Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

‘บิ๊กตู่’ หวัง ‘LTR Visa’ ช่วยดูดกลุ่มทุน - ดันศก.ไทยโต เชื่อ!! ประเทศไทยมีเสน่ห์หลายด้าน ต่างชาติสนใจมาเยือน

‘นายกฯ’ หวัง ‘วีซ่าระยะยาว’ ดึงดูดกลุ่มนักลงทุน ผู้มีความพร้อม มีทักษะ ความเชี่ยวชาญสูง ให้เข้ามาพำนัก-ลงทุน ในไทย

เมื่อวันที่ (27 ต.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงานตัวเลขผู้ขอยื่นขอใบสมัครวีซ่าระยะยาว (Long - Term Resident Visa) หรือ ‘LTR Visa’ ของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีผู้สมัครกว่าหนึ่งพันคน 

นายอนุชา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ น่าลงทุน และเป็นที่นิยม โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ให้วีซ่าระยะยาวแก่ชาวต่างชาติมีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม พำนักในประเทศไทยในระยะยาว โดยมีเป้าหมายดึงดูด 1 ล้านคน ใน 5 ปี โดยได้เริ่มรับสมัครชาวต่างชาติในกลุ่มนี้แล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติ ประเทศที่มีการยื่นขอใบสมัครมากที่สุดได้แก่ สหรัฐฯ 232 ราย จีน 140 ราย สหราชอาณาจักร 109 ราย เยอรมนี 68 ราย และออสเตรเลีย 51 ราย ตามลำดับ

เปิดตัว 5 ผู้นำใหม่ใน APEC 2022 ครั้งแรกบนเวทีที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา

Highlight สำคัญของการประชุม APEC ในปี 2022 ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมตลอดทั้งปีของหลากหลายคณะทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมทั้งการประชุมของภาคเอกชนที่จะเสนอแนะข้อเสนอต่อผู้นำในรูปแบบของ Track 2 และการสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้วยกันเองระหว่างภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองการประชุม APEC ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง APEC Week เดือนพฤศจิกายน 2022 ในประเทศไทย นั่นก็คือ ‘การเปิดตัวผู้นำใหม่ของโลกหลายๆ คน ที่จะเดินทางมาประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เป็นครั้งแรก’ 

โดยท่าทีของผู้นำใหม่เหล่านี้ในเวทีการประชุมหลัก การประชุมย่อย และการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน จะเป็นอีกมิติที่ทั่วโลกจับตา โดยผู้นำใหม่เหล่านี้ได้แก่…

1. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแรงงาน และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของ อดีตนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ออสเตรเลียนำพาประเทศออกจากความร่วมมือ Quadrilateral Security Dialogue (QSD) หรือ The Quad ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ และเขายังต้องเข้ามาสะสางปัญหาความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่ไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Scott Morrison นำพาประเทศไปสู่การติดอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือ AUKUS นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมพันธ์กับความมั่นคง จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา


2. Gabriel Boric ประธานาธิบดีของประเทศชิลี ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นประธานาธิบดีจากกลุ่มแนวคิดซ้ายจัดรายแรกและรายใหม่ของประเทศ ภายหลังจากที่ประเทศชิลีมีอดีตประธานาธิบดี 2 ท่าน คือ Michelle Bachelet (ปนวคิดกลาง-ซ้าย) และ Sebastián Piñera (แนวคิดอนุรักษ์นิยม) ที่หมุนเวียนผลัดกันขึ้นมาผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2006-2022 จนนำไปสู่การประท้วงทางการเมืองที่ใหญ่โตรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2019-2022 เพื่อขับไล่ ปธน. Sebastián Piñera โดยคาดการณ์ว่าในการประท้วงต่อเนื่องนี้ มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมมากกว่า 3.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บเรือนหมื่น และถูกคุมขังกว่า 28,000 คน ชิลี คือตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี แบบปรับค่าเสมอภาคของค่าเงิน (Per Capita GDP (PPP)) ที่สูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง 

