Sunday, 28 April 2024
การลงทุน

คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว!! จีนแสดงให้โลกเห็น 'ประชาธิปไตย' ไม่ใช่กุญแจสำหรับการเติบโต

กลายเป็นข่าวเด่นในแวดวงเศรษฐกิจโลกกันขึ้นมาเลยทีเดียว หลังจากล่าสุด 1 ในคณะกรรมาธิการทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่าง Paolo Gentiloni เริ่มส่อแววแปรพักตร์ไปหาจีน 

โดยเขาได้กล่าวว่าตอนนี้ 'จีน' แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า "ประชาธิปไตย" นั้นไม่ใช่กุญแจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ?? ซึ่งคำพูดนี้ถือเป็นการหักหน้าสหรัฐฯ อย่างไม่ต้องถามหมอกันเลยทีเดียว !

Paolo Gentiloni กล่าวในงานที่สถาบันปีเตอร์สันในวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า...

“การเติบโตของจีนแสดงให้เห็นแล้วว่าประชาธิปไตยนั้นไม่จำเป็นต่อการบรรลุความสำเร็จทางเศรษฐกิจเลย และนั่นคือการเปลี่ยนแปลงวิถีที่เราได้เห็นและมีการหารือกันกับอีกหลายประเทศ ผมคิดว่าภาพลวงตาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ผ่านด้านการค้า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ส่วนบุคคล กำลังจางหายไป”

(China’s growth shows that democracy is not necessary to achieve economic success and that is changing the way we see and interact with such countries, I think the illusion of changing an autocratic regime through trade, cultural exchanges, personal relations, is fading,)

'ม.นเรศวร' เปิดเวทีประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีนและเมาะลำไย ครั้งที่ 5 มุ่งส่งเสริมด้านการแข่งขันและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิด การประชุมระดับนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีนและเมาะลำไย ครั้งที่ 5 (The 5th LIMEC Academic International Conference) เพื่อถ่ายทอดและขยายผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน บนระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย สู่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นเวทีให้ให้นักเรียน นักวิจัย และคณาจารย์ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ และแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ในการส่งเสริมด้านการสร้างความสามารถ ในการแข่งขันและส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน 

สำหรับในปีนี้ การประชุมจัดขึ้นในหัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิตอลด้านโลจิสติกส์สำหรับฐานชีวิตใหม่” (Logistics for New Normal with Digital Technology) ซึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตและการดําเนินธุรกิจของเราหลังจากการเกิดขึ้นของ COVID-19 ที่เร่งการพัฒนา และการนําวิธีการทํางานใหม่ๆ มาใช้ เช่น การทํางานจากที่บ้าน บริการจัดส่งอาหารออนไลน์ ธนาคารดิจิทัล และการเว้นระยะห่างทางสังคม และกิจกรรมอื่นๆ แบบไม่ต้องสัมผัส ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่สําคัญในการเชื่อมต่อเรา และเพื่อรักษาธุรกิจในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การเงินไปจนถึงบริการภาครัฐ สุขภาพ และการศึกษา ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านโลจิสติกส์และปัญญาประดิษฐ์พร้อมนี้ภายในงานจัดให้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อ “มุมมองต่อการนาดิจิทัลทรานฟอเมชั่นมาใช้ในการสร้างการไหลของอุปสงค์และอุปทานในการข้ามแดน” หัวข้อ “Building Supply Chain Resilience in the post-pandemic World-The Role of Digital Technologies” และการเสวนาในหัวข้อ “Digital Technology for the New Normal in Business” เป็นต้น ณ ห้องประชุม 210 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร และในรูปแบบออนไลน์

‘บิ๊กตู่’ หวัง ‘LTR Visa’ ช่วยดูดกลุ่มทุน - ดันศก.ไทยโต เชื่อ!! ประเทศไทยมีเสน่ห์หลายด้าน ต่างชาติสนใจมาเยือน

‘นายกฯ’ หวัง ‘วีซ่าระยะยาว’ ดึงดูดกลุ่มนักลงทุน ผู้มีความพร้อม มีทักษะ ความเชี่ยวชาญสูง ให้เข้ามาพำนัก-ลงทุน ในไทย

เมื่อวันที่ (27 ต.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงานตัวเลขผู้ขอยื่นขอใบสมัครวีซ่าระยะยาว (Long - Term Resident Visa) หรือ ‘LTR Visa’ ของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีผู้สมัครกว่าหนึ่งพันคน 

นายอนุชา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ น่าลงทุน และเป็นที่นิยม โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ให้วีซ่าระยะยาวแก่ชาวต่างชาติมีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม พำนักในประเทศไทยในระยะยาว โดยมีเป้าหมายดึงดูด 1 ล้านคน ใน 5 ปี โดยได้เริ่มรับสมัครชาวต่างชาติในกลุ่มนี้แล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติ ประเทศที่มีการยื่นขอใบสมัครมากที่สุดได้แก่ สหรัฐฯ 232 ราย จีน 140 ราย สหราชอาณาจักร 109 ราย เยอรมนี 68 ราย และออสเตรเลีย 51 ราย ตามลำดับ

ซาอุฯ เตรียมขน 200 นักธุรกิจ ร่วมลงทุนในไทย ล็อกเป้า ‘EEC’ จ่อลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมหลัก

รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนซาอุดิฯ นำทัพ 200 นักธุรกิจบุกไทย ลุยจับคู่ร่วมลงทุน 3 ธุรกิจใหญ่ ‘ท่องเที่ยวโรงแรม-สร้างเมืองใหม่-พลังงาน’ เอกชนชี้เป็นโอกาสดีสุด ๆ รอบ 32 ปีหลังฟื้นสัมพันธ์ เล็งเป้าดึงลงทุนระลอกใหญ่ลงอีอีซี ขณะ 3 อุตฯ ไทยเนื้อหอม เวลคัมร่วมลงทุนในซาอุดิฯ

(5 พ.ย. 65) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี เผยว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นี้ Mr.Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดิอาระเบียจะนำคณะภาคเอกชนที่เป็นนักธุรกิจ และนักลงทุนของซาอุดิฯ รวมกว่า 200 คน ร่วมงาน ‘Thai - Saudi Investment Forum’ ในประเทศไทย

ไฮไลต์สำคัญ จะมีการลงนาม MOU ร่วมกันในธุรกิจเป้าหมาย ไทย-ซาอุดิฯ, การนำเสนอภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนร่วมไทย-ซาอุดิฯ โดย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาอีอีซี 

นอกจากนี้จะมีเวทีเสวนาร่วมระหว่างผู้บริหารของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหอการค้าซาอุดิฯ โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ Mr. Bads Aldadr, Deputy Minister of Investor Outreach, MISA

นอกจากนี้จะมีการเสวนาและจับคู่ธุรกิจ (บิซิเนส แมชชิ่ง) ร่วมลงทุนธุรกิจเป้าหมายภาคเอกชนและนักธุรกิจของไทย-ซาอุดิฯ ใน 3 เวทีได้แก่ ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม, ธุรกิจการสร้างมืองใหม่ และธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเปิดมิติใหม่ในการร่วมลงทุนไทย-ซาอุดิฯ ในรอบ 32 ปี หลังฟื้นความสัมพันธ์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยว่า ไทยและซาอุดิฯ ได้แลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนของคณะภาครัฐ-เอกชนกันหลายรอบแล้วในรอบปีนี้ หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 และประกาศการฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

สำหรับการเดินทางเยือนไทยและร่วมเวทีเชื่อมสัมพันธ์ด้านการลงทุนกันในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นตามลำดับ โดยทั้งสองฝ่ายได้เชิญชวนในการแลกเปลี่ยน และร่วมลงทุนทั้งในไทยและในซาอุดิฯ

ในส่วนของไทยมีเป้าหมายเชิญชวนทางซาอุดิฯ มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ในเบื้องต้นมีธุรกิจที่ซาอุดิฯ ให้ความสนใจลงทุน หรือร่วมลงทุนในอีอีซี เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้า การแพทย์ เกษตรชีวภาพ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ก่อสร้าง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และภาคการเงิน เป็นต้น

'ชนินทร์' จวก 'รบ.ประยุทธ' ไร้น้ำยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชี้!! จนมุมถึงขั้นขายที่ดินของชาติแลกการลงทุนไม่กี่ล้าน

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะมีกระแสสังคมต้านทานถึงการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ที่มีมติการประชุม ครม.ออกมาเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ 

ส่วนตัวมองว่าเวลานี้พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลิกห่วงเสียหน้าหันมาห่วงเสียแผ่นดินบ้าง เพราะแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเอาที่ดินของชาติไปแลก ได้รับฉันทามติคัดค้านต่อต้านจากพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว แม้กระทั่งจากกลุ่มที่เคยเป็นผู้นิยมตัวพล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่เห็นด้วย

นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลที่นำโดยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย มีแนวทางปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลใดสิ้นไร้ไม้ตอก ขนาดต้องผ่อนปรนกฎหมายขายที่ดินกับต่างชาติ แลกกับการลงทุนในรูปแบบของการให้กู้เงินความเสี่ยงต่ำระยะสั้นแค่ 3 ปี เปิดช่องให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาจับจองถือกรรมสิทธิ์ถาวรที่ดินในประเทศไทย ในระหว่างที่คนไทยในเมืองจำนวนมากยังถูกละเลยให้ไร้กรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ไม่มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดจำนวนมากก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินทำกิน จึงอยากเสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลควรมุ่งทำมากกว่าในเวลานี้ คือ

1.) จัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐในเมือง เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัดเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมือง

2.) จัดสรรกรรมสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์บนที่ดินของรัฐ ให้แก่ประชาชน ที่ยังเข้าไม่ถึงที่ดินทำกินได้เข้าไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลคงยังไม่เข้าใจว่าการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่มั่นคงและส่งผลบวกระยะยาว ต้องแก้ปัญหาที่ข้อจำกัดของกฎหมายที่วุ่นวายยุ่งยาก และการขาดข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่จะช่วยขยายขนาดของตลาดผู้ซื้อจากการผลิตในประเทศไทย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกของภูมิภาคที่แท้จริง แต่การกระตุ้นในแบบที่พล.อ.ประยุทธ์อยากทำ เป็นการเอาทรัพย์สินถาวรของชาติไปแลกเงินกู้เงินลงทุนระยะสั้น ไม่ก่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงในระยะยาว

'พาณิชย์' เผย ต่างชาติลงทุนไทย 10 เดือนแรกปี 65 ทะยานแตะ 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72%

พาณิชย์เผย 10 เดือน ปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72% หรือ 44,469 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และสิงคโปร์ จ้างงานคนไทยรวม 4,635 คน

เมื่อไม่นานมานี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 480 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 299 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,635 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

- ญี่ปุ่น 125 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 75 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 64 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท
- ฮ่องกง 35 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท
- จีน 22 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 อนุญาต 480 ราย ปี 2564 อนุญาต 446 ราย)

เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 (ปี 2565 ลงทุน 106,437 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 61,968 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 352 คน คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 จ้างงาน 4,635 คน ปี 2564 จ้างงาน 4,283 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

>> EEC ลงทุนแล้ว 94 ราย จาก 3 ประเทศ

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด

ในจำนวนดังกล่าว เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 24,326 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 7 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

คาดว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค. 2565) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

‘โครงสร้างพื้นฐาน - เขต EEC’ จุดเปลี่ยนประเทศ ดูดนักลงทุนต่างชาติทุ่มเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท

ต้องบอกว่า ปีนี้ประเทศไทยเนื้อหอมมากจริง ๆ เนื่องจากนักลงทุนหลาย ๆ เจ้ากำลังทยอยเข้ามาปักหลักปักธงทำธุรกิจในไทย ไม่ว่าจะเป็น BYD ที่ได้ลงหลักในเขต EEC ไปแล้ว ที่จะตามมาคือ MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) หรือข่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศซาอุดีอาระเบียที่ก็เล็ง ๆ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเช่นกัน ขอบอกเลยว่าไทยมีเสน่ห์สุด ๆ แถมยังสามารถดูดเงินลงทุนได้มาถึงแสนล้านบาทเลย

แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ นักลงทุนทั้งต่างชาติและจีน ที่เคยลงทุนในจีนนั้นกำลังเตรียมแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปลงทุนในประเทศอื่นแทน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้จีนได้รับฉายาว่า ‘โรงงานของโลก’ เชียวนะ

สำหรับเรื่องนี้ ช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ของคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยสามารถสรุปใจความได้ว่า…

ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองหาฐานการผลิตนอกประเทศจีน ได้แก่

1. สงครามการค้า หรือ Trade War ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงทำให้การลงทุนในจีนแล้วส่งออกไปยังสหรัฐฯ นั่นมีอุปสรรคในด้านกำแพงภาษี รวมถึงสหรัฐฯ มีนโยบายกีดกันทางด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในประเทศจีน จึงเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่ปลอดภัยหากยังลงทุนในจีนต่อไป ไม่เพียงแต่นักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่นักลงทุนจีนก็มองหาทางหนีทีไล่ไว้เช่นกัน

2. ราคาค่าแรง จากเดิมค่าแรงในจีนถูก จึงเป็ดจุดเด่นดึงดูดนักลงทุน แต่มีเศรษฐกิจขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้มากขึ้น ค่าแรงก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

3. นโยบาย Zero Covid-19 ที่เข้มงวด

4. นโยบายควบคุมด้านเศรษฐกิจ ที่มีวลีเท่ๆ ว่า ‘มั่งคั่งทั่วกัน’ ทว่านโยบายเหล่านี้ไม่ส่งเสริมด้านการลงทุน จึงทำให้บริษัทต่อชาติที่อยู่ในจีนทยอยปิด และออกมาลงทุนนอกประเทศจีน เช่น Apple ที่ก่อนหน้ามีฐานการผลิตที่จีน แต่ก็ย้ายฐานไปที่เวียดนามและอินเดียแทน รวมถึงบริษัทสัญชาติจีนก็ย้ายออกเช่นกัน

ประเทศไทยเนื้อหอม! ต่างชาติแห่ลงทุนกว่าแสนล้าน | THE STATES TIMES Y WORLD EP.49

ปีทองของไทย!! ต่างชาติรุมตอม เม็ดเงินลงทุนหมุนสะพัดในไทยกว่าแสนล้านบาท!!

'กระทรวงพาณิชย์' เผย 10 เดือน ปี 2565  มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ กว่า 106,437 ล้านบาท นับว่าพุ่งจากปี 2564 ถึง 72%!!

ติดตามได้ใน THE STATES TIMES Y World
และสามารถรับชมคลิปอื่น ๆ ได้ที่ : https://youtube.com/playlist?list=PLvNTQ_fOAFugvfiWfiUXJ8JJYho1ADnG8

ที่มา : https://thestatestimes.com/post/2022122021

#THESTATESTIMES
#THESTATESTIMESYWORLD
#การลงทุน
#แรงงานไทย
#กระทรวงพาณิชย์

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ปี 65 ยอดจดทะเบียนธุรกิจพุ่ง 7.6 แสนราย สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่น - เกิดการจ้างงานในระยะยาว

(27 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบข้อมูลด้านการลงทุนที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยยอดธุรกิจตั้งใหม่ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน การออกบัตรส่งเสริมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติตลอดปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสัญญาณชี้การลงทุนใหม่ในระยะต่อไป ที่จะนำไปสู่การจ้างงานและการมีงานทำของประชาชนในระยะยาว

“นายกรัฐมนตรีพอใจกับยอดธุรกิจตั้งใหม่และการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การจ้างงาน การมีรายได้และกำลังการใช้จ่ายของประชาชนในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

'นายกฯ' หารือ 'ทูตไอร์แลนด์' กระชับความสัมพันธ์ พร้อมหนุน ศก. ส่งเสริมการศึกษา-วัฒนธรรม

(8 ก.พ. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายแพทริก เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับหน้าที่ และพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเอกอัครราชทูตฯ อย่างเต็มที่ ยินดีกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เยือนไทยในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ไอร์แลนด์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ลีโอ วรัทการ์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยและไอร์แลนด์ร่วมกันผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในสาขาต่าง ๆ ให้เกิดผล เป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ฯ กล่าวยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทย ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง และเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในทุกระดับ และทุกมิติ

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่าง ๆ โดยเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและไอร์แลนด์ยังมีศักยภาพอีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จึงหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น พร้อมได้กล่าวเชิญไอร์แลนด์เข้ามาลงทุนเพิ่มในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอุตสาหกรรม ที่ไอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญสูง และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

ซึ่งเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเดินหน้าไปอย่างดี โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนไอร์แลนด์เข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จึงหวังที่จะกระชับความสัมพันธ์ในด้านนี้ระหว่างให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top