Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

'พาณิชย์' เผย ต่างชาติลงทุนไทย 10 เดือนแรกปี 65 ทะยานแตะ 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72%

พาณิชย์เผย 10 เดือน ปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72% หรือ 44,469 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และสิงคโปร์ จ้างงานคนไทยรวม 4,635 คน

เมื่อไม่นานมานี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 480 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 299 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,635 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

- ญี่ปุ่น 125 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 75 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 64 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท
- ฮ่องกง 35 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท
- จีน 22 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 อนุญาต 480 ราย ปี 2564 อนุญาต 446 ราย)

เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 (ปี 2565 ลงทุน 106,437 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 61,968 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 352 คน คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 จ้างงาน 4,635 คน ปี 2564 จ้างงาน 4,283 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

>> EEC ลงทุนแล้ว 94 ราย จาก 3 ประเทศ

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด

ในจำนวนดังกล่าว เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 24,326 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 7 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

คาดว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค. 2565) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

รัฐบาล ปลื้ม 11 เดือน ต่างชาติลงทุนในไทยพุ่ง 74% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว สร้างงานกว่า 5 พันตำแหน่ง

โฆษกรัฐบาล โว ต่างชาติเชื่อมั่นลงทุนไทย เพิ่มขึ้นถึง 74% รัฐบาล เร่ง สร้างงานสร้างรายได้ เศรษฐกิจฟื้นตัว

เมื่อวันนี้ (22 ธ.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีเรื่องน่ายินดี ตัวเลขการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตลอด 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม - พฤศจิกายน) มูลค่ารวมกว่า 112,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ถึงร้อยละ 74 เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ขานรับและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างแข็งขัน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกต่อเนื่อง ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนชาวต่างชาติ และสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนไทย

นายอนุชา กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

1) ญี่ปุ่น 137 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท 
2) สิงคโปร์ 85 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท 
และ 3) สหรัฐอเมริกา 70 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท

‘โครงสร้างพื้นฐาน - เขต EEC’ จุดเปลี่ยนประเทศ ดูดนักลงทุนต่างชาติทุ่มเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท

ต้องบอกว่า ปีนี้ประเทศไทยเนื้อหอมมากจริง ๆ เนื่องจากนักลงทุนหลาย ๆ เจ้ากำลังทยอยเข้ามาปักหลักปักธงทำธุรกิจในไทย ไม่ว่าจะเป็น BYD ที่ได้ลงหลักในเขต EEC ไปแล้ว ที่จะตามมาคือ MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) หรือข่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศซาอุดีอาระเบียที่ก็เล็ง ๆ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเช่นกัน ขอบอกเลยว่าไทยมีเสน่ห์สุด ๆ แถมยังสามารถดูดเงินลงทุนได้มาถึงแสนล้านบาทเลย

แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ นักลงทุนทั้งต่างชาติและจีน ที่เคยลงทุนในจีนนั้นกำลังเตรียมแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปลงทุนในประเทศอื่นแทน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้จีนได้รับฉายาว่า ‘โรงงานของโลก’ เชียวนะ

สำหรับเรื่องนี้ ช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ของคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยสามารถสรุปใจความได้ว่า…

ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองหาฐานการผลิตนอกประเทศจีน ได้แก่

1. สงครามการค้า หรือ Trade War ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงทำให้การลงทุนในจีนแล้วส่งออกไปยังสหรัฐฯ นั่นมีอุปสรรคในด้านกำแพงภาษี รวมถึงสหรัฐฯ มีนโยบายกีดกันทางด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในประเทศจีน จึงเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่ปลอดภัยหากยังลงทุนในจีนต่อไป ไม่เพียงแต่นักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่นักลงทุนจีนก็มองหาทางหนีทีไล่ไว้เช่นกัน

2. ราคาค่าแรง จากเดิมค่าแรงในจีนถูก จึงเป็ดจุดเด่นดึงดูดนักลงทุน แต่มีเศรษฐกิจขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้มากขึ้น ค่าแรงก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

3. นโยบาย Zero Covid-19 ที่เข้มงวด

4. นโยบายควบคุมด้านเศรษฐกิจ ที่มีวลีเท่ๆ ว่า ‘มั่งคั่งทั่วกัน’ ทว่านโยบายเหล่านี้ไม่ส่งเสริมด้านการลงทุน จึงทำให้บริษัทต่อชาติที่อยู่ในจีนทยอยปิด และออกมาลงทุนนอกประเทศจีน เช่น Apple ที่ก่อนหน้ามีฐานการผลิตที่จีน แต่ก็ย้ายฐานไปที่เวียดนามและอินเดียแทน รวมถึงบริษัทสัญชาติจีนก็ย้ายออกเช่นกัน

'ทิพานัน' ชี้ ดัชนีเชื่อมั่น SME เดือน พ.ย. พุ่ง 53.8 สูงสุดในรอบ 11 เดือน สะท้อนธุรกิจเริ่มฟื้นตัว

(24 ธ.ค. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จากผลกระทบวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ การลดภาระค่าธรรมค้ำประกันของผู้ประกอบการ SMEs และโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อประคับประคองธุรกิจและพยุงการจ้างงานของประเทศ ส่งผลให้ล่าสุด สสว. รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME หรือ SMESI อยู่ที่ระดับ 53.8 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 เดือน และสูงสุดในรอบ 11 เดือนซึ่งมีปัจจัยมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และภาคการค้าที่ชัดเจนจนเกือบเป็นปกติ 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ส่วนในรายภาคธุรกิจ พบว่าภาคการบริการมีค่าดัชนี SMESI สูงสุดอยู่ที่ 55.3 จากการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว และที่น่าสนใจคือ ภาคการเกษตร มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3.2 มาอยู่ที่ 53.4 จากการขายได้ราคาที่ดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ 

ส่วนภาคการค้าขยายตัวทั้งการค้าปลีกและค้าส่งโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ที่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว และยังทำให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นจากกำลังซื้อและต้นทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย 

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ชี้!! เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เตือน!! “ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่ๆ”

(27 ธ.ค. 65) ดูเหมือนว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงดูตึงเครียดหนัก หลังจากที่ IMF ออกมาเตือนว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึงเลย พร้อมหั่นการคาดการณ์ GDP ในปีหน้าจนเหี้ยน ทำให้ต้องเริ่มกังวลแล้วว่า เศรษฐกิจโลกจะไปในทิศทางไหน แล้วสำหรับประเทศไทยจะเอาอย่างไร? จะไปต่อได้ไหวหรือไม่? จะแข็งแกร่งแค่ไหนกัน?

จากช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า… 

IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2023 โดยระบุว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึง และมากกว่า 1 ใน 3 ขอเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่สภาวะ Recession พร้อมจะพบเห็น GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติด ๆ ขณะที่ GDP ของประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน จะยังคงชะลอตัวต่อไป

โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ในปี 2023 มีอยู่ 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่... 

1. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไปไม่มีวี่แว่วว่าจะหยุด 
2. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพยังคงสูงขึ้น 
3. เศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงชะลอตัวอยู่

ทั้ง 3 สาเหตุนี้เป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจทั่วโลกต่างเกิดการผันผวนในปี 2023 และปัญหาเงินเฟ้อในปีหน้าก็ยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีหน้ายังคงสูงกว่า 6.5% ซึ่งหากมองคร่าว ๆ ก็ยังคงสูงอยู่ แต่ก็อาจะค่อย ๆ ชะลอตัวลงลดเหลือ 4.1% ในปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จุดนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะยังคงเป็นแรงกดดันมหาศาลของทั้งโลกอยู่

คุณคิม ยังกล่าวอีกว่า ในฟากของฝั่งไทยนั้น การที่ IMF ออกมาหั่นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ให้เหลือการขยายตัวเพียงแค่ 3.6% นั้น (จะบอกว่า ‘เพียงแค่’ ก็ไม่ถูกนัก เพราะก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ถึง 4%) จะพิจารณาได้จากปัจจัยหลักสำคัญอย่างเศรษฐกิจของจีน, ยุโรป หรือสหรัฐอมริกา ที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจ ไม่ค่อยจะฟื้นตัว บ้างชะลอตัว บ้างถึงขั้นถดถอยด้วย ซึ่งทำให้การบริโภคเริ่มลดลง บวกกับไทยเราเป็นประเทศผู่ส่งออก จึงได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตามในฝั่งของ ‘ปัจจัยบวก’ ก็มีด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีเกินคาด ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในประเทศและส่งผลให้ลดดุลทางการค้าได้นั่นเอง และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินบาทของไทยค่อนข้างแข็งขึ้นมาในช่วงนี้ (อยู่ที่ประมาณ 34.84 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฯ)

ทั้งนี้เชื่อได้ว่า หลายคนน่าจะมีคำถามที่แสดงถึงความกังวลว่า การที่ GDP เติบโตประมาณ 3.6% นั้นเป็นผลดีหรือไม่อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาบอกว่า จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยค่อนข้างทนทานและเข้มแข็งอย่างมาก แม้จะมีการปรับลด GDP ลงไป แต่เหตุผลมันก็มาจากปัจจัยภายนอก (ต่างชาติปรับเพิ่มดอกเบี้ย) แต่ในตัวเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งอยู่

‘เพื่อไทย’ ยก 5 ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย เตือนรัฐบาลหาทางรับมือก่อนเศรษฐกิจย่ำแย่

(3 ม.ค. 66) จุฑาพร เกตุราทร โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และ ผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ว่าพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้ก่อนแล้วว่าเป็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ดี และแนวโน้มจะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะไม่สดใส ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทีมเศรษฐกิจจึงขอเตือน 5 ปัจจัยเสี่ยงดังนี้ 

1. ปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน หนี้จากธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบให้มีหนี้เสียในระบบธนาคาร และหนี้นอกระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเหมือนระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับเรื่องหนี้เหล่านี้ได้ 

2. ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพื่อหยุดเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั้งโลก ทั้งเศรษฐกิจของ สหรัฐ ยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น ก็จะไม่ดี ซึ่งจะทำให้การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนของไทยลดลงได้ 

3. ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ไทยอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม และจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน

'บิ๊กตู่' ชู เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งต่อเนื่อง หลัง 'จีดีพี-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย' ตัวเลขสวย

(20 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเปรียบเทียบ 4 เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นเครื่องยืนยันไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการ ติดตามและประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และกำชับทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้าตามนโยบายทางเศรษฐกิจที่ได้กำหนดไว้ ส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้ประกอบการ ส่งเสริม กระตุ้นทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาประเทศ

นายอนุชา กล่าวว่า การเปรียบเทียบเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญตัวแรก ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ซึ่งพบว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ไทยมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อยู่ที่ 4.5 %YoY และสูงกว่ากลุ่มประเทศ Big-4 สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 1.9 %YoY 2.3 %YoY 1.5 %YoY และ 3.9 %YoY เรียงตามลำดับ 

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยก็ต่ำกว่าสหรัฐฯ ยูโรโซน และค่าเฉลี่ยของ ASEAN-5 (สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) โดยในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 และธันวาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.9

‘กรณ์’ เสนอ รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ชู ‘เศรษฐกิจเฉดสี’ เพิ่มโอกาส-สร้างรายได้ 5 ล้านล้านบาท

(9 ก.พ. 66) ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวในเวทีสัมมนา ‘อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทยสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก’ ว่า ก่อนจะไปสู่คำถามว่าเราจะสตาร์ตอย่างไรให้ก้าวนำโลก ตนขอเพิ่มคำถามว่าเราจะสตาร์ตอย่างไร ในขณะที่มีคนไทย ถือบัตรสวัสดิการคนจนถึง 14 ล้านคน เรามีคนติดแบล็กลิสต์บูโรถึง 6 ล้านชีวิต เรามีเอสเอ็มอีที่ไม่รู้จะไปต่อได้หรือไม่อีกเป็นจำนวนมาก คำตอบของปัญหาเหล่านี้คือ เราต้องรื้อโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง ไทยเราจะเดินไปข้างหน้าพร้อมกันทุกคน 

