Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

'อ.พงศ์พาณุ' ชี้!! ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับการคลัง กำลังก่อ 'ปัญหา-เหนี่ยวรั้ง' ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย

(1 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวว่า...

ต้นปี 2567 ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังยังคงเป็นปัญหาเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยอยู่ ในขณะที่นโยบายการคลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ แต่นโยบายการเงินกลับสวนทางและฉุดให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังลงเหวอย่างไร้ความรับผิดชอบ ความขัดแย้งดังกล่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย กระทรวงการคลังรายงานคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% วันรุ่งขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบอกว่าประมาณการนี้ไม่ถูกต้อง จึงควรต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรที่รับผิดชอบนโยบายการเงิน

เป็นที่ยอมรับในสากลว่านโยบายการเงินมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ Inflation Targeting และธนาคารกลางสมควรมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายในกรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบ 

ในกรณีของประเทศไทย กรอบเงินเฟ้อกำหนดไว้ที่ 1-3% เมื่อปี 2565 มีแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าไม่ทันการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นทั่วโลก อาจด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นเหตุให้ภาวะเงินเฟ้อในไทยพุ่งทยานขึ้นสูงถึง 6.1% ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะสูงที่สุดในโลกและเกินกรอบเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลกว่าเท่าตัว 

พอมาปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มถดถอยและอัตราเงินเฟ้อจะหลุดกรอบล่างไปแล้ว ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยมีเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกันในไตรมาสสุดท้าย ประเทศไทยจึงอาจเป็นประเทศที่มีความผันผวนทางการเงินสูงที่สุดประเทศหนึ่ง

น่าแปลกใจที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชาย แต่กลับแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ ว่า ไม่ใช่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย คงต้องทำใจแล้วว่าเรามีธนาคารกลางที่มีความสามารถในการโยนความผิดให้ผู้อื่น และเก่งในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน ถ้าผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะเสียใจมิใช่น้อย

‘ดร.สมคิด’ ชี้!! สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ เพราะปมปัญหาทางการเมืองฝังลึก พร้อมฉุดทุกความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 ศาสตราจารย์ภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘จับชีพจรชีวิตประเทศไทย’ จากงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน’

โดยครั้งนี้ถือเป็นการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งกลางปี 66 ซึ่งช่วงหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ดร.สมคิด ได้พูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ที่ถือว่าเป็นพระเอกของอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับเดินช้าและอ่อนแอลง เพราะปัญหาที่สะสมมานาน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

“สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามากว่า 20 ปี และไม่ได้เติบโตเหมือนเดิมอีก เป็นปัญหาสั่งสมมายาวนาน วันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ประเทศอื่นเติบโตเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียก็สามารถที่จะกลับมาใช้นโยบาย Multi Corridor เดินหน้าเศรษฐกิจ ส่วนอินเดียนั้นมีประชากรและแรงงานมาก มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด และประชากรลดลงเรื่อยๆ”

ดร.สมคิด ระบุอีกว่า หากดูตัวเลข GDP ย้อนหลังของไทย 20 ปี โตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลง โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดรัฐประหาร เจอวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประเมินตัวเลข GDP โต 1.8% สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเติบโตต่ำมาเรื่อยๆ 2% กว่า และในปีนี้ที่ผ่านมาก็ยังไม่รู้ว่าจะไปจบอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์

“ตัวเลขจาก กระทรวงการคลัง วางไว้ว่า 1.8% ซึ่งถ้าจีดีพีโต 1.8% คุณต้องเอาน้ำแข็งประคบหัวเลย เพราะโตต่ำมาก ไทยได้เข้าสู่ยุคของ Low Growth แทบจะ 20 ปีแล้ว ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เราไม่รู้ตัวเหรอ แต่จริงๆ ผมว่าเรารู้ตัวนะ”

เมื่อพูดถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ? ดร.สมคิด กล่าวว่า ก็เพราะปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียง การออกนโยบายระยะสั้น เพื่อหาเสียง ไม่ได้กำหนดนโยบายระยะยาว และหลายเรื่อง รอการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย ถือว่าเสียเวลาไปมาก และไม่ใช่ปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลแต่ละช่วงเวลาอาจจะรู้ว่าต้องทำนโยบายอะไร แต่ว่าการเมืองไม่สนับสนุนให้ทำได้ เพราะการเมืองมุ่งแต่จะเอาชนะกัน แบ่งสี แบ่งค่าย เพื่อเอาฐานเสียงทุกรูปแบบ สุดท้ายก็นำไปสู่การหาเสบียง หาเงิน ดัชนีคอร์รัปชันก็เลยพุ่งสูง เปิดโอกาสให้ทุนทางการเมืองเข้ามากลายเป็นรูปแบบธุรกิจ นโยบายจึงออกมาเป็นควิกวิน (Quick Win) ระยะสั้น ไม่สามารถทำนโยบายระยะยาวได้ เรื่องที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ กฎหมายสำคัญๆ ที่จะออกจากสภาฯ ก็ไม่ทำ การเมืองก็ใช้วิธีการปรองดองกันเพื่อผลประโยชน์เท่าที่ทำได้”

เมื่อพูดถึงนโยบายระยะยาว? ดร.สมคิด ให้มุมมองว่า รัฐบาลต้องหันกลับมามองการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ รวมไปถึงต้องกลับมาโฟกัสการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้า หากของเก่ายังทำไม่ได้ แลนด์บริจด์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็อาจจะไปไม่รอด

“ถ้าโครงการอีอีซีเดินหน้าไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังอะไรกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะความเชื่อมั่นไม่เหลืออยู่แล้ว” ดร.สมคิด กล่าวและเสริมอีกว่า “วันนี้ไทยจึงต้องเร่งฟื้นฟู ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ และความเชื่อถือ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งฟื้นหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไปต่อยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นตก เศรษฐกิจถดถอย ไม่ใช่ปัจจัยอื่น หากยังไม่ช่วยกันแก้ไข ก็จะพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงที่เรารู้แน่นอนว่าเราจะเดินไปสู่อะไร ตรงนี้ต้องคิดกันให้ดี”

เมื่อพูดถึงข้อแนะนำที่จะทำให้ตัวเลข GDP โตขึ้นได้ ต้องโฟกัสที่จุดใดเป็นสำคัญ? ดร.สมคิด แนะว่า หากจะให้ตัวเลข GDP โตขึ้น ต้องเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์เดิมที่ใช้เก่าแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เมื่อพูดถึงความเสี่ยงหลักที่จะมีโอกาสฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยต้องรับมืออย่างไร? ดร.สมคิด เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาโลกได้ผ่านสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมากมาย ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก การทำนายอนาคตให้แม่นยำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังต้องมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2 ครั้งซึ่งบ่งบอกว่าความไม่แน่นอนมีสูงมาก 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัท องค์กรเอกชนจะต้องเผชิญ คือภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือภาวะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.1% ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในรอบหลายปีซึ่งค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8% 

เศรษฐกิจในภาพรวมเหมือนจะฟื้นตัวและมีปัจจัยบวกรออยู่ เช่น เศรษฐกิจจีนที่จะขยายตัวได้เพิ่มเติมที่ประมาณ 4.5% เศรษฐกิจญี่ปุ่นและอินเดียฟื้นตัวและเติบโตได้ดี โดยสาเหตุที่ IMF คาดการณ์จีดีพีโลกขยายตัวต่ำกว่าที่ควร มาจากความเสี่ยงหลักในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด (Top Risk) ของโลกในปัจจุบัน 

ยิ่งไปกว่านั้น หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกครั้งจะมีความเสี่ยงต่อเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ เช่น นโยบายที่ทรัมป์จะหยุดสงครามยูเครนภายใน 1 วัน โดยการไปผูกไมตรีกับรัสเซีย หรือทรัมป์อาจประกาศให้อเมริกาถอนตัวจากสมาชิกป้องกันภัยแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งก็จะทำให้ NATO อ่อนแอลงไปได้ ขณะที่การกลับมาของทรัมป์จะทำให้จีนและสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี

“การจะพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย จะต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆ กันในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ ระหว่าง ‘จีน’ กับ ‘สหรัฐฯ’ ให้ดี” ดร.สมคิด ฝากทิ้งท้าย

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

‘จุรินทร์’ ถามรัฐ หากเศรษฐกิจวิกฤตจริง “ทำไมไม่เดินหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ตสักที”

(6 ก.พ. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลดาหน้าออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤตและจำเป็นจะต้องเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องเห็นตาม ปปช. ว่า…

“ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤตจริง แล้วจะมัวเงื้อง่า ซื้อเวลาอยู่ทำไม และถ้าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติจริง ยิ่งรอช้าเศรษฐกิจจะไม่ยิ่งวิกฤตหนักเข้าไปอีกหรือ ยิ่งรัฐบาลบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำตามความเห็น ปปช. เสมอไป แล้วทำไมไม่ทำเสียที เพราะประชาชนรออยู่ ทำเหมือนส่อออกอาการปากกล้าขาสั่น”

‘ดร.เอ้’ เตือนรัฐไม่ควรเอาง่าย แจกตังค์อย่างเดียว ชี้!! ไทยยังไม่มี ‘เครื่องจักรทางเศรษฐกิจ’ ตัวใหม่ 

(20 ก.พ.67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า สภาพัฒน์ฯ แจงเศรษฐกิจไทยโตเพียง 1.9% รัฐบาลไม่ควรเอาง่าย แจกตังค์อย่างเดียว ไม่ใช่ทางออก จะเป็นภาระลูกหลาน เพราะเราไม่มี ‘เครื่องจักรทางเศรษฐกิจ’ ตัวใหม่เลย หวังแต่ท่องเที่ยว ท่องเที่ยว ท่องเที่ยว ใครก็รู้ ได้เงินน้อยลงทุกวัน แถมเปราะบาง เกิดเหตุโน่นเนี่ย เขาก็ไม่มาบ้านเรา

ขณะที่ทุกชาติ ประกาศพัฒนา 4 ด้าน

1. สร้างทักษะขั้นสูง ของคนในชาติ
2. สร้างธรรมาภิบาล การลงทุนโปร่งใส
3. สร้างสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย
4. สร้างนวัตกรรม พึ่งตนเอง ส่งออกมูลค่าสูง

ผมฝากท่านนายกด้วยครับ

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ยัน!! ศก.ไทย 'ไม่วิกฤติ' ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามคำขอ ด้านสื่อญี่ปุ่นมอง 'เศรษฐา' ต้องการอ้างตัวเลขวิกฤติ ดัน 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ. 67) สำนักข่าวนิกเกอิของประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสื่อญี่ปุ่นแห่งนี้ ระบุว่า ธปท.ได้คัดค้านข้อเรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพลิกกลับของนโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวนิกเกอิ ว่า ธนาคารกลางจะ 'ไม่ดันทุรัง' ต่อสถานการณ์ดอกเบี้ยในขณะนี้ซึ่งอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นผลจากอุปสรรคทางการเมืองที่ทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง มันไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างใด แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้รวดเร็วขึ้นด้วย และนี่คือปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองที่ส่งถึงธนาคารกลางกำลังมีมากขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องถึง 4 เดือน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการหดตัวของการส่งออก แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง

นายเศรษฐาได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่อ่อนแอลง และเรียกร้องให้ธนาคารกลางจัดการประชุมหารือเป็นการฉุกเฉินก่อนการประชุมทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.นี้

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายเศรษฐา ซึ่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง โดยยืนยันว่า นายเศรษฐา มีความเป็นมืออาชีพและมีความจริงใจ 'แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต' แม้ว่านายเศรษฐาได้พยายามชี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอด เพื่ออ้างว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งนี่จะส่งผลทำให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ สามารถอนุมัติการเดินหน้านโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ได้ง่ายขึ้น

“การฟื้นตัวแม้จะมีความอ่อนแอ แต่มันก็มีความต่อเนื่อง” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว

นิกเกอิรายงานต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลาง ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐพุฒิไม่มีสิทธิ์ได้รับการต่ออายุ หลังจากหมดวาระในปี 2568 เนื่องจากเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี 

“มีความตึงเครียดแต่ก็อยู่ในลักษณะที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทํางานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่า เรามีบทบาทที่แตกต่างกันตามกฎหมาย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการธนาคารฯ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางได้ฝ่าฟันกับเสียงเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย หลังมีข้อวิจารณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยตามหลังแนวโน้มของทั่วโลกที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเรา เพราะว่าการฟื้นตัวของเรานั้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ” นายเศรษฐพุฒิระบุ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) จำนวน 2 คนลงมติให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับนิกเกอิว่า เสียงส่วนน้อยมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางในรูปแบบใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน อาทิ จำนวนประชากรและผลิตผลจากแรงงานที่ลดลงแล้ว คณะกรรมการฯยังเห็นถึงความกังวลที่ประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับในจีดีพี

“สิ่งที่เราเห็น คือ การทดแทนการนําเข้ามากขึ้นในประเทศจีน...ซึ่งนั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขา (จีน) ที่ผลิตด้วยตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีการนำเข้า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ในขณะที่การเข้าพักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ ตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากอันเป็นผลมาจากโควิด” ผู้ว่าการธนาคารฯกล่าว และระบุว่า “มันเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะสรุปว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมด้วยความล่าช้า คุณต้องทำอะไรสักอย่าง หากคุณต้องการได้ตัวเลขนั้น”

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาจะไม่แทรกแซงธนาคารกลางแต่จะพยายามโน้มน้าวให้ "เห็นใจคนที่กำลังทรมาน”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำกับนิกเกอิว่า “พวกเขากำลังเผชิญกับความเจ็บปวด เพราะว่ารายได้ไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่เราก็รู้สึกถึงวิธีการที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา คือ การออกมาตรการที่ตรงเป้าหมาย และมันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะต้องมาแจกอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้กับทุกๆคน”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวว่า เขารับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีต่อผู้กู้ แต่กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของจีดีพี

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ส่วนเล็กๆเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลา มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่ของการพยายามทําให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

‘อ.พงษ์ภาณุ’ เปิดมุมมอง ‘หนี้สาธารณะ’ กับการพัฒนาประเทศ ข้อดี ‘ก่อหนี้-กู้ยืม’ สร้างแรงส่งสู่การลงทุน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้สาธารณะกับการพัฒนาประเทศ' เมื่อวันที่ 25 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

หลังการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศหลายประเทศ ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็มีระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก และเมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะจึงเริ่มเป็นปัญหาและในบางประเทศเข้าขั้นวิกฤต เช่น สหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหาเพดานหนี้จนอาจถึงขั้นรัฐบาลปิดดำเนินการ (Government Shutdown) จีนมีปัญหาหนี้รุนแรงในระดับรัฐบาลท้องถิ่นจนรัฐบาลกลางต้องเข้าไปอุ้ม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหนี้ตามสนธิสัญญา Maastricht ได้

แม้ว่าในบางครั้งหนี้อาจเป็นปัญหาและก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่หนี้โดยตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องหวาดกลัวเสมอไป การก่อหนี้หรือการกู้ยืมมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตเพื่อการบริโภคในอนาคตแทนที่จะบริโภคหมดไปในปัจจุบัน ตลาดและสถาบันการเงินมีหน้าที่หลักในการระดมทุนจากผู้ออมและจัดสรรทุนในรูปหนี้หรือทุนไปยังกิจกรรม/โครงการที่นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระดับประเทศก็เช่นกัน การก่อหนี้สาธารณะมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐบาลมีทรัพยากรเสริมจากรายได้ภาษีอากร เพื่อจัดให้มีบริการที่จำเป็นต่อประชาชนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ยิ่งถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จะระดมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาจมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเสริมเงินออมในประเทศ ระเบียบโลกจึงได้กำหนดให้มีโครงสร้างทางตลาดและสถาบันที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนไปยังที่ที่มีความต้องการใช้เงินทุนนั้น

แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มพยายามบิดเบือนและสร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับข่าวแผนการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ว่าเป็นการเปิดประตูเมืองชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอคติอย่างรุนแรงต่อกลไกตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ได้รับประโยชน์มหาศาลจากตลาดการเงินโลก เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดโลกครั้งแรก ที่ตลาดลอนดอน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำคัญ ๆ ล้วนใช้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งนั้น อาทิเช่น ทางหลวงแผ่นดิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นต้น รัฐบาลประยุทธ์ก็กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หากไม่มีแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยคงไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางเช่นทุกวันนี้

ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กฎหมายการเงินการคลังของไทยวางโครงสร้างและสถาบันภาครัฐเพื่อสร้างหลักประกันแห่งวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม และรัฐบาลไทยก็ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมา 

วันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับปลอดภัยและมีองค์ประกอบที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศมีความมั่นคง ประเทศไทยมี Credit Rating ในระดับ Investment Grade เสมอมา

ดังนั้น การออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาสร้างความตระหนกตกใจในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม ทำนองเดียวกับการออกพันธบัตรเพื่อสร้าง Yield Curve ของตลาดตราสารหนี้ในประเทศ แผนการออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานักลงทุนระดับโลก และสร้างตลาดอ้างอิง (Benchmark) ให้กับตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่จะพึงมีในอนาคตหากจำเป็น

เมื่อรัฐเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่เอกชนกำลังรัน ‘เศรษฐกิจไทย’ สะท้อน!! ภาพนโยบายครั้งใหญ่ กระตุ้น ศก.ไทยได้จริงหรือ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน 

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย เกิดจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนสอดรับกับภาคการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทย ยังถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาครัฐเอง ยังคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะข่าวคราวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่มีการแถลงข่าวจาก ฝั่งรัฐบาล ถึงการ 'เลื่อน' จากที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินการในเดือนเมษายน และ เลื่อนอีกครั้งว่าน่าดำเนินการในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ แทบจะไม่มี 

อาจจะเห็นภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ค่อนข้างชัดเจนเพียงบางกระทรวง ในส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมราคาพลังงาน, ทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน, ลดค่าครองชีพ ให้มีเงินเหลือเพื่อส่งเสริมการอุปโภค บริโภค ของประชาชนส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เกิดจากภาคเอกชนเป็นหลัก กลับมีข่าวการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกมา ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มแรงงานได้มากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ พื้นที่ใดที่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะกลไกสำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็ก ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในด้านดอกเบี้ยของผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุ ‘การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้มาลดกระแส แรงกระเพื่อมจากประชาชนต่อรัฐบาล ก็คงดี และหวังว่าคงเกิดจากคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ จากเหตุที่เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ๆ 

KKP Research ชี้!! ส่งออกไทยเข้าสู่ภาวะอ่อนแรง แบก ศก.เหนื่อย ซ้ำ!! ถูกจีนส่งสินค้าราคาถูกตีตลาด ในขณะที่ไทยขาดสินค้าดาวรุ่ง

(12 มี.ค. 67) สำนักวิจัย KKP Research ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคส่งออกที่พัฒนามาค่อนข้างมากและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปี กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยเริ่มมีปัญหาภาคส่งออกที่กำลังอ่อนแรงไว้ว่า...

- ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าโลกเก่า กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด ขณะที่ไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าที่เข้ามาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า, Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

- ประเทศไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ Smart phone, Semiconductor, และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สุดท้าย คือ สินค้าที่ยังพอมีโอกาสเป็นกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด)

อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนเปลี่ยนไป และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าวมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศคู่แข่งเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกไปเป็นสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น เวียดนามได้กลายเป็นฐานการส่งออก Smartphone แผงวงจรไฟฟ้า และ Solar cell ในตลาดโลกมากขึ้น หรือมาเลเซียที่หันมาส่งออกสินค้าโลกใหม่ เช่น SSD มากขึ้นในตลาดโลก และเริ่มลดการส่งออกสินค้าโลกเก่าอย่าง HDD ลง

- ด้านเศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ไทยพึ่งพาจีนในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิด จีนผลิตได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมาที่ไทยโดยตรง 

KKP Research มองว่าปรากฏการณ์นี้กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งลดลง จากการที่ภาคการผลิตของไทยแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า ทั้งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์

ด้านมูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยลดลง เหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ผู้ประกอบการจีนจึงโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing) รวมถึงไทย เช่น การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ในภาพรวมเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาร์เซลล์จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยน้อยมาก ดังนั้น หากแนวโน้ม Re-routing ขยายวงกว้างขึ้นไปยังสินค้าอื่นๆ จะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม

- ด้านจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยตรงมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเข้ามาเจาะตลาดในไทยโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่นๆ โดยในปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย ในแง่หนึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเองต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้น

ความท้าทายนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 มิติ คือ...

(1) ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า 

(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้ไม่โต 

และ (3) ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาว

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางออก KKP Research แนะนำว่าผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่ต้องหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อเสริมให้ศักยภาพที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว 

นอกจากนี้ ควรมีการประเมินและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

‘รมช.กฤษฎา’ จ่อชง ครม. อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 5 หมื่นลบ. พร้อมผนึก ‘ธ.ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มอุตฯ เป้าหมาย

(13 มี.ค. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสนับสนุนนโยบาย IGNITE Thailand ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยครอบคลุม 8 ฮับ เพื่อดันประเทศไทยเป็นที่ 1 ในภูมิภาค

นอกจากนั้นได้ให้ ธนาคารออมสิน เตรียมแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือ ลงทุนปรับปรุงหรือขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบาย IGNITE Thailand ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) และ 3. ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

นายกฤษฏา กล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องและสามารถแข่งขันได้ในตลาดปัจจุบัน อีกทั้งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนระบบ เกิดการจ้างงานกระตุ้นการลงทุนอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top