‘โครงสร้างพื้นฐาน - เขต EEC’ จุดเปลี่ยนประเทศ ดูดนักลงทุนต่างชาติทุ่มเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท

ต้องบอกว่า ปีนี้ประเทศไทยเนื้อหอมมากจริง ๆ เนื่องจากนักลงทุนหลาย ๆ เจ้ากำลังทยอยเข้ามาปักหลักปักธงทำธุรกิจในไทย ไม่ว่าจะเป็น BYD ที่ได้ลงหลักในเขต EEC ไปแล้ว ที่จะตามมาคือ MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) หรือข่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศซาอุดีอาระเบียที่ก็เล็ง ๆ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเช่นกัน ขอบอกเลยว่าไทยมีเสน่ห์สุด ๆ แถมยังสามารถดูดเงินลงทุนได้มาถึงแสนล้านบาทเลย

แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ นักลงทุนทั้งต่างชาติและจีน ที่เคยลงทุนในจีนนั้นกำลังเตรียมแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปลงทุนในประเทศอื่นแทน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้จีนได้รับฉายาว่า ‘โรงงานของโลก’ เชียวนะ

สำหรับเรื่องนี้ ช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ของคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยสามารถสรุปใจความได้ว่า…

ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองหาฐานการผลิตนอกประเทศจีน ได้แก่

1. สงครามการค้า หรือ Trade War ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงทำให้การลงทุนในจีนแล้วส่งออกไปยังสหรัฐฯ นั่นมีอุปสรรคในด้านกำแพงภาษี รวมถึงสหรัฐฯ มีนโยบายกีดกันทางด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในประเทศจีน จึงเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่ปลอดภัยหากยังลงทุนในจีนต่อไป ไม่เพียงแต่นักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่นักลงทุนจีนก็มองหาทางหนีทีไล่ไว้เช่นกัน

2. ราคาค่าแรง จากเดิมค่าแรงในจีนถูก จึงเป็ดจุดเด่นดึงดูดนักลงทุน แต่มีเศรษฐกิจขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้มากขึ้น ค่าแรงก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

3. นโยบาย Zero Covid-19 ที่เข้มงวด

4. นโยบายควบคุมด้านเศรษฐกิจ ที่มีวลีเท่ๆ ว่า ‘มั่งคั่งทั่วกัน’ ทว่านโยบายเหล่านี้ไม่ส่งเสริมด้านการลงทุน จึงทำให้บริษัทต่อชาติที่อยู่ในจีนทยอยปิด และออกมาลงทุนนอกประเทศจีน เช่น Apple ที่ก่อนหน้ามีฐานการผลิตที่จีน แต่ก็ย้ายฐานไปที่เวียดนามและอินเดียแทน รวมถึงบริษัทสัญชาติจีนก็ย้ายออกเช่นกัน

จากเหตุผลทั้ง 4 ข้อนี้จึงมีกระแสคำถามว่า “เป้าหมายของนักลงทุนคือที่ใด?” แน่นอนว่าไม่ใช่สหรัฐฯ และจีนแน่ๆ เพราะมีสงครามการค้าขวางอยู่ ส่วนประเทศในยุโรปก็ไม่มีทาง เนื่องจากค่าแรงแพงสุดๆ คำตอบจึงตกมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรานั่นเอง

และหากสังเกตดีๆ ในปีนี้มีสัญญาณเชิงบวกในเรื่องการลงทุนจากต่างชาติเยอะมากจริงๆ อย่างที่เกริ่นไปว่า BYD เข้ามาปักธงที่ EEC ในประเทศไทยแล้ว และหวังจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV เพื่อส่งออกในอาเซียนและในยุโรป โดยตั้งเป้าผลิตปีละ 1.5 แสนคันเลยทีเดียว

สาเหตุที่นักลงทุนต่างเล็กประเทศไทยไว้นั้น มีเหตุผลดังนี้

1. EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่ภาครัฐกำลังพยายามเร่งแก้ไขกฎหมายหลายอย่างเพื่อให้เอื้อต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 

2. โครงสร้างพื้นฐาน โดยไทยกำลังเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม เช่น ท่าเรือ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มอเตอร์เวย์ ถนนอีกหลายสายที่ตัดผ่านหากันเพื่อเอื้อให้การขนส่งไปมาเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น รวมถึงรถไฟรางคู่ที่นอกจากจะเชื่อมไปยังภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งได้อีกมหาศาล

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจจากภาคเอกชนที่เผยถึงเหตุผลที่นักลงทุนไว้ใจและอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น ระบบสาธารณสุขที่ดี การจัดการปัญหาโควิด-19 ที่ยอดเยี่ยม สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีนโยบายสนับสนุนการลงทุน 

จากเหตุผลที่ยกมาก็น่าจะเพียงพอที่ไทยจะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย ถึงแม้ว่า ‘ค่าแรง’ ของไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม


ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=1fi1F0fUwzk