‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย