Wednesday, 19 March 2025
SDGs

‘BWG-ETC-GULF’ ปิดดีลใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

‘BWG-ETC’ บิ๊กดีลผนึกร่วมลงทุน GULF ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท ประกาศขึ้นแท่นผู้ดำเนินโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์1ของประเทศ

(12 มี.ค. 67) บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG, บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC, และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ร่วมลงนามลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ

นายศุภวัฒน์  คุณวรวินิจ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ร่วมลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ดังนี้

1.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด หรือ GGP ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50:50 ซึ่ง GWTE มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งมีศักยภาพทางการเงิน เนื่องจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการใช้เงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท

2.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง BWG กับ GWTE เพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ

3.การลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบัน GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ ETC อยู่ที่ 33% GWTE อยู่ที่ 34% และ WTX อยู่ที่ 33% ซึ่งปัจจุบัน SIP มีการดำเนินการ ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,200 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG กล่าวว่า ความร่วมมือกับ GULF ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ โดยการดำเนินธุรกิจด้านโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมของ BWG รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของ ETC และบริษัทในเครือถือเป็นการให้ความสำคัญด้านการลงทุนที่สร้างโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อเป็นพลังงานนี้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านพลังงานสีเขียว และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“BWG มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม (ขยะอุตสาหกรรม) อย่างครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) และ ETC เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะ ชุมชนที่มีมาตรฐานสูง”

ล่าสุดบอร์ดเคาะอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ แบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 540,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท (Par) เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 6 (BWG-W6) จำนวน 900,199,539 หน่วยเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินที่ได้รองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับผู้ร่วมทุนอื่นจำนวน 10 โครงการ และ 2 โครงการ จากการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

‘เชลล์’ ประกาศยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ปี 2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันของเชลล์

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) (Shell) ได้เผยแพร่การอัปเดตข้อมูลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวกลยุทธ์ Powering Progress ในปี ค.ศ. 2021 ในงาน Capital Markets Day ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 นั้น เชลล์ได้เน้นย้ำถึงแนวทางของกลยุทธ์นี้ที่จะนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าที่มากขึ้นควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในงาน Capital Markets Day นั้น เชลล์มุ่งเน้นที่ ‘การสร้างมูลค่าที่มากขึ้น’ ส่วนในการอัปเดตการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งนี้ เชลล์มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่กลยุทธ์เดียวกันนี้จะช่วย ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’

เป้าหมายของเราที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในค.ศ. 2050 ในการดําเนินงานและผลิตภัณฑ์พลังงานทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเรา เราเชื่อว่าเป้าหมายนี้จะช่วยให้บรรลุความมุ่งมั่นที่ท้าทายของข้อตกลงปารีสในการจํากัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กลยุทธ์ของเชลล์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างสมดุลและมีแบบแผนเพื่อรักษา แหล่งพลังงานที่มั่นคงและมีระดับราคาที่จับต้องได้

มร.วาเอล ซาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของบริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พลังงานมีส่วนช่วยในการพัฒนาของมนุษย์อย่างมากมาย ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบัน โลกต้องตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้องจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมรู้สึกมีกำลังใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในหลายประเทศ และเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของผมในทิศทางของกลยุทธ์เรา” 

“เชลล์มีบทบาทสำคัญมากในการจัดหาพลังงานที่โลกต้องการในปัจจุบัน และในการช่วยสร้างระบบพลังงานคาร์บอนต่ำสำหรับอนาคต การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายในกระบวนการทำงานของเรา ช่วยผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่ชัดเจน ในจุดที่เราสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับนักลงทุนและลูกค้าของเชลล์ เราเชื่อว่า การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายนี้จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยการจัดหาพลังงานประเภทต่าง ๆ ที่โลกต้องการ เราเชื่อว่าเชลล์เป็นทั้งทางเลือกสำหรับการลงทุนและพันธมิตรที่เหมาะสมที่สุด ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนี้” ซาวัน กล่าว

>>แผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเชลล์ครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญ

ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเชลล์กำลังขยายธุรกิจ LNG ชั้นนำของโลกด้วยความเข้มข้นของคาร์บอนที่ต่ำลง นอกจากนี้ เชลล์ยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ ในขณะที่ยังคงรักษาระดับการผลิตน้ำมันให้คงที่ และเพิ่มยอดขายพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมถึงทยอยลดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมัน เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ค้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก เชลล์สามารถเชื่อมโยงการจัดหาพลังงาน คาร์บอนต่ำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ  
เป้าหมายด้านสภาพอากาศของเชลล์มีความคืบหน้าที่ดีมากดังนี้ 

• ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุความสำเร็จไปแล้วกว่า 60% จากเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030  เมื่อเทียบกับ ปี ค.ศ. 2016 ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยผู้ลงนามในกฎบัตรการลดปริมาณคาร์บอนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Decarbonization Charter) ที่ตกลงกันในเวทีการประชุมสมัชชาภาคีประเทศอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28)

• เชลล์ยังคงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน โดยเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซมีเทนเกือบเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุการปล่อยความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่ 0.05% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 0.2% อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ยังได้ให้การสนับสนุนกองทุน World Bank’s Global Flaring and Methane Reduction ของธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของทั้งอุตสาหกรรมเพื่อการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและการเผาก๊าซธรรมชาติเพื่อลดแรงดันในกระบวนการผลิตในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุเป้าหมายด้านความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิของผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่าย โดยลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่เชลล์บรรลุเป้าหมาย เชลล์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยที่มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ มองเห็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และเข้าใจชัดเจนกับกฎระเบียบที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่ง เชลล์ตั้งเป้าความท้าทายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยลูกค้าลง 15-20% ภายในปีค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2021 (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11)

การมุ่งเน้นไปยังจุดที่เชลล์สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจไฟฟ้าแบบบูรณาการ เชลล์วางแผนที่จะสร้างธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป อินเดีย และสหรัฐอเมริกา และเชลล์ได้ถอนตัวการจัดหาพลังงานแก่ลูกค้ารายย่อยระดับครัวเรือนในยุโรป

เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดลำดับความสำคัญของมูลค่ามากกว่าปริมาณในธุรกิจไฟฟ้า เราจะให้ความสำคัญกับการเลือกตลาดและกลุ่มลูกค้า ซึ่งรวมถึงการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าภาคธุรกิจมากขึ้น และลดการขายให้กับลูกค้ารายย่อยลง การที่เราให้ความสำคัญกับมูลค่าเช่นนี้ เชลล์คาดว่าจะทำให้อัตราการเติบโตของยอดขายไฟฟ้าโดยรวมลดลงภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเป้าหมายความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนสุทธิของเชลล์  ปัจจุบันเชลล์มีเป้าหมายความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิจากผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่ายลง 15-20% ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 และเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ 20% 

ทั้งนี้ เชลล์จะยังคงรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายและความมุ่งมั่นของเราอย่างโปร่งใสทุกปี

>>ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ระหว่างปี ค.ศ. 2023 ถึงปลายปี ค.ศ. 2025 เชลล์ได้ลงทุนจำนวน 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งทำให้เชลล์กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ลงทุน 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ หรือคิดเป็นกว่า 23% ของการลงทุนทั้งหมด 

การลงทุนเหล่านี้ครอบคลุมถึงสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสำหรับเชลล์และลูกค้า เชลล์มุ่งมั่นที่จะช่วยปรับขนาดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับลูกค้า และยังมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายสำคัญ ในด้านต่าง ๆ ที่เชลล์เชื่อมั่นว่ามีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น นโยบายที่สนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ รวมถึงราคาคาร์บอน การจัดหาพลังงานที่มั่นคงตามความต้องการของโลก 
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงความต้องการ และการเติบโตของโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ

*การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันของเชลล์ (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11) อยู่ที่ 517 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปีค.ศ. 2023 ซึ่งลดลงจาก 569 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปี ค.ศ. 2022

‘กฟผ. - Metlink’ แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนฯ ปักหมุด!! วิธี ‘ไครโอเจนิค’ เล็งต่อยอดใช้งานในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

เมื่อวันที่ (20 มี.ค.67) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับ Confidentiality Agreement (CA) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค (Cryogenic Carbon Capture: CCC) กับนายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ผู้แทนจาก บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด (Metlink Info Co.,Ltd) โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และนายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการขยายองค์ความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กว้างขึ้น โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด Cryogenic Carbon Capture: CCC เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Triple S: Sink ของ กฟผ. ด้วยวิธี ‘การดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)’ ซึ่งจะตอบโจทย์แผน EGAT Carbon Neutrality ที่มีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ตัวแทนจาก บริษัท Metlink เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ กฟผ. สามารถบรรลุเป้าหมายของ CCUS ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการดักจับคาร์บอนด้วยวิธีความเย็นยิ่งยวด เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการดักจับคาร์บอน และกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในโรงไฟฟ้า สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และทางการแพทย์ เป็นต้น

‘OR’ นำร่องใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ ระยะทางไกล ‘เชียงใหม่-อยุธยา’ รายแรกของไทย

(21 มี.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วย ดร.อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE) และ นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท WICE ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการทดลองการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (EV Truck) หรือ Green Logistics for Café Amazon Project ระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR และ นายธเนศ เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ WICE ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องพลังไทย 2 ชั้น M อาคาร 2 อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

นายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ WICE ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันศึกษาและสร้างต้นแบบ (Prototype) ‘กรีน โลจิสติกส์’ (Green Logistics) สำหรับทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกลด้วย EV Truck เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีให้แก่ OR ต่อไป 

โดย OR และ WICE จะร่วมกันออกแบบ EV Truck พร้อมทดลองการขนส่ง โดยกำหนดเส้นทางการขนส่ง ‘กรีน คอฟฟี่ บีน รูท’ (Green Coffee Bean Route) เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจากต้นทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ OR อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังปลายทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่อเมซอน (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง ‘Green Coffee Bean Route’ เป็นจุดพักเพื่อชาร์จไฟของรถขนส่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า ตลอดจนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบของการนำห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ทั้งระบบนิเวศของ OR และการพัฒนา Ecosystem ของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดกาแฟแบบยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ OR ได้เปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงได้เปิดแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่อเมซอน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ดร.อารยา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือ กับ OR ในครั้งนี้ จะส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ให้สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของ WICE พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของบริษัท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไปพร้อมกับการดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน (Green Logistics) และช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน ESG ของ OR ในการผลักดันการใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางและขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างไร้รอยต่อ และมุ่งเน้นให้การใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกภาคส่วน ซึ่งการให้บริการด้านยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งโครงการที่ WICE ได้ริเริ่มและผลักดันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ไปสู่ระบบยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) อย่างแท้จริง

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘G’ หรือ ‘GREEN’ หรือการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของ OR รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) และบรรลุเป้าหมายของ OR 2030 Goals หรือเป้าหมายขององค์กรในการสร้างโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับผลดำเนินการงานที่ดี” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘กัลฟ์’ ผนึกกำลัง ‘ซันโกรว์’ จัดหาระบบกักเก็บพลังงาน ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เดินเครื่อง ปี 67-73

(27 มี.ค. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) จับมือ บริษัท ซันโกรว์ พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (Sungrow) หนึ่งในผู้จัดหาอินเวอร์เตอร์และระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ลงนามในสัญญาจัดหา (Master Supply Agreement) ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage Systems) และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (PV Inverter) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) โดยมีแผนทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567-2573

สำหรับการลงนามสัญญาในครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นจิเนียริ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (บริษัทที่ GULF ถือหุ้นร้อยละ 100) และ Sungrow เพื่อจัดหาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms with Battery Energy Storage Systems) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftops) ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) 

โดยมีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF และ นายเฉา เหรินเซียน ประธานกรรมการบริหาร Sungrow เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF และนายซู เยว่จื้อ ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Sungrow ร่วมเป็นสักขีพยาน

ความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัท ในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ GULF ในการคัดสรรพันธมิตรชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มั่นใจได้ถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบกักเก็บพลังงานและระบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่ง Sungrow เป็นผู้นำในธุรกิจอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ระดับสากลด้วยประสบการณ์กว่า 27 ปี ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงที่สุด (Tier 1) 

อีกทั้งยังมีปริมาณการขายระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับ 1 ของโลก ขนาดการติดตั้งมากกว่า 405 กิกะวัตต์ ในกว่า 170 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสเปน นอกจากนี้การจัดซื้ออุปกรณ์ในปริมาณมากยังเพิ่มประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ส่งผลให้ GULF บริหารจัดการต้นทุน และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

'ธรรมชาติทรายแก้ว' สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ต่อยอดองค์กรหลากมิติสู่เป้าหมาย Net Zero

เหมืองแร่ธรรมชาติทรายแก้ว บูรณาการร่วมทุกหน่วยงาน ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero ตอกย้ำคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี วิจัยเพื่อใช้ 'ธรรมชาติบำบัด' บริหารจัดการน้ำเสีย ไม่กระทบชุมชน พร้อมวางโครงสร้างแน่นหนา ปลอดภัยต่อพนักงาน และชุมชนโดยรอบ

ไม่นานมานี้ นายวัลลภ การวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทรายแก้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา และสุขภาพให้แก่ชุมชนโดยรอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการประกาศไว้บนเวทีการประชุม COP26 

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเหมืองแร่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นในกระบวนการผลิต จนได้แร่คุณภาพ ได้มีการปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัยเพื่อลดการใช้แรงงานคน มีการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์เพื่อลดต้นทุนในการผลิต อาทิ ท่อส่งทรายแยกเป็นใยแมงมุมกองตามชนิดของทราย การสร้างกองทรายจำนวนมากสามารถเลือกกองที่ความชื้นน้อยไปขายให้ลูกค้าลดการเคลื่อนย้าย ตลอดจนแยกกองทรายตามชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน จุดเด่นที่เป็นการลดการใช้พลังงานคือ มีการแยกแร่เหล็กออกจากทรายเมื่อผ่านการล้างและคัดขนาดเม็ดทรายแล้วถึง 2 ครั้งด้วยการผลิตผ่าน Double Spirals ที่ทำหน้าที่ในการแยกแร่หนักจนได้แร่ทรายแก้วคุณภาพ” นายวัลลภ กล่าว

ด้วยกระบวนการผลิตที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก จึงต้องมีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในกระบวนการผลิตไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ศึกษาและวิจัยก่อนการสร้างเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เพื่อให้แน่ใจว่าจะวางโครงสร้างถูกต้อง มีการบำบัดน้ำที่รัดกุมและไม่สร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่โดยรอบ โดยวางโจทย์ในเรื่อง 'ธรรมชาติบำบัด' ซึ่งหลังจากที่ปล่อยน้ำใช้ออกมาแล้ว ส่วนแรกจะมีบ่อทรายอยู่ข้างล่างช่วยดักตะกอน โดยธรรมชาติแล้วตะกอนจะมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อเกิดการไหลเวียนไปในระยะทางที่ไกลขึ้น ก็จะมีตกตะกอนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราจะมีการคำนวณเรื่องระยะทางการไหลวนมาถึงปลายทางที่น้ำจะใสขึ้นเป็นลำดับจึงเชื่อมด้วยท่อลงสู่บ่อน้ำใสซึ่งพร้อมที่จะนำมาเวียนใช้ในการล้างทรายได้เหมือนเดิม

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงแต่งแร่และเหมืองแร่นั้นได้ร่วมกับพนักงานเพาะพันธุ์กล้าไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อปลูกในพื้นที่ซึ่งนอกจากช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามน่าอยู่แล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยจับฝุ่นละอองในอากาศได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยการปลูกต้นทุเรียน และต้นไม้ยืนต้น 

“ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ได้ร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่นโดยรอบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กข้างสำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) สุนทรภู่ หมู่ ที่ 1 ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างทางสาธารณประโยชน์ในหมู่ที่ 1 ต.ทางเกวียน อ.แกลง บริเวณถนน 344 บ้านบึง-แกลง ซอย 3 มาบรรจบที่ศาลาบ้านคลองน้ำขาว ระยะทาง 950 เมตร และสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามคลองใช้ หมู่ที่ 1 จากถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง แยกเข้าซอย 3 ไปออกศาลาบ้านหนองน้ำขาว เพื่ออำนวยความสะดวกและเกิดความปลอดภัยในการสัญจรร่วมกันให้ประชาชน”  นายวัลลภ กล่าว

จากความร่วมมือของทุกคน เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารผลักดันนโยบาย ไปสู่พนักงานในการนำระบบการจัดการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ปฏิบัติ ควบคุม ติดตามผล และปรับปรุง ทบทวน พัฒนาจนบริษัทฯ ได้รับ รางวัล ElA Monitoring Awards ตั้งแต่ปี 2011 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนถึงการดำเนินการต่าง ๆ ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดีและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