นายกรณ์ ได้ยกตัวอย่าง สินค้าส่งออกยอดฮิตถือเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของประเทศไทย คือรถยนต์ปิ๊กอัพ ที่มีการส่งออกเกือบ 1 ล้านคันต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจะยกเลิกการใช้รถยนต์สันดาปแบบเดิมมาเป็นรถยนต์ EV ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับรื้อ ซึ่งเขาไม่จำเป็นที่ต้องเริ่มจากศูนย์เขามีองค์ความรู้ และ supply chain ที่ถูกต้อง ประเทศไทยมีของดีเป็นจำนวนมากที่เป็นโอกาสของคนไทย ถึงเวลาที่ต้องรื้อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้ง อุตสาหกรรมพลังงาน, อุตสาหกรรมการเงิน, อุตสาหกรรมการเกษตร และที่สำคัญ รื้อระบบราชการ ซึ่งพรรคชาติพัฒนากล้า ได้นำเสนอมาตลอด

นักลงทุนต่างชาติ แห่ตั้งฐานการผลิตใน ‘ไทย’ ด้าน J.P.Morgan ชี้!! ‘ไทย’ น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน

ดูเหมือนว่าภูมิภาคเอเชียจะเป็นที่จับจ้องสนใจของนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก นักลงทุนหลายๆ เจ้าอยากจะย้ายฐานการผลิตมาตั้งในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ที่ดึงดูดนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงที่ถูกว่ายุโรป-สหรัฐฯ จำนวนแรงงานที่มีมากกว่า และที่สำคัญ ไม่มีเรื่องสงครามการค้าในปวดหัวด้วย

และประเทศที่เนื้อหอมเป็นที่ถูกตาต้องใจนักลงทุน ก็คือ ‘ประเทศไทย’ บ้านเรานั่นเอง โดยล่าสุดทาง J.P.Morgan ธนาคารระดับโลก ได้ออกมาบอกว่า ‘ประเทศไทย’ เป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในอาเซียนด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ช่องยูทูบ ‘Kim Property Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ว่า…

การวิจัยของทาง McKinsey ได้ออกมาบอกว่า Asia’s Future is now หรือว่า ‘อนาคตของเอเชียอยู่ตรงนี้แล้ว’ โดยประเมินว่าในปี 2040 เอเชียจะกินสัดส่วน GDP ของโลกอยู่ที่ราว ๆ 50% เลยทีเดียว และจะเป็นคนขับเคลื่อนการบริโภคของโลกมากถึง 40% ทั้งนี้เอเชียจะเป็นศูนย์กลางของโลกแห่งใหม่ในอนาคต และถ้าหากมองไปถึงด้านองค์กร/บริษัทของเอเชียจะพบว่าสร้างรายได้กว่า 19 ล้านล้านเหรียญฯ ให้กับเศรษฐกิจของโลกในทุก ๆ ปี

บริษัทเล็กใหญ่ของเอเชีย เช่น Alibaba หรือ Toyota ก็มีพวกเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ต่างจากประเทศโซนยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา และในเอเชียก็มีการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงออกมาใช้แล้วด้วย

ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของเอเชียก็เป็นหนึ่งในระดับที่สูง อย่างเช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งรวมกันถึง 30% ในการส่งออกอุตสาหกรรมความรู้ และเทคโนโลยีเร่งรัดทั่วโลก หรือเรียกว่า KTI (เช่น ยานยนต์ คอมพิวเตอร์)

ส่วนอุตสาหกรรม EV จะยังคงเติบโตอย่างมหาศาล แบรนด์ในฝั่งเอเชียค่อนข้างแกร่งเลยทีเดียว อย่างเช่น BYD ที่สร้างยอดขายอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงแบรนด์จากจีนอีกหลายแบรนด์เลย ส่วนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ จีนก็เป็นผู้นําด้วยเช่นกัน โดยอันดับหนึ่ง คือ CATL. อันดับสองเป็น BYD อันดับสาม LG ของเกาหลีใต้

อีกทั้งอุตสาหกรรมไมโครชิพ ทางจีนก็สร้างได้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงทาง TSMC ทางไต้หวัน และก็ยังมีทางญี่ปุ่น หมายความว่าทางเอเชียบ้านเรา เริ่มครอบครองอุตสาหกรรมที่เป็นดิฟเทค แล้วก็เชิงลึกความรู้ข้อมูลในอนาคตอยู่เยอะพอสมควรเลย

‘เงินบาท’ สกุลเงินที่ยืดหยุ่นที่สุดในโลก แม้เคยเผชิญ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เมื่อ 26 ปีก่อน

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสกุลเงิน ‘บาท’ ที่เราๆ คุ้นเคยกันอย่างดีมาฝากครับ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสกุลเงินบาทครั้งนี้ ผมอ้างอิงมาจาก RUCHIR SHARMA ชาวอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักลงทุน นักเขียน ผู้จัดการกองทุน และคอลัมนิสต์ของ Financial Times เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของ Rockefeller Capital Management และเคยเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Breakout Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนที่เน้นตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley Investment Management ปัจจุบันเขาเป็นประธาน Rockefeller Capital Management  บริษัทการเงินระดับโลก โดยเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับสกุลเงินบาทไว้ดังนี้ครับ (บทความต้นฉบับ www.ft.com/content/f280de11-48c7-4526-aa92-ad1e1b7b6ed1)

ในปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน (วิกฤตต้มยำกุ้ง) แต่หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว สกุลเงินบาทกลับกลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ในโลก และดีกว่าสกุลเงินฟรังก์สวิสและสกุลเงินที่เทียบเท่าทั้งหมดในประเทศที่พัฒนาแล้ว

RUCHIR บอกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1998 หรือเมื่อ ๒๕ ปีก่อนในเดือนนี้ (กุมภาพันธ์) กรุงเทพฯ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตการเงินในเอเชีย การระเบิดของเงินบาทครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประท้วงมากมายตามท้องถนนทั่วทั้งภูมิภาค และเกิดความวุ่นวายจนลุกลามใหญ่โต ในขณะที่ผู้นำโลกต่างก็พยายามชะลอการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ให้ลามไปทั่วโลก เศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยและซบเซา

เมื่อครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบร้อยละ ๒๐ เนื่องจากหุ้นราคาร่วงมากกว่าร้อยละ ๖๐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาหุ้นในกรุงเทพ ‘ถูก’ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่มีใครกล้าซื้อหุ้นไทย

เรื่องราววิกฤตในครั้งนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และบทส่งท้ายกลับสร้างความประหลาดใจ เพราะตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา เรื่องราวเกี่ยวกับเงินบาทของประเทศไทยได้จางหายไปจากเรดาร์ทางการเงินทั่วโลก ด้วยเงินบาทได้พิสูจน์แล้วว่า มีความยืดหยุ่นอย่างไม่ธรรมดา โดยสามารถรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ของโลก และดีกว่าสกุลเงินอื่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด (ยกเว้นฟรังก์สวิส)

ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการณ์ล้มอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต เงินรูเปียห์ซื้อขายกันที่เกือบ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ลดลงจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ก่อนเกิดวิกฤต เงินบาทซื้อขายที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก่อนวิกฤตไม่เคยต่ำกว่า 26 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแทบไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพง พวกเขาสามารถหาห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาวได้ในราคาที่ต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ต่อคืนได้ อาหารค่ำรสเลิศในภูเก็ตในราคาเพียง 30 ดอลลาร์เท่านั้น แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์กลางของวิกฤตกลายเป็นจุดยึดของความมั่นคง และเป็นบทเรียนแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ

หลังปี ค.ศ. 1998 สังคมเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้ระบบการเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารในอินโดนีเซียเปลี่ยนจากการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากมายมาเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์และมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการขาดดุล แต่ไม่มีที่ใดในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์* มากกว่าในประเทศไทย หลีกเลี่ยงส่วนเกินที่อาจทำให้ผู้คนทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจเกิดความแตกตื่น

เศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์ คือ เมื่อเผชิญกับความขาดแคลนแล้วมนุษย์ตัดสินใจอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล การตัดสินใจของครอบครัว การตัดสินใจทางธุรกิจ หรือการตัดสินใจทางสังคม และหากมองไปรอบ ๆ ตัวอย่างระมัดระวังแล้ว จะเห็นว่า ความขาดแคลนเป็นความจริงของชีวิต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top