'อ.วีระศักดิ์' เผย!! ผลลัพธ์จากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมานานกว่า 50 ปี พามนุษยชาติก้าวสู่สมรภูมิ 'เกินธรรมชาติ' ที่ยากจะถอยกลับ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'โลกร้อนสู่โลกเดือด' 

เมื่อถามว่าภาวะโลกเดือดคืออะไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "เป็นปรากฏการณ์เกินธรรมชาติ ปกติเราจะสัมผัสอากาศร้อนทุก ๆ ปี แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ธรรมชาติแล้ว เกินธรรมชาติ เนื่องจากเราได้ก้าวย่างเข้าสู่สมรภูมิที่ถอยกลับไม่ทันแล้ว แต่แย่ลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากมนุษย์สร้างความเสียหายจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมายาวนานกว่า 50 ปี อุณหภูมิโลกเริ่มค่อย ๆ อุ่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และก้าวกระโดดในยุคที่เราเริ่มมีโทรศัพท์มือถือใช้และในยุคอุตสาหกรรมก็ก่อให้เกิดโลกร้อนอย่างรวดเร็ว"

อ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุเกิดจากภาคอุตสาหกรรม, การทำการเกษตร, การทำปศุสัตว์และการเผาป่า โดยแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้แก่...

1.มนุษย์ได้ทำลายที่ดินจำนวนมากเพื่อทำปศุสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก หรือจะเรียกว่า 'ปากพาพัง' ก็ได้  

2.ความสะดวกสบายในการขนส่ง 

3.เสื้อผ้า สิ่งทอ ทำให้เกิดขยะจากวัสดุ เสื้อผ้ามากมาย หรือการใช้พลังงานในการผลิตเสื้อผ้าที่เรียก Fast Fashion ซึ่งมีการผลิตออกมาในแต่ละฤดูกาลจำนวนมาก จึงทำให้ต้องโละเสื้อผ้าเก่ากลายเป็นขยะขนาดใหญ่ถูกนำไปทิ้งในทะเลทราย 

"ถ้ามองลงมาจากดาวเทียมในอวกาศก็จะเห็นกองเสื้อผ้าขนาดมหึมาที่มองเห็นได้ ในอเมริกาใต้ แอฟริกา ประมาณการได้ว่า Fast Fashion ได้ใช้พลังงานของโลกไปมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน" อ.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

เมื่อถามว่ามนุษย์จะต้องเจอผลกระทบใดบ้างจากโลกเดือด? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "ปัจจุบันนี้เราต้องสู้กับทั้งความร้อนและความชื้น เพราะอุณหภูมิในอากาศสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนผิวหนังภายในร่างกายเราอาจจะรู้สึกเกือบ 50 องศาเซลเซียส เพราะมันมีความชื้น ทำให้เหงื่อไม่ระเหย จึงทำให้รู้สึกอึดอัด ส่งผลให้เกิดฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้เวลาอยู่กลางแดดนาน ๆ...

"ปัจจุบันในต่างประเทศมีการประกาศคุ้มครองลูกจ้างพนักงานทั่วไป รวมถึงไรเดอร์เพื่อความปลอดภัยในเรื่องนี้ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับคลื่นความร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เช่น การเปิดเทอมในประเทศอาเซียนปีนี้ ให้นักเรียนสามารถเรียนหนังสือจากที่บ้านแทนเรียนที่โรงเรียน ส่วนฟิลิปปินส์มีการนำเอารถอาบน้ำมาจอดให้บริการประชาชนสามารถมาอาบน้ำเพื่อผ่อนคลายได้...

"ส่วนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาหน่วยงานรัฐมีการซื้อสีทาบ้านสีขาวสมทบให้กับคนผิวดำรับสีไปเพื่อไปทาบ้าน ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิไปได้ 2 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับที่อินเดียก็เปลี่ยนหลังคาให้สะท้อนความร้อนออกมาได้อย่างน้อย 1-2 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่เคยเห็นในประเทศไทย"

เมื่อถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนทุกคนควรทวงสิทธิในเรื่องนี้จากฝ่ายการเมือง ว่านโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประชาชนต้องทำอย่างไรในฐานะเจ้าของสิทธิ ซึ่งประชาชนต้องเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใหญ่ การปรับตัวเรื่องการบริโภคอาหารเนื่องจากอาหารจะมีราคาแพงมากขึ้น ต้องปรับตัวใช้จ่ายอย่างพอเพียง 

"เราต้องถนอมทรัพยากรและถนอมพลังงานมากขึ้น เช่น ในอินเดียรัฐบาลกลางร่วมลงทุนร่วมกันกับชุมชน โดยสร้างโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) คร่อมทางส่งน้ำ และลอยแผงโซลาร์เซลล์ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ส่วนไทยตอนนี้ก็มีการใช้โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่เขื่อนสิริธรและเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนไปแล้ว อีกประเด็นสำคัญหน่วยงานรัฐต้องมีแผนแก้ปัญหาในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับเมือง ส่วนการแยกขยะของครัวเรือน จริง ๆ เป็นวิธีฝึกเรา หัวใจสำคัญที่สุดคือ การถาม มีกี่บ้านที่ถามคนเก็บขยะว่าอยากให้เราแยกขยะอย่างไร เพราะคนเก็บขยะเค้ามีรายได้เพิ่มจากการนำขยะไปแยกเพื่อขาย แต่ถ้าไม่สื่อสารกันก็อาจจะนำขยะมารวมกันอยู่ดี ทำให้เสียเวลามากขึ้น" อ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย