Tuesday, 14 May 2024
การลงทุน

‘นายกฯ’ ขอบคุณ ‘Microsoft’ ร่วมมือ-ลงทุนในไทยมายาวนาน ด้าน Microsoft ชมจุดแข็งไทย เป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาค

(22 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับผู้บริหารบริษัท Microsoft เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ Microsoft ที่มีความร่วมมือ และมีการลงทุนในไทยมาอย่างยาวนาน และพร้อมจะร่วมมือต่อไปให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ผู้บริหารบริษัท Microsoft กล่าวชื่นชมไทยที่มีจุดแข็งสามารถเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค (Regional Hub) มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของภูมิภาค

“บริษัทฯ ต้องการสนับสนุนให้ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐในการใช้ Cloud ซึ่งการมี Cloud investment ในไทย จะช่วยส่งเสริมความสามารถของคนไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สายงาน IT สาขาวิศวกร และจะช่วยพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล ที่ใช้ระบบงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทย”

‘นายกฯ’ สรุปผลสำเร็จ UNGA บริษัทยักษ์ด้าน ‘เทคฯ-การเงิน’ สนลงทุนไทย  ฉุนสื่อ!! ไม่เคยบอกตั้ง ‘ทักษิณ’ ที่ปรึกษา ปัด!! ดิจิทัลวอลเล็ตครอบจังหวัด

(24 ก.ย. 66) ที่ห้องรับรองพิเศษ VIP ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า การเดินทางครั้งนี้มีภารกิจเยอะ ต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยทำให้ภารกิจ 4 วัน ผ่านไปได้ โดยมีการพบปะผู้นำหลายประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์ 5 ครั้ง พบกับองค์กรต่างๆ 2 องค์กร ได้พบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งเทสลา, ไมโครซอฟต์, กูเกิล, ซิตี้แบงก์, เจ.พี.มอร์แกน, Global ZAC, เอสเต ลอเดอร์ บริษัทเหล่านี้สนใจมาลงทุน บางแห่งมาลงทุนแล้วในรูปแบบต่างๆ ที่ประเทศไทย

หน้าที่ของตนคือ ไปประกาศให้คนรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมและยินดีที่จะให้บริษัทเหล่านี้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนั้นได้พบกับตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์ก ที่มองเห็นลู่ทางจะให้บริษัทของไทยไปจดทะเบียนที่ตลาดนิวยอร์ก เพราะไม่เคยมีบริษัทใดไปจดทะเบียน และหวังว่าในปีนี้จะได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กสัก 1 บริษัท

นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้พบปะกับประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ควบคุมฟุตบอลทั้งหมด ได้พูดคุยกันถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อาเซียนในปี 2032 หรืออีก 9 ปี เป็นแผนที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก้าวแรกคือ เราอยากได้รับการสนับสนุนจากฟีฟ่าให้ช่วยดูฟุตบอลรากหญ้า จากเดิมที่เคยให้การสนับสนุนปีละ 2.5 แสนเหรียญต่อปี ตอนนี้เป็นปีละประมาณ 2 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก ทำให้คาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ไปถึงจุดที่ควรจะเป็น

นายกฯ กล่าวว่า ขณะที่เรื่องของยูเอ็น ในภาวะที่มีการแข่งขันและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความแตกแยกค่อนข้างมาก เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา ธีมของยูเอ็นในปีนี้คือให้มาดูเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 17 ข้อ โดยกว่า 190 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่เห็นว่าควรมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งตนได้ประกาศไปว่าไม่ใช่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือดที่เราต้องให้ความสำคัญ ตลอดจนเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากหากมีสงครามระหว่างประเทศมากจะทำให้มีผู้เดือดร้อน มีผู้อพยพลี้ภัย ต้องดูและให้ความเป็นธรรม ที่สำคัญ จุดยืนที่ตนไปประกาศในเวทีนี้คือ ไปประกาศจุดยืนว่าเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งยึดมั่น ช่วยผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และการดำเนินการเศรษฐกิจพอเพียง

นายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นเรายังได้นำเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอัปเกรด ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกใช้บริการสาธารณสุขของรัฐได้อย่างสมเกียรติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องดูแลและป้องกันในอนาคต

