Friday, 4 July 2025
เศรษฐกิจไทย

จับภาวะเศรษฐกิจไทย ในจังหวะ 'ต้นทุนแพง แข่งขันลำบาก' โจทย์ใหญ่สุดหินของรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านก็ค้านแต่เรื่องผิดๆ ถูกๆ

ข่าวปิดกิจการ ของห้างสรรพสินค้า ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ พร้อมการยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ที่เช่าพื้นที่ขาย บนอาคาร 12 ชั้น ทั้งหมด ร้านอาหารที่ใช้ตู้แช่เย็น เพื่อเก็บวัตถุดิบ หากไม่สามารถขาย หรือขนย้ายได้ทัน ก็คงเสียหายไปอีกไม่น้อย

ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 8 เดือนแรกปีนี้ 'ปิดกิจการ' 10,000 ราย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ข้อมูลการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย (อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด สะท้อนจากสัดส่วนธุรกิจที่ปิดกิจการเทียบกับธุรกิจที่มีอยู่

ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่กระทบต่อเอสเอ็มอีไทย แต่พบว่ายังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในที่เผชิญ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน โดย 95% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดคือ 

1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 

2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล้าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด

ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก พบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ 

1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน 

2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น 

3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 

และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุนเป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลให้ SMEs ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาล เตรียมประกาศปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ !! ซึ่งก็ต้องรอดูว่า มาตรการที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงงาน ที่สูงขึ้น จะออกมาในรูปแบบใด หากมาตรการไม่สามารถช่วยเหลือได้ จำนวนตัวเลขการปิดกิจการ ก็คงเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า และแรงงาน ก็คงตกงานกันอีกเป็นจำนวนมาก

ฝ่ายค้าน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามทำนองคลองธรรม จากการอภิปรายล่าสุด ก็ยังไม่พบว่า มีข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากแกนนำฝ่ายค้าน อ่านตัวเลขงบประมาณ ยังผิด ๆ ถูก ๆ มีแต่ข่าวคราว การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น ผลักดันสุราเสรี จัดสัมมนาเรื่อง Sex Tourism และเพศพาณิชย์ ที่ยังมองไม่เห็นว่า จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างไร เมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการแลนด์บริจด์ 

ม.หอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 

เดือนมีนาคม 2567 'ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคยกล่าวถึงกรณีการแข่งขันอันดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิขนส่งไว้ว่า 'ไปรษณีย์ไทย' กำลังเจอปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะโดนกีดกันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากร้านค้าและลูกค้าไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ เขาเสนอว่า ต้องมี 'Regulator' หรือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนดกติกาการแข่งขัน เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น 

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะตอนนี้ต้องเจอศึกหนักจาก ‘Temu’ ที่มีความยากกว่าหลายเท่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีสำนักงานในไทย แม้แต่กรมสรรพากรก็ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของ Temu ต่ำกว่าเดิม จากที่ส่วนแบ่งในตลาดถูก 'Shopee' และ 'Lazada' ปันส่วนไป 

ถ้าคนขายตาย ผู้ประกอบการตาย ขนส่งก็ไม่รอด ‘GDP’ ไหลออกนอกประเทศ แล้วรัฐบาลจะหารายได้จากแหล่งใด มากระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้าย ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs ในประเทศต้องปิดตัวลง ถ้ายังไม่แก้ สุดท้ายก็ตายกันหมด

โจทย์หนักรัฐบาล!! สินเชื่อบ้านไม่ขยับ แต่วิกฤตแรงงานขยับเอาๆ ฟากโรงพยาบาลเอกชนขาดทุน แห่ขอถอนตัวประกันสังคม

>> สินเชื่อบ้านโตต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี จากปัญหารายได้และภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง!!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวไม่เกิน 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรายปีของสินเชื่อบ้านระบบธนาคารที่ต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี เนื่องจากปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สินสูง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างเช่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็ก ๆ และหนี้รถ จนทำให้โอกาสการก่อหนี้บ้านลดลง

การชะลอลงของยอดคงค้างสินเชื่อบ้านดังกล่าว เป็นผลจากฝั่งธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งครองส่วนแบ่งประมาณ 55-56% ของตลาดสินเชื่อบ้านทั้งหมด โดยตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา สินเชื่อบ้านระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 0.8% ในไตรมาส 2 ปี 2567 ชะลอลงจาก 1% ในไตรมาส 1 ปี 2567

