Thursday, 2 May 2024
หนี้สาธารณะ

'รัฐบาล' อวด ตัวเลข บริหารจัดการหนี้สาธารณะ โชว์ ผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือระดับสากล

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้ทำการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นส่งความสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 1.90 ต่อปี เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน ซึ่งเริ่มจำหน่ายวันแรก เมื่อ17 ม.ค. เป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถจำหน่ายได้หมดใน 2 วัน โดยวันแรกจำหน่าย 27,000 ล้านบาท และวันที่สอง 3,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นคนไทยให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้รัฐบาลใช้ช่องทางในการระดมทุนหรือกู้เงินในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดอกเบี้ยก็จะไหลกลับเข้าสู่ประชาชนคนไทยภายในประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ได้รายงานด้วยว่า ในการจำหน่ายพันธบัตรครั้งนี้มีการลงทุนผ่าน Internet และ Mobile Banking เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดและวิถีการทำธุรกรรมทางการเงินที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน “ต่อข้อกังวลเรื่องระดับหนี้สาธารณะนั้น กระทรวงการคลังให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ซึ่งหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 มีจำนวน 9.62 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 59.58% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) โดยติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด 

รัฐบาลให้ความมั่นใจ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่กระทบหนี้สาธารณะ สิ้นปีคาด 61.3% ต่อจีดีพี ธนาคารรัฐพร้อมตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และออกมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จาก 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี ว่า ธนาคารของรัฐหลายแห่ง ได้ออกประกาศเบื้องต้น ที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด คาดว่าจะถึงสิ้นปี2565  ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาด เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับธนาคารในการนำเงินไปปล่อยสินเชื่อ แต่ละธนาคารจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป ขณะนี้ ธนาคารออมสิน ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน6 เดือน 0.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน 0.20% และเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน  0.30% ช่วยส่งเสริมการออม และให้ประชาชนได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่กำลังเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บสย.ไปถึงสิ้นปี 2565 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน ให้ลูกหนี้สามารถประคองกิจการต่อไปได้  โดยให้ชำระหนี้ 3 ระดับ ตามความสามารถในการชำระ คือ 1.ยืดหยุ่น ตัดเงินต้น  20% และตัดดอกเบี้ย 80% ผ่อนชำระ 5 ปี  2.ผ่อนน้อย เบาแรง หนี้ลดหมดแน่นอน เริ่มต้นชำระครั้งแรกเพียง 1% ของยอดหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ส่วนวงเงินที่เหลือ ผ่อนชำระ 5 ปี 3. ดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรก 10% ซึ่งจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ผ่อนชำระ 7 ปี โดยมีลูกหนี้ลงทะเบียนร่วมโครงการ 6,856 ราย มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว วงเงินกว่า 1,117 ล้านบาท 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภาพรวมการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้น แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง จึงไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล โดยดำเนินการเปลี่ยนการกู้เงินระยะสั้นที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Float Rate) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate)มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 82% ส่วนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่มี เพราะรัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศแค่ 1.8% และได้ทำการปิดความเสี่ยงไปหมดแล้ว ขณะที่ ปีงบประมาณ 2566 แผนการบริหารจัดการต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล จะเน้นกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรระยะยาว จากปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 45% ปรับเพิ่มเป็น 48% การออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะอยู่เท่าเดิมที่ 25% ขณะที่การออกตั๋วเงินคลังและการกู้เงินระยะสั้นจากตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ 14% จากเดิมที่ 18%

‘คุณากร’ ถามรัฐบาลเหตุใดภูมิใจบัตรคนจนเพิ่ม ทั้งที่คนจนพุ่ง คนตกงานเพียบ หนี้สาธารณะเกิน 10 ล้านล้านอีก100ปี ก็ใช้หนี้ไม่หมด รวยกระจุก จนกระจาย เหลื่อมล้ำติดอันดับต้น ๆ ของโลก

นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ และรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลออกมายืนยันว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อแจกเงิน แต่เป็นโครงการที่มุ่งจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนนั้น  แต่พบว่าในการลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 5 - 21 กันยายน 2565 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 16,243,908 ราย เพิ่มขึ้นจากที่เปิดใช้บัตรคนจนครั้งแรกในปี 2559 จนถึงผู้ถือบัตรคนจนเดิมอยู่ที่ 13.3 ล้านคน นั่นหมายความว่า ภายในปีเดียวคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านคนแล้ว  แบบนี้หรือที่รัฐบาลบอกว่าเป็นความสำเร็จของโครงการบัตรคนจน ที่ลดความเหลื่อมล้ำได้

ทั้งนี้มองว่า การออกมาให้ข้อมูลของรัฐบาล เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เข้าใจบริบทของสังคม และไม่สามารถมีโครงการดีๆเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้ การแจกเงินอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง เพราะบทวิเคราะห์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำ ของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงเรื่อยๆ เศรษฐกิจไทยโตแบบไม่ทั่วถึง เกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ สินทรัพย์ของคนทั้งประเทศมากกว่า 77% ไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มนายทุนเจ้าสัว ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก

เคลียร์ชัด!! 'หนี้สาธารณะ' มุมมองที่หลายคนอาจเขิน หากนำไปแถแบบไม่เข้าใจ

หลายคนอาจจะยังคงสงสัยกับคำว่า ‘หนี้สาธารณะ’ และอาจเคยได้ยินว่า ‘คนไทย’ มีหนี้ต่อหัวสูงมาก แต่เคยรู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้วการกู้หนี้สาธารณะ นับเป็นการลงทุนในระยะยาวอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผลตอบแทนสูง 

สำหรับเรื่องนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เศรษฐกิจติดบ้าน’ ทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ดดยบางช่วงบางตอนได้ระบุว่า…

“หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศจริงๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ตามคำนิยาย พ.ร.บ.หนี้ของไทยค่อนข้างกว้าง รวมตั้งแต่ หนี้ของกระทรวงคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่จะกู้เงินให้ประเทศได้ หนี้รัฐบาลกลาง หนี้รัฐวิสาหกิจ ถึงแม้บางแห่งจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่การก่อหนี้ก็จะนับเป็นหนี้สาธารณะด้วยเช่นกัน รวมถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ด้วย” 

“คำนิยามหนี้สาธารณะของไทยกว้างมาก กว้างกว่าประเทศอื่นๆ เยอะ ไม่ใช่ว่าประเทศไม่มีเงินจึงต้องก่อหนี้ แต่เพราะจริงๆ แล้ว การก่อหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ คือการก่อหนี้เพื่อการลงทุน และเพื่อโครงการที่เป็นสังคม สาธารณะประโยชน์”

‘ฟิทช์’ ส่งสัญญาณถึง ‘รบ.ใหม่’ ปมจัดตั้งคลุมเครือ-ล่าช้า ชี้!! อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในเสถียรภาพของไทย

วันที่ (26 พ.ค.66) รายงานข่าวจาก Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับเรตติ้งชั้นนำ ระบุถึงสถานการณ์ประเทศไทยหลังผ่านการเลือกตั้งว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีเวลาถึง 60 วันในการประกาศผลอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 66 แต่ตัวเลขเบื้องต้นบ่งชี้ว่า

พรรคก้าวไกลซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดก่อนหน้านี้ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ยังมีความคลุมเครือในการจัดตั้งรัฐบาล โดยขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งจะส่งผลให้มีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในกรอบที่กว้าง ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ อาจถูกจำกัดชั่วคราว หากกระบวนการสรรหาพันธมิตรร่วมรัฐบาลยังทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปหลายเดือน

สำหรับการจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องรวมคะแนนเสียงให้ได้อย่างน้อย 376 เสียง จากที่นั่งรวม 700 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้งปี 2562

ทั้งนี้ การคาดการณ์ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) นั้น ผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้นจะมีจำกัด โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ฟิทช์ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

เราได้ระบุไว้กว้างๆ ว่า อาจเกิดรัฐบาลผสม ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพนั้นกลายเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็ไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และแม้ว่าแนวโน้มนโยบายการคลังมีความไม่แน่นอน แต่คาดว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่ จะยังคงยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญบางส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว

ทั้งนี้ อาจมีการหยุดชะงักในการใช้จ่าย ภายใต้งบประมาณสำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2567 หากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะเป็นผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เรายังคงคาดว่า การเติบโตจะเร่งตัวขึ้นในปี 2566 และยังคงแข็งแกร่งในปี 2567 โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ตัวชี้วัดภาคการคลังสาธารณะของไทย ที่มีความเสื่อมถอยลงอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับปัจจุบัน แต่ฟิทช์คาดการณ์ว่า หนี้ภาครัฐทั่วไป/จีดีพี และดอกเบี้ย/รายได้ ในปี 2566-2567 จะยังคงอยู่ในระนาบตามค่ามัธยฐาน (Median) ของกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับ BBB

ทั้งนี้ ระบุว่า หากรัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้ ตัวอย่างเช่น มีแรงกดดันด้านการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง หรือมีผลกระทบจากภายนอก ซึ่งอยู่นอกเหนือสมมติฐานพื้นฐานของเรา นั่นอาจส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง

‘กรณ์’ เตือน!! ‘แจกเงินดิจิทัล’ รัฐบาลต้องแบกดอกเบี้ยเพิ่ม ชี้!! กลไกเศรษฐศาสตร์ ทุกอย่างมีต้นทุน มี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’

(17 ก.ย. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij’ ระบุว่า...

ว่าด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กับ ภาระทางการคลัง

ระหว่างที่ถกเถียงกันเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอให้สังเกตประมาณการสถานะทางการเงินล่าสุดของประเทศให้ดีครับ

กระทรวงการคลังเสนอประมาณการชุดนี้ในการประชุมครม.แรกของ #รัฐบาลเศรษฐา สำหรับใครที่ไม่ชอบดูตารางข้อมูลแบบนี้ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญให้ดังนี้…

1.) รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น

2.) แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า

3.) รัฐบาลเลยจะขาดดุลมากขึ้น (3% ของ GDP จากที่เดิมคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ในปีหน้า)

4.) ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คาดไว้เดิม

5.) ดังนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมาก (64% vs. เดิม 61.35%)

แล้วไง?

ประมาณการใหม่นี้กำลังสร้างความกังวลให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างมาก เพราะอะไร?

เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คือมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ซึ่งราคาที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ทะลุ 3% ไปแล้ว เพิ่มขึ้นมากว่า 50bps ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

… และประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งอย่างไรรัฐบาลก็ต้องกู้ หรือยืมรัฐวิสาหกิจมาแจก

วันนี้หนี้รัฐบาลมีอยู่ 11 ล้านล้านบาท

รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนก็จะมีแต่สูงขึ้น เป็นภาระต่องบประมาณมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่นการส่งออกที่ซบเซา ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงรายจ่ายภาครัฐจากนโยบาย ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาลใหม่

จุดแข็งของไทยเราคือ เราแทบไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่อย่างไรเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ระวังไม่ได้ครับ

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ซาวเสียง!! คนส่วนใหญ่หวัง Digital Wallet แต่แอบห่วงที่มาเงิน ยกคำแนะ ‘ดร.กิตติ’ แจกบางส่วน หากกระตุ้น GDP ได้ +5% มุมหนี้สาธารณะจะลดลง

(23 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกรณีข้อดี-ข้อเสียของ ‘Digital Wallet’ ในปัจจุบันที่ได้ฟังจากเสียงประชาชนมากขึ้น ว่า...

วันนี้ขอแสดงความเห็นเรื่องเงิน Digital Wallet อีกครั้งครับ

หลายวันนี้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ได้รับฟังความต้องการว่าอยากได้เงินแจก 10,000 บาท จริงครับ บางครอบครัวมีสมาชิก 4-6 คน จะได้รับแจกถึง 40,000-60,000 บาท นับเป็นเงินมากสำหรับคนตัวเล็กๆ หลายคนคิดว่าจะนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปั๊มน้ำ บางคนจะซ่อมหลังคา และหากเป็นกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกัน เขาอยากได้เครื่องอบ เพราะช่วยไล่ความชื้น เวลาเอาของไปขายราคาจะดีขึ้น บางที่อยากรวมกันทำโรงสีขนาดเล็ก ไม่มีใครทราบเงื่อนไขว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง แต่หากเราได้สามารถช่วยให้เขาซื้อ Durable goods หรือ อุปกรณ์เพิ่มการผลิต/คุณภาพจะยอดเยี่ยมไปเลยครับ

ข้อห่วงใย ผมเองก็ห่วงใย และได้คุยกะผู้ใหญ่หลายท่านก็ห่วงใยโดยเฉพาะด้านการคลังที่หากแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ ซึ่งเราติดตามได้ครับ อย่างน้อยรัฐบาลลุงตู่เองก็เก็บภาษีมาได้เกินเป้า รายสองแสนล้าน เกือบครึ่งทางของงบเงิน Digital ครับ หากแจกบางส่วนก่อนแล้วเอาภาษีที่หมุนได้มาแจกต่อ อย่างที่ท่าน ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ว่าไว้ก็ลดความเสี่ยงได้มาก และหากกระตุ้น GDP ได้ +5% หนี้สาธารณะก็ลดลงครับ

มีนักวิชาการบอกว่างานวิจัยจากที่ญี่ปุ่นบ้าง ไต้หวันบ้างบอกไม่ประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นได้ตัวทวีคูณน้อย และซื้อสินค้าได้เล็กน้อยครับ

ผมต้องเรียนว่าเทียบกันไม่ได้ ไทยเรามีคนมีรายได้น้อยกว่า การแจกแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงกว่า แถมของเราหลายอย่างถูกกว่าจะซื้อของเพิ่ม Productivity ได้ดีกว่าครับ 

บางคนบอกว่าเราใช้ Government กระตุ้นมากไป ผมก็เรียนว่า การที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนมานี่ มาจากหลายทางครั้งส่วนหนึ่งมาจากเราบริโภคแล้วเสีย Vat นี่แหละครับ เป้าหมายการเก็บภาษี ก็เพื่อไปสร้างถนน จ่ายค่าเรียนฟรี รักษาฟรี และลงทุน ฯลฯ 

แต่อีกเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำครับ คนรวยกำไรมากก็เสียภาษี เราก็เอามาให้คนด้อยกว่าใช้ การที่อยู่ๆ เราบอกประชาชนว่าที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีแล้วไปตัดสินใจแทนประชาชนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร คราวนี้รัฐยกเงินภาษีของท่านให้ท่านตัดสินใจแทน เป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง ที่ผ่านมาก็เคยทำมาก่อน 

นโยบายดังกล่าวมีข้อดี และข้อเสียเราต้องรอบคอบครับเพื่อประเทศที่เรารัก และลูกหลานของเรา

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘สหรัฐฯ’ อ่วม!! ‘หนี้สาธารณะ’ ทะลุ 34 ล้านล้านดอลล์ครั้งแรก นับเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล หลังตัวเลขพุ่งเร็วจนน่าห่วง

(4 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ รายงานว่าหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ พุ่งสูงกว่า 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.164 พันล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรก เพิ่มจาก 33.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.161 พันล้านล้านบาท) เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.)

มายา แมคกิเนียส ประธานคณะกรรมการฝ่ายความรับผิดชอบด้านงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า หนี้สาธารณะแตะระดับ 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.164 พันล้านล้านบาท) เมื่อวันศุกร์ (29 ธ.ค.) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพุ่งแตะระดับ 33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.13 พันล้านล้านบาท) เพียงราวสามเดือน และถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมาก

“สิ่งที่น่าเศร้าคือผู้นำทางการเมืองของเราไม่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ทางการคลัง” แมคกิเนียส กล่าว

ตัวเลขหนี้ล่าสุดถูกเปิดเผยขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสเตรียมแย่งชิงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยปัจจุบันงบประมาณสำหรับหน่วยงานและโครงการของรัฐบาลกลางบางส่วนจะหมดอายุในเดือนมกราคมนี้

รู้หรือไม่? ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ถือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลังของแต่ละประเทศ

รู้หรือไม่? ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ถือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลังของแต่ละประเทศ 🌏 แล้วประเทศไหนมี ‘หนี้สาธารณะ’ สูงที่สุดในโลกประจำปี 2566 ไปดูกันเลย!! 🪙📈

‘อ.พงษ์ภาณุ’ เปิดมุมมอง ‘หนี้สาธารณะ’ กับการพัฒนาประเทศ ข้อดี ‘ก่อหนี้-กู้ยืม’ สร้างแรงส่งสู่การลงทุน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้สาธารณะกับการพัฒนาประเทศ' เมื่อวันที่ 25 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

หลังการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศหลายประเทศ ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็มีระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก และเมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะจึงเริ่มเป็นปัญหาและในบางประเทศเข้าขั้นวิกฤต เช่น สหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหาเพดานหนี้จนอาจถึงขั้นรัฐบาลปิดดำเนินการ (Government Shutdown) จีนมีปัญหาหนี้รุนแรงในระดับรัฐบาลท้องถิ่นจนรัฐบาลกลางต้องเข้าไปอุ้ม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหนี้ตามสนธิสัญญา Maastricht ได้

แม้ว่าในบางครั้งหนี้อาจเป็นปัญหาและก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่หนี้โดยตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องหวาดกลัวเสมอไป การก่อหนี้หรือการกู้ยืมมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตเพื่อการบริโภคในอนาคตแทนที่จะบริโภคหมดไปในปัจจุบัน ตลาดและสถาบันการเงินมีหน้าที่หลักในการระดมทุนจากผู้ออมและจัดสรรทุนในรูปหนี้หรือทุนไปยังกิจกรรม/โครงการที่นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระดับประเทศก็เช่นกัน การก่อหนี้สาธารณะมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐบาลมีทรัพยากรเสริมจากรายได้ภาษีอากร เพื่อจัดให้มีบริการที่จำเป็นต่อประชาชนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ยิ่งถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จะระดมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาจมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเสริมเงินออมในประเทศ ระเบียบโลกจึงได้กำหนดให้มีโครงสร้างทางตลาดและสถาบันที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนไปยังที่ที่มีความต้องการใช้เงินทุนนั้น

แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มพยายามบิดเบือนและสร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับข่าวแผนการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ว่าเป็นการเปิดประตูเมืองชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอคติอย่างรุนแรงต่อกลไกตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ได้รับประโยชน์มหาศาลจากตลาดการเงินโลก เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดโลกครั้งแรก ที่ตลาดลอนดอน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำคัญ ๆ ล้วนใช้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งนั้น อาทิเช่น ทางหลวงแผ่นดิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นต้น รัฐบาลประยุทธ์ก็กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หากไม่มีแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยคงไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางเช่นทุกวันนี้

ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กฎหมายการเงินการคลังของไทยวางโครงสร้างและสถาบันภาครัฐเพื่อสร้างหลักประกันแห่งวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม และรัฐบาลไทยก็ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมา 

วันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับปลอดภัยและมีองค์ประกอบที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศมีความมั่นคง ประเทศไทยมี Credit Rating ในระดับ Investment Grade เสมอมา

ดังนั้น การออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาสร้างความตระหนกตกใจในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม ทำนองเดียวกับการออกพันธบัตรเพื่อสร้าง Yield Curve ของตลาดตราสารหนี้ในประเทศ แผนการออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานักลงทุนระดับโลก และสร้างตลาดอ้างอิง (Benchmark) ให้กับตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่จะพึงมีในอนาคตหากจำเป็น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top