออก ถ้าพรรคการเมืองบางพรรคผ่อนคลายเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลลงมาบ้าง ไม่ใช่ตึงจนขาด

รัฐบาลผสมไม่มีพรรคไหน หรือใครได้ไป 100% เพราะรัฐบาลผสมก็ต้องมาจากนโยบายของหลายพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องของการเจรจา ต่อรอง บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน อย่ารักชาติ รักประชาชนแค่ลมปากบนเวทีปราศรัยต่อหน้ามวลชน หรือให้สัมภาษณ์สื่อ ต่างกอดรัดฟัดประชาชนไว้ด้วยความรัก

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ถูกส่งให้ไปเป็นฝ่ายอนุรักษ์ก็ตาม ควรจะใช้ทันสมองที่มีอยู่คิดร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ อันไหนยอมได้ก็ต้องยอม ผ่อนได้ก็ต้องผ่อน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

เวลานี้พรรคหนึ่ง อย่างก้าวไกลก็ไม่ยอมเรื่องแก้ ม.112 อ้างว่าเป็นเรื่องที่รับปากไว้กับประชาชน ยังยืนยันเดินหน้าด้วยกลไกของสภา แม้ไม่มีอยู่ใน MOU ก็ตาม กลัวว่าจะเสียสัจจะ จนทำให้แพ้โหวตในสภามาแล้ว เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ยกมือสนับสนุน

อีกขั้วหนึ่ง 4-5 พรรค ทั้งพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ต่างเสียงแข็งไม่เอาก้าวไกล ไม่อาจทำงานร่วมกันได้ ไม่ร่วมงานกับพรรคที่แก้ ม.112

การเมืองจึงมาติดกับดักอยู่ตรงนี้ เดินหน้าไปยาก แต่ถ้าพรรคการเมืองผ่อนหนักผ่อนเบา อันไหนยอมได้ก็ยอม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แล้วไปหาเหตุผลอธิบายกับประชาชน อธิบายกับมวลชนของพรรค เวลานี้แต่ละพรรคผวากับ ‘ผิดสัจจะ’ หรือ ‘ตระบัดสัตย์’ จนขยับตัวไปไหนไม่ได้ กลัวเลือกตั้งสมัยหน้าจะสูญพันธุ์บ้าง

การเมืองอธิบายได้หมด ขอให้เป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน แต่อาจจะไม่ถูกใจคนทั้ง 100 เท่านั้นเอง

ไม่อยากเห็นวงจรอุบาทว์เข้ามาอาศัยจังหวะเบียดแทรกเข้ามาในสถานการณ์ที่การเมืองยังไม่ลงตัว

สุดทันสมัย!! ‘รถไฟไทยทำ’ ผลสำเร็จโครงการพัฒนารถไฟต้นแบบ พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง ดันเศรษฐกิจโตก้าวกระโดด

(29 ก.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่เดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อยกระดับเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมุ่งมั่นผลักดันนโยบาย ‘Thai First’ ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

“โครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยสำนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีรายงานความคืบหน้าล่าสุดสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้เป็นครั้งแรก คิดเป็น 44.1% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมีมูลค่า local content ถึง 76%” น.ส. ทิพานัน กล่าว

ทั้งนี้ ตัวรถออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง มีที่นั่งจำนวน 25 ที่นั่ง ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบ เนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ

นอกจากนี้ ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน ขณะนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริง สำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้

“พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ผลักดันให้โครงการสำเร็จ ถือเป็นภาคภูมิใจในองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติใด ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นผู้นำที่พลิกโฉมยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในทุกมิติ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

‘BOI’ เผย ‘จีน’ นักลงทุนหลักในประเทศไทย ครึ่งแรกปี 66 ลงทุนแล้วกว่า 6.15 หมื่น ลบ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เว็บไซต์ไชน่านิวส์ (Chinanews.com) รายงานโดยอ้างอิงรายงานที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยไม่นานนี้ ว่าจีนได้กลายเป็นแหล่งการลงทุนหลักสำหรับไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

รายงานระบุว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ไทยดึงดูดโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 507 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการจากจีน 132 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 6.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

การลงทุนส่วนใหญ่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตยางล้อและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเหล็ก อสังหาริมทรัพย์ การจัดหาและการจัดจำหน่ายพลังงาน