>> คุณภาพหนี้อาจเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) สินเชื่อบ้านของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 3.90% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 3.71% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งรวมถึง NPLs ในบ้านระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่เริ่มขยับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 รวมไปถึงหนี้ในกลุ่มบ้านระดับราคา 10-50 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

>> รพ.เอกชน จ่อออกจากประกันสังคม หลังโดนตัดงบลง 40% ทำให้ขาดทุน

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังจากที่ถูกปรับลดงบค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงถึง 40% โดยลดลงจาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย 

นอกจากนี้ ยังไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกันตน ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล

แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุดมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ยันฮี, รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ และรพ.ศรีระยอง เตรียมออกจากระบบประกันสังคม มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมนี้

กลุ่มแรงงาน ที่ยังต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ก็คงต้องรอโอกาสต่อไป การเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม คงต้องคิดหนักมากขึ้น จากสถานพยาบาลที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้บริการ ขออย่าให้ถึงกับมีเหตุที่ โรงพยาบาลรัฐ แบกรับการขาดทุนไม่ไหว จนต้องถอนตัวจากประกันสังคม เลย ...

‘ภาวะเศรษฐกิจไทย’ เร่งไม่ขึ้น รอลุ้นโค้งสุดท้ายปลายปี หลังพายุหมุนทางเศรษฐกิจยังไม่ก่อตัว แม้อัดฉีดแล้ว 1.4 แสนล้าน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนตุลาคม ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน และอยู่สูงกว่าระดับ 50 ทั้งความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) การใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per bill) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) รวมทั้งความเชื่อมั่นฯ ปรับดีขึ้นในทุกประเภทร้านค้าและทุกภูมิภาค โดยส่วนหนึ่งจากผลงานของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ปี 2567) 10,000 บาท สำหรับความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเป็นสำคัญ 

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สำรวจ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจผลของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ปี 2567) 10,000 บาท ราว 60% ของธุรกิจค้าปลีก ประเมินว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ นี้ ส่งผลให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ไม่มีมาตรการ และมีถึง 41% ที่ตอบแบบสำรวจว่า ยอดขายใกล้เคียงเดิม

ยอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายน 2567 สั่งจ่ายเงิน 14.44 ล้านคน โอนสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 14.05 ล้านคน และการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 381,287 คน โดยจะมีรอบการโอนเงินซ้ำให้กลุ่มที่โอนไม่สำเร็จ 22 ตุลาคม , 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2567

หากเทียบเม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการนี้ เบิกจ่ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 140,500 ล้านบาท แต่ผลสำรวจร้านค้าปลีก ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% !!!!

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ จะเริ่มเมื่อไหร่? คงรอกิจกรรมส่งเสริมการขายช่วงท้ายปี จากผู้ค้าปลีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง การจำหน่ายวัสดุก่อสร้างก็ลดลงเป็นเงาตามตัว ซึ่งส่วนสำคัญคือ สินเชื่อบ้านในทุกระดับราคา ยังคงถูกสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ 

ภาวะเศรษฐกิจไทย คงยังเร่งไม่ขึ้น ได้กระแสข่าวทางหน้าสื่อส่วนใหญ่ ไปกับข่าวทนายตั้ม กลบประเด็นทางเศรษฐกิจไปหมด ทั้งข่าวโรงงานผลิตรถยนต์ทยอยลดเวลางาน เพื่อลดต้นทุนค่าจ้าง ลามไปถึงโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นกระแส ผู้คนสนใจรถประหยัดพลังงาน ยังเร่งยอดขายไม่ขึ้น เลิกจ้างพนักงานไปอีก 600 คน ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

มารอดูกันว่า ปลายปีนี้ รัฐบาลจะงัดใช้มาตรการอะไร มาส่งท้ายในการใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่คงไม่กระเตื้องมากขึ้นนัก กับเวลาที่เหลือไม่ถึง 2 เดือน ลุ้นกันดีกว่า ว่า ภาคเอกชน จะมีโปรโมชั่นอะไรมาจูงใจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งท้าย...ปี มังกรทอง

Reference : ธนาคารแห่งประเทศไทย :
https://www.facebook.com/share/p/1DGYmhUHxK/

สมรสเท่าเทียม ดันท่องเที่ยวไทย GDPโตอีก 0.3%

(15 พ.ย. 67) งานวิจัยจาก อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยจะช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายใน 2 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยส่งผลให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้น 0.3%

งานวิจัยนี้ ซึ่งจัดทำโดย อโกด้าร่วมกับบริษัท Access Partnership ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการรับรองกฎหมายนี้ และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากไต้หวันในปี 2562 และเนปาลในปีที่แล้ว กฎหมายดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ จากทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

รายงานยังคาดการณ์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระจายไปยังหลายภาคส่วน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปีใน 2 ปี ซึ่งจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น

เพิ่มรายรับจากการท่องเที่ยวประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยกระจายไปยังหลายภาคส่วน เช่น การจองที่พัก 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, การบริการอาหารและเครื่องดื่ม 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, การจับจ่ายซื้อสินค้า 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, การเดินทางภายในประเทศ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ความบันเทิงและการแพทย์

สนับสนุนการสร้างงานเพิ่มขึ้น 152,000 ตำแหน่ง โดย 76,000 ตำแหน่งจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอีก 76,000 ตำแหน่งจะกระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจ ผลักดัน GDP ของไทยให้เติบโตขึ้น 0.3%

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลกอยู่แล้ว การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้จะเพิ่มความน่าสนใจของไทยในสายตานักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ที่มองหาจุดหมายที่เปิดกว้างและต้อนรับทุกคน โดยเฉพาะในยุคที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น

เนื่องจากไทยจะเป็นประเทศที่สามในเอเชียที่มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเฉลิมฉลองการแต่งงานในประเทศที่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน หลายเมืองในไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่สวยงามหรือความพร้อมในการบริการต่าง ๆ กฎหมายนี้จะกระตุ้นการเติบโตในอุตสาหกรรมงานแต่งงานและส่งผลดีต่อธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงแรม บริการจัดเลี้ยง และอุตสาหกรรมบันเทิง

ปิติโชค จุลภมรศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดของอโกด้า และผู้สนับสนุนกลุ่ม Agoda Pride กล่าวว่า “อโกด้าสนับสนุนชาว LGBTQIA+ มาตลอดทั้งในหมู่พนักงานและผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของเรา ปีนี้เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือและสนับสนุน Bangkok Pride Parade 2024 ด้วยงานวิจัยชิ้นนี้ เราต้องการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของความหลากหลายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงคุณค่าที่เกิดจากการยอมรับความแตกต่างในสังคม”

จากการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมและผู้จัดงาน Bangkok Pride งานวิจัยเผยให้เห็นถึงโอกาสสำคัญที่กฎหมายจะนำมา เช่น งาน WorldPride ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ได้มหาศาล

ปิติโชคกล่าวเสริมว่า “การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นก้าวสำคัญของไทย ทั้งในด้านการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมและการตอกย้ำภาพลักษณ์ของไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน” วาดดาว ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งบางกอกนฤมิตรไพรด์ กล่าวเสริมว่า “การยอมรับความหลากหลายและการรับรองสิทธิในการสมรสของคู่รักทุกคู่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทผู้นำของไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีของมนุษย์”

มาม่าเผย เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ก็ยังขายดี เหตุลูกค้าหลักมาม่าไม่ได้รวยขึ้น

(22 พ.ย.67) บนเวทีเสวนา 'THAILAND 2025 โอกาส-ความหวัง-ความจริง' ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจ นาย นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 'มาม่า' กล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีอายุถึง 50 ปีแล้ว และยังคงเป็นเทรนด์อย่างต่อเนื่อง แม้ยอดบริโภคต่อคนจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

โดยเมื่อ 2 ปีก่อน คนไทยบริโภคเฉลี่ย 52 ซองต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 55 ซองต่อปี แม้ว่าธุรกิจนี้ยังจะไม่อยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ต้องมีการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการโฟกัสผลิตภัณฑ์หลัก ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกจำกัดเรื่องราคา โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีการปรับราคาขายเพียง 3 ครั้ง ครั้งละ 1 บาท ในปี 2541, 2551 และล่าสุดในปี 2565  