3. John Lee หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่ Carrie Lam เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 แน่นอนว่า เขาคือผู้นำสูงสุดของฮ่องกงที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่อง และเป็นผู้นำคนแรกภายหลังจากที่ฮ่องกงมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง รวมทั้งในการเลือกตั้งที่ชนะเลิศและได้รับการดำรงตำแหน่งจากคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีเครื่องหมายคำถามมากมาย เพราะเขาคือตัวเลือกเพียงตัวเลือกเดียว เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งว่าเป็นผู้รักชาติ ดังนั้นชะตากรรมของพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคือสิ่งที่ทุกคนจับตาดูจากการดำเนินนโยบายของเขา

4. Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งพึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ท่ามกลางเสียงครหาที่ว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2022 คือการเลือกตั้งเพื่อเลือกตัวแทนที่ย่ำแย่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนดั้งเดิมที่เป็นที่คาดหมายและวางตัวของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีในเวลานั้นต่างก็เผชิญหน้ากับวิบากต่างๆ จนไม่สามารถลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ยังทำให้มีเครื่องหมายคำถามเช่นกัน เนื่องจาก Yoon Suk-yeol เอาชนะ Lee Jae-myung ด้วยสัดส่วนคะแนนเพียง 0.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิกัน 77.1% รวมทั้งคำถามอีกมากมายที่คนเกาหลีถามถึงในมิติภาวะผู้นำ ทั้งที่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญที่คนเกาหลีห่วงกังวล

มาตรการกระตุ้นศก.ภาครัฐ ดันอสังหาฯ พลิกฟื้น ยอดใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศพุ่ง

‘ทิพานัน’ เผยการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในไตรมาส 2 ปี 2565 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรกพุ่งกว่า มูลค่า 480,510 ล้านบาท สะท้อนผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และประชาชนให้ความเชื่อมั่นมาตรการรัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์' เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องและเศรษฐกิจฐานราก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องประกอบกับการเร่งตัวของภาคบริการหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากขึ้น  

จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งประเภท บ้านที่ประชาชนสร้างเอง และบ้านในโครงการจัดสรร มีจำนวนประมาณ 80,704 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีจำนวน 75,803 หน่วย และหากเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง พบว่า มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสแรก หลังจากที่ลดลงติดต่อกันมาถึง 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ ไตรมาส 1 ปี 2563 

ขณะที่ในด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ จำนวน 95,316 หน่วย มูลค่า 257,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ 9.0 และ 7.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 และในภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 2565 มีการโอนกรรมสิทธิทั่วประเทศจำนวน 180,636 หน่วย มูลค่า 480,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและมูลค่าร้อยละ 6.4และ 3.1 ตามลำดับ

‘ส.ส.เพื่อไทย’ ชี้ หลายชาติมหาอำนาจเมินเอเปก เหตุ!! ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพผู้นำของไทย

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 65 น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ เอเปก 2022 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการจัดการประชุมในครั้งนี้ หวังสร้างผลงานให้ประทับใจผู้นำโลก เป็นที่น่าเสียดายหากในการประชุมที่กรุงเทพฯ นี้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะผู้นำประเทศมหาอำนาจหลายประเทศไม่ให้ความสำคัญ ส่งเพียงผู้นำระดับรองมาร่วมประชุมแทน ไม่ว่าจะเป็นนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐฯ เลือกไปงานแต่งหลานสาวมากกว่ามาร่วมประชุมที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ผู้นำหลายประเทศไม่มาร่วมประชุม เพราะไม่มีความเชื่อถือในตัวผู้นำของประเทศไทย 

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายยกแผ่นดินไทยให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยได้นั้น รัฐบาลควรชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ ว่าเป้าประสงค์ของรัฐบาลคืออะไร ที่ผ่านมารัฐบาลใช้มาตรการทางภาษี เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทย นักลงทุนก็ไม่มาลงทุน เพราะเขาไม่มั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจของไทย และความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตานักลงทุนตกต่ำลงมาก 

ซาอุฯ เตรียมขน 200 นักธุรกิจ ร่วมลงทุนในไทย ล็อกเป้า ‘EEC’ จ่อลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมหลัก

รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนซาอุดิฯ นำทัพ 200 นักธุรกิจบุกไทย ลุยจับคู่ร่วมลงทุน 3 ธุรกิจใหญ่ ‘ท่องเที่ยวโรงแรม-สร้างเมืองใหม่-พลังงาน’ เอกชนชี้เป็นโอกาสดีสุด ๆ รอบ 32 ปีหลังฟื้นสัมพันธ์ เล็งเป้าดึงลงทุนระลอกใหญ่ลงอีอีซี ขณะ 3 อุตฯ ไทยเนื้อหอม เวลคัมร่วมลงทุนในซาอุดิฯ

(5 พ.ย. 65) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี เผยว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นี้ Mr.Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดิอาระเบียจะนำคณะภาคเอกชนที่เป็นนักธุรกิจ และนักลงทุนของซาอุดิฯ รวมกว่า 200 คน ร่วมงาน ‘Thai - Saudi Investment Forum’ ในประเทศไทย

ไฮไลต์สำคัญ จะมีการลงนาม MOU ร่วมกันในธุรกิจเป้าหมาย ไทย-ซาอุดิฯ, การนำเสนอภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนร่วมไทย-ซาอุดิฯ โดย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาอีอีซี 

นอกจากนี้จะมีเวทีเสวนาร่วมระหว่างผู้บริหารของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหอการค้าซาอุดิฯ โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ Mr. Bads Aldadr, Deputy Minister of Investor Outreach, MISA

นอกจากนี้จะมีการเสวนาและจับคู่ธุรกิจ (บิซิเนส แมชชิ่ง) ร่วมลงทุนธุรกิจเป้าหมายภาคเอกชนและนักธุรกิจของไทย-ซาอุดิฯ ใน 3 เวทีได้แก่ ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม, ธุรกิจการสร้างมืองใหม่ และธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเปิดมิติใหม่ในการร่วมลงทุนไทย-ซาอุดิฯ ในรอบ 32 ปี หลังฟื้นความสัมพันธ์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยว่า ไทยและซาอุดิฯ ได้แลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนของคณะภาครัฐ-เอกชนกันหลายรอบแล้วในรอบปีนี้ หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 และประกาศการฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

สำหรับการเดินทางเยือนไทยและร่วมเวทีเชื่อมสัมพันธ์ด้านการลงทุนกันในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นตามลำดับ โดยทั้งสองฝ่ายได้เชิญชวนในการแลกเปลี่ยน และร่วมลงทุนทั้งในไทยและในซาอุดิฯ

ในส่วนของไทยมีเป้าหมายเชิญชวนทางซาอุดิฯ มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ในเบื้องต้นมีธุรกิจที่ซาอุดิฯ ให้ความสนใจลงทุน หรือร่วมลงทุนในอีอีซี เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้า การแพทย์ เกษตรชีวภาพ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ก่อสร้าง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และภาคการเงิน เป็นต้น

'ชนินทร์' จวก 'รบ.ประยุทธ' ไร้น้ำยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชี้!! จนมุมถึงขั้นขายที่ดินของชาติแลกการลงทุนไม่กี่ล้าน

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะมีกระแสสังคมต้านทานถึงการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ที่มีมติการประชุม ครม.ออกมาเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ 

ส่วนตัวมองว่าเวลานี้พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลิกห่วงเสียหน้าหันมาห่วงเสียแผ่นดินบ้าง เพราะแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเอาที่ดินของชาติไปแลก ได้รับฉันทามติคัดค้านต่อต้านจากพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว แม้กระทั่งจากกลุ่มที่เคยเป็นผู้นิยมตัวพล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่เห็นด้วย

นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลที่นำโดยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย มีแนวทางปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลใดสิ้นไร้ไม้ตอก ขนาดต้องผ่อนปรนกฎหมายขายที่ดินกับต่างชาติ แลกกับการลงทุนในรูปแบบของการให้กู้เงินความเสี่ยงต่ำระยะสั้นแค่ 3 ปี เปิดช่องให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาจับจองถือกรรมสิทธิ์ถาวรที่ดินในประเทศไทย ในระหว่างที่คนไทยในเมืองจำนวนมากยังถูกละเลยให้ไร้กรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ไม่มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดจำนวนมากก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินทำกิน จึงอยากเสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลควรมุ่งทำมากกว่าในเวลานี้ คือ

1.) จัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐในเมือง เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัดเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมือง

2.) จัดสรรกรรมสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์บนที่ดินของรัฐ ให้แก่ประชาชน ที่ยังเข้าไม่ถึงที่ดินทำกินได้เข้าไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลคงยังไม่เข้าใจว่าการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่มั่นคงและส่งผลบวกระยะยาว ต้องแก้ปัญหาที่ข้อจำกัดของกฎหมายที่วุ่นวายยุ่งยาก และการขาดข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่จะช่วยขยายขนาดของตลาดผู้ซื้อจากการผลิตในประเทศไทย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกของภูมิภาคที่แท้จริง แต่การกระตุ้นในแบบที่พล.อ.ประยุทธ์อยากทำ เป็นการเอาทรัพย์สินถาวรของชาติไปแลกเงินกู้เงินลงทุนระยะสั้น ไม่ก่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงในระยะยาว

จับตาวิสัยทัศน์ไทย ชู BCG บนเวที APEC 2022 คนไทยจะได้อะไร? พัฒนาอย่างไรให้สอดคล้อง?

(15 พ.ย. 65) จากเพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

คุณรู้รึเปล่าว่า ประชุม APEC ครั้งนี้ มีหัวข้อหลักคือ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

แล้วคุณเข้าใจคำว่า BCG รึยัง???

BCG คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมเป็นหัวข้อหลักของการประชุม APEC แล้วจะมาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ และระดับโลกอย่างไร….

วันนี้ขอเกาะกระแส การประชุม APEC ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดในโลก ซึ่งประเทศที่อยู่ใน APEC มีปริมาณประชากร ถึง 1 ใน 3 ของโลก 

ซึ่งจะมีการจัดประชุมประเทศสมาชิกทุกปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ไทยเราเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง หลังจากปี 2546 

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการประชุม คือการแสดงวิสัยทัศน์ ของประเทศ 

โดยในการประชุมครั้งนี้ ไทย เรานำเสนอ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อความยั่งยืน หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาเป็นจุดเชื่อมโยงการพัฒนาในอนาคต

แล้ว BCG คืออะไร คนไทยจะได้อะไร? ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างไรให้สอดคล้องกับ BCG

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก BCG กันก่อน ซึ่งมาจาก 3 คำคือ Bio Circular Green ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน แบ่งออกมาเป็นข้อๆ คือ...

- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ 

เป็นการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เช่นการแปรรูป สินค้าทางการเกษตร เป็น Bio Plastic ที่ย่อยสลายได้

- Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน

เป็นการนำวัสดุ และผลิตภัณฑ์ ที่ใช้แล้ว กลับมาใช้งานใหม่

- Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อม

เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาสังคม

ซึ่งทั้งหมดนี้ ไทยเรามีพื้นฐานรองรับทั้งหมดแล้ว โดยสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sustainable Economy) 

โดยการพัฒนา BCG จะมุ่งเน้นการพัฒนาจากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกระบวนการผลิต และในการนำไปใช้

ซึ่งจะเน้นกับอุตสาหกรรม 4 ด้าน ได้แก่...
- เกษตรและอาหาร 
- สุขภาพและการแพทย์ 
- พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 
- การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แล้วปัจจุบัน อุตสาหกรรม BCG มีอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง??? เรามาดูกันทีละด้านเลย

1. Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ 

- การพัฒนาธุรกิจน้ำตาล จาก อ้อย สู่น้ำตาล แปรรูปเป็น เอทานอล พร้อมกับการสกัดขั้นสูง (Bio Refinery) สู่ Bio Plastics และ Bio Chemical 

- การพัฒนาน้ำมันจากธรรมชาติ (Oleo Chemical) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของไขมันพืชและสัตว์ 

ปัจจุบันนั้นมีการนำไปใช้งานหลากหลายมาก เนื่องจากเป็นสารกลุ่มชนิดที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และนำกลับมาใช้ได้อีก จึงเป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

- การพัฒนาอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ (plant base meat)

2. Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน

- การจัดการขยะชุมชน และขยะจากเศษอาหาร เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน

- การแปรรูปขยะพลาสติก เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่นเสื้อผ้า

‘ทิพานัน’ เผย ประชาชนให้ความสนใจ APEC 2022 พร้อมชู ‘BCG โมเดล’ พัฒนาศก.ไทย กระจายรายได้สู่ฐานราก

‘ทิพานัน’ เผยประชาชนตื่นตัวให้ความสนใจการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก โชว์ศักยภาพไทยพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โมเดล กระจายรายได้สู่ฐานราก โต้เพื่อไทยชูทักษิณนักโทษหนีคดีเป็นแบบอย่างน่าอายไปทั่วโลก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนและช่องทางสื่อสารในสังคมออนไลน์ มีพี่น้องประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวในการเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก 2022 ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำเสนอประเทศไทยในมิติต่าง ๆ รวมถึง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ เพื่อให้เอเปกมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งผลักดันและส่งเสริมนั้น ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยเฉพาะศักยภาพทางด้านการออกแบบสินค้าเชิงสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่หลายผลิตภัณฑ์ของไทยได้มาตรฐานสากลและวางจำหน่ายในยุโรปบางประเทศแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ในชุมชนถึงรากหญ้า 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กระแสโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังปลุกให้บรรดาสตาร์ตอัปในประเทศให้ความสนใจและเข้าใจโมเดล BCG มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เมนูอาหารของผู้นำเอเปกที่นำวัตถุดิบชั้นดีจากทั่วประเทศมาประกอบอาหาร กลายเป็นสินค้าขายดี นำเสนอซอฟต์พาวเวอร์อย่างเห็นผล สร้างรายได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มการประชุมอย่างเป็นทางการนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่สำคัญการประชุมเอเปกยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก จัดการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก 2022 หรือ ‘เอเปก ซีอีโอ ซัมมิท 2022’ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.65 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่มีภาคเอกชน ผู้นำและซีอีโอระดับชั้นนำของภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะมีการนำประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาแลกเปลี่ยนเพื่อต่อยอดกัน โดยเป้าหมายหลักจะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ

บุคคลสำคัญระดับโลกอยู่ที่นี่แล้ว ‘APEC 2022’

✨บุคคลสำคัญระดับโลกอยู่ที่นี่แล้ว ‘APEC 2022’

อยู่กับ ‘บิ๊กตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

- #จีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping)
- #ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี คิชิดะ ฟูมิโอะ
- #สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง
- #นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น
- #สหรัฐอเมริกา รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส
- #ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรี แอนโธนี อัลบานีส

- #บรูไน สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 และนายกรัฐมนตรีสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน ฮาจี โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ซาอาดุล ไครี วัดดิน
- #แคนาดา นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด
- #ชิลี ประธานาธิบดี กาบริเอล โบริก ฟอนต์ (Gabriel Boric Font)
- #จีนฮ่องกง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จอห์น ลี คา-ชิว (John Lee Ka-Chiu)
- #อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด
- #เกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี ฮัน ด็อก-ซู
- #มาเลเซีย เลขาธิการรัฐบาลมาเลเซีย ตัน ซรี ดาโตะ เซอรี โมฮามัด ซูกี บิน อาลี (Tan Sri Dato’ Seri Mohd Zuki Ali)
- #เม็กซิโก เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย เบร์นาโด กอร์โดบา เตโย (Bernardo Córdova Tello)

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! IMF ชี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลก

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงรายงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2566 จากร้อยละ 2.8 ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ IMF มองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยินดีกับผลการประเมินของ IMF และเห็นว่าความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับแต่สามารถจัดการกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้ รัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเตรียมภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ แรงงานจำนวนมากให้พร้อมรับนักท่องเที่ยว การมีมาตรการดึงดูดนักลงทุน เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ มาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top