รายงานระบุว่าสืบเนื่องจากการลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของไทยจึงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจากจีนได้ยื่นคำขอการลงทุนมากกว่า 900 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5.26 แสนล้านบาท

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน 

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ 

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

'ไทย' หวัง!! รัฐบาลใหม่ ฟื้น FTA 'ไทย-อียู' อีกฟันเฟืองกอบกู้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น รัฐบาลใหม่ กับการฟื้นสัมพันธ์ FTA ไทย-อียู เมื่อวันที่ 17 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหภาพยุโรป (European Community) เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งในด้านความกว้างและความลึก กล่าวคือ มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ GDP รวมกันเป็นประมาณ 15 % และคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในเชิงลึก ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยอมสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน โดยใช้เงินสกุลเดียว คือ ยูโร และมี European Central Bank เป็นธนาคารกลาง

แม้ว่าจะเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในทางปฏิบัติได้ก่อเกิดวิกฤตและผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย...วิกฤตหนี้ยูโร เช่นปี 2015 และ Brexit ในปี 2016 ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ติดตามเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของยุโรปอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เมื่อจีนเปิดเสรีและประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจของยุโรปกลับถูกทิ้งห่างในอุตสาหกรรมใหม่ แม้จะยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเก่าบางสาขา

เดิมทีไทยกับยุโรปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมายาวนาน ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐฯ) ยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ในไทย (รองจากญี่ปุ่นและจีน) แต่ไทยยังไม่สามารถทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ โดยการเจรจา EU-Thailand FTA ซึ่งเริ่มต้นกว่า 10 ปีมาแล้ว ถูก EU สั่งระงับไปเนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ขณะที่ เวียดนามได้บรรลุความตกลง FTA กับ EU สำเร็จแล้ว เมื่อ 2020  ทำให้อุตสาหกรรมเวียดนามสามารถส่งออกไปยัง EU แบบปลอดภาษี และได้เปรียบในเชิงการแข่งขันเหนืออุตสาหกรรมไทย

ถึงกระนั้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยและ EU กำลังเริ่มกลับมานั่งโต๊ะเจรจา FTA ใหม่ น่าจะถือเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของรัฐบาลใหม่ที่จะผลักดันให้ FTA กับ EU เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฝากบัญญัติ 10 ประการ รัฐบาลใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย โตก้าวกระโดดครึ่งปีหลัง

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า... 

ประเทศไทยปีนี้น่าจะไปได้สวย เมื่อต้นปีเราเชื่อมั่นว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวและเอื้ออำนวยต่อการเติบโตต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปเมื่อเศรษฐกิจจีนใน Q2 เริ่มมีอัตราเติบโตลดน้อยลง ทำให้หลายคนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวผิดหวังไปตามๆ กัน  แต่ผมยังเชื่อว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่ จากเงินเฟ้อที่แม้จะมีอัตราสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน รวมถึงแรงกดดันที่ส่งผลให้ธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นมีลดน้อยลง 

ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ก็จะมีทั้งดีและไม่ดี อย่างในช่วง Q1 ไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่พอมาใน Q2 นักท่องเที่ยวเริ่มซาลง แต่เมื่อสรุปโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก 12 ล้านคน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็กลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบทุกเดือน จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เราเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี น่าจะโตได้ 3%  โดยครึ่งแรกปีคาดเติบโตประมาณ 2.2 % เมื่อเทียบเคียงกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งหมายความว่าช่วงครึ่งหลัง เศรษฐกิจไทยควรเติบโตมากกว่า 4% ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ายังเป็นไปได้ 

สำหรับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ อ.พงษ์ภาณุ ได้ฝากบัญญัติ 10 ประการ ที่อยากให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนไว้ดังนี้…

1.การใช้นโยบายการคลังที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (Fiscal Stimulus) 
2.ธนาคารแห่งประเทศควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ย 
3.เตรียมแผนรับมือเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ 
4.ให้ความสำคัญกับความถดถอยของภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคส่วนอื่นๆ 
5.ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน 
6.การปฏิรูปการคลังและภาษี 
7.ให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน 
8.ยกระดับการลงทุนของประเทศ 
9.การใช้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 
และ 10.ผลักดันการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top