Monday, 17 March 2025
SDGs

‘BCPG’ เผยผลงานไตรมาส 1/67 ปลื้ม!! กำไรสุทธิแตะ 441 ล้านบาท

(8 พ.ค. 67) บีซีพีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.9 จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว กลับมาดำเนินการเต็มไตรมาส และเริ่มรับรู้รายได้ของคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในปีที่ผ่านมา ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท 
มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2566 ร้อยละ 13.9 ที่มีกำไรสุทธิ 512 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2566 มีการบันทึกการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 267 ล้านบาท  
ขณะที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ  ซึ่งไม่รวมการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน และรายการพิเศษอื่นๆ 343 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 114.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ 160 ล้านบาท 

"กำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติในไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว และเริ่มขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากกำลังลมที่พัดผ่านโครงการเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและมีการบริหารจัดการส่วนต่างของราคาขายไฟฟ้าและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ดี

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 บริษัทฯ ได้บรรลุเงื่อนไขบังคับภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ และจะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมในทันที” นายนิวัติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้ประกอบการและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตรวม 2,049 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มการทำการตลาดกับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงให้บริการการจัดการ ด้านพลังงานหรือ energy as a service และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลกมาใช้ ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย

ส่องวิสัยทัศน์ 'ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง' ซีอีโอป้ายแดง 'ปตท.' 'ไม่เน้นกำไรระยะสั้น-ต้องช่วยสังคม SME-เป็นประโยชน์ต่อชาติในภาพรวม'

(13 พ.ค. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง เข้าดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นวันแรก พร้อมขับเคลื่อน ปตท. ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน’ โดยการสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของ ‘ความยั่งยืนอย่างสมดุล’ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ดร.คงกระพัน เปิดเผยแนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย ‘บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ’ การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจต้องมีกำไร แต่เป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

‘การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ’ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท. ต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

‘สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน’ การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง 

สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ ‘บุคลากร’ ปตท. มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือ พาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย ต้องทำให้ "ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

‘PEA’ เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘CARBONFORM’ เครื่องมือช่วยประเมิน-บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

(14 พ.ค. 67) นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ‘CARBONFORM’ พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘PEA กับการเดินทางไปสู่แผน PEA Carbon Neutrality และทิศทางของ PEA กับ Net Zero ในอนาคต’ โดยมีแขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานภายนอก ผู้บริหาร พนักงาน PEA ร่วมงาน ณ อาคาร 4 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และถ่ายทอดสดผ่านระบบ WebEx 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีภารกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘Net Zero’ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในปี 2580 ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

PEA จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA 74 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ) ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM สามารถประเมินและบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์กร ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและครอบคลุม สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การขนส่ง จนถึงห่วงโซ่อุปทาน ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพลตฟอร์ม CARBONFORM เป็นนวัตกรรมของ PEA เหมาะสำหรับองค์กรทุกขนาด ใช้งานง่าย ปรับแต่งได้ สามารถทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ฟรี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด) ได้ที่ https://bufferbox.pea.co.th/ มี Feature การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ระบบแสดงผลแบบ REAL-TIME พร้อม Dashboard Infographic 
2. ข้อมูล Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา) แบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ (เฉพาะลูกค้าที่มิเตอร์อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ PEA)
3. สามารถสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ได้ตามโครงสร้างขององค์กร 
4. การใช้งานสะดวก และคำนวณได้ถูกต้อง แม่นยำ
5. ออกรายงานได้อัตโนมัติตามมาตรฐาน อบก. Green Office
6. เริ่มต้นได้ง่ายโดยมี template ให้เลือกตามความเหมาะสมตามขอบเขตขององค์กร 
7. คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามหลักการมาตราฐาน ISO 14064-1 CFO และ อบก. 

‘เวฟ บีซีจี’ ผนึก ‘กรมการข้าว’ ถ่ายทอดการทำนา ‘เปียกสลับแห้ง’ หวังเพิ่มขีดแข่งขันชาวนาไทย - พร้อมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

‘เวฟ บีซีจี’ เอ็มโอยู ‘กรมการข้าว’ ร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบุคลากรด้านพัฒนาพันธุ์ข้าว และกรรมวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หวังช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดแข่งขันบนเวทีโลก เสริมศักยภาพการส่งออก และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อไม่นานมานี้ นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (Wave BCG) และ นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบุคลากรด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว กรรมวิธีการเพาะปลูก เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผ่านการให้ความรู้ในการทำนาแบบเปียกสลับแห้งให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าว เนื่องจากวิธีการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งทำให้ข้าวดูดซับสารอาหารภายในดินได้ดียิ่งขึ้น และจากการปล่อยให้นาข้าวแห้งจะช่วยลดจำนวนศัตรูพืช จึงส่งผลกับผลผลิตโดยตรง

นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกจากการที่เป็นข้าวคาร์บอนต่ำซึ่งจะสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมมือกันในการสนับสนุนให้แก่เกษตรกรไทยให้เข้าใจและนำวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าว และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

ความร่วมมือนี้ยังพิจารณาแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายหรือดำเนินการความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

นายเจมส์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 56 ล้านไร่และมีข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ทั้งยังมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากอินเดียและเวียดนาม ซึ่งด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และทำให้พื้นที่นอกเขตชลประทานไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรได้ เมื่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมหายไป นั่นหมายความว่าปริมาณข้าวที่ถูกใช้เพื่อบริโภคและส่งออก และข้าวยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น อาหารแปรรูป อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมแป้ง เป็นต้น ด้วยสถานการณ์ข้างต้นที่กล่าวมาทำให้บริษัทเวฟ บีซีจี จำกัด ตระหนักว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวจากวิธีการปกติเป็น การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังต้องการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้บริษัทเวฟ บีซีจี เป็นบริษัท climate ครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้องค์กรวางแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก ผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่ง Carbon Credit ผู้จัดหา Carbon Credit ให้บริษัททั้งในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังลงทุนในนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Tech

ส่วนทางด้านกรมการข้าว เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และคุณภาพผลผลิตข้าวพัฒนาศักยภาพชาวนา และองค์กรชาวนาให้เข้มแข็ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตข้าว และเครื่องจักรกลการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าว ผลผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลพลอยได้จากข้าววิจัยและพัฒนารูปแบบบูรณาการด้านการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ข้าว

‘ค้ำคูณ-KHamKoon’ สามล้ออีวี ฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ขับเคลื่อนศก. ควบคู่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

‘สามล้อ’ เป็นหนึ่งในยานพาหนะขนส่งซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือ ‘สกายแล็บ (Skylab)’ รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เมื่อโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน การพัฒนารถอีวีเข้ามาทดแทนระบบสันดาป ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสามล้ออีวีรูปลักษณ์ทันสมัย สวย เก๋ เท่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า ‘KHamKoon’ หรือ ค้ำคูณ

สามล้ออีวี KHamKoon พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงที่มาของโครงการว่า สามล้อ ‘KHamKoon’ ถูกพัฒนาด้วยแนวคิดให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งสาธารณะในจังหวัดอุดรธานี ที่กำลังเติบโตรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในอนาคต แต่การทำอะไรต้องแตกต่างจากคนอื่น ถ้าทำเหมือนคนอื่นเราก็ไม่ก้าวหน้า บุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญของโครงการนี้คือ คุณวิกรม วัชระคุปต์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ซึ่งเดินทางไปทำงานที่อุดรธานีบ่อยครั้ง และรู้จักกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ปรึกษาว่าจะทำอะไรร่วมกับอุตสาหกรรมในอุดรธานีดี ผมเสนอว่าลองทำรถสามล้อดีไหม เนื่องจากคนที่นั่นนิยมใช้รถสามล้อสกายแล็บ แต่ยังติดขัดเรื่องความปลอดภัย ความทันสมัย อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ และในมุมของวิศวกรรมก็มีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายจุด ประกอบกับอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นหัวเมืองสำคัญที่จะเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เป็นหนึ่งสถานีที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนเข้าหนองคาย เชื่อมต่อไป สปป.ลาว ถ้ารถไฟความเร็วสูงมา เมืองต้องปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

“ในมุมของคนอุดรธานี มีกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองด้วยคีย์เวิร์ดคือ ‘เมืองเดินได้’ หมายถึงคนไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่หันมาใช้รถสาธารณะแทน แล้วรถสาธารณะอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดเช่นอุดรธานี นั่นก็คือ micro mobility ผนวกกับเรามีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการที่ผลิตรถสกายแล็บในอุดรธานี คุยกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ และเห็นว่าการพัฒนารถสามล้ออีวี KHamKoon จะทำให้นักศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ได้เรียนรู้นวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เมื่อได้ภาคเอกชนมาร่วม เราก็ดีไซน์สามล้ออีวี ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาแบบ พัฒนาเทคโนโลยี ทำโปรโตไทป์ จากนั้นจึงเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และได้รับการอนุมัติ โดยเอกชนคือวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับให้ใช้สถานที่ของวิทยาลัยพัฒนาต้นแบบรถสามล้อ KHamKoon” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

โครงการรถต้นแบบ ‘สามล้อ KHamKoon’ เริ่มดำเนินการช่วงเดือนกันยายน 2565 สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งสำเร็จได้ด้วยงานวิจัยยุคใหม่ ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานตั้งแต่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคต มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ  ภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับกับเมืองแห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่แค่การผลิตรถยนต์สามล้ออีวีออกมาขายเท่านั้น แต่ต้องการให้รถสามล้อ KHamKoon ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฐานราก ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งการผลิต การท่องเที่ยว การบริการ ขับเคลื่อนจีดีพีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ต้องขอบคุณ บพข. ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ดี สนับสนุนงานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งการขนส่งแห่งอนาคต เป็นหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

ดร.วัลลภ รัตนถาวร นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงการวิจัยและพัฒนาว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ ‘การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถ’ โดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ ‘มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติ’ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับรถต้นแบบ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก. 3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล

“เทคนิคสำคัญการออกแบบสามล้อ KHamKoon มี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งเป็นตามเทรนด์ใหม่ เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นระบบไฟฟ้า 2. ด้านวิศวกรรม ต้องออกแบบตัวรถให้มีความมั่นคง แข็งแรง น้ำหนักเบา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 3. ต้องวิ่งได้ดี มีความปลอดภัย เนื่องจากธรรมชาติของรถสามล้อ ต้องเลี้ยวในพื้นที่แคบ อาจเกิดการพลิกคว่ำ การสไลด์ หรือรถยกตัวได้ง่าย เราจึงใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม มาแก้ปัญหาเชิงโครงสสร้าง จนผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล” ดร.วัลลภ กล่าว

สำหรับโครงสร้างรถ ทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกัน ได้ดำเนินการออกแบบใหม่ โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความทันสมัย แข็งแรงและปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ ‘โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร’

ส่วนประเด็นด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (อีวี) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยแท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบัน และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้น และใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบรถต้นแบบ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว ในเบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าหมายนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์  ให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ  พร้อมกับพัฒนาความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย

ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนากำลังคนร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ รวมถึงการอัปสกิล-รีสกิล บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถอีวี ภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเอง เมื่อผ่านการพัฒนาถึงระดับพาณิชย์ สามล้อ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนระยะยาว ตามแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-gen Automotive) ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065

‘สาธารณสุข’ ดันหน่วยในเครือ ติดตั้งระบบโซลาร์ทั่วประเทศ ลดปล่อยคาร์บอนฯ 4.3 หมื่นตันต่อปี ประหยัดไฟ 392 ลบ.

(8 ก.ค. 67) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด การเกิดโรคติดต่อ และภัยจากสภาพอากาศที่รุนแรงต่าง ๆ

กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสูญเสียพลังงานอย่างไร้ประโยชน์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนเมษายน 2567 หน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 1,857 แห่ง ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,496 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.02 ขนาดกำลังการผลิตรวม 75,806.09 กิโลวัตต์ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 43,137.43 tonCo2/ปี สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 392,238,903 บาท/ปี โดยยังมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 206 แห่ง 

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย SECA ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานร้อยละ 20, ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV), การปรับปรุงและก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Energy Building)

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล, การเพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ไปรับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล, การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย/น้ำเสีย โดยใช้หลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และการรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยของหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า หากการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2-3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้

ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top