Wednesday, 19 March 2025
SDGs

‘กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน จ.สุพรรณบุรี พร้อมเรียนรู้ ‘ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก-ทำดินปลูกสร้าง BCG model’

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 4 พร้อมด้วย พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร กรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ สวนพุทธชาติ ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนางพีรดา ปฏิทัศน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี และคณะให้การต้อนรับ 

ในการนี้ คณะเดินทางได้รับฟังบรรยายสรุปและลงพื้นที่เยี่ยมชมฐานเรียนรู้ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ด้วยกระบวนการไพโรไลซิส ฐานเรียนรู้ทำดินปลูกสร้าง BCG model ฐานเรียนรู้ชุมชนเครือข่ายสร้างสวัสดิการชุมชนด้วยขยะจากชุมชนหัวเขา เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

‘MG’ เปิดตัวโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งแรกในอาเซียน ผุดกำลังการผลิต 50,000 ก้อนต่อปี เดินสายพานปี 67

(31 ต.ค.66) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ประกาศเปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี ด้วยกำลังการผลิตกว่า 50,000 ก้อนต่อปี พร้อมเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคอาเซียน

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP ในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ หลังทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำ การเชื่อมโดยเลเซอร์ (Laser Welding) เพื่อให้ได้คุณภาพของการเชื่อมที่ดีการตรวจสอบด้วย CCD (Charge Coupled Device) เพื่อความแม่นยำในการตรวจสอบเทียบกับต้นแบบในทุกขั้นตอนก่อนนำไปใส่ในตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% และส่วนการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่ กว่า 60 ขั้นตอน อาทิ การตรวจสอบค่าการเก็บการคายประจุ (Charge & Discharge) การตรวจสอบน้ำรั่วซึมเข้าสู่แบตเตอรี่ (Air Leak test) ทดสอบความเป็นฉนวน (Insulation Test) ทดสอบการควบคุมพลังงาน (Static Test) เป็นต้น 

โดยในสายการผลิตแห่งนี้สามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 ก้อนต่อปี ซึ่งแบตเตอรี่ที่ประกอบในประเทศไทยจะเป็นมาตรฐานเดียวกับสายการผลิตระดับโลก สำหรับแบตเตอรี่ที่ออกจากสายการผลิตนี้จะถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG4 ELECTRIC เป็นรุ่นแรก รวมถึงรถไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมของสายการผลิตเพื่อเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2567”

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปักมาตรการ 3 ระยะ บรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้า ‘บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ในปี 2050

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานในรายงานประจำปี One Report ของบริษัทจดทะเบียน ชูเป้าหมาย SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ในงานสัมมนาเปิดตัว ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG’ หัวข้อ ‘การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 56-1 One Report’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืนมากว่า 31 ปี ภายใต้การกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืน (ESG) ให้อยู่ในทุกกระบวนการการทำงาน 

โดยช่วงแรก เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำรายงาน CSR Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำรายงานทั้งแบบแสดงข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาการรายงานเป็น Sustainability Report หรือรายงานความยั่งยืนฉบับแรก โดยแยกเล่ม คู่กับรายงานประจำปี ในปี 2561 จากนั้นได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบ One Report ภาคสมัครใจในปี 2563 หรือล่วงหน้า 1 ปี ก่อนข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาใน One Report ครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ตลอดจนอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. รวมทั้งมาตรฐานและข้อกำหนดของการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ได้แก่ GRI Standards และ Integrated Reporting โดยข้อมูลที่เปิดเผยใน One Report ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูล

จากเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนด 5 เป้าหมายหลักซึ่งสอดคล้องกับบริบทโดยตรงและกิจกรรมหลักของบริษัท ได้แก่ SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG7 การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

-เป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 (2030) ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% 
-เป้าหมายระยะกลางในปี 2583 (2040) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
-เป้าหมายระยะยาวในปี 2593 (2050) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“การติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ใน One Report ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนถึง การดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงมีส่วนช่วยประเมินผลการดำเนินงานภายในองค์กรเองและสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 3 ปีต่อเนื่อง 

สำหรับ ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG’ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวัดและจัดการผลกระทบ ที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบ เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

'ก.เกษตรฯ' เอาจริง!! 'ชัยนาทโมเดล' แก้แล้ง-ลดท่วม ตามติดความก้าวหน้า 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' กว่า 800 แห่ง 

(2 พ.ย. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาล โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน และดูการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสำหรับการทำหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ณ จ.ชัยนาท เพื่อสนองเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผ่านหลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ซึ่งรวมถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำตามความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ และ การส่งเสริมการทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกหญ้าอาหารสัตว์

จังหวัดชัยนาท ได้รับเลือกเป็นจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการใน 6 ด้าน ดังนี้ 

1. นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี 
2. ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส 
3. บริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช 
4. ระบบตลาดนำการผลิต 
5. ขยายสาขาและเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 
6. การบริหารจัดการน้ำด้วยธนาคารน้ำ

ในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนและความสำคัญของการผลักดันโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงความเป็นไปได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ องค์ความรู้ที่จะได้จาก ‘ชัยนาทโมเดล’ นี้ จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการนำร่องไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลแท้จริงในจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งจะยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ‘ไม่ท่วมไม่แล้ง’ อีกด้วย

‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ เป็นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ออกแบบมาช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากให้หลายประเทศทั่วโลก สำหรับจังหวัดชัยนาทนั้น จะมีการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินรวมทั้งสิ้น 834 แห่ง

“การทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อที่จะนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง ให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีข้อดี คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ทำให้ต้นไม้โดยรอบเติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ธนาคารน้ำใต้ดินจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้ง” นายอนุชากล่าว

ILINK ผงาด!! คว้าคะแนน 'ดีเลิศ' CGR 2023 ระดับ 5 ดาว ปี 2023 สะท้อน!! ความโปร่งใส ใส่ใจต่อทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน

(3 พ.ย.66) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้าและค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ โชว์ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน คว้าคะแนนในระดับ 5 ดาว หรือ 'ดีเลิศ' (Excellent) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำถึงผลงานการประเมินตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2566 หรือ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2023: CGR 2023 ซึ่งได้รับการตรวจสอบ และประเมินจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

จากการที่ ILINK ได้รับคะแนนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ในระดับ 'ดีเลิศ' (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ดาว ซึ่งคัดเลือกจาก 782 บริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ 

นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบการบริหารงาน ความมุ่งมั่น ตั้งใจของคณะกรรมการบริษัท และคณะผู้บริหารในการพัฒนายกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และกำกับดูแลกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย 

นอกจากนี้ ยังปฏิบัติตามหลักการสากล มีความรับผิดชอบทางสังคมที่ดี มีเจตนารมณ์ที่มั่นคงในการส่งเสริม สนับสนุนให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงให้ความสำคัญ ใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน 

อีกทั้งเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ของบริษัท 'เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน' ไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นมีความมั่นใจในการดำเนินงานของบริษัทฯ และเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบของการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

‘บางจาก’ ยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซล ชู!! มาตรฐาน EURO 5 เริ่ม 15 พ.ย. 66

(3 พ.ย. 66) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลทุกชนิด และผลิตภัณฑ์พรีเมียมของบางจาก ทั้งบางจาก ไฮพรีเมียม 97 พรีเมียมแก๊สโซฮอล์ และบางจาก ไฮพรีเมียมดีเซล S ในเขตกรุงเทพมหานครให้มีปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

โดยบางจากฯ จะปรับสูตรน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันบางจากและสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่เดิม ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันบางจากที่ปรับจากสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 224 สาขา ให้เป็นดีเซลปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันลดลงถึง 5 เท่า อ้างอิงจากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

โดยการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลนี้ สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่น ทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM 2.5

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ลูกค้าบางจากฯ สามารถนำใบเสร็จจากการเติมน้ำมันไปรับบริการตรวจเช็กสภาพรถฟรี 11 รายการ ได้ที่ FURiO Care และ Wash Pro สาขาที่ร่วมรายการ

พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดูแลให้เครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้อันเป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 โดยสามารถดูรายชื่อ FURiO Care และ Wash Pro ได้ที่ www.bcpcarcare.com

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปลื้ม!! ขายกรีนบอนด์ 7 พันล้านหมดเกลี้ยง เล็งนำเงินหนุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ Net Zero

(3 พ.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หุ้นกู้กรีนบอนด์) เป็นครั้งแรก ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ รวมมูลค่า 7,000 ล้านบาท ด้วยยอดจองท่วมท้นกว่า 3 เท่าของมูลค่าการเสนอขาย สะท้อนความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของบริษัทสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (2050)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ได้เสนอขายหุ้นกู้กรีนบอนด์เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2566 และจัดออกหุ้นกู้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า 80 ราย ที่แจ้งความจำนงความต้องการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 20,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.15 เท่าของ มูลค่าการเสนอขายเดิมที่ 6,500 ล้านบาท 

บริษัทจึงเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoes) อีก 500 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยขยายฐานนักลงทุนใหม่ โดย นักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ในครั้งนี้ ได้แก่ กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสหกรณ์ และนักลงทุนประเภทอื่น ๆ

สำหรับหุ้นกู้กรีนบอนด์ของเอ็กโก กรุ๊ป เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 ชุด รวมมูลค่าทั้งหมด 7,000 ล้าน ประกอบด้วย 

หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.35% จำนวน 1,000 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.71% จำนวน 700 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.02% จำนวน 500 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.32% จำนวน 1,000 ล้านบาท
หุ้นกู้อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.65% จำนวน 3,800 ล้านบาท 

โดยหุ้นกู้กรีนบอนด์นี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AA+ จากทริสเรทติ้ง และจัดออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ของเอ็กโก กรุ๊ป ปี 2566 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่เป็น Joint Green Structuring Advisors และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

“เอ็กโก กรุ๊ป ขอบคุณนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ที่ให้ความเชื่อมั่นและจองหุ้นกู้กรีนบอนด์อย่างท่วมท้น โดยเฉพาะประเภทหุ้นกู้อายุ 15 ปี แม้สภาวะตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน การสนับสนุนดังกล่าวทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม โดยบริษัทมีแผนจะนำวงเงินระดมทุนนี้ไปใช้ชำระคืนเงินทุนสำหรับโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเภทพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมของบริษัทและบริษัทในเครือ ภายใต้กรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (2050)” นายเทพรัตน์ กล่าว

‘ททท.’ ชี้ เที่ยวไทยทางราง ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชูจุดเด่น ‘ปล่อยคาร์บอนฯ น้อย-กระจายรายได้สู่ชุมชน’

(6 พ.ย. 66) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟซึ่งมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว

ททท. จึงจัดโครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มคนเจน Z

โดยการเดินทางผ่านทางรถไฟจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านรวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ไปยังชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่าการจัดโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางรถไฟมากน้อยเพียงใด นายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องมีการกำหนดเครื่องมือชี้วัดในลำดับต่อไป

นางสาววัลย์ณัฐ บุญประเสริฐ เลขาธิการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการที่เดินทางผ่านขบวนรถไฟอาจมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

ขณะที่นายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลาย ด้วยเส้นทางของรถไฟที่ผ่านหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับในอนาคตระบบคมนาคมทางรางของไทยจะพัฒนามากขึ้น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น

รายงานจากททท. ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ททท. ได้ผนึกกับพันธมิตร เปิดพื้นที่ให้เหล่านักท่องเที่ยวมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์ และนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟแบบไม่จำกัดไอเดีย ภายใต้ โครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ออกแบบสร้างสรรค์สื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟ และเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ททท. โดยผลการแข่งขัน มีดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ : ทีม Touch And Go
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Freeland
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีมเปรี้ยวกับป้า
-รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม The Couple  และทีมสับราง team

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top