นายพันธ์กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ขายในราคาสูงถึง 35-45 บาท ทำให้แบ่งส่วนตลาดไปมาก แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นโอกาสให้ 'มาม่า' ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยรีแบรนด์สินค้า เช่น 'มาม่าโอเค' ในราคาซองละ 15 บาท ซึ่งได้รับความนิยมสูงจนมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 10%  

“มาม่าโอเคไม่ได้เป็นสินค้าราคาแพง แต่เป็นสินค้าที่คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ และยังเข้าถึงกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไปได้ดี รวมถึงการเปิดร้าน ‘มาม่าสเตชั่น’ ที่อาร์ซีเอ ซึ่งมียอดขายดีมาก” นายพันธ์กล่าว  

ปัจจุบัน มาม่ายังครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในธุรกิจที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย เพราะสามารถบริหารต้นทุนได้ดี แม้กำไรจะน้อย ถือเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ  

เมื่อถามถึงผลกระทบหากเศรษฐกิจดีขึ้น นายพันธ์ระบุว่า “ผมไม่กังวล เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของมาม่ายังมีรายได้จำกัด และต้องเผชิญกับภาระรายจ่าย แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสสร้างหนี้มากขึ้น รัฐควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ พร้อมให้ความรู้เรื่องการออม”  

อย่างไรก็ตาม นายพันธ์ยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของมาม่าคือการสร้างบุคลากรใหม่ “เด็กยุคนี้ไม่สนใจทำงานในบริษัท เราต้องสร้างบรรยากาศที่น่าทำงานให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมาม่าไม่ติด 1 ใน 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงาน”

สวนสยามลดค่าเข้า จาก 1,000 เหลือ 240 หวังกระตุ้นนทท. มองเศรษฐกิจยังซบเซาถึงกลางปี 68

(3 ธ.ค.67) นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ซึ่งดำเนินธุรกิจสวนสยาม (Siam Amazing Park) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจสวนสนุกและสวนน้ำยังคงมีความต้องการ แต่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและภาระหนี้สินที่สูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะยังคงซบเซาต่อไปจนถึงกลางปี 2568 เนื่องจากผู้คนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงมีการประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและต้องใช้เงินทุนส่วนตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจ ซึ่งนายวุฒิชัยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม นอกจากมาตรการช่วยเหลือหนี้สินที่รัฐบาลกำหนดให้กับกลุ่มเปราะบางและธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยแล้ว

"รัฐบาลควรพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน มีการจ้างงานจำนวนมาก และมีศักยภาพในการกลับมาฟื้นฟูกิจการ เพราะการที่ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น" นายวุฒิชัยกล่าว พร้อมเสริมว่าในปัจจุบันหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกคนและทุกธุรกิจ

สำหรับสวนสยาม บริษัทได้ปรับตัวโดยลดค่าใช้จ่ายและจัดโปรโมชั่นเพื่อรองรับกำลังซื้อที่ลดลง โดยลดราคาค่าบริการจาก 1,000 บาท เหลือ 240 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และเปิดให้ซื้อตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะสามารถใช้ได้จนถึง 1 มกราคม 2568 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีผู้เข้าใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 คนต่อวัน ทำให้สวนสยามยังสามารถสร้างรายได้เพื่อหมุนเวียนธุรกิจได้บ้าง

เศรษฐกิจไทย 68 โตมากสุด 3.3% อานิสงส์เงิน 1 หมื่น แนะมุ่งสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม รับศึกการค้าทรัมป์ 2.0

(7 ก.พ.68) ธนาคาร HSBC ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียและไทยในหัวข้อ 'Asia and Thailand Economic Outlook 2025' โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ และการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตสู่ภาคการบริโภค

เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียของ HSBC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตที่ 2.7-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเมื่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่า
2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังคงเป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่แจกจ่ายให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เฟรดเดอริคเตือนว่า ในปี 2026 การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง

HSBC มองว่า ไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 50% เทียบกับ 10% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ EV อุปกรณ์ชิปประมวลผล (Processor) และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น มาเลเซียในด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือเวียดนามในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

แม้ไทยจะมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ของภูมิภาค แต่ HSBC ชี้ว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น การลดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล การพัฒนาทักษะของบุคลากร การปรับปรุงระบบ Back Office และการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์

เฟรดเดอริคยังเตือนถึงความท้าทายสำคัญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

HSBC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3.3% จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพทางการเงินระดับภูมิภาคและการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

‘EBC Financial Group’ วิเคราะห์!! แนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อในประเทศ เริ่มผ่อนคลาย แต่ยังมีความเสี่ยง ที่ยังคงต้องติดตาม

(8 ก.พ. 68) เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2568 เศรษฐกิจในไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และความผันผวนของตลาดทั่วโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่อ่อนแอ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว EBC Financial Group (EBC) ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเสนอแนวโน้มและโอกาสการลงทุนในปี 2568

อัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่มีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้ระหว่าง 1% ถึง 3% โดยในเดือนธันวาคม ปี 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก เดือนพฤศจิกายน 0.95% ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แม้จะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2567 ยังคงอยู่ที่ 0.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
.
เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำและความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 หลังจากนั้น ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในเดือนธันวาคม โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการรักษาความยืดหยุ่นทางนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่ 2.9% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ 1%-3% โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1%

นักวิเคราะห์จาก EBC เตือนว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีข้อจำกัดจากความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาจากการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันการลงทุนจากภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน และเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือระหว่างมาตรการการเงินและการคลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในเอเชีย แต่ตลาดการเงินของไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ EBC มองว่า ปัจจัยภายในประเทศไทยและแรงกดดันจากภายนอก สร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับนักลงทุน เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฟื้นฟูและภาคการท่องเที่ยว

การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ในปี 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35.5 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเกิดจากความไม่สงบทางการเมืองและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ความไม่สอดคล้องระหว่างการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและผลประกอบการของตลาดหุ้น สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน

รัฐบาลไทยรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดยดำเนินมาตรการทางการคลังหลายด้าน เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 490,000 ล้านบาท ที่มุ่งเป้าไปยังประชากรประมาณ 45 ล้านคน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2.9% ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 และมาตรการภาษีที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดถึง 50,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคต่าง ๆ EBC ระบุว่า มาตรการเหล่านี้อาจช่วยสนับสนุนธุรกิจในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ อาจเป็นโอกาสการเติบโตสำหรับนักลงทุนระยะยาว ผลสำเร็จของมาตรการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของไทยในการดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีนและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2568 คือ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนและอาจทำให้จีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีนยังคงอ่อนแอ การท่องเที่ยวออกนอกประเทศอาจชะลอตัวลง

แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว แต่ประชาชนจีนยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดในปี 2567 ความไม่แน่นอนนี้อาจสนับสนุนให้ทองคำมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมทองคำยังคงได้รับความนิยมและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

นักวิเคราะห์ แนะนำว่า นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินทรัพย์ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาจมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เวิลด์แบงก์เชื่อจีดีพีโต 2.9% แม้หนี้ครัวเรือนพุ่ง-ส่งออกชะลอตัว

(14 ก.พ.68) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี นอกจากนี้ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน *Thailand Economic Monitor* ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 2.6% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568  

การลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน  

"ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด" นายเกียรติพงศ์กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาด แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จีดีพีจะเติบโตที่ 2.7%  

ความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ สงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์ การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่กระตุ้นการเติบโตในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนระยะยาว  

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจาก 8.5% ในปี 2566 เหลือ 8.29% ในปี 2567  

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญ ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” นางเมลินดากล่าว

สภาพัฒน์คาดปี 2568 โตในช่วง 2.3 - 3.3% เร่งเครื่องเศรษฐกิจผ่านลงทุนและการส่งออก

(17 ก.พ. 68) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เมื่อปรับผลฤดูกาลออกแล้ว โดยมีการขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ที่ 0.4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัว 2%. การขยายตัวนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโต 4.4%, การอุปโภคภาครัฐที่ขยายตัว 2.5%, การลงทุนภาครัฐที่เติบโต 4.8%, และการส่งออกที่ขยายตัว 5.8% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP

สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยค่ากลางอยู่ที่ 2.8%. การคาดการณ์นี้สะท้อนถึงการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน, การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน, การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การปรับตัวของการลงทุนภาคเอกชน, และการขยายตัวของการส่งออกสินค้า

สภาพัฒน์ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า และการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพ รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ควบคู่กับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top