เคลียร์ชัด!! 'หนี้สาธารณะ' มุมมองที่หลายคนอาจเขิน หากนำไปแถแบบไม่เข้าใจ

หลายคนอาจจะยังคงสงสัยกับคำว่า ‘หนี้สาธารณะ’ และอาจเคยได้ยินว่า ‘คนไทย’ มีหนี้ต่อหัวสูงมาก แต่เคยรู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้วการกู้หนี้สาธารณะ นับเป็นการลงทุนในระยะยาวอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผลตอบแทนสูง 

สำหรับเรื่องนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เศรษฐกิจติดบ้าน’ ทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ดดยบางช่วงบางตอนได้ระบุว่า…

“หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศจริงๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ตามคำนิยาย พ.ร.บ.หนี้ของไทยค่อนข้างกว้าง รวมตั้งแต่ หนี้ของกระทรวงคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่จะกู้เงินให้ประเทศได้ หนี้รัฐบาลกลาง หนี้รัฐวิสาหกิจ ถึงแม้บางแห่งจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่การก่อหนี้ก็จะนับเป็นหนี้สาธารณะด้วยเช่นกัน รวมถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ด้วย” 

“คำนิยามหนี้สาธารณะของไทยกว้างมาก กว้างกว่าประเทศอื่นๆ เยอะ ไม่ใช่ว่าประเทศไม่มีเงินจึงต้องก่อหนี้ แต่เพราะจริงๆ แล้ว การก่อหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ คือการก่อหนี้เพื่อการลงทุน และเพื่อโครงการที่เป็นสังคม สาธารณะประโยชน์”

“ทำไมจึงต้องก่อหนี้? เรื่องแรกคือ รัฐบาลมีรายได้จำกัด ซึ่งรายได้ที่จำกัดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่าย ฉะนั้น หากนำรายได้ทั้งหมดมาเป็นงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำ ประเทศจะไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ดังนั้น หลักการการก่อหนี้สาธารณะคือการกู้หนี้มา เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนสร้างโรงพยาบาล ลงทุนด้านการศึกษา เป็นการลงทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง แต่จะไม่เอาไปลงกับโครงการที่ไม่มีผลตอบแทน เว้นแต่ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติที่รัฐบาลมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ เช่น ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่ต้องมีการก่อหนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งที่ผ่านๆ มาไม่เคยทำ แต่ก็ต้องบอกเลยว่า โควิด-19 คือวิกฤติที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ และเอาไปใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน”

“ประเทศไทย ไม่ใช่ ไม่มีเงิน การก่อหนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก ทุกประเทศทำเหมือนกันหมด และหากสังเกตดู ยิ่งประเทศใหญ่ โครงสร้างเศรษฐกิจใหญ่ ยิ่งก่อหนี้เยอะ เพราะผลตอบแทนของการกู้เงินเพื่อการลงทุนดีกว่าการเอารายได้ของประเทศไปลงทุน ดังนั้น ยิ่งประเทศใหญ่ ลงทุนเยอะ ก็จะมีการกูเงินเยอะ”


ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=0U6ypib3-i4