‘ห้าดาว’ ร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ผลักดันนวัตกรรมสีเขียว ส่งต่อน้ำมันใช้แล้ว ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน

(1 เม.ย.67) ‘ธุรกิจห้าดาว’ (Five Star) ของ บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ผู้นำธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน ร่วมสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ร่วมลงทุน และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 5,000 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บนเส้นทางการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในไทยมานานกว่า 40 ปี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BSGF กับกรมอนามัย ในฐานะที่ห้าดาวเป็นหนึ่งกลุ่มพันธมิตรการค้า ที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปรีไซเคิล ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อลดปัญหาสุขภาพ และสร้างความยั่งยืน โดยมี นายธนพันธ์ นามวิริยะโชติ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนห้าดาว นำทีมร่วมงาน

“ปัจจุบันมีร้านห้าดาวและเถ้าแก่ห้าดาว ร่วมโครงการฯ นี้แล้วกว่า 130 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และบางสาขาตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากเอง ตั้งเป้าขยายสาขาเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 5,000 สาขา ทั่วประเทศ ภายในปี 2567 และเดินหน้าเข้าร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ตามเกณฑ์มาตรฐาน MOU การรณรงค์ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำในครั้งนี้ โดยเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน CPF ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทางบางจากในการผลักดันนวัตกรรมสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธนพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เป็นการต่อยอดจากโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไม่นำน้ำมันใช้แล้วที่เป็นอันตรายกับสุขภาพมาใช้ทอดอาหารซ้ำ หรือ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เพื่อช่วยขับเคลื่อนและผลักดันด้านอาหารทอดปลอดภัย จากความตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภค คุณภาพชีวิต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม จากการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธีด้วยการ และช่วยสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว โดยหลังจาก BSGF รับซื้อน้ำมันใช้แล้ว จะออกใบประกาศนียบัตรให้กับร้านที่จำหน่ายน้ำมันดังกล่าว ว่าเป็นร้านอาหารที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารทอดไม่ซ้ำ เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านนั้น ๆ โดยการรับรองของกรมอนามัย

สำหรับร้านอาหารที่จะได้รับใบรับรองฯ ต้องผ่าน 3 เกณฑ์สำคัญ ได้แก่ 1. ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ 2. ขายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นำไปผลิตเป็น SAF อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 3. ผ่านการตรวจค่าสารโพลาร์ (Polar compounds) โดยมีค่าสารโพลาร์ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักน้ำมันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้ การลงนาม MOU โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ มีนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BSGF ร่วมลงนามกับ แพทย์หญิงอัจฉรา ปวะบุตร นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ภายในงานห้าดาวนำผลิตภัณฑ์ไก่จ๊อห้าดาวที่ปรุงโดยใช้น้ำมันปรุงอาหารแบบทอดไม่ซ้ำไปร่วมออกบูธด้วย

‘EA’ จับมือ ‘BAFS’ ลุยส่งเสริมการใช้ SAF ในอุตฯ การบิน ปักหมุดลดการปล่อย CO2 ก้าวสู่ Net Zero ในปี 2573

(9 เม.ย. 67) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รักษ์โลก ผนึกกำลัง บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ศึกษาแผนร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) ส่งเสริมเป้าหมายอุตสาหกรรมการบินก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2573 โดยมี ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ใช้นวัตกรรมของคนไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ การลงทุนต่อยอดในธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพใช้สำหรับเครื่องบินในครั้งนี้ สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนให้ประเทศไทยไปสู่ Carbon Neutral ตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ กับประชาคมโลกใน COP26 ว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก

การลงนามความร่วมมือกันของ EA และ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ในครั้งนี้นั้นเป็นการรวมจุดแข็งของสององค์กรของไทยที่จะควบรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจผลิต น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ธุรกิจจัดเก็บและบริหารจัดการน้ำมัน SAF รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ 
ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งในประเทศไทยเอง และในอาเซียน

