Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ซัด!! หน่วยงานไร้จิตสำนึก  ยึดความอิสระ พาเศรษฐกิจไทยถดถอย

(21 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ เผยคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับจิตสำนึกของหน่วยงาน ภายหลังการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ร่วมกับ 3 เหล่าทัพ และสถาบันการเงิน ที่เชื่อว่าจะช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งสติและพิจารณาทบทวนการทำงานของตนเองได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไว้ว่า...

คำว่าจิตสำนึกอาจมีหลายความหมาย แต่หากเดาใจท่านนายกฯ น่าจะหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Accountability ความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบในทางการงาน (Responsibility) เท่านั้น แต่รวมถึงความรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำคัญกว่ามากด้วย

Accountability มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่มักจะหาได้ยากยิ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หน่วยงานเหล่านี้มักทำหน้าที่ในด้านนโยบายสาธารณะ ไม่มีเจ้าของที่ต้องรายงาน และมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็นที่ยอมรับในสากลว่าธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ที่ตกลงกับรัฐบาล ก่อนปี 2566 ทว่าแบงก์ชาติไม่ทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดี แต่กลับทำตัวเป็นตู้ ATM ให้รัฐบาลสมัยนั้นมาตลอด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำติดศูนย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ในปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยจนเงินเฟ้อในไทยพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ตกลงไว้กับรัฐบาลกว่า 2 เท่า

กว่าจะรู้ตัวว่าไม่ได้เป็นตู้ ATM ก็จนหลังการเลือกตั้ง ซึ่งสายไปเสียแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอและเงินเฟ้อเริ่มต่ำกว่ากรอบและเข้าสู่ภาวะเงินฝืด จนขณะนี้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยกำลังจะหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างเป็นทางการ

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางจะมีได้ขึ้นอยู่กับความประพฤติของธนาคารกลางเอง ที่สำคัญที่สุดคือการมีบทบาทที่ชัดเจน (Clear Mandate) ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของราคาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ทำเก่งทุกอย่าง (ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน) เหมือนกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาโลกร้อน การอุ้มตลาดหุ้นกู้ การแก้ไขปัญหาโควิด เป็นต้น ตราบใดที่ยังไม่มี Clear Mandate คงจะเป็นการยากที่จะหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีจิตสำนึก

‘แบงก์ชาติ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. ยังโตต่ำ แม้ นทท.เพิ่มขึ้น เหตุส่งออกหด ลงทุนดีขึ้นบางหมวด แถมรัฐเบิกจ่ายงบ 67 อืด

(29 มี.ค.67) น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.67 โดยรวมขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจในภาคบริการขยายตัวตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจีน ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีและเทศกาลตรุษจีน ส่วนมาเลเซียมาจากการท่องเที่ยวก่อนการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนที่เร็วกว่าปกติในปีนี้ รวมถึงญี่ปุ่นที่เข้ามา หลังชะลอไปในช่วงก่อนหน้า

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษีต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกแผงวงจรรวมและฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปจีนและฮ่องกง ยานยนต์ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียเป็นสำคัญ และปิโตรเลียมจากการส่งออกไปอาเซียน มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุน

น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนตามการเลื่อนเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐาน จากผลของฐานสูงในปีก่อน ตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อนโดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ

'6 เดือนรัฐบาล' กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นตามหวัง ซ้ำ!! 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' ยังกระทบงบประมาณ 67

'เศรษฐกิจไทย' ยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะส่งผลดี กระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สต็อกบ้าน คอนโด เหลือขายเป็นจำนวนมาก โครงการเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10.80% แต่หน่วยขายได้ กลับลดลง -14.50% เตรียมเข็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% โดยขยายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก เท่านั้น

ด้านพลังงาน มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม จะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คาดการว่า กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบในระดับ 100,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถขยายเวลาในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ 

หากจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อ ต้องอาศัยกลไกจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มาช่วยตรึงราคาควบคู่กับกลไกกองทุนน้ำมัน 

ส่วนค่าไฟฟ้า มาตรการจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2567 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีแนวโน้มจะสามารถตรึงฐานค่าไฟได้ต่อ ถึงเดือนสิงหาคม 2567 

ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใน 'กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ' ที่มีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทในไทย สามารถยื่นขอบีโอไอได้ ได้รับสิทธิ์เว้นอากรขาเข้า อุปกรณ์-เครื่องจักร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) 

มาตรการที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่ทำให้คะแนนนิยมทั้งของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีกระเตื้องขึ้น กับการที่บริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องเข็นมาตรการเงินดิจิตอลวอลเล็ต เพื่อช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 

โดยวันที่ 10 เม.ย. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการเคาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 - 3 ทางเลือกระหว่างการใช้เงินกู้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงิน และไทม์ไลน์ในโครงการนี้แล้ว โครงการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยืนยันว่าโครงการนี้รัฐบาลจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้สามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนเทศกาลปีใหม่ 2568

ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงไม่กระเตื้อง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า แต่เมื่อการหาแหล่งเงินทุนในโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะต้องไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีร่วมด้วย นั่นหมายความว่า งบประมาณประจำปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ ของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกตัดไปใส่ในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต เท่ากับว่า เม็ดเงินที่จะออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ เพราะส่วนหนึ่งใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายอยู่แล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องคิดเผื่อด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก เพราะทุกหน่วยงานต้องรอจัดสรรการใช้จ่ายในแต่ละโครงการอีกครั้ง ว่าโครงการใด ต้องชะลอเพื่อกันเงินไว้สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต โครงการใดที่จะสามารถเบิกจ่ายได้จริง ส่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยิ่งต้องล่าช้าออกไปอีก 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้ แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่าใดนัก และกับการที่อาจต้องคาดการณ์ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปอีก ... ความกดดันที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น กำลังถาโถมต่อรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ

ตอนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สถานการณ์หนักพอควรแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ ก็คงไม่ต่างกัน นโยบายที่ออกมาเพียงเพื่อหาเสียงเพื่อให้ได้เข้าไปนั่งในสภา ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกฎกติกา หรือยัง ?

ส่งออกมีนาคมไทย ติดลบ 10.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 4% หยุดสถิติส่งออกไทยโต 7 เดือนติด สู่ติดลบแรกในรอบ 8 เดือน

(29 เม.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

สาเหตุจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และขยายตัวต่ำ ปัญหาความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

หากพิจารณาในภาพรวม 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top