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่างประเทศที่จะมาลงทุนยังมีความกังวลกับสถานการณ์ในประเทศ หรืออุปสรรคใดหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ความกังวลเรื่องนี้ลดหายไปเยอะ และคิดว่าคงไม่มีเรื่องนี้แล้ว แต่จะมีเรื่องกฎหมายบางข้อ และการอำนวยความสะดวกในการธุรกิจ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประชุมทั้งบีโอไอและกระทรวงการต่างประเทศต่างไปช่วยกันขยายความว่าเราพร้อมสำหรับการลงทุน พร้อมที่จะรับฟังความเห็น อะไรทำได้จะทำก่อน อะไรที่ต้องแก้ไขกฎกติกา จะมาดูความเหมาะสมอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ธุรกิจอะไรที่ต่างชาติให้ความสนใจมากลงทุนมากที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เช่น เทสล่า ที่จะมาดูเรื่องของการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ขณะที่ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล มาดูเรื่องการทำดาต้า เซนเตอร์ ที่จะมีการลงทุนสูงมาก ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อรายสำหรับการลงทุนขั้นต้น

เมื่อถามว่า อุปสรรคด้านกฎหมายต่อการลงทุน เรื่องใดสำคัญที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เราไม่ได้ไปค้าขายระหว่างประเทศมานาน ทำให้บางบริษัทมีความกังวลเวลาที่มาลงทุน จะมีกฎที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ของเราอาจยังไม่มีการดูแลตรงนี้ ซึ่งต้องนำไปพิจารณาดูแลรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการไปพูดคุยกับบริษัทรายใหญ่ได้ประเมินมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยประมาณเท่าไหร่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเมินได้ลำบาก เพราะภาคอุตสาหกรรม เช่น เทสลา, ไมโครซอฟต์, กูเกิล การลงทุนขั้นต้นประมาณ 5 พันล้านเหรียญ แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาจจะทำให้เกิดการลงทุนที่สูงมากหากมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย มีโอกาสที่บริษัทเหล่านั้นอาจเผยแพร่ความน่าอยู่และตัวเลขเศรษฐกิจ ความเจริญของประเทศไทย และนำบริษัทอื่นมาลงไทุนในไทย และในการประชุมเอเปกที่จะเกิดขึ้น อาจจะเชิญบริษัทขนาดกลางเพื่อเปิดโอกาสได้ไปเสนอตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนข้ามชาติที่เราไปลงทุนในประเทศเขา หรือเขามาลงทุนในประเทศเรา เป็นการเปิดช่องทาง สร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชน

เมื่อถามถึงเสียงสะท้อนให้เพิ่มรัศมีการใช้เงินดิจิทัล วอตเล็ต 1 หมื่นบาท เป็นระดับจังหวัด? นายเศรษฐา กล่าวว่า ถือเป็นข้อเป็นห่วงใยที่ต้องนำมาพิจารณา หากกำหนดให้ใช้ในจังหวัด บางทีการใช้จ่ายก็จะกระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง แต่เราอยากจะให้อำเภอที่กันดารได้มีโอกาสแจ้งเกิดบ้าง ตรงนี้คณะกรรมการกำลังพิจารณากันอยู่ ในรายละเอียดไม่ต้องเป็นห่วง

เมื่อถามว่าเวลานี้ ไม่มีข้อกังวลเรื่องเม็ดเงินจริงที่จะใช้ในนโยบายนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่ครับ ไม่เคยมีความกังวล”

เมื่อถามถึงความชัดเจนกรณีที่มีการตีความการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ในการตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา? นายกฯ กล่าวว่า ทุกท่านต้องแกะเทปดู ตนไม่ได้บอกว่าจะตั้ง แต่บอกว่าถ้ามีเรื่องอะไรถ้าจะปรึกษาก็ปรึกษาได้ เหมือนกับตนปรึกษากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่อาจจะเกษียณไปแล้ว หรืออดีตนายกรัฐมนตรี ตนเองได้ไปกราบนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ และนายสมชายวงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ มาแล้ว

"ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก เพิ่งเข้าสู่วงการการเมือง ใครมีความรู้ความสามารถที่ดี ก็พร้อมที่จะปรึกษา พูดแค่นั้น ผมก็พูดแค่นั้น บลูมเบิร์กก็แปลแค่นั้นใช่ไหม อย่าตีความไปกว้างกว่านั้นเลย เพราะเรื่องนี้จะก่อให้เกิดประเด็นโดยไม่ใช่เหตุ" นายเศรษฐา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่มีการตีความกันไปแบบนั้น นายกฯ กล่าวเสียงเข้ม ว่า “คุณตีความ คุณอย่าตีความ คุณฟังที่ผมพูดสิ”

