Sunday, 12 May 2024
SDGs

‘อนุทิน’ ชู!! ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ ปั้นอุตฯ ไร้มลพิษ ปูทางเมือง ศก.เทียบชั้น ‘บุรีรัมย์’

‘มท.1’ ประชุมหารือร่วมสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย-ผู้ว่าฯ สระบุรี ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ ย้ำ!! สิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญระดับชาติ พร้อมสนับสนุนสระบุรีเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

(19 ต.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประชุมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่ทุกคนให้ความสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ 

นายอนุทิน เผยว่า “ทุกฝ่ายต่างรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพบปะหารือร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนให้ความสำคัญ และตระหนัก พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่” 

นายอนุทิน กล่าวอีกด้วยว่า การขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ จะทำให้จังหวัดสระบุรี มีการพัฒนา และยกระดับก้าวไปสู่จังหวัดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จากเคยเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร (Hopeless) จนกลายมาเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย และภูมิภาคแห่งนี้

“การเริ่มโครงการจังหวัดต้นแบบที่จังหวัดสระบุรี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะต้องร่วมทำด้วยกัน ไม่ใช่การทำเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้าน ให้ทุกคนในพื้นที่รับรู้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยแนวคิด ‘ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที’” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าว

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีนโยบายสำคัญคือ การจัดการขยะที่ยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำลำคลอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐของทุกจังหวัดนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตามมาตรฐาน และคุณลักษณะ ใช้ในโครงสร้างอาคาร ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนำร่องนั้น ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบแนวทางของแต่ละจังหวัดที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่อาจมีชื่อโครงการไม่เหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน และจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 

ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ รวมถึงการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้การมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ทุกหลังเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco Tour เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

‘FWD’ ปรับทิศธุรกิจ มุ่ง ESG ควบคู่การดำเนินกิจการ ชู!! ‘พัฒนาเด็ก-ชุมชน-สร้างงาน-ให้ทุนประกัน’ ไม่แผ่ว

(20 ต.ค. 66) นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยถึงวิสัยทัศน์ด้าน ESG ต่อจากนี้ของกลุ่ม FWD ประกันชีวิต โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชน ผ่าน 6 ด้าน ได้แก่ Governance and risk management (การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง), Trust (การสร้างความเชื่อมั่น), Talent (ความสามารถ), Closing the protection gap (ปิดช่องว่างเรื่องหลักประกัน), Sustainable investment (การลงทุนที่ยั่งยืน) และ Climate change resilience (ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

“แม้ว่าเรามีงานที่ต้องทำในแต่ละด้านอีกมาก แต่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากของเราจะประสบความสำเร็จและยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์ ESG ของเราสอดคล้องกับ Sustainable Development Goals : SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยครอบคลุมทั้ง 7 ประการที่เราสามารถช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ SDG 3 (สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี), SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ), SDG 8 (การทำงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ), SDG 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน), SDG 10 (ความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลง), SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ)”

นายเดวิด กล่าวอีกว่า “FWD ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวล ด้วยการทำงานทางด้าน ESG ของเรา ยิ่งเฉพาะการควบคุมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนผ่านความรู้ความเข้าใจทางการเงิน พร้อมกับเสริมทักษะชีวิตระดับพื้นฐานผ่านโครงการระดับภูมิภาค JA SparktheDream ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็กนักเรียน 25,000 คน ในฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ภายในปี 2567”

สำหรับประเทศไทย FWD เพิ่งเปิดตัวโปรแกรม JA SparktheDream ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิ Junior Achievement Thailand เป้าหมายหลักคือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้มีความรู้พอๆ กับนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 1,000 คน ในช่วงภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2566 

ทั้งนี้ จากวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความเท่าเทียมกันให้กับสังคมในวงกว้าง รวมถึงการสร้างโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชน ทาง FWD ประกันชีวิต จึงมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ พร้อมเตรียมแผนการพัฒนาชุมชน โดยลงพื้นที่สํารวจและทำงานร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) คัดเลือกชุมชนลาหู่ ในดอยปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่ ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชน

โดยปี 2566 นับเป็นปีที่ 3 ที่ต่อยอด 3 โครงการหลักให้กับชุมชนลาหู่ ในดอยปู่หมื่น ได้แก่ โครงการธนาคารต้นกล้า ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการต้นกล้าชาและการทำงาน ร่วมกันในชุมชน, โครงการพัฒนาคุณภาพชา เพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม สร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับชาอัสสัมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพหลักของชุมชน

นอกจากนั้น การทำงานครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันมีชุมชนที่ให้การตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการมากถึง 33 ครัวเรือน และมีผลผลิตใบชาในปริมาณที่เพิ่มมากกว่า 50% ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาชุมชนอื่นเพิ่มเติม หวังสร้างความเท่าเทียมทางสังคม และความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

นายเดวิด กล่าวอีกด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ FWD ประกันชีวิต ในการลดความไม่เท่าเทียมกันและส่งเสริมโอกาสทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเด็กด้อยโอกาส บริษัทจึงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ‘Pimali Hospitality Training Center’ ศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส จังหวัดหนองคาย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“เรามอบความคุ้มครองการประกันสุขภาพที่สำคัญให้กับนักเรียน และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปีของ FWD ประกันชีวิต เราจึงมอบทุนการศึกษา 10 ทุน ให้กับเด็กๆ ในความดูแลของมูลนิธินี้ เพราะเล็งเห็นว่าศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กด้อยโอกาสจากทั่วประเทศด้วยทักษะที่จำเป็นใน 3 ส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมการบริการ ได้แก่ แผนกห้องพัก (การดูแลทำความสะอาด), แผนกบริการส่วนหน้า และแผนกครัว โดยโปรแกรมการฝึกอบรมที่ครอบคลุมมีระยะเวลาตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้ประสบการณ์การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงในสถานที่จริง การเตรียมความพร้อมนี้ทำให้พวกเขามีความรู้ และความสามารถที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานอย่างราบรื่น”

สำหรับกลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี (FWD Group) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชียที่มีลูกค้ามากกว่า 11 ล้านคนใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยในชื่อบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยก่อตั้งในไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 จนถึงขณะนี้ ครบรอบ 10 ปี มีเป้าหมายต่อจากนี้ที่จะมุ่งเน้นการทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ ESG และการดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง

‘SENA’ เปิดโครงการคอนโดใหม่ 'บ้านร่วมทางฝัน 6' ยืนยัน!! กำไรทั้งหมดบริจาคให้ ‘รพ.วชิรพยาบาล’

เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.66) ‘SENA’ เปิดตัวโครงการใหม่ ‘บ้านร่วมทางฝัน 6′ คอนโดมิเนียมบนถนนบรมราชชนนี อสังหาริมทรัพย์เพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงาน มูลนิธิบ้านร่วมทางฝัน นำกำไรทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายบริจาคให้โรงพยาบาล วชิรพยาบาล เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วย

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)  ได้เผยถึงการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ผ่านโครงการบ้านร่วมทางฝัน ว่า โครงการบ้านร่วมทางฝัน โดย ‘SENA’ ดำเนินมาถึง โครงการที่ 6 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นเวลากว่า 20 ปี

วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม โดยนำกำไรทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย สนับสนุนและช่วยเหลือโรงพยาบาลภาครัฐ เพื่อพัฒนาชีวิตผู้ที่เข้ามาทำการรักษาให้ดีขึ้น สร้างแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

มูลนิธิบ้านร่วมทางฝัน จึงเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนที่สร้างความสุขให้ผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยโครงการบ้านร่วมทางฝัน 6 นี้ เป็นโครงการล่าสุด ที่จะนำกำไรทั้งหมดมอบให้โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์

“โครงการบ้านร่วมทางฝัน เป็นหนึ่งในวิธีคิดที่จะบริจาคอย่างยั่งยืน ที่ SENA สามารถทำได้ในระยะยาว โดยใช้สิ่งที่เราถนัดที่สุด คือการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มาต่อยอดพัฒนาไปสู่การช่วยเหลือสังคมด้วยการสร้างที่อยู่อาศัยในราคาที่คุ้มค่า และนำกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้โรงพยาบาลรัฐ เป็นโครงการที่ตั้งใจทำเพื่อตอบแทนคืนสู่สังคมอย่างแท้จริงและจริงใจ”

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า ความพร้อมทางด้านสาธารณสุขและทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อให้สอดรับกับจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันโรงพยาบาลภาครัฐหลายแห่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอยู่มาก แม้ว่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่การรักษาจะสำเร็จไปไม่ได้หากยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ในนามตัวแทนโรงพยาบาลวชิรพยาบาลรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ มูลนิธิบ้านร่วมทางฝัน โดย SENA เห็นถึงความสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ โดยทางโรงพยาบาลจะนำเงินที่ได้รับมอบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและการศึกษาแพทย์ต่อไป

โครงการบ้านร่วมทางฝัน 6 ตั้งอยู่บนถนนบรมราชชนนี บนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ คอนโดมิเนียม สูง 19 ชั้น จำนวน 1 อาคาร รวมห้องพักอาศัยทั้งหมด 354 ยูนิต มีห้องแบบ 1 BEDROOM,1BEDROOM PLUS และ 2 BEDROOM ขนาดตั้งแต่ 24 ตารางเมตร จนถึง 47 ตารางเมตร รองรับที่จอดรถมากกว่า 134 คัน ราคาเริ่มต้นเพียง 1.7 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ไตรมาส 2/2569

การออกแบบห้องพัก ภายในเปิดโล่ง กว้างขวางรับแสงธรรมชาติได้เต็มที่ทุกมุมมอง เห็นวิวคลองบางกอกน้อย สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ ร่มรื่นด้วยธรรมชาติ ด้วยบรรยากาศสุดผ่อนคลาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ อาทิ Lobby lounge, สระว่ายน้ำระบบเกลือ พร้อม Jacuzzi, ฟิตเนส, สวน Rooftop, Laundry Room, ห้องประชุม, Co-Working Space ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนวัยทำงาน, Wi-Fi บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง, กล้องวงจรปิด CCTV, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง, แบ่งโซนระหว่างลูกบ้านและผู้มาติดต่อชัดเจน, รองรับจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(EV Charger ), Access Card สำหรับเข้า - ออก พร้อมระบบควบคุมรถเข้า - ออกโครงการ แบบบลูทูธ

การเดินทางสะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณะ โครงการตั้งอยู่ติดถนน ทางคู่ขนานถนนบรมราชชนนี  (ขาเข้า) สามารถเชื่อมต่อ ใจกลาง 3 เส้นทางหลัก ถนนบรมราชชนนี ถนนกาญจนาภิเษก และ ทางด่วนพิเศษประจิมรัถยา เข้า - ออกเมืองได้อย่างง่ายดาย ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีตลิ่งชัน หรือ บางบำหรุ) เพียง 3 ก.ม. และ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีบางขุนนนท์ เพียง 3 ก.ม. ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่สำคัญต่าง ๆ อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งคอมมูลนิตี้มอลล์ ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล อาทิ เช่น ช่างชุ่ย, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เมเจอร์ ปิ่นเกล้า, เดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้า, เดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์, เทสโก้ โลตัส, โรงพยาบาลเจ้าพระยา, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาล ตา หู คอ จมูก, โรงพยาบาลธนบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งทำเลศักยภาพที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในทุกด้าน มีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยหรือสำหรับลงทุน

บ้านร่วมทางฝัน 6 พร้อมเปิดให้ชมห้องตัวอย่างได้แล้ววันนี้ กำหนดเปิดขายอย่างเป็นทางการ 18 พ.ย. 2566 พบโปรโมชัน ห้องแต่งครบ Fully Furnished ราคาพิเศษ พร้อมร่วมลุ้นรางวัลต่าง ๆ ในงานมากมายสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1775 กด 99 หรือ sena .co.th

