‘อ.พงษ์ภาณุ’ เปิดมุมมอง ‘หนี้สาธารณะ’ กับการพัฒนาประเทศ ข้อดี ‘ก่อหนี้-กู้ยืม’ สร้างแรงส่งสู่การลงทุน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้สาธารณะกับการพัฒนาประเทศ' เมื่อวันที่ 25 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

หลังการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศหลายประเทศ ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็มีระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก และเมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะจึงเริ่มเป็นปัญหาและในบางประเทศเข้าขั้นวิกฤต เช่น สหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหาเพดานหนี้จนอาจถึงขั้นรัฐบาลปิดดำเนินการ (Government Shutdown) จีนมีปัญหาหนี้รุนแรงในระดับรัฐบาลท้องถิ่นจนรัฐบาลกลางต้องเข้าไปอุ้ม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหนี้ตามสนธิสัญญา Maastricht ได้

แม้ว่าในบางครั้งหนี้อาจเป็นปัญหาและก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่หนี้โดยตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องหวาดกลัวเสมอไป การก่อหนี้หรือการกู้ยืมมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตเพื่อการบริโภคในอนาคตแทนที่จะบริโภคหมดไปในปัจจุบัน ตลาดและสถาบันการเงินมีหน้าที่หลักในการระดมทุนจากผู้ออมและจัดสรรทุนในรูปหนี้หรือทุนไปยังกิจกรรม/โครงการที่นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระดับประเทศก็เช่นกัน การก่อหนี้สาธารณะมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐบาลมีทรัพยากรเสริมจากรายได้ภาษีอากร เพื่อจัดให้มีบริการที่จำเป็นต่อประชาชนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ยิ่งถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จะระดมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาจมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเสริมเงินออมในประเทศ ระเบียบโลกจึงได้กำหนดให้มีโครงสร้างทางตลาดและสถาบันที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนไปยังที่ที่มีความต้องการใช้เงินทุนนั้น

แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มพยายามบิดเบือนและสร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับข่าวแผนการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ว่าเป็นการเปิดประตูเมืองชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอคติอย่างรุนแรงต่อกลไกตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ได้รับประโยชน์มหาศาลจากตลาดการเงินโลก เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดโลกครั้งแรก ที่ตลาดลอนดอน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำคัญ ๆ ล้วนใช้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งนั้น อาทิเช่น ทางหลวงแผ่นดิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นต้น รัฐบาลประยุทธ์ก็กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หากไม่มีแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยคงไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางเช่นทุกวันนี้

ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กฎหมายการเงินการคลังของไทยวางโครงสร้างและสถาบันภาครัฐเพื่อสร้างหลักประกันแห่งวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม และรัฐบาลไทยก็ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมา 

วันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับปลอดภัยและมีองค์ประกอบที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศมีความมั่นคง ประเทศไทยมี Credit Rating ในระดับ Investment Grade เสมอมา

ดังนั้น การออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาสร้างความตระหนกตกใจในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม ทำนองเดียวกับการออกพันธบัตรเพื่อสร้าง Yield Curve ของตลาดตราสารหนี้ในประเทศ แผนการออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานักลงทุนระดับโลก และสร้างตลาดอ้างอิง (Benchmark) ให้กับตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่จะพึงมีในอนาคตหากจำเป็น