‘ชนินทร์’ มั่นใจ EEC ‘ยุคเศรษฐา’ เกิดแน่ จ่อใช้ กม.เปิดทางลงทุนจริง 2.5 แสนล้าน

(20 ต.ค. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีมติอนุมัติแผน 99 วัน หรือ Quick Wins 8 ด้าน เพื่อผลักดันงานโดยเร่งด่วนตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในแผนงานที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การเตรียมจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ EEC One Stop Service ภายในสิ้นปี เพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่มีความพร้อมจะลงทุนแต่ติดขัดเรื่องระเบียบและการขออนุญาตที่วุ่นวาย หลายขั้นตอน และต้องดำเนินการหลากหลายที่ ดังที่ปรากฏว่าในอดีตมีการอนุมัติแผนการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท แต่การลงทุนจริงเพื่อประกอบธุรกิจจริงเกิดน้อยมาก

นายชนินทร์ กล่าวว่า EEC One Stop Service อาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จำนวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฎหมาย ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, การควบคุมอาคาร, การจดทะเบียนเครื่องจักร, การจดทะเบียนพาณิชย์, โรงงาน, การสาธารณสุข, คนเข้าเมือง และการจัดสรรที่ดินไว้ในที่เดียว โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรด้วย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ อีอีซี เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลกที่แข่งขันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ อีอีซี ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นต้นแบบของรัฐบาลดิจิทัล ที่จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“EEC One Stop Service จะทำให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษได้รับความสะดวกในการขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบการบริการภาครัฐแบบดิจิทัล เบ็ดเสร็จครบวงจรได้ ณ จุดเดียว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ร่นระยะเวลาดำเนินการ ของผู้ประกอบกิจการได้ เพื่อให้ภาครัฐได้ผลประโยชน์จากการเริ่มลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีที่เร็วขึ้น โดยอีอีซีคาดหวังการลงทุนจริงในพื้นที่คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 นี้” นายชนินทร์ กล่าว

‘เศรษฐา’ ชูศักยภาพไทย หยอด ‘จีน’ ร่วมลงทุน ยาหอม!! จีนมหามิตร ไทยพร้อมชิดเชื่อม BRI

(20 ต.ค.66) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมงาน Thailand-China Investment Forum ที่โรงแรมเคอร์รี่ โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน และขอให้เชื่อมั่น ตนได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคนที่มาเยือน และการเดินทางมาจีนครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงมาตลอด ที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและจีนครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ 4 (ปี 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียน

นายกฯ กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งบกและทะเล จึงตระหนักถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน รัฐบาลไทยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

“เป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการค้าและการลงทุน” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในระดับภูมิภาคจีนและไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับสิทธิ ยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากร ดังนั้น การเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว นอกจากความตกลง RCEP แล้ว จีนและไทยมีกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยตั้งเป้าในการปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในหมวดสินค้าอ่อนไหว รวมถึงการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน อันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'ต่างชาติ' พอใจสภาพแวดล้อมในจีน 'ภาษี-ตลาด-กฎหมายต่างๆ' เอื้ออำนวยต่อการลงทุน

(1 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลสำรวจจากสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (CCPIT) ประจำไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ของปีนี้ พบบริษัทที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ในจีนพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยประโยชน์ของจีน

รายงานระบุว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับการชำระภาษี การเข้าถึงตลาด และการระงับข้อพิพาทในจีน ได้รับเสียงชื่นชมเป็นวงกว้างจากกลุ่มบริษัทต่างชาติที่ดำเนินงานในจีน โดยเกือบร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการต่างชาติกลุ่มสำรวจ 700 ราย พอใจกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีน

กลุ่มบริษัทต่างชาติมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจในจีน โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 80 คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นในปี 2023 ด้านสภาฯ จะเดินหน้าเกื้อหนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีนที่มุ่งเน้นตลาด อิงกฎหมาย และเป็นสากลมากขึ้น

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับคณะ 'ผู้ว่าฯ ไซตามะ' ขยายความร่วมมือ 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' ทุกระดับ

(10 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะของนายโอโนะ โมโตฮิโระ (Mr.OHNO Motohiro) ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้แทนสถาบันการเงินประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสการเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Saitama-Thai Network Exchange Meeting 2023 โดยหลังการต้อนรับได้มีการหารือทั้งสองฝ่ายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลภายหลังการหารือว่า ภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ได้จากการหารือขณะนี้พบว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นลำดับแรก จากศักยภาพความพร้อมในด้านทรัพยากร, การท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศ 

"ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าลงทุนในประเทศไทยแล้ว 262 บริษัท กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกลางญี่ปุ่น 4 แห่ง และรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น 24 แห่ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่ประสานความร่วมมือกับส่วนท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองประเทศ"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวด้วยว่าได้มีการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติงานเพื่อประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกผสานความร่วมมือการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพันล้านและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย และผู้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จะสามารถยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทุกมิติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุน เสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน 

สำหรับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรกว่า 7.3 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสูงสุดมูลค่า 5.7 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

‘นายกฯ’ ปลื้ม!! ‘AWS-Google-Microsoft’ ลงทุนในไทย หวังยกระดับภาคอุตฯ ไทย ให้ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

(15 พ.ย. 66) เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก สหรัฐ ซึ่งช้ากว่าประเทศกรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลหารือกับ ผู้บริหาร Walmart ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Walmart มีความต้องการที่จะเปิดตลาดในไทยมากขึ้น จึงได้มีการพูดคุยถึงซอฟพาวเวอร์ของไทย ที่เป็นอาหารพื้นเมือง ให้เข้าไปขายใน Walmart รวมทั้งอาหารฮาลาล ที่มีขายอยู่ในหลายรัฐในสหรัฐฯ

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการพบปะกับ เวสเทิร์น ดิจิทัล บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการลงทุนเพิ่มในไทย และต้องการจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ มาที่ประเทศไทย 

นอกจากนั้นได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัท AWS ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแอมาซอน จัดทำคลาวเซอร์วิส ได้เซ็นสัญญาที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว และจะเปิดดำเนินการเร็ว ๆ นี้เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เป็นบริษัทแรกที่ลงทุนแล้ว และจะลงทุนเพิ่มอีกด้วย

ขณะที่การหารือกับ Google เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีการลงนามเอ็มโออยู่กันเรียบร้อยแล้วที่จะมาทำดาต้าเซ็นเตอร์ เช่นกัน

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 ราย ของโลก 3 ราย ที่มาทำดาต้าเซ็นเตอร์ได้แก่ AWS Google และไมโครซอฟท์ ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทย จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้การเดินทางมาสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่ามีความพอใจ หลายอย่างจากที่ได้พบปะภาคเอกชนรายใหญ่ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ เช่น คุณภาพโรงเรียน โรงพยาบาลระดับโลก นักลงทุนต่างพูดว่าเป็นความสบายใจที่จะได้มาใช้ชีวิตที่ไทย ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยสามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ในเวทีโลก เป็นความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทยและจะทำงานต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้สั่งให้ทีมงานสรุปแผนการชักชวนนักลงทุนต่างชาติในรอบ 3 เดือน ว่านักลงทุนรายใดลงทุนแล้ว ใครอยู่ลำดับไหน ใครเพิ่งจีบกัน หรือใครได้ชวนไปดูหนังแล้ว แต่ไม่อยากพูดถึงผลงาน หรือการตัดเกรดการทำงานของตนเอง ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ส่วนหน้าที่ของตนคือตื่นเช้าไปทำงาน

‘นายกฯ เศรษฐา’ ลั่น ‘การเมืองไทย’ มีเสถียรภาพ พร้อมต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทย

(16 พ.ย. 66) (เวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. 66 ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และ ยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยจะเร่งเดินหน้าเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น’ ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

‘จีน’ เปิดม่าน ‘มหกรรมการค้านานาชาติ’ ปี 2023 ที่เทียนจิน รวมสินค้านานาชาติ หนุนการลงทุน-แลกเปลี่ยนความรู้ทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, เทียนจิน รายงานว่า งานมหกรรมการลงทุนและการค้านานาชาติ (เทียนจิน) แห่งประเทศจีน และงานมหกรรมสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภาคพื้นแปซิฟิก (PECC Expo) ประจำปี 2023 ที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.) ที่ผ่านมา ณ เทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นการบริโภค

งานมหกรรมฯ รวบรวมผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงอาหาร ไวน์ เครื่องสำอาง ของเล่น และงานฝีมือจากนานาประเทศ อาทิ รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย พร้อมด้วยบูธสินค้านานาชาติ 1,500 บูธ กระจายอยู่บนพื้นที่จัดแสดง 50,000 ตารางเมตร

งานมหกรรมฯ ระยะเวลา 4 วัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การเจรจาการลงทุน การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยจะมีการจัดงานเกี่ยวกับการประชุมและการลงนามสัญญาต่างๆ

ทั้งนี้ งานมหกรรมการค้าเทียนจินดังกล่าว เริ่มจัดขึ้นเมื่อปี 1994 และตั้งแต่ปี 2011 ได้ถูกจัดร่วมกับงานมหกรรมสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติรอบด้าน ที่ได้รับอนุญาตจากสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก และกำลังกลายเป็นงานมหกรรมการค้าที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ทางตอนเหนือของจีน

ส่อง 3 ยักษ์เทคฯ 'Google-Microsoft-Amazon' ปักหมุดไทย ความฝันสู่ศูนย์กลาง 'เทคโนโลยี-นวัตกรรม' แห่งเอเชีย ไม่ไกล!!

(29 พ.ย. 66) เพจ ‘BOI News’ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เปิดเผยถึงกรณี ‘ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย’ ระบุว่า…

ด้วยการลงทุนจากยักษ์ใหญ่ของวงการเทคโนโลยีระดับโลก เช่น #Google #Microsoft และ #Amazon Web Services หรือ #AWS ที่อาจพูดได้ว่า เป็นการพาประเทศไทยเข้าสู่ #DigitalTransformation เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างทันโลก 

#ไทยผนึกกำลังกับ 3 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลก 🌎
1️⃣ #Google

🔺 แผนลงทุน Data Center ในไทย: ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ Google กำลังพิจารณาสร้าง Data Center เป็นประเทศที่ 11

🔺Google Cloud Region ในกรุงเทพฯ: แผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) และสร้างงานได้อีกกว่า 50,000 ตำแหน่งในปี พ.ศ. 2573

🔺การนำเทคโนโลยี Google Cloud ที่รวดเร็วและปลอดภัยมาใช้กับองค์กรภายในประเทศ: ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง National CyberShield Alliance เพื่อป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศทางไซเบอร์

🔺การพัฒนาด้าน AI ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: โดยเบื้องต้นบริษัทได้เซ็น MOU เป็นที่เรียบร้อยเพื่อส่งเสริมการใช้งาน AI ในการบริการภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการเงิน การพัฒนาภาคสาธารณสุข การศึกษา การขนส่งมวลชน

🔺การพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย: มอบทุนการศึกษา Google Career Certificate ให้กับคนไทย 

โดย Google ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และบีโอไอมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพของ Google เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในสาขาที่มีความต้องการสูง อาทิ การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ อีคอมเมิร์ซและหลักสูตร ‘Introduction to Generative AI Path’ จาก Google Cloud Skills Program ที่เปิดให้เรียนออนไลน์ฟรี

2️⃣ #Microsoft

🔹โครงการ Microsoft Data Center ไทย: ศึกษาความเป็นไปได้ของแผนการลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ในไทยเพื่อสนับสนุนการให้บริการภาครัฐสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

🔹การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ในประเทศไทย: พัฒนาทักษะทางดิจิทัลผ่านโครงการและการฝึกอบรมต่าง ๆ

🔹การสนับสนุนด้านพลังงานสะอาดและ ESG: สนับสนุนพลังงานสะอาดและนโยบาย ESG ในการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

3️⃣ #Amazon Web Services (#AWS)

🔸AWS Asia Pacific (Bangkok) Region: สร้างศูนย์ข้อมูล #Hyperscale ระดับโลกแห่งแรกในไทยด้วยงบประมาณกว่า 190,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี เพื่อให้เกิดการใช้ Cloud ให้ครบในทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการบริการด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน

🔸 การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล: เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

🔸 การพัฒนาเทคโนโลยี AI, Machine Learning, Data Analytics และ IoT: ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่สำคัญที่จะสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ 

#บีโอไอ ได้มีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงยังสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานที่อาศัยทักษะทางดิจิทัลให้กับคนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีให้กลายเป็นแรงดึงดูดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top