‘อ.พงษ์ภาณุ’ ซัด!! หน่วยงานไร้จิตสำนึก  ยึดความอิสระ พาเศรษฐกิจไทยถดถอย

(21 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ เผยคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับจิตสำนึกของหน่วยงาน ภายหลังการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ร่วมกับ 3 เหล่าทัพ และสถาบันการเงิน ที่เชื่อว่าจะช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งสติและพิจารณาทบทวนการทำงานของตนเองได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไว้ว่า...

คำว่าจิตสำนึกอาจมีหลายความหมาย แต่หากเดาใจท่านนายกฯ น่าจะหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Accountability ความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบในทางการงาน (Responsibility) เท่านั้น แต่รวมถึงความรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำคัญกว่ามากด้วย

Accountability มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่มักจะหาได้ยากยิ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หน่วยงานเหล่านี้มักทำหน้าที่ในด้านนโยบายสาธารณะ ไม่มีเจ้าของที่ต้องรายงาน และมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็นที่ยอมรับในสากลว่าธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ที่ตกลงกับรัฐบาล ก่อนปี 2566 ทว่าแบงก์ชาติไม่ทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดี แต่กลับทำตัวเป็นตู้ ATM ให้รัฐบาลสมัยนั้นมาตลอด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำติดศูนย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ในปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยจนเงินเฟ้อในไทยพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ตกลงไว้กับรัฐบาลกว่า 2 เท่า

กว่าจะรู้ตัวว่าไม่ได้เป็นตู้ ATM ก็จนหลังการเลือกตั้ง ซึ่งสายไปเสียแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอและเงินเฟ้อเริ่มต่ำกว่ากรอบและเข้าสู่ภาวะเงินฝืด จนขณะนี้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยกำลังจะหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างเป็นทางการ

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางจะมีได้ขึ้นอยู่กับความประพฤติของธนาคารกลางเอง ที่สำคัญที่สุดคือการมีบทบาทที่ชัดเจน (Clear Mandate) ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของราคาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ทำเก่งทุกอย่าง (ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน) เหมือนกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาโลกร้อน การอุ้มตลาดหุ้นกู้ การแก้ไขปัญหาโควิด เป็นต้น ตราบใดที่ยังไม่มี Clear Mandate คงจะเป็นการยากที่จะหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีจิตสำนึก