เมื่อรัฐเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่เอกชนกำลังรัน ‘เศรษฐกิจไทย’ สะท้อน!! ภาพนโยบายครั้งใหญ่ กระตุ้น ศก.ไทยได้จริงหรือ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน 

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย เกิดจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนสอดรับกับภาคการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทย ยังถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาครัฐเอง ยังคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะข่าวคราวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่มีการแถลงข่าวจาก ฝั่งรัฐบาล ถึงการ 'เลื่อน' จากที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินการในเดือนเมษายน และ เลื่อนอีกครั้งว่าน่าดำเนินการในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ แทบจะไม่มี 

อาจจะเห็นภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ค่อนข้างชัดเจนเพียงบางกระทรวง ในส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมราคาพลังงาน, ทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน, ลดค่าครองชีพ ให้มีเงินเหลือเพื่อส่งเสริมการอุปโภค บริโภค ของประชาชนส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เกิดจากภาคเอกชนเป็นหลัก กลับมีข่าวการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกมา ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มแรงงานได้มากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ พื้นที่ใดที่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะกลไกสำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็ก ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในด้านดอกเบี้ยของผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุ ‘การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้มาลดกระแส แรงกระเพื่อมจากประชาชนต่อรัฐบาล ก็คงดี และหวังว่าคงเกิดจากคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ จากเหตุที่เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ๆ 


เรื่อง : The PALM

อ้างอิง: 
ธนาคารแห่งประเทศไทย : https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/thai-economy/the-state-of-thai-economy/monthly-2024/press-th-2567-01.pdf

ข่าวสดออนไลน์ : https://www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_8106313

Thai PBS : https://www.thaipbs.or.th/news/content/337482