Thursday, 23 May 2024
โลกร้อน

'พิธา' แนะ!! รับมือโลกร้อนต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ปรับพฤติกรรมอย่างเดียว ไม่พอ!!

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า... 

เศรษฐกิจสีเขียว: การรับมือสภาวะโลกร้อนต้องใช้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเท่านั้น

ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมาที่ผมได้ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมได้เห็นกับตาตัวเองถึงผลกระทบของความผันผวนในสภาพภูมิอากาศต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในภาคการเกษตร และพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม 

ปี 2563 เป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรติดลบ 6% และ GDP ภาคเกษตรติดลบ 1.5% ในปี 2564 ที่จังหวัดชัยภูมิซึ่งผมเดินทางไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา เพิ่งประสบภัยน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปี เหตุการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาในระดับโลก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายุโรปก็เพิ่งเผชิญกับน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 400 ปี และในเดือนกันยายนที่ผ่านมานครนิวยอร์กก็เพิ่งเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมฉับพลันครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างที่ผมกำลังเดินทางลงพื้นที่ติดตามปัญหา ที่ดิน การเกษตร และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมในหัวข้อ Green Economic Recovery หรือการพลิกฟื้นและพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักการความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR - ASEAN Parliamentarians for Human Rights)

ผมได้ย้ำต่อที่ประชุมว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดบนฐานของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ยกตัวอย่างกรณีของประเทศไทยในปี 2563 GDP ของเราติดลบจากโควิด 6% แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรกับภาวะโลกร้อน วิกฤติเศรษฐกิจที่จะตามมาจะเลวร้ายกว่าในปัจจุบันอีกมาก 

จากการประเมินของบริษัท Swiss Reinsurance Company บริษัทประกันภัยต่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก การปล่อยให้โลกร้อนขึ้นบนเส้นทางของการร้อนขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสในปี 2643 GDP ของประเทศไทยจะติดลบสะสม 48% ในปี พ.ศ. 2591 ซึ่งจะเป็นความพังพินาศทางเศรษฐกิจที่มากมายมหาศาลกว่าวิกฤติโควิดมาก แต่ถ้าโลกสามารถจำกัดภาวะโลกร้อนได้ต่ำกว่า 2 องศาตามเป้าหมายของ Paris Agreement แล้ว GDP ของไทยจะติดลบสะสมจากโลกร้อนเพียง 5% ในปี พ.ศ. 2591

แล้วในตอนนี้ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางไหนในการรับมือภาวะโลกร้อน? จากการประเมินของ Climate Action Tracker ซึ่งเป็น Consortium ระหว่าง 3 สถาบันวิจัยระดับโลกด้านภูมิอากาศนั้น นโยบายของประเทศไทยในด้านภาวะโลกร้อนอยู่ในระดับ “ไม่เพียงพออย่างร้ายแรง” (Critically insufficient) และจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในระดับ 4 องศา 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือวิกฤติโควิดในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออย่างยิ่งต่อการรับมือกับสภาวะโลกร้อน การล็อกดาวน์จากโควิดนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนอย่างสุดขั้วให้คนเดินทางไปไหนไม่ได้เลยแล้วก็เป็นการลดการบริโภคของประชาชนจน GDP โลกตกอย่างมหาศาล ถึงกระนั้นทั้งโลกก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 6% เท่านั้นจากวิกฤติโควิด

การจะทำได้ตามเป้าหมายของ Paris Agreement ที่จำกัดสภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 - 2 องศา นั้น ทั้งโลกต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2573 และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากระบบเศรษฐกิจให้เหลือศูนย์ หรือเป้าหมาย “Net-Zero Emission” ให้ได้ภายในปี 2593 

50 มหานครโลก​ เสี่ยง!! จมบาดาล​ในไม่ช้า หลังภาวะโลกร้อนถึงจุดวิกฤติ

โลกกำลังส่งสัญญาณเตือนรุนแรงว่า​ 'ยุคสมัยแห่งน้ำท่วมโลก'​ อาจมาถึงเร็วขึ้นในอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้า ท่ามกลางภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภัยแล้ง, วาตภัย, น้ำท่วมใหญ่ ปรากฏการณ์ธรรมชาติอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ 

ล่าสุด จากผลการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย Princeton University สหรัฐอเมริกา และ สถาบัน Potsdam Institute for Climate Impact Research ในเยอรมัน พบว่า อุณหภูมิโลกมีโอกาสสูงขึ้นได้อีกถึง 3 องศา ซึ่งจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลายเร็วยิ่งกว่าเดิม 

และหากเป็นเช่นนั้น พื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์กว่า 2 ใน 3 รวมถึงมหานครของโลกกว่า 50 เมือง ตลอดแนวชายฝั่งที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก จะมีโอกาสจมบาดาลจนอาจไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป 

เพื่อให้มนุษย์เราได้ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้ง 2 สถาบัน​ จึงร่วมกันจำลองภาพมหานครในโลกอนาคต เมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีก 3 องศา เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ที่โลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติโลกร้อนแล้วในขณะนี้ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

โดยได้ยกตัวอย่างน้ำท่วมในมหานครนิวยอร์ก​ ที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งพื้นที่บนเกาะอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพจะจมหายไปเหลือเพียงฐานอนุสาวรีย์ที่พ้นน้ำ และพื้นที่ฝั่งแผ่นดินในเมือง น้ำจะท่วมลึกเข้าไปหลายส่วน

ด้านชายฝั่งตะวันตกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เช่น ท่าเรือในเมืองซานตา มอมิก้า หรือแม้แต่ในตัวเมืองใหญ่ๆ ในเมืองฟิลาเดลเฟีย หรือแม้แต่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็มีโอกาสน้ำท่วมได้เช่นกัน 

ส่วนเมืองสำคัญในประเทศอื่นๆ อาทิ กรุงฮาวานา ของคิวบา, นครมุมไบ ในอินเดีย, กรุงฮานอย ในเวียดนาม หรือแม้แต่กรุงลอนดอน ในอังกฤษ ก็อาจอยู่ในสภาพจมมิดบาดาล​ จน​ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ รวมถึงหลายเมืองใหญ่ๆ​ ในเอเชียที่อาจต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมสูง ที่ทีมวิจัยเตือนว่าประเทศในเอเชียควรเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมครั้งใหญ่ไว้ล่วงหน้าเลยจะดีกว่า 

“บิ๊กตู่”ปลื้ม 2 เด็กไทยเข้าร่วม Youth4Climate ชวนคนรุ่นใหม่ร่วมกันปกป้องโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ย้ำ” รัฐบาลมีแผนงานแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจก

ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเลื่อนการประชุมจากวันอังคารที่ 2 พ.ย. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง

โดยก่อนการประชุม เมื่อเวลา 08.50 น. ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  นำนางสาวพัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย และนางสาวอมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อรายงานผลการเข้าร่วมกิจกรรม Youth4Climate : Driving Ambition ในฐานะตัวแทนเยาวชนไทย โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

นายอนุชา กล่าวรายงานถึงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26  (COP26 ) ว่า องค์การสหประชาชาติ ได้จัด youth4Climate Pre Cop 26 ควบคู่ไปด้วย โดยประเทศไทยมีตัวแทนเยาวชน 2 คน ได้แก่  นางสาวพัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย 16 ปี มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนานาชาติไทยจีน  และนางสาวอมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์  ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ผู้แทนประเทศจากผู้สมัคร 8,700 คน ทั่วโลก เพื่อร่วมกับผู้นำเยาวชนด้านสภาพอากาศประมาณ 400 คนทั่วโลก เสนอแนวคิดและข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสภาพภูมิอากาศภายใต้การพัฒนาแบบยั่งยืน ในการประชุม Youth4Climate : Driving Ambition ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2564 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนการประชุมโดยรัฐบาลประเทศอิตาลีและ UN Secretary General’s Envoy on Youth & Government of Italy   เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ปกป้องโลกของเราจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เนื่องจากคนรุ่นใหม่ จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต   ขณะเดียวกัน เยาวชนเหล่านี้ ก็จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลอีกด้วย

ขณะที่น้องเอม และน้องเกรซ กล่าวถึงการนำเสนอแนวคิดในการประชุม Youth4Climate : Driving Ambition ว่า การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภาวะโลกร้อน ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้มีการหารือเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านมิติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเร่งแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา สิทธิมนุษยนชน ความเหลื่อมล้ำ อีกด้วย โดยจะได้ทำงานขับเคลื่อนสร้างการรับรู้แก่คนรุ่นใหม่ในวัยเดียวกัน หรือ วัยเด็ก ด้วยการทำงานจิตอาสา “พี่สอนน้อง” ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในมุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศอย่างยั่งยืนด้วย 

‘พิธา’ ตั้งโพเดียมกลางน้ำ เปิดนโยบายสิ่งแวดล้อม ลั่น!! เอาจริง แก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ

(24 ก.พ. 66) ที่ชุมชนปากคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงเปิดนโยบาย 'สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า' ซึ่งเป็นชุดนโยบายที่ 7 จากทั้งหมด 9 ชุดนโยบาย

การเปิดนโยบายครั้งนี้ มีจุดเด่นคือ การตั้งโพเดียมกลางน้ำ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการกล่าวถ้อยแถลงของรัฐมนตรีการต่างประเทศ ของประเทศตูวาลู ในช่วงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) โดยพิธากล่าวว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนมากกว่าที่คิด และส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประชาชน เช่น ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและถี่ขึ้น

จากตัวอย่างพื้นที่ปทุมธานี ที่เป็นสถานที่แถลงนโยบาย คนในชุมชนนี้บอกว่าในอดีตน้ำท่วม 2-3 เดือนต่อปี แต่ปัจจุบันน้ำท่วม 5-6 เดือนต่อปี หรือเมื่อ พ.ศ. 2549 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมี 10 ล้านไร่ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 27 ล้านไร่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกที่ระบุว่าปี 2011-2045 (พ.ศ. 2554-2588) โลกร้อนจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยราว 3 ล้านล้านบาท ผลิตพืชต่าง ๆ ได้น้อยลง เช่น ข้าวน้อยลง 13% มันลดลง 21% อ้อยลดลง 35%

หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า รัฐบาลอาจบอกว่าเราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับสหประชาชาติ แต่ตัวเลขเหล่านั้น เราเก็บเอง เขียนรายงานเอง ต่างจากการประเมินโดยองค์กรระหว่างประเทศ ที่บอกว่าการรับมือในเรื่องนี้ของไทยอยู่ในระดับ ’ไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ’ (Critically Insufficient) และหากทำตามนโยบายปัจจุบันของรัฐบาลต่อไป จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา ในขณะที่ความพยายามของทั้งโลก ต้องการให้ต่ำกว่า 2 องศา

“ปัญหาโลกร้อนเป็นภัยความมั่นคงของยุคปัจจุบัน นี่คือศัตรูตัวจริงของรัฐบาล ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารแบบเดิมอีกต่อไป ดังนั้น พรรคก้าวไกลต้องการประกาศศึกกับภาวะโลกร้อน โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเชิง ‘รับ’ เพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และในเชิง ‘รุก’ ที่รุกไปที่ต้นตอของปัญหา เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้จริง ควบคู่กับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม” พิธากล่าว

สำหรับชุดนโยบาย ’สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า’ ของพรรคก้าวไกล ต้องการเอาจริงกับปัญหาโลกร้อน ผ่านนโยบายเชิงรุกและเชิงรับ ต่อไปนี้

(A) เชิงรุก : เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

ด้านการผลิตไฟฟ้า = เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมไฟฟ้าสะอาดพลังงาน :
1.) หลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ครัวเรือน
2.) ปลดล็อกระเบียบ สร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรีของประชาชน
3.) ประกันราคา ไฟฟ้าพลังงานสะอาด สำหรับครัวเรือน
4.) ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด ภายใน 2035 (พ.ศ.2578)

ด้านการเกษตร = ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้ :
5.) กำจัดการเผาภายใน 3 ปี งบปรับตัวตำบลละ 3 ล้านบาท 1,000 ตำบล
6.) เปลี่ยนการเผาเป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร งบอุดหนุนปลูกข้าว ’เปียกสลับแห้ง’ แทนการเผา สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าว-ซังข้าวโพดแทนการเผา
7.) 1 ฟาร์มปศุสัตว์ 1 บ่อหมักก๊าซชีวภาพ (เป็นอย่างน้อย) เปลี่ยนมีเทนเหลือทิ้งให้เป็นพลังงาน

ด้านอุตสาหกรรม = จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม :
8.) กำหนดเพดานและเปิดตลาด (Cap & Trade) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนโควตา
9.) PRTR – กฎหมายเปิดข้อมูล บังคับให้ทุกโรงงานเปิดข้อมูล สารพิษอันตรายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้านการขนส่ง = ปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด :
10.) รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ภายใน 7 ปี
11.) วันขนส่งฟรี รณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว
12.) เปลี่ยนรถไฟดีเซลเก่าเป็นไฟฟ้า
13.) ตรวจสภาพรถยนต์ฟรี! ปีละครั้ง
14.) ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง

ผลรายงาน ชี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง ไม่คืบหน้า!! ลดการปล่อยมลพิษ ตั้งแต่ปี 2018

จากรายงานของ ESG Book ชี้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ไม่ได้ดำเนินมาตรการอะไรเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ที่เป็นตัวการสร้างความร้อนให้กับโลก และการกระทำเหล่านี้ ทำให้โลกยากต่อการหลีกเลี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างรุนแรง พร้อมเผยว่า บริษัทหลายแห่ง มีแนวโน้มการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยให้เกิดภาวะโลกร้อนในระดับที่รุนแรง หรือ ปกปิดค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 

ผู้ให้บริการข้อมูลด้านความยั่งยืนชั้นนำ พบว่า มีความพยายามเพียง 22% ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งของโลก มีการดำเนินการที่สอดคล้องไปกับ ‘ความตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Levels) 

นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ วิเคราะห์ว่า การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นอกจากนี้ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้ง ไฟป่า และการขาดแคลนอาหารอาจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ราว 45% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร้อนอย่างน้อย 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับความร้อนรุนแรง ที่อาจทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องเผชิญอากาศร้อนจัดจนเป็นอันตรายได้ 

‘ดาเนียล ไคลเออร์’ ประธานเจ้าหน้าที่ ESG Book กล่าวว่า ข้อมูลของพวกเขาสื่อความหมายอย่างชัดเจน ที่ผู้คนต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น และต้องรีบจัดการอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในวิธีการดำเนินงานของเศรษฐกิจโลก มันก็ไม่ชัดเจนว่า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้อย่างไร

ในการวิเคราะห์ของ ESG Book กำหนด ‘คะแนนอุณหภูมิ’ ให้กับบริษัทโดยอ้างอิงข้อมูลการปล่อยก๊าซที่รายงานต่อสาธารณะ และปัจจัยต่างๆ เช่น เป้าหมายการลดมลพิษ เพื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมของริษัทในการบรรลุสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการวิเคราะห์นี้ ครอบคลุมบริษัทในสหราชอาณาจักร จีน อินเดีย และสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท 

โดยความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ และจีนเริ่มดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยในสหรัฐฯ บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 20% เพิ่มจาก 11% ในปี 2018 ส่วนในจีน บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 12% เพิ่มจาก 3% ในปี 2018

นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมเงินทุนให้มุ่งสู่เทคโนโลยีหมุนเวียนมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ คาดว่า การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ จะแซงหน้าการลงทุนในการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ‘IEA’ คาดว่า จะมีเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 34.5 ล้านล้านบาท จะไหลไปสู่น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินในปีนี้

ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในชุดข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โลกอยู่ห่างออกไปจากเส้นทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ อย่าง Shell และ BP กำลังเปลี่ยนความสนใจหันมาสู่การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล หลังจากผลกำไรพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมัน และก๊าซพุ่งทะยาน

ไคลเออร์ กล่าวว่า การผสมผสานระหว่างนโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวดมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะต้องนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
 

‘วราวุธ’ สวน!! โซเชียลวิจารณ์นโยบายลดใช้ถุงพลาสติกช่วยหรือซ้ำเติม แนะ!! ดูสถานการณ์โลกบ้าง ฟากชาวเน็ตหนุน!! สิ่งแวดล้อมต้องช่วยกัน

(29 ต.ค. 66) มาตรการลดใช้ถุงพลาสติก งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เพื่อลดการกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพ รวมถึงส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยเริ่มลดการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ 1 มกราคม 2563

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก็เกิดการตั้งคำถามมากขึ้น เพราะลดการแจกถุงพลาสติกฟรีแต่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำหลากหลายพื้นที่กลับหันมาจำหน่ายถุงพลาสสิกสำหรับผู้ประสงค์จะซื้อถุงในราคาเริ่มต้น 15 บาท ว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนจริงหรือไม่

ดังที่มีเพจหนึ่งออกมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่า “งงกับนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสสิกของวราวุธ ห้างใหญ่สนองนโยบายไม่ให้ถุงแล้ว แต่หันมาขายถุงใบละ 15 บาท ช่วยหรือซ้ำเติม ปชช.กันแน่ วราวุธ”

งานนี้ ไม่ต้องสงสัยนาน เพราะ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาตอบกลับเอง โดยระบุว่า…

- “ก็ลองรวมหัวกันไม่ซื้อถุง ทำให้ห้างใหญ่ที่ผลิตถุงมาขายเจ๊งไปเลยสิครับ ได้ลองดูสถานการณ์โลกบ้างไหมครับ ว่าเข้าขั้นวิกฤตแค่ไหน”
- “สงสัยในประเด็นใดหรืออยากเปิดโลกทัศน์เพิ่ม ผมยินดีให้ความรู้ครับ”

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์ถึงประเด็นการงดแจกถุงพลาสติก ว่า…
- “ซื้อถุงก็ไม่จำเป็นต้องขายแพงขนาดนี้ก็ได้ครับ (ซื้อถุงเพราะความจำเป็นไม่ได้อยากซื้อ)”
- “เรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกคนต้องช่วยกัน ปัญหาถึงจะเบาบางลง ไม่มีทางแก้ปัญหาได้”
- “เจตนาคิดค่าถุงราคาสูงก็เพื่อให้ลูกค้าคิดว่าแพงจะได้เตรียมถุงมาเองอย่างน้อยก็มีคนคิดว่าแพงแล้วละถูกต้องตามเจตนา!!”

‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

‘ดร.เสรี’ ชี้!! ปีนี้มีสิทธิร้อนเพิ่ม ผลพวงที่ส่งต่อมาจากปี 2023

(11 ม.ค. 67) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #โลกร้อนสุด 2023 อะไรจะเกิดขึ้นตามมาในปี 2024 นอกเหนือการควบคุม

ปี 2023 เป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุด แต่อุณหภูมิเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นกว่า 1.48oC เมื่อ 100 ปีที่แล้ว และสูงกว่าปี 2016 ที่เคยเป็นสถิติสูงสุด ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ El Nino ที่กำลังเกิดขึ้น และคาดการณ์ว่าจะแตะระดับสูงสุด ในเดือนมกราคมปีนี้ ดังนั้นการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้วต่างๆจึงเกิดตามมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ดังตัวอย่างการเกิดคลื่นความร้อน และไฟป่าในแคนาดา US และยุโรป น้ำท่วมใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งน้ำท่วมรุนแรงในภาคใต้ประเทศไทย

จากข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันในปี 2023 ยังบ่งชี้ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (173 วันที่อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 oC) ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการใช้พลังงานฟอสซิล ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงยังคงไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วใด จะเกิดขึ้นบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อไรในอนาคต แม้แต่การคาดการณ์ปริมาณฝนยังมีความคลาดเคลื่อนสูง และไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าในระยะยาวเป็นรายเดือน รายฤดูกาล เป็นต้น เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลก็ยังสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน

ดังนั้นด้วยโมเมนตัม และการถ่ายทอดพลังงานความร้อนต่อเนื่องจากปี 2023 ทำให้ปี 2024 จึงเป็นปีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะร้อนกว่าปี 2023 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวบ่งชี้การเกิดขีดจำกัด 1.5oC ตามข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในรอบ 20-30 ปี และอาจจะแตะ 3oC จากการประเมินรายงาน NDC (National Determined Contribution) ของแต่ละประเทศที่ส่งมาในปัจจุบัน ดังนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และต้องเฝ้าระวังกันต่อไป 

เปิดใจ 'วิชัย ทองแตง' ลั่น!! ขอใช้ทั้งชีวิตจากนี้ตามรอย 'ศาสตร์พระราชา' พร้อมผุด 'หยุดเผา-เรารับซื้อ' แก้โลกเดือด แถมช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณวิชัย ทองแตง ทนายคนดังสู่มหาเศรษฐีของไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ในหัวข้อ 'บุกตลาดคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกเดือด'

คุณวิชัย กล่าวว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน โดยหลักง่ายๆ ที่วิชัยใช้สอนลูกหลาน คือ 4R ได้แก่ Rethink, Recycle, Reuse และ Reduce 

- Rethink ต้องคิดใหม่ว่าโลกใบนี้ห้อมล้อมเรา เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ 
- Recycle การนำเอาวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้งานแล้วมา 'แปรรูป' กลับเอามาใช้ใหม่ได้ 
- Reuse ง่ายกว่าเรื่องใดๆ เพียงแค่นำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไร 
- ส่วน Reduce พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยหรือลดการใช้ เมื่อมาถึงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนธรรมดาแล้วแต่เป็นโลกเดือด

เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงผลักดันทำให้คุณวิชัยสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม? คุณวิชัยตอบว่า "ผมจะไม่เพิกเฉยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันครอบครัวเราได้ตั้งมูลนิธิหนึ่งน้ำใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสตามชายแดน โดยปัจจุบันได้สร้างโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งล้วนเดินทางยากลำบากมาก 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ทีมงานของเราได้ขึ้นลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ก็ทำให้ได้รับรู้ปัญหาอื่นที่ควบคู่ ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านที่พูดถึงมหันตภัยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่พอจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ผมรับไม่ได้ เลยพูดคุยถึงแนวคิด 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านเผาป่า เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดเผา"

คุณวิชัย เผยว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ แปลงเป็นเงิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไปในตัว โดยนำสิ่งที่จะเผา เช่น วัสดุทางการเกษตรทั้งต้นทั้งซังมาขายให้กับเรา ด้วยการให้นักธุรกิจในพื้นที่รวบรวมจากชาวบ้านแล้วส่งมาที่โรงงาน จากนั้นทางโรงงานก็จะแปรรูปเป็นชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pallets) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น"

คุณวิชัย มองว่า ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการสูงในเรื่องนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีความต้องการ 10 ล้านตันต่อปีแล้ว และต้องการเซ็นสัญญายาวล่วงหน้า 20 ปี 

"หัวใจของธุรกิจนี้คือ ต้องมีวัสดุเหลือใช้มากพอเข้ามาป้อนโรงงาน จึงอยากให้นักธุรกิจในท้องถิ่นได้มีส่วนช่วยในการรวบรวมเศษวัสดุมาให้เรา ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ ตอนนี้เรามีหนึ่งโรงงานที่ อำเภอจอมทอง ส่วนโรงงานที่สองน่าจะเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

คุณวิชัย เล่าอีกว่า "รู้สึกเสียดายที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้ช้า เพราะหลักๆ เราใช้โมเดลที่ไม่ได้พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเลย โดยระดมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 300 ล้านบาท รับซื้อแบบไม่จำกัด ซึ่งการรับซื้อก็ช่วยสร้างความยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเติมความยั่งยืนให้กับชาวบ้านอีกว่า เงินของชาวบ้านจะสามารถเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้อีกอย่างไร...

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมได้คุยกับทาง กฟผ. แล้ว ถ้าเราสามารถสร้างโรงงานพร้อมกันได้ 10 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2568 ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทางภาคเหนือแล้ว ตอนนี้เรามีการขยายไปทางภาคใต้ด้วย เช่น การพัฒนาสนามกอล์ฟรูปแบบ Carbon Neutral ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ Carbon Neutral อันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ และทีมงานยังได้ศึกษาต้นปาล์มด้วยว่าสามารถนำมาทำ Pallets ได้ไหมสรุปว่าสามารถทำได้ก็จะขยายความร่วมมือและต่อยอดต่อไป"

เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย? คุณวิชัยกล่าวว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการเดินหน้าเป็นอย่างดี และมีการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเช่นกัน ผมได้เจอนักธุรกิจสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทุน 'เทมาเส็ก' หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ โดยกำลังทำแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนเครดิตระดับเอเชีย จึงอยากขอให้ไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาก็ตอบรับและเข้ามาประชุมแล้ว เรียกว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ร่วมมือกัน เพราะทางสิงคโปร์เองก็ต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย"

เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตคาร์บอนเครดิตในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? คุณวิชัยกล่าวว่า "ผมมองเห็นการเติบโต เราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศได้ วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หลายอย่างสามารถแปลงเป็นภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เกรซ' สามารถนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย และอื่นๆ มาแปลงเป็น ถ้วยชาม หลอด รักษ์โลก เราจึงพยายามเชื่อมโยงบริษัทฯ นี้กับพื้นถิ่นที่เรากำลังจะสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิต...

"เมื่อก่อนเราผลิตเพื่อทดแทนพลาสติก แต่ไม่สามารถทดแทนได้หมดเนื่องจากราคาสูง ปัจจุบันสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับพลาสติกแล้ว ต่างกันแค่ 20-30% และสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ สร้างความยั่งยืนได้ เมื่อย่อยสลายสามารถกลายเป็นปุ๋ยได้ และยังฝังเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ทำให้กลายเป็นต้นไม้ได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ...

"ส่วนการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากได้ทราบแนวคิดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซีย เลยมีแนวคิดนำคาร์บอนเครดิตลงไปแนะนำในท้องถิ่น ซึ่งถ้า SEC เกิดขึ้นจริง พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ในอนาคต"

เมื่อถามถึงเรื่อง BCG? คุณวิชัย เผยว่า "เราสนใจมานานแล้ว นักธุรกิจควรเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหลักโดยเฉพาะกองทุน ESG ต้องเชื่อมโยงกับกองทุนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พึ่งเริ่มทำ โดยพยายามถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ให้สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็น ESG ด้วยหลักคิดง่ายๆ 4 ประการ ได้แก่ Net Zeo, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประเทศตาม Passion ของผม เกษตรกรต้องไม่จน"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าจากโครงการ 'กวี คีตา อัมพวาเฟส' ที่ผ่านมา? คุณวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากแรงบันดาลใจเนื่องจากตนเป็นเขยสมุทรสงคราม มีความผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง ชอบธรรมชาติและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างโมเดล Cultural Carbon Neutral Event แห่งแรกของไทยและของโลก ด้วยการจัด Event วัฒนธรรมและสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย 

"ผมอยากให้เกิดโมเดลแบบนี้ไปทั่วประเทศ จึงเกิดการต่อยอดโดยหลานทั้งสองของผม อายุ 16 ปีและอายุ 14 ปี ที่มีความคิดอยากทำตาม Passion ของปู่ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral ให้ยั่งยืนต่อเนื่องกับอัมพวาจริงๆ ก็เลยมีแนวคิดเปลี่ยนเรือในคลองอัมพวา จากเรือสันดาปใช้พลังงานน้ำมัน เป็นเรือใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากคลองเฉลิมพระเกียรติ หรือคลองบางจาก ใน Concept Net Zero อัมพวา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลานๆ เกิดความสำนึกต่อการรักษ์โลกใบนี้ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งแล้ว...

"ขณะเดียวกัน ก็มี 'สวนสมดุล' ที่เกิดจากลูกชายคนเล็กของผม ที่ขอไปเป็นเกษตรกรตามรอยศาสตร์พระราชา ทุกตารางนิ้วในสวนเป็น Organic ทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย โดยมุ่งหวังสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไทยขึ้นมาซึ่งคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น รวมถึงยังเลี้ยงผึ้งชันโรง และตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง"

เมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชาถูกมาใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างไร? คุณวิชัยกล่าวว่า "หลังจากผมประกาศว่าเมื่อผมอายุครบ 70 ปี อยากทำตาม Passion ตัวเอง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เกษตร 2.การศึกษา 3.ร้านค้าปลีกโชห่วยที่ได้รับความเดือดร้อน ผมก็ได้เดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ แต่ทุกครั้งที่เดินสาย ถ้ามีโอกาสผมจะพูดถึงปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลึกซึ้งถ้าเรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะไม่ได้เพียงการดำรงชีวิตที่อยู่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ตัวเองทำ...

"ในหลวงท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี แต่แนวคิดท่านทำให้คนเริ่มบาลานซ์เทคโนโลยีกับวิถีชีวิตจริง วิถีเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนมาที่ตัวเราได้โดยไม่ต้องต่อต้านเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างเด็กเกษตรที่ผมเคยบรรยายก็ได้ตระหนักถึงปรัชญานี้ ผมจึงมีโครงการมาตรฐานการเกษตรที่ชลบุรีบ้านเกิดผม โดยจะแนะนำเทรนด์เรื่องการบริหารฟาร์มและสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า 'เกษตรหัวขบวน' เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เข้าใจแผนงานการตลาดและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญของ คุณวิชัย ที่สอดคล้องไปกับฉายา Godfather of Startup ว่าคืออะไร? คุณวิชัย เผยว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่ขาดเวทีในการแสดงความสามารถ ซึ่งตนประกาศว่ากำลังตามหายูนิคอร์นตัวใหม่ วันนี้จึงขอฝากถึงทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ไทยพบช้างเผือกในป่าลึก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ฝากถึงนักธุรกิจที่อยากประสบความ ก็ต้องยึดหลัก กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ด้วย

"สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมักจะขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการต่างๆ เช่น Collaboration, Connectivity, M&A ในการเริ่มต้นอย่าคิดว่าเก่งคนเดียวต้อง Collaboration ถ้าเก่งบวกเก่ง กลายเป็นซุปเปอร์เก่งเลย เราต้องทำให้สินค้าบริการให้ครบวงจร อย่ามอง Hedge Fund อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืน และต้องมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ อย่าทำผ่านๆ ไป เป้าหมายจะไปที่ไหน ต้องเขียน Roadmap อย่างไร ถามว่าคุณวิชัยเคยล้มเหลวไหม คุณวิชัยตอบว่า เยอะมาก จำไว้เลยนะครับว่าไม่มีใครสำเร็จอย่างเดียว และไม่มีใครล้มเหลวอย่างเดียว ความล้มเหลว คือ บทเรียนที่คุ้มค่าให้เราเรียนรู้ได้เสมอ อย่ากลัวความล้มเหลว"

คุณวิชัย ฝากทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้อีกด้วยว่า "ประเทศนี้ให้ผมมาเยอะแล้ว ผมต้องสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อคืนให้กับสังคม คืนให้กับประเทศชาติจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ ซึ่งเวลาผมไปบรรยายต้องให้ผู้ฟังช่วยปฏิญาณไปกับผมด้วยเสมอ คือ 1.เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น 2.เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม 3.เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นสิ่งที่ผมอยากปลูกฝังระบบคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป"

'อ.วีระศักดิ์' เผย!! ผลลัพธ์จากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมานานกว่า 50 ปี พามนุษยชาติก้าวสู่สมรภูมิ 'เกินธรรมชาติ' ที่ยากจะถอยกลับ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'โลกร้อนสู่โลกเดือด' 

เมื่อถามว่าภาวะโลกเดือดคืออะไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "เป็นปรากฏการณ์เกินธรรมชาติ ปกติเราจะสัมผัสอากาศร้อนทุก ๆ ปี แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ธรรมชาติแล้ว เกินธรรมชาติ เนื่องจากเราได้ก้าวย่างเข้าสู่สมรภูมิที่ถอยกลับไม่ทันแล้ว แต่แย่ลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากมนุษย์สร้างความเสียหายจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมายาวนานกว่า 50 ปี อุณหภูมิโลกเริ่มค่อย ๆ อุ่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และก้าวกระโดดในยุคที่เราเริ่มมีโทรศัพท์มือถือใช้และในยุคอุตสาหกรรมก็ก่อให้เกิดโลกร้อนอย่างรวดเร็ว"

อ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุเกิดจากภาคอุตสาหกรรม, การทำการเกษตร, การทำปศุสัตว์และการเผาป่า โดยแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้แก่...

1.มนุษย์ได้ทำลายที่ดินจำนวนมากเพื่อทำปศุสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก หรือจะเรียกว่า 'ปากพาพัง' ก็ได้  

2.ความสะดวกสบายในการขนส่ง 

3.เสื้อผ้า สิ่งทอ ทำให้เกิดขยะจากวัสดุ เสื้อผ้ามากมาย หรือการใช้พลังงานในการผลิตเสื้อผ้าที่เรียก Fast Fashion ซึ่งมีการผลิตออกมาในแต่ละฤดูกาลจำนวนมาก จึงทำให้ต้องโละเสื้อผ้าเก่ากลายเป็นขยะขนาดใหญ่ถูกนำไปทิ้งในทะเลทราย 

"ถ้ามองลงมาจากดาวเทียมในอวกาศก็จะเห็นกองเสื้อผ้าขนาดมหึมาที่มองเห็นได้ ในอเมริกาใต้ แอฟริกา ประมาณการได้ว่า Fast Fashion ได้ใช้พลังงานของโลกไปมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน" อ.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

เมื่อถามว่ามนุษย์จะต้องเจอผลกระทบใดบ้างจากโลกเดือด? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "ปัจจุบันนี้เราต้องสู้กับทั้งความร้อนและความชื้น เพราะอุณหภูมิในอากาศสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนผิวหนังภายในร่างกายเราอาจจะรู้สึกเกือบ 50 องศาเซลเซียส เพราะมันมีความชื้น ทำให้เหงื่อไม่ระเหย จึงทำให้รู้สึกอึดอัด ส่งผลให้เกิดฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้เวลาอยู่กลางแดดนาน ๆ...

"ปัจจุบันในต่างประเทศมีการประกาศคุ้มครองลูกจ้างพนักงานทั่วไป รวมถึงไรเดอร์เพื่อความปลอดภัยในเรื่องนี้ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับคลื่นความร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เช่น การเปิดเทอมในประเทศอาเซียนปีนี้ ให้นักเรียนสามารถเรียนหนังสือจากที่บ้านแทนเรียนที่โรงเรียน ส่วนฟิลิปปินส์มีการนำเอารถอาบน้ำมาจอดให้บริการประชาชนสามารถมาอาบน้ำเพื่อผ่อนคลายได้...

"ส่วนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาหน่วยงานรัฐมีการซื้อสีทาบ้านสีขาวสมทบให้กับคนผิวดำรับสีไปเพื่อไปทาบ้าน ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิไปได้ 2 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับที่อินเดียก็เปลี่ยนหลังคาให้สะท้อนความร้อนออกมาได้อย่างน้อย 1-2 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่เคยเห็นในประเทศไทย"

เมื่อถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนทุกคนควรทวงสิทธิในเรื่องนี้จากฝ่ายการเมือง ว่านโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประชาชนต้องทำอย่างไรในฐานะเจ้าของสิทธิ ซึ่งประชาชนต้องเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใหญ่ การปรับตัวเรื่องการบริโภคอาหารเนื่องจากอาหารจะมีราคาแพงมากขึ้น ต้องปรับตัวใช้จ่ายอย่างพอเพียง 

"เราต้องถนอมทรัพยากรและถนอมพลังงานมากขึ้น เช่น ในอินเดียรัฐบาลกลางร่วมลงทุนร่วมกันกับชุมชน โดยสร้างโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) คร่อมทางส่งน้ำ และลอยแผงโซลาร์เซลล์ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ส่วนไทยตอนนี้ก็มีการใช้โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่เขื่อนสิริธรและเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนไปแล้ว อีกประเด็นสำคัญหน่วยงานรัฐต้องมีแผนแก้ปัญหาในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับเมือง ส่วนการแยกขยะของครัวเรือน จริง ๆ เป็นวิธีฝึกเรา หัวใจสำคัญที่สุดคือ การถาม มีกี่บ้านที่ถามคนเก็บขยะว่าอยากให้เราแยกขยะอย่างไร เพราะคนเก็บขยะเค้ามีรายได้เพิ่มจากการนำขยะไปแยกเพื่อขาย แต่ถ้าไม่สื่อสารกันก็อาจจะนำขยะมารวมกันอยู่ดี ทำให้เสียเวลามากขึ้น" อ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top