‘บีไอจี’ ผนึกกำลัง ‘น้ำมันกุ๊ก’ ร่วมลดปล่อยคาร์บอน ตัดวงจรก่อมลพิษในกระบวนการผลิตน้ำมันพืช

(24 ต.ค.66) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก ในการวัดและวิเคราะห์แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมันด้วย Carbon Accounting Platform ที่พัฒนาโดยบีไอจี

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ตอบรับเป้าหมายของประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608

“ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการมุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน โดยที่ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน”

นายอดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กล่าวว่า การนำนวัตกรรมรวมถึง Platform ที่เกี่ยวกับการสังเกตและวางแผนการผลิตเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ Carbon Accounting Platform ที่บีไอจีพัฒนาขึ้น โดยมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมันที่เป็น Green Industry จะช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเร่งผลักดัน ตอบรับกับกลยุทธ์ของน้ำมันพืชกุ๊กที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

‘ธพส.’ ผุด ‘สวนลอยฟ้า’ ย่านแจ้งวัฒนะ-หลักสี่ พื้นที่กว่า 5.4 ไร่ เพิ่มจุดพักผ่อนพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง พร้อมเปิดให้บริการปี 67

(25 ต.ค. 66) นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (DAD) หรือ ธพส. เผยว่า จากแนวความคิดที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ศูนย์ราชการฯ อีกจำนวน 40 ไร่ เพื่อยกระดับศูนย์ราชการฯ ให้เป็นมากกว่าสถานที่ทำงานหรือสถานที่ราชการ แต่เป็นพื้นที่ปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ล่าสุด ธพส. จึงได้จัดสรรพื้นที่ของอาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (Depot) ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า 2 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 8,662 ตารางเมตร หรือราว 5.4 ไร่ ใหญ่ที่สุดบนถนนแจ้งวัฒนะและย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ สวนลอยฟ้าแห่งแรกตั้งอยู่บนดาดฟ้าชั้น 11 อาคารจอดรถ Depot ขนาดพื้นที่กว่า 2,789 ตารางเมตร และแห่งที่สองอยู่บนดาดฟ้าที่จอดรถอาคาร A ขนาดพื้นที่ 5,872 ตารางเมตร เชื่อมต่อกับชั้น 2 ของอาคารจอดรถ Depot และเพิ่มความสะดวกของผู้ใช้บริการ

DAD ยังได้สร้างทางเดิน Skywalk ระยะทาง 213 เมตร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการ และเพิ่มความร่มรื่นด้วยการจัดให้มีพื้นที่สวนสาธารณะด้านหน้าอาคารอีก 1,701 ตารางเมตร บริเวณด้านหน้าของอาคาร โดยทั้งหมดที่ DAD พัฒนา จะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป ผู้มาใช้บริการและผู้ที่ทำงานในศูนย์ราชการฯ ได้เข้ามาใช้บริการได้

บริเวณชั้น 2 ของอาคารจอดรถ Depot เตรียมจัดวางเป็นพื้นที่สันทนาการ แบ่งเป็นสโมสรหรือคลับเฮ้าส์สำหรับนัดพบปะพูดคุยสังสรรค์ ลานสำหรับจัดกิจกรรม และอีกส่วนหนึ่งจะจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยได้ประสานกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เพื่อมาให้บริการ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะดำเนินการลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกัน

สำหรับอาคารจอดรถ Depot ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าศูนย์ราชการ เป็นอาคาร 11 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 1,632 คัน มีจุดหัวชาร์จรถ EV รองรับได้จำนวน 30 คัน ด้านล่างของอาคารมีรถ EV Shuttle Bus จอดให้บริการรับ-ส่ง ผู้มาใช้ติดต่อศูนย์ราชการฯ และผู้ใช้บริการต่าง ๆ การออกแบบก่อสร้างเป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 324 แผง ผลิตไฟฟ้าได้ 74,163.60 กิโลวัตต์ต่อเดือน ประหยัดพลังงานได้ 11.03% ต่อเดือน ซึ่งสวนสาธารณะลอยฟ้า และอาคารจอดรถ Depot คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567

“สิ่งที่ DAD มุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อให้ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนย่านหลักสี่ แจ้งวัฒนะ จึงผลักดันสองเรื่องสำคัญมาโดยตลอด คือการจัดการจราจร เพื่อลดความแออัด และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากเราจะใช้นวัตกรรมในการสร้างอาคารที่ลดการใช้พลังงาน การจัดการน้ำเสียให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำฝนให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี DAD ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นทั้งสถานที่ทำงาน แหล่งสันทนาการและสถานที่พักผ่อน ที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสุขได้อีกทางหนึ่ง” กรรมการผู้จัดการ DAD กล่าว

นอกจากนี้ แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียว DAD ยังเตรียมปรับปรุง (Renovate) พื้นที่บริเวณ อาคาร B เพื่อเพิ่มความร่มรื่นและลดความแออัดจากจำนวนอาคารและประชาชนที่จะเข้ามาทำงานและติดต่อหน่วยงานราชการ โดยเตรียมปรับพื้นที่เพิ่มการปลูกต้นไม้รอบอาคารและเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะบริเวณอาคาร B และทางเชื่อมต่อกับอาคาร C โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาและการจัดการระบบการจราจร ได้แก่ การสร้างอุโมงค์ทางลอดขนาด 4 ช่องทางการจราจร และทางเชื่อมต่ออาคารระหว่างอาคาร B กับ อาคาร C โดยเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จะมีพื้นที่สีเขียวรวมทั้งสิ้นกว่า 145 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 449 ไร่ นับเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ

'การบินไทย' รีแคป!! 2 ทศวรรษแห่งการโบยบิน รันธุรกิจเคียงคู่ 'รักษ์โลก' ในทุกกระบวนการ

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว 'FROM PURPLE TO PURPOSE' การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อย่างลงตัว โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯ กำหนดไว้

'ประดิษฐ์-ส.จักรยานไทย' เนรมิต 'เหมืองทองคำอัครา' สู่พิกัดท่องเที่ยวเชิงกีฬา ขึ้นแท่นสนามแข่งเสือภูเขาระดับนานาชาติ พ่วงศูนย์ฝึกนักปั่นทีมชาติไทย

(26 ต.ค. 66) ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คมนาคม, อดีต รมช.คลัง และ สส.พิจิตร 4 สมัย เนรมิต ‘เหมืองทองอัครา’ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เป็นสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาตรฐานระดับนานาชาติ สามารถใช้เป็นศูนย์เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติไทย และเป็นศูนย์ฝึกซ้อมนานาชาติยิ่งใหญ่ระดับโลกครบวงจรทั้งครอสคันทรี่, ดาวน์ฮิล และอิลิเนเตอร์ ซึ่งจะมีการบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา โดยจะประเดิมใช้จัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ สนามที่ 5 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.67 เป็นรายการแรก

‘เสธ.หมึก’ พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับจังหวัดพิจิตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เดินหน้าในการส่งเสริมให้จังหวัดพิจิตร เป็นเมืองศูนย์กลางกีฬาจักรยานเต็มตัว มีสนามแข่งขันมาตรฐานครบวงจรทั้งในประเภทถนน บีเอ็มเอ็กซ์ และเสือภูเขา หลังจากความร่วมมือแรกในการดำเนินการสร้างเส้นทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ในโครงการพระราชดำริอุทยานระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงสีไฟ ที่จะประเดิมเปิดสนามอย่างเป็นทางการในการแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขาทางเรียบ และประเภทถนน ไทยแลนด์ โอเพ่น ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2566

พลเอกเดชา กล่าวว่า สำหรับประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ทาง อบจ.พิจิตร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิง ให้ได้มาตรฐานของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ในพื้นที่บึงสีไฟ โดยทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้ส่งทีมงานไปสำรวจพื้นที่มาเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับวางแปลนการก่อสร้างโดย มร.ฮาวีย์ เครป ผู้เชี่ยวชาญด้านบีเอ็มเอ็กซ์ของยูซีไอ และผู้ฝึกสอนบีเอ็มเอ็กซ์ทีมชาติไทย ขณะที่ประเภทเสือภูเขา ล่าสุด นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร มีโครงการจัดสร้างสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาตรฐานระดับนานาชาติที่สามารถใช้เป็นศูนย์เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติไทย และเป็นศูนย์ฝึกซ้อมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก โดยใช้พื้นที่ฟื้นฟูภายในเหมืองทองอัครา อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าว ฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วยทีมงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในเหมืองทองอัครา พบว่าพื้นที่ฟื้นฟูซึ่งไม่ได้ใช้งานเหมืองแล้ว มีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ที่มีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการกีฬา เนื่องจากมีทัศนียภาพสวยงาม มีบ่อน้ำรูปหัวใจที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรสำหรับชุมชนเกษตรกรในพื้นที่อำเภอทับคล้อ

พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น ได้รับรายงานจากฝ่ายเทคนิคว่าสภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันครอสคันทรี่ในระดับนานาชาติ ตามมาตรฐานของยูซีไอ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีพื้นที่ภูเขาที่มีความสูงเพียงพอในการจัดสร้างสนามแข่งขันดาวน์ฮิลที่มีความท้าทายทั้งในเรื่องระยะทางและเทคนิค ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการทั้งครอสคันทรี่และดาวน์ฮิลหาได้ยากมาก นอกจากนี้ก็จะทำสนามแข่งขันเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ เพื่อรองรับสำหรับการบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ในเรื่องการดำเนินการจัดสร้าง ท่านประดิษฐ์ยืนยันว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ทั้งในเรื่องการจัดหาเครื่องจักรที่จำเป็น ตลอดจนกำลังคนในการดำเนินการ เช่นเดียวกันกับความร่วมมือจากบริษัท อัครา รีซอสเซส ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำที่มีความประสงค์จะฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมืองเมื่อแล้วเสร็จ ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อพื้นที่ในทุก ๆ ด้าน เท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของการฟื้นฟูพื้นที่” พลเอกเดชา กล่าว

ทั้งนี้ พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า ในขั้นตอนถัดไป สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะส่งทีมงานฝ่ายเทคนิคจักรยานเสือภูเขา เข้าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด จากนั้นก็จะวางแผนการดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันทั้งครอสคันทรี่, ดาวน์ฮิล และอิลิมิเนเตอร์ เพื่อให้แล้วเสร็จทันการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2567 ที่จังหวัดพิจิตร จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนามที่ 5 ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ต่อไป

AIS ผุดแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ชวนลูกค้าทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

AIS ชูภารกิจ Zero e-waste to landfill ชวนลูกค้าทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ดีต่อโลก ดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผุดแคมเปญ ทิ้ง E-Waste กับ AIS รับทันที AIS Points

(26 ต.ค. 66) AIS เดินหน้าเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Hub of e-waste อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ชวนลูกค้านำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริมมือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก มาทิ้งกับ AIS ที่ศูนย์บริการ AIS Shop ที่ร่วมรายการ ผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste+ แพลตฟอร์มการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บน Blockchain ที่จะทำให้เรารู้สถานะการทิ้งตั้งแต่ต้นจนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบหรือ Zero e-waste to landfill รับทันที AIS Points สูงสุดถึง 5 คะแนน

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “เพื่อเป็นการตอกย้ำความพร้อมในการเป็น Hub of e-waste มุ่งสร้าง Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมไปจนถึงการสร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero e-waste to landfill ตามมาตรฐานสากล โดยการทำงานครั้งนี้เราได้ต่อยอดเทคโนโลยี Blockchain กับแอปพลิเคชัน E-Waste+ ในแคมเปญทิ้ง E-Waste รับ AIS Points เปลี่ยนทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างการมีส่วนร่วมให้คนไทยและลูกค้าตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ รวมถึงยังคำนวณขยะที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเป็นปริมาณเท่าไหร่จากการร่วมทิ้ง E-Waste ในครั้งนี้” 

สำหรับลูกค้า AIS สามารถร่วมแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ได้ง่าย ๆ เพียงนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ โทรศัพท์มือถือเก่า แท็บเล็ตเสีย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริมมือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ไม่ใช้แล้ว มาทิ้งกับ AIS ที่ศูนย์บริการ AIS Shop ที่ร่วมรายการ โดยสามารถทิ้งผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste + ก็รับทันที AIS Points สามารถดูรายละเอียดที่ https://sustainability.ais.co.th/th/update/e-waste/686/aisewaste-aispoints  

‘ที่ปรึกษา รมว.อุตฯ’ ร่วมเปิดงาน ‘LogiMAT 2023’ หนุน ‘โรงงาน-คลังสินค้า’ เป็นต้นแบบอุตฯ ไร้คาร์บอน

(26 ต.ค. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse 2023 จัดโดย บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอลเน็ทเวอร์ค จำกัด ร่วมกับสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย โดยมีภาคส่วนเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ธุรกิจคลังสินค้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สามารถกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ โดยในปัจจุบัน ระบบคลังสินค้าได้มีการปรับเปลี่ยนสู่ระบบอัจฉริยะ ที่นำระบบคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี จนถึงระบบอัตโนมัติ เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ โดยสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงการขยายสายป่านของผลิตภัณฑ์และขอบเขตการให้บริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทำให้ระบบอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

การจัดงาน ‘LogiMAT Intelligent Warehouse’ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความเหมาะสมให้เข้ามาเป็นส่วนช่วยทำให้ธุรกิจอินทราโลจิสติกส์ (Intralogistics) ในประเทศไทยเกิดการเติบโตได้อย่างมั่นคง อีกทั้งช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนในส่วนของโรงงานและการบริหารจัดการคลังสินค้าให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนที่เป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) เพื่อรองรับการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นในภาคการผลิต การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกลไกหลักในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ในภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ทั้งนี้ งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีคลังสินค้าและระบบจัดการ ‘LogiMAT IntelligentWarehouse 2023’ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

‘กรมประมง’ เล็งลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล หารือ 3 องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม หวังเปิดทางกุ้งไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ-ยุโรป

เมื่อวานนี้ (27 ต.ค. 66) นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) กรมประมงได้มีการหารือ กับ Dr. Aaron Mcnevin Global Network Lead จากองค์กร World Wildlife Fund (WWF), ดร.ระวี วิริยธรรม ตัวแทนจาก Seafood Task Force (STF), ผู้แทนจาก Gordon and Betty Moore Foundation และนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง

ทั้งนี้ องค์กร World Wildlife Fund (WWF) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำจืด และทรัพยากรทางทะเล เพื่อมุ่งมั่นที่จะปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการทำงานเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และองค์กร Seafood Task Force (STF) เป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลกภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ร่วมสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการจับสัตว์น้ำ และป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) 

ส่วนองค์กร Gordon and Betty Moore Foundation เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมหารือการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่หมุนเวียนกลับคืนมา ซึ่งกรมประมงมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ และครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ 

ซึ่งทั้ง 3 องค์กรยินดีให้การสนับสนุนกรมประมงเพื่อร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดย Gordon and Betty Moore Foundation ยินดีจะช่วยประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดสำหรับการผลิตสินค้าที่สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) และสร้างการรับรู้ จูงใจให้ผู้ซื้อ นำไปสู่การตัดสินใจนำเข้าสินค้ากุ้งของไทยทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป จึงเป็นโอกาสดี และทางเลือกของเกษตรกรที่สนใจ

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน เช่น การใช้หอยสองฝาและสาหร่ายช่วยลดปริมาณคาร์บอนในระบบการเลี้ยงซึ่งจะนำไปสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคตซึ่งในการหารือในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top