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บาฟส์) เปิดเผยว่า บาฟส์ ในฐานะผู้ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากล ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำองค์ความรู้และประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการบริหารจัดการและให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน จับมือกับ EA ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อผลักดัน SAF ให้เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน โดยร่วมมือกัน เพื่อศึกษาโอกาสในการ สร้างสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF Blending Facility) แบบ Open-Access เพื่อรองรับ SAF ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบทางชีวภาพและวัตถุดิบอื่น ๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงความสะดวกในการเข้าถึงของทุกบริษัทน้ำมัน เพื่อส่งเสริมให้ตลาดการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็นไปอย่างเสรี สนับสนุนผู้ผลิตน้ำมันอากาศยานทุกราย พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันอากาศแบบยั่งยืนของภูมิภาค 

ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์การตรวจสอบคุณภาพน้ำมันอากาศยานของบาฟส์ ทำให้สายการบินจากทั่วทุกมุมโลกมั่นใจได้ว่าน้ำมันที่ บาฟส์ ให้บริการเป็นน้ำมันอากาศยานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บุคลากรของบาฟส์ ได้ผ่านการรับรองจากองค์กร ISCC จึงมีความพร้อมสำหรับบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ SAF ให้ตรงตามมาตรฐานสากล ทั้งการตรวจสอบความสอดคล้องด้านความยั่งยืนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และปริมาณคาร์บอนที่ลดลงตามกรอบมาตรฐานด้านความยั่งยืน

การลงนามความร่วมมือระหว่าง EA และ BAFS เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม การบินที่ไร้มลพิษ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เเละเป็นเเรงผลักดันขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ในธุรกิจของประเทศให้เติบโตบนหลัก Sustainability Business ตลอดจนทำให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างสมดุลทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยให้แข็งเเกร่ง

‘OR’ จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567  ยึดถือแนวทาง ‘Carbon Neutral Event’

(10 เม.ย. 67) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท และ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2566 การจ่ายเงินปันผล และการอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) 

โดย OR มุ่งมั่นที่จะแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการประชุม ผ่านการขอรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนตามแนวทาง Carbon Neutral Event ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในปี 2030 ของ OR (OR 2030 Goals) ที่ครอบคลุมทั้งสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินการที่ดี และได้นำหลักการการจัดประชุมอย่างยั่งยืนตามแนวทางการจัดประชุมสีเขียว หรือ Green Meeting ขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการงดหรือลดการแจกเอกสาร เพื่อลดการใช้ทรัพยากร การใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อใช้งานบริเวณห้องควบคุมการประชุม รวมถึงจัดให้มีการแยกขยะ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุดอีกด้วย

'กฟผ.' ผนึกกำลัง 'รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว - Chiyoda - Mitsubishi' พัฒนาโครงการผลิต 'ไฮโดรเจนสีเขียว-แอมโมเนีย' ในไทย

กฟผ. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัท Chiyoda และ บริษัท Mitsubishi ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย เดินหน้าพลังงานสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission

(24 เม.ย. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) Chiyoda Corporation (CYD) และ Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. (MCT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) การศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) แบบข้ามเขตแดน เพื่อนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาใช้ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงศึกษาโอกาสทางธุรกิจของไฮโดรเจน และแอมโมเนียสีเขียวทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ 

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. นายวงสกุล ยิ่งยง กรรมการผู้จัดการบริษัท EDL เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department, CYD และ Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President, MCT ร่วมลงนามในฐานะพยาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทพรัตน์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ. พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาไฮโดรเจนอย่างมีนัยสำคัญ กฟผ. จึงมีแนวคิดในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และหากต้นทุนของพลังงานสะอาดสำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยลดลง จะทำให้ราคาของไฮโดรเจนที่ผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายวงสกุล กรรมการผู้จัดการ EDL เปิดเผยว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และยังมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับ กฟผ. โดย EDL เป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ที่มีบทบาท ด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนผ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้ RECs ในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียวในอนาคตร่วมกัน

ฟาก Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department (นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจน) ผู้แทน CYD กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มีความคาดหวังที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ซึ่ง CYD ในฐานะบริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคนิค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายตัวของพลังงานสะอาดในประเทศไทย ลาว และญี่ปุ่นในอนาคต

Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President (นายคาซูฮิโระ วาตานาเบะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ผู้แทน MCT กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวในการขยายและเติมเต็มการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว ด้วยกลไก RECs ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันดียิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดแหล่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top