Tuesday, 14 May 2024
การลงทุน

'รมว.ศก.ญี่ปุ่น' ยาหอมไทย!! พร้อมหนุน 'ความสัมพันธ์-การลงทุน' ทุกด้าน หลัง 'นายกฯ เศรษฐา' โชว์วิชัน-ชวนลงทุนไทย ต่อหน้า 500 นักธุรกิจญี่ปุ่น

(15 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมอินพีเรียลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธ.ค. เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง 

จากนั้น นายเศรษฐา กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา 'Thailand-Japan Investment Forum' ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมเข้าร่วมงานด้วย โดยมีนายไซโต รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งเป็นการสัมนาใหญ่ระหว่างสองประเทศด้านเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสถานการโควิด-19 คลี่คลาย

โดยนายกฯ เศรษฐา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ขอบคุณและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รัฐบาลไทยเร่งดําเนินการเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีและยาวนานกว่า 136 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การค้า, การลงทุน และสังคม ได้แก่...

1.คือความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีกว่า 136 ปี เป็นมิตรแท้ที่มีความสัมพันธ์กันในทุกระดับ ทั้งราชวงศ์, รัฐบาลและภาคธุรกิจไปถึงภาคประชาชน มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท มีชาวญี่ปุ่นในไทย 80,000 คน

2. รัฐบาลมีแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจไทย วันนี้รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจใหม่, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจสีเขียว, อุตสาหกรรมเอไอ, การวิจัย และพัฒนาสตารท์อัปให้เติบโตในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายญี่ปุ่นที่เน้นเทคโนโลยีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บริษัทใหญ่ไปจนถึงบริษัทท้องถิ่น หวังว่าไทยจะเป็นจุดมุ่งหมายของพวกท่าน แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้น อัดเงินเข้าระบบ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน 

ขณะที่ด้านการค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ เชื่อว่าจะขยายได้อีกซึ่งครอบคลุมสินค้าได้หลากหลาย ส่วนด้านการลงทุนมีโครงการบีโอไอก็มีการส่งเสริมกว่า 4,000 โครงการ โดยการลงทุนญี่ปุ่นมีส่วนผลักดันให้เศรษกิจไทยโตอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย เป็นเวลา 50 ปีที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

เราไม่ลืมและสนับสนุนให้แข่งขันเติบโตได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์สู่ระดับสากล ด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม พัฒนา 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ต่อยอดภูมิปัญหา เป็นโอกาสต่อยอดของญี่ปุ่นในการพัฒนา เกมส์ ภาพยนต์ หรืออนิเมชัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าความพร้อมด้าน Creative Industry ของไทยไม่เป็นรองใคร พิสูจน์ได้โดยรางวัลต่างๆ ทั่วโลกที่สร้างด้วยฝีมือคนไทย

ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน ไทยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ขอเชิญชวนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ไปด้วยกัน โดยประเทศไทยมีความพร้อมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) และกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น Green Hydrogen ที่จะกลายเป็นแหล่งพลังงานแห่งอนาคต

3. ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน, ทางน้ำ, ทางราง และทางอากาศ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของ โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีอีซีแล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 4 ล้านล้านเยน เพื่อสร้างเส้นทางการค้าการขนส่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยท่าเรือ, ระบบราง และระบบถนน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและซัพพลายเซนในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สุดท้ายนี้ ผมในนามรัฐบาลไทยให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าขยายการเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเร่งปรับปรุงบริการภาครัฐเพื่อทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศต่อไป” นายกฯ เศรษฐา กล่าว

ด้านนายไซโต กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยเป็นพันธมิตรสำคัญร่วมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลักบนพื้นฐานความไว้วางใจที่สั่งสมมายาวนานของทั้งสองประเทศ ปีนี้ครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพญี่ปุ่นอาเซียน ความร่วมมือที่ผ่านมาได้สะสมความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ...

1. การสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต เปิดสายงานที่ญี่ปุ่นถนัด เช่น พลังงานสะดาด รถยนต์ในยุคต่อไป การบินและอวกาศ รวมถึงการแพทย์ขั้นสูง 

2. ความมั่นคงด้านพลังงาน และลดคาร์บอนไปพร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะผลักดันความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมในการลดคาบอน เพราะญี่ปุ่นกำลังดำเนินการกับไทยอยู่หลายโครงการ 

และ 3. คือการพัฒนาบุคคลที่เป็นพื้นฐานความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคต มีการเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนนักธุรกิจรุ่นเยาว์ เพื่อให้มีความสัมพันธ์ร่วมกันเหมือนที่เรามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและความไว้วางใจซึ่งกันและกันตั้งแต่รุ่นก่อน

นายไซโต กล่าวอีกด้วยว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตญี่ปุ่นได้เข้ามาไทยในช่วงปี 1960 ตั้งแต่นั้นมา 60 ปี มีการสร้างงานร่วมกันในอุตสาหกรรมนี้อย่างมั่นคง แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการลงทุนของสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันระดับโลกทวีความรุนแรง ญี่ปุ่นต้องการให้อาเซียนโดยเฉพาะไทยที่ถูกขนาดนามว่าดีทรอยต์อาเซียนที่แข็งแกร่ง เป็นที่สร้างยานยนต์ในยุคต่อไปเพื่อให้แข่งขันในโลกได้ เพราะนอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีรถยนต์ไฮโดรเจน และเอสทานอล ที่ต้องพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ และต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกและพัฒนายานยนต์เชิงกลยุทธ์ และจับตาตลาดส่งออกยุโรป ที่ต้องการลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องตอบสนองในเรื่องดังกล่าว และอยากทำงานให้ครอบคลุมกับประเทศไทย โดยร่วมมือกับนายเศรษฐา และรัฐบาลไทยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของสองประเทศ และเร่งสร้างศูนย์การผลิตและการส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในยุคต่อไป และไม่ใช่แค่รถยนต์แต่ยังจะทำงานแข็งขันเพื่อกระชับความสัมพันธ์การลงทุนของทั้งสองประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วย

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงเป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการ แต่เชื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น

‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

เอกชนญี่ปุ่น สนลงทุน BCG ใน ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่-พลังงานสะอาด’

(31 ม.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้นำคณะจากอีอีซี เยือนเมืองนาโกย่า และเมืองโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ดร.สุวิทย์ ธนณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. นลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อชักจูงภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานใหม่แห่งอนาคตภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี และประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้พบกับ Mr. Yasuhiko Yamazaki, Executive Vice President และผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท DENSO Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก และได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อเนื่อง โดยหารือถึงโอกาสการขยายลงทุนจากบริษัทฯ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด และอีอีซี ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของอีอีซี สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจการลงทุนดังกล่าวมายังประเทศไทย รวมทั้งเข้าพบผู้บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รูปแบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และไฮโดรเจน ณ พิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan Museum พร้อมเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจน ที่ Toyota Eco ful Town ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้หารือถึงแนวทางการขยายผลนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ภาคขนส่งในพื้นที่อีอีซี 

นอกจากนี้ ยังได้พบกับ Mr. Yoshihiro Miwa กงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เมืองนาโกย่า และผู้บริหารระดับสูงบริษัท Kowa ซึ่งสนใจจะลงทุนผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือถึงการขยายลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฮโดรเจน ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้การลงทุน BCG รวมทั้งคณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Hideyuki Yokoyama นายกเทศมนตรีนครโอซากา โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างเมือง (City-to-City) รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ ร่วมกับเทศบาลนครโอซากา และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา (OCCI) เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอดจนสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ให้แก่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งคณะฯ ยังได้เข้าหารือกับ Mr. Junichi Ohmori, Executive Officer และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Industries ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการ สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือถึงโอกาสการขยายการลงทุนของบริษัทฯ มายังพื้นที่อีอีซีต่อไป

ดร.จุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับธนาคาร Mizuho Bank จัดงานประชุมสัมมนารับฟังความเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ณ อาคาร Mizuho Bank Marunouchi Head Office กรุงโตเกียว โดยเป็นการพบปะนักลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงเป้าหมายการเป็นเมืองธุรกิจคู่กรุงเทพฯ (EEC Capital City) และเมืองน่าอยู่ระดับสากล รวมถึงการให้ข้อมูลกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี ให้ความสนใจ อาทิ Ministry of Land, Infrastructure, Transportation and Tourism (MLIT), Urban Renaissance Agency (UR), บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, Tokyo Corporation และบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน 

สำหรับ ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 183,702 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 - 2569) ให้เกิดมูลค่าการลงทุนจริง ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 4 แสนล้านบาท 

3 สถาบันการเงินระดับโลก เชื่อมั่น!! เปิดตัวบริษัทในเซี่ยงไฮ้ หลังเปิดกว้างทางด้าน 'ธุรกิจ-การเงิน' ในระดับสูง

(1 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่างประเทศอันได้แก่ อัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์ (AllianceBernstein) อามันดิ (Amundi) และเคเคอาร์ (KKR) ได้จัดพิธีเปิดบริษัทพร้อมกันในมหานครเซี่ยงไฮ้ของจีน

บริษัทอัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์ ได้จัดตั้งบริษัทกองทุนสาธารณะที่บริษัทถือครองแต่เพียงผู้เดียวในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นบริษัทประเภทนี้แห่งที่ 5 ในจีน ขณะที่ อามันดิ ยังได้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค (fintech) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นบริษัทฟินเทคแห่งที่ 2 ในเซี่ยงไฮ้ที่ก่อตั้งโดยนักลงทุนต่างชาติ ส่วนเคเคอาร์ บริษัทจัดการสินทรัพย์ทางเลือกชั้นนำระดับโลกได้เปิดตัวบริษัทจัดการสินทรัพย์ ณ มหานครแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

การเปิดสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นผลสำเร็จมาจากการเปิดกว้างทางการเงินระดับสูงและการพัฒนาคุณภาพสูงของนครเซี่ยงไฮ้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อเศรษฐกิจและตลาดจีน

เซี่ยตง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้กล่าวในพิธีเปิดว่า การลงทุนในเซี่ยงไฮ้คือการลงทุนกับอนาคต และเซี่ยงไฮ้จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่ครอบคลุมอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด การลงทุน และการพัฒนา พร้อมสนับสนุนให้บรรดาสถาบันการเงินมาพัฒนาธุรกิจของตนในเซี่ยงไฮ้ 

อาเจย์ คาล (Ajai Kaul) ประธานกรรมการบริหารของของอัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์และผู้บริหาร Client Group ประจำเอเชียแปซิฟิก และจงเสี่ยวเฟิง รองประธานบริษัทอามันดิเอเชีย แสดงความมั่นใจในอุตสาหกรรมการจัดการสินทรัพย์ของจีนในอนาคต ทั้งคู่กล่าวว่าเหล่าสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์อันยาวนานที่สั่งสมมาจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์ระดับโลก เดินหน้าสำรวจตลาดจีน และจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย

‘ไทย’ คว้าอันดับ 2 ‘กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา’ ที่น่าลงทุนที่สุดในเอเชีย แซงหน้า!! ‘เวียดนาม’ หลัง Milken Institute ของสหรัฐฯ จัดทำขึ้น

(20 มี.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากการประกาศผลดัชนีโอกาสด้านการลงทุนระดับโลก (Global Opportunity Index) หรือ GOI ซึ่งจัดทำโดย Milken Institute สหรัฐอเมริกา พบว่า ไทยครองอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (Emerging and Developing : E&D) ที่น่าลงทุนที่สุด (https://milkeninstitute.org/report/global-opportunity-index-2024) 

ด้าน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดัชนี GOI จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั่วโลกที่มองหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ และให้ข้อมูลแก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยดัชนีนี้อิงตามตัวชี้วัด 100 รายการ แบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่

1. การรับรู้ทางธุรกิจ
2. พื้นฐานทางเศรษฐกิจ
3. บริการทางการเงิน
4. โครงสร้างเชิงสถาบัน
5. มาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 2 ในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย โดยอันดับ 1-5 กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย ไทย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ส่วนในอันดับโลก ไทยอยู่ในอันดับ 37 ทั้งนี้ กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย รายการการรับรู้ทางธุรกิจไทยอยู่อันดับ 21 ในพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อยู่อันดับ 22 บริการทางการเงินอันดับ 29 โครงสร้างเชิงสถาบันอันดับ 51 และมาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศอันดับ 68 โดยประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกได้แก่ เดนมาร์ก

โดยตามรายงาน ประเทศในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย มีผลประกอบการที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ดึงดูดเงินทุนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53.2%) ไหลเข้าสู่ประเทศ E&D ระหว่างปี 2018-2022 เพิ่มส่วนแบ่งใน E&D มากขึ้น 7.3% จาก 45.9% ระหว่างปี 2013-2017

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กำหนดนโยบายให้ทันสมัย สอดคล้องจูงใจนักลงทุน รวมทั้งพัฒนาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of doing Business) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับได้ออกไปรับฟังว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกต้องการคืออะไร เพื่อปรับกระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์ของไทยให้ตอบรับกับความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่ พร้อมกันนี้ Message สำคัญที่นายกรัฐมนตรีส่งต่ออย่างต่อเนื่องคือ ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุนในประเทศไทย” นายชัย กล่าว

‘บีโอไอ’ เผยยอดลงทุนไตรมาสแรก ปี 67 แตะ 2.28 แสน ลบ. 5 อุตฯ มาแรง!! ‘อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-เคมี-ดิจิทัล-การเกษตร’

(2 พ.ค. 67) บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2567 เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อน ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 724 โครงการ เงินลงทุน 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีทองแห่งการลงทุน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน 

โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ของบีโอไอ 

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท ตามลำดับ  

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107

“จังหวะเวลานี้มีความสำคัญ และเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรของไฟฟ้าและความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซัปพลายเชนที่แข็งแกร่ง คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจัยที่เอื้อสำหรับการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในไตรมาสแรกนี้ มีการลงทุนสำคัญเกิดขึ้นในไทยหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการผลิตเอนไซม์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการไบโอรีไฟเนอรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความพร้อมของไทยสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถตอบโจทย์การลงทุนในทิศทางใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกได้เป็นอย่างดี” นายนฤตม์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top