Thursday, 25 April 2024
พงษ์ภาณุเศวตรุนทร์

สิ่งที่ไทยต้องระวัง จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน หากมองว่า ‘สหรัฐฯ’ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องไกลตัว

(19 มี.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อาจต้องขี้นตาม ว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราเกินคาด ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 ระบุว่า...

ในวันนี้ หากมองไปถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แล้ว ถือเป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวผู้คนอย่างที่คิด แล้วถ้าหากใครคิดว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ เพราะในวันที่อเมริกาขึ้นดอกเบี้ยไปเยอะ แบงก์ชาติไทยก็มีแรงกดดันที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย

คำถาม คือ หากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม จะเกิดอะไรขึ้น?
ปกติแล้ว แบงก์ชาติไทย มีกรอบอัตราเงินเฟ้อเหมือนแบงก์ชาติอเมริกา โดยเขาจะมีสิ่งที่ภาษาการเงินเรียกว่า Inflation Targeting เป็นกรอบเป้าเงินเฟ้อว่าต้องไม่ให้เกินเท่าไหร่ จึงจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งของอเมริกานั้น จะอยู่ที่ 2% ส่วนไทยอยู่ที่ 3% และหากเงินเฟ้อออกนอกกรอบ 3% เมื่อไหร่ สถานการณ์แบบนี้แบงก์ชาติของไทยก็มีโอกาสที่จะต้องขี้นดอกเบี้ย เพราะอันนี้คือ สัญญาประชาคมของแบงก์ชาติ ที่ให้ไว้กับประชาชนและรัฐบาล ว่าเขาจะคุมเงินเฟ้อให้ไม่เกิน 3% หากจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ทว่าวันนี้ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8-3.9% ก็เกินจากกรอบ 3% เพราะฉะนั้นแบงก์ชาติจะต้องถูกบังคับให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ให้ดึงลงมาอยู่ในกรอบ 3% ที่สัญญาไว้กับประชาชน ถ้าผิดสัญญาถือว่าสอบตก

ดังนั้นในวันที่ระบบการเงินของไทย มีความเชื่อมต่อกันกับโลกพอสมควรนั้น จึงปฏิเสธได้ยากว่า ถ้าเกิดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละชาติมันมีความต่างกันเยอะ มันจะสะเทือนไปสู่ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไปในตัว เช่น...

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อน!! ความจำเป็น ‘จัดเก็บภาษี-กู้เงิน’ ในวันที่ประเทศต้องพัฒนาและปวงประชาต้องมีสวัสดิการ

(9 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ โดยข้องเกี่ยวกับภาษีที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องจ่าย รวมถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อนำมาต่อยอดประเทศในด้านต่างๆ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ถ้าย้อนความเรื่องของการจัดเก็บภาษี ก็ต้องบอกว่ามีมาช้านานแล้ว และไม่ใช่เพียงแค่ในรูปแบบของเงินเท่านั้นด้วย โดยในสมัยก่อนยังมีเรื่องของการเสียภาษีเป็นทาส กล่าวคือ การเอาคนมาเป็นทาส ถือเป็นการเก็บภาษีจากแรงงานของคน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ เป็นต้น

แต่แน่นอนว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการจัดเก็บภาษีก็เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถเข้ากับรูปแบบสังคมในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นไปในรูปแบบของการจัดเก็บเงินได้แบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่จะมีความต่างจากในสมัยก่อน เพราะเงินภาษีที่ประชาชนยอมสละส่วนหนึ่งไปให้รัฐฯ นั้น ก็เพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อ ไม่ได้หายไปเปล่า ๆ เหมือนดั่งเช่นในอดีต

ฉะนั้น เมื่อมักมีคนถามถึงเหตุผลที่รัฐฯ เข้ามาบังคับจัดเก็บภาษี ว่าเก็บไปเพื่ออะไร และทำไมจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีเท่านั้นเท่านี้...

ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเชิงปรัชญา เช่น เวลาเราถามว่า รัฐฯ คืออะไร และต้องใหญ่ขนาดไหน ซึ่งบางทีก็ต้องไปดูความต้องการของรัฐฯ ในประเทศนั้น ๆ ต้องการมีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะผูกพันและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละประเทศ แต่ละศาสนา แต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกันด้วย

‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ยกท่องเที่ยวไทย ‘ยุคเศรษฐา’ มาถูกทาง เปิดทางเอกชนโชว์ฟอร์ม ส่วนภาครัฐช่วยเป็นแรงหนุน

(4 มี.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็น การเติบโตที่นำโดยการท่องเที่ยว (Tourism-led Growth) ระบุว่า...

ต้องยอมรับว่า Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดเละเป็นไปได้ แต่ก็มีความท้าทายสูงในด้านการดำเนินการ (Implementation) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่แล้ว ต้องถือว่า Ignite Thailand มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญและมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ รวมทั้ง Medical Hub, Aviation Hub และ Financial Hub เป็นต้น การบริหารจัดการการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์นี้จึงหนีไม่พ้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี ททท. เป็นหน่วยงานหลัก แต่ความท้าทายน่าจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในสาขาทั้ง 8 สาขา ซึ่งจำเป็นต้องทลายกำแพงที่กีดขวางการทำงานแบบบูรณาการข้ามหน่วยงานของระบบราชการไทย

วันนี้การท่องเที่ยวของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างมากจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจของภาครัฐแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่มาจากความสามารถของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม, ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ 

การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นหนึ่งของโลกตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องจัดโครงสร้างการบริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวใหม่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP ลดบทบาทภาครัฐให้เหลือเพียงการวางนโยบายและการกำกับดูแลรวม ทั้งการให้การสนับสนุน/อุดหนุนทางการเงินเท่าที่จำเป็น และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการเข้ามาเป็นผู้เล่นแข่งกับธุรกิจเอกชน บทบาทในการลงทุนและการบริหารจัดการต้องเป็นของภาคเอกชนเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นและอาจเป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาล คือ การปลดล็อกข้อจำกัดในด้านกฏระเบียบข้อบังคับ และการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันต้องถือเป็นข้อด้อยที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข้อจำกัดทางกฎหมายของไทยมีอยู่มากมาย เพียงไม่กี่เดือนของรัฐบาลนี้ ได้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ปรับเปลี่ยนเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ ที่ต้องชมเชยก็คือ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์และสุรานำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เครื่องดื่มมีราคาลดลง สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร แต่ก็พึงต้องดูแลให้เครื่องดื่มนำเข้าเหล่านี้เสียภาษีอย่างครบถ้วน

ประการสำคัญที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถเป็น Hub ในด้านต่างๆ ได้เลย หากภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยยังไม่เปิดเสรี แม้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าไปมากแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายบริการ ทุน และแรงงานข้ามพรมแดนอยู่มาก แรงงานมีฝีมือยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์, วิศวกร, นักกฎหมาย การจะเป็น Hub ได้อย่างเต็มปากจำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เป็นที่สุดของโลกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top