Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

‘ธนกร’ มั่นใจ!! รัฐบาลเศรษฐาเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’ ต่อจากลุงตู่ ชี้!! ช่วยดึงเงินลงทุนมหาศาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก

(20 ต.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีและครม. เดินหน้าศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม และยังกระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้และภาพรวมของประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แลนด์บริดจ์หากเปิดใช้ระยะแรกในปี 73 จะแก้ปัญหาความแออัดของการขนถ่ายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน นายธนกร กล่าวว่า คาดการณ์ไว้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้ง 2 ระยะ (เฟส) โดยระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ กระจายสินค้าในภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินเรือและการขนส่งสินค้าทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดระยะทางและเวลาขนส่งลงได้ 4 วัน เมื่อเทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตเวย์ เชื่อมการขนส่งสินค้า จากยุโรป-แลนด์บริดจ์-จีน กลายเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา สร้างรายได้ให้กับพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ มีทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

“พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางโครงการแลนด์บริดจ์ไว้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ต้องการให้ไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย มั่นใจว่า แลนด์บริดจ์ จะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ให้ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและยกระดับรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก หากรัฐบาลสานต่อจนสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลก พุ่งเป้ามาที่ไทยให้กลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เชื่อมโยงกับที่รัฐบาลชุดก่อนที่ได้ทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จนสำเร็จมาแล้ว” นายธนกร กล่าว

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหดตัว คือ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพราะโดยปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตต่อปีประมาณ 1.5 เท่าของอัตราเติบโตของ GDP แต่หลายเดือนที่ผ่านมาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับติดลบแบบ YOY ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก ซึ่งผมหวังว่านักวิชาการและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหัดดูตัวเลขเหล่านี้บ้าง ยังจะเป็นประโยชน์กว่าไปลอกตำราฝรั่งมา

ฉะนั้น หากมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะจำเป็นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะ และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ.พงษ์ภาณุ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมแจกทุกคนเหมือนกันหมด อยากเรียนว่ามาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคม แต่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือสงครามเหมือนกันหมด และคนไทยทุกคนก็ควรมีโอกาสใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งทรัมป์และไบเดน ก็ได้จ่ายเช็คไปยังทุกครัวเรือนในจำนวนเท่ากันเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว"

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

'เศรษฐา' หารือทวิภาคี 'นายกฯ ลาว' ถก 5 ประเด็นยกระดับสัมพันธ์ ศก. ยาหอม!! 'ลาว' เสมือนครอบครัว พร้อมเชิญบุคคลสำคัญเยือนไทย

(30 ต.ค. 66) ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือน สปป.ลาว ลายเซ็นทวีศิลป์นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความผ่าน X ว่า...

สปป. ลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ของไทย ชาวลาว-ชาวไทยเปรียบเสมือนครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหายที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นยาวนานครับ 

ในทางภูมิศาสตร์ ลาวเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักระหว่างไทย จีน และเวียดนาม เป็นฐานการลงทุนสำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน 

การเยือนลาวอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ประเด็นหลัก ๆ ที่ผมได้หยิบยกมาหารือทวิภาคีกับท่านสอนไซ สีพันดอน นายกฯ สปป. ลาว คือ...

1.ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 68  

2.ด้านความเชื่อมโยง ได้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 หนองคาย-เวียงจันทร์ และเร่งการเริ่มเดินรถไฟเส้นทางท่านาแล้ง-เวียงจันทร์ (คำสะหวาด) ภายในต้นปี 67  

3. ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ให้กระชับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น เช่น มีการกำหนด handling charge ในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ Vientiane Logistics Park ที่ชัดเจน หารือให้รถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ของไทยวิ่งเข้าลาวจนถึงชายแดนลาว-จีน และลาว-เวียดนาม และเร่งจัดทำ Common Control Area (CCA) เพื่อลดขั้นตอนพิธีศุลกากรที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2   

4.เราเห็นตรงกันที่จะทำแผนงานร่วมกันเพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกด้วย

5.ด้านปัญหาหมอกควันข้ามแดน ได้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม 'ลาว-เมียนมา-ไทย' ให้เสร็จทันในปี 66    

ทั้งนี้ ผมยังได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว และท่านไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาวด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณทางการลาวที่ให้การต้อนรับผมและคณะอย่างอบอุ่น ที่ผ่านมา นายกฯ ลาว ยังไม่ได้มีโอกาสมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ผมจึงได้เรียนเชิญท่านมาเยือนบ้านเราครับ

ส่อง 5 อุตสาหกรรมเด่น!! สร้าง 'แรงบวก' MPI ไทย เดือน 9 (YOY)

(31 ต.ค. 66) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน ปี 2566 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนกันยายน 2566 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่…

- น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 74.64 จากน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาว เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ ซึ่งการงดส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียจะส่งผลให้ไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับตลาดในประเทศขยายตัวตามกิจกรรมเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และมีคำสั่งซื้อของผู้รับซื้อรายใหญ่

- เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.12 จากเส้นใยประดิษฐ์อื่น ๆ และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ จากคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย และจีน เพื่อนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ (หลังคา เบาะ หรือ สายพานต่างๆ) และเสื้อผ้ากีฬา

- สายไฟและเคเบิ้ลอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.52 จากสายไฟฟ้า เป็นหลัก เนื่องจากมีรอบคำสั่งซื้อจากการไฟฟ้านครหลวง ส่วนภูมิภาค และฝ่ายผลิต รวมถึงงานโครงการของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น

- พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.35 จาก Polyethylene resin, Ethylene และ Polypropylene resin เป็นหลัก โดยในปีก่อนที่มีการลดการผลิตเนื่องจากมี Over supply ในตลาดโลก และมีการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย

- สินค้าแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.84 จากข้าวโพดหวานกระป๋อง กะทิ และน้ำผลไม้ เป็นหลัก โดยข้าวโพดหวานกระป๋อง ได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ส่วนกะทิ ลูกค้ากลับมามีคำสั่งซื้อหลังชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และน้ำผลไม้ มีการเร่งผลิตหลังเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวสับปะรดรอบใหม่

'รทสช.' ยัน!! สนับสนุนโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท แต่ต้องไม่กระทบเศรษฐกิจตามที่ประชาชนและภาคธุรกิจกังวล

(3 พ.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ ถึงท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างที่ประชาชนและภาคธุรกิจเป็นห่วง ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวใช่หรือไม่  นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรียกว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน แต่เป็นนโยบาย เมื่อรับนโยบายนี้แล้วโดยมารยาทก็ต้องปฏิบัติตามเพียงแต่จะทำอย่างไรให้นโยบายนี้ไม่กระทบตามที่ประชาชนและภาคเศรษฐกิจเป็นห่วง ซึ่งหากสามารถดำเนินการไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือให้มีผลกระทบน้อยที่สุดแก้ไขให้สิ่งที่ไม่ดีออกไป เหลือแต่ส่วนที่ดีไว้ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเท่าที่ตนเองทราบขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามดำเนินการปรับลด ปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และปรับแต่งอยู่

'นายกฯ' ชี้!! 15 ธันวา ขยายตี 4 ไม่ได้เอื้อเปิดสถานบันเทิงอย่างเดียว แต่หวังกระตุ้นใช้จ่ายเงินในร้านอาหารใต้กรอบระยะเวลาที่กว้างขึ้น

(3 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดย นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุม 2 เรื่อง ซึ่งเรื่องแรก ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เรื่องการแก้ไขหนี้สินของประชาชน โดยสิ้นเดือนนี้จะมีการแถลงข่าวใหญ่ เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมเรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 โดยมี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมด้วย เพื่อดูความเหมาะสม จะเป็นตรงไหนอย่างไร

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, ชลบุรี, ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดหลัก ที่จะให้มีการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ตรงไหนที่สามารถทำได้ก็ทำก่อน ส่วนจะมีการเปิดเป็นโซนนิ่งหรือไม่ในอนาคต ค่อยว่ากันทีหลัง ทั้งนี้ ตนได้เน้นย้ำที่ทำเรื่องนี้เพื่อต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว ซึ่งสามารถเปิดระยะเวลาได้ยาวขึ้น ขณะที่ประชาชนที่ทำการค้าขาย เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือสถานบริการอย่างอื่น สามารถเปิดบริการได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้มีนัยยะสำคัญหลาย ๆ นัย เช่น นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ เขาไม่ได้ทานข้าวเร็วเหมือนเรา บางคนทานข้าวตั้งแต่ 3 - 4 ทุ่ม ก็มี หากสถานบริการปิดเที่ยงคืน หรือตี 2 เขาก็ต้องมาเร่งเพื่อกินข้าวให้เสร็จเร็ว จำนวนอาหารที่จะสั่งก็จะน้อยลง เราไม่ได้เน้นเปิดสถานบริการแก้ไขสุราอย่างเดียว เพราะถ้าระยะเวลาน้อยการใช้จ่ายเงินก็น้อยลงไป ก็เป็นเรื่องการขยายระยะเวลา

นายกฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะดูในเรื่องของโซนนิ่ง ใบอนุญาตต่างๆ ที่จะทยอยตามมา เดทไลน์ที่เราวางไว้ เป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมา ได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลประชาชน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับนโยบายนี้ ในเรื่องที่อาจจะมีเสียงรบกวน เรื่องการเมาไม่ขับหรือเรื่องของการเมาไม่ขับ ตรงนี้ตนได้เน้นย้ำไป และให้ติดกล้อง CCTV ให้มากขึ้น ทั้งนี้ การที่เอาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเหลือ ให้บริการ ให้บริการเรื่องเมาไม่ขับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการกำชับเรื่องปัญหายาเสพติดด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องมีการตรวจค้นอย่างเข้มข้นต่อไป สำหรับระยะเวลาในการเปิด วางไว้ถึงตี 4 ซึ่งแล้วแต่เขตพื้นที่ และต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้ การเปิดตีถึงตี 4 เบื้องต้นจะให้เป็นชั่วคราวก่อน เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนโซนนิ่ง และการปรับเปลี่ยนกฎหมายอะไรหลาย ๆ อย่าง ยืนยันว่าเป็นการจัดโซน ไม่ใช่ทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ให้ความมั่นใจว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาล กำลังพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะสามารถบริหารจัดการได้ นายกฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดบริการถึงตี 4 ยังไม่มีการคำนวณจำนวนเม็ดเงินที่จะเข้ามาว่าจะได้เท่าไหร่ 

‘นายกฯ เศรษฐา’ เล็งตั้ง ‘กรมฮาลาล’ ใช้ขับเคลื่อน ‘อาหารฮาลาล’ ส่งออกทั่วโลก

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า มีหน่วยงานในกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิม ทั้งตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ก็อยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม จะได้พัฒนาต่อไปได้

‘ดร.วิรไท’ แนะ 4 แกนหลัก พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ชี้!! ปรับปรุงโครงสร้าง-แก้กม.ให้สอดรับโลกยุคใหม่คือคำตอบ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีพัฒนาการที่ดีและสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง พบว่าช่วงปี 2543-2552 จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยที่ 4.3% ขณะที่ช่วงปี 2553-2562 จีดีพีขยายตัวชะลอลงมาเฉลี่ยที่ 3.6%

วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จีดีพีหดตัว 6.1% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ต่อ จีดีพีขยายตัวที่ 1.5% และ 2.6% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ สำหรับปี 2566 คาดการณ์จีดีพี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดขยายตัว 2.8% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดขยายตัว 2.8% ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดขยายตัว 2.7% ขณะที่ธนาคารโลก คาดขยายตัว 3.4% จะเห็นได้ว่าจีดีพีไทยเติบโตช้าลง ซึ่งเหตุผลไม่ใช่เพียงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเท่านั้น แต่ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระดับที่ดีต่อเนื่องและโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเท่าทันกับความท้าทายใหม่

แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งทำผ่าน 4 แกนหลัก เรื่องสำคัญที่สุด คือ
1.) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ต้องเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร พัฒนาพันธุ์พืชใหม่และเพิ่มผลผลิตต่อไป ด้านภาคบริการ สามารถเพิ่มผลิตภาพโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ภาคบริการในอนาคตต้องตั้งอยู่บนฐานเทคโนโลยี และควรเพิ่มผลิตภาพในด้านบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้

2.) การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง (Inclusivity) ซึ่งจะสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ๆ การทำระบบสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนที่อยู่ระดับฐานล่างของสังคม และปัจจุบันต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งโอกาสการในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะจำเป็นมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

3.) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) เศรษฐกิจไทยสามารถรับแรงปะทะและความผันผวนได้ค่อนข้างดี เช่น วิกฤตโควิด เราสามารถทำมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับได้ เพราะภาคการคลัง หนี้สาธารณะของไทยไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาใกล้เคียง แต่ยังมีความท้าทายจากการที่เราเป็นสังคมสูงอายุ รายจ่ายด้านสวัสดิการจะทำให้ภาครัฐมีภาระการคลังมากขึ้นในอนาคต ส่วนภาคการเงิน เสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง น่าเป็นห่วงต้องเร่งแก้เพื่อให้คนสามารถออกจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราควรสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับครัวเรือน

เพราะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังมีอีกมาก ถ้าเราทำนโยบายอะไรก็ตามที่ทำลายภูมิคุ้มกันของตัวเอง เราจะไม่สามารถรับแรงปะทะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้และจะถูกกระแทกแรงมาก

4.) ความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) เพราะโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะว่าประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรและพึ่งดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนจะส่งผลต่อระบบชลประทาน การขาดแคลนน้ำสะอาด มีปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม เป็นต้น ต้องปรับตัวรองรับให้ทัน เพราะเรื่องนี้กระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและกระทบกับวิธีการทำธุรกิจของทุกธุรกิจ

ดร.วิรไท กล่าวว่า การจะทำเรื่องทั้ง 4 แกนหลัก แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ไม่มี Quick Win ไม่ใช่เรื่องที่จะหวังผลในระยะสั้น ๆ ได้ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐที่มีลักษณะเป็นไซโล ให้สามารถทำงานสอดประสานกันได้ รวมถึงเร่งปรับปรุงและแก้กฎหมาย (Regulatory Guillotine) โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เอื้อกับโลกอนาคต การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และต้องมีการจัดระบบแรงจูงใจให้ถูกต้อง และระมัดระวังการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ที่มักจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ผิด ตัวอย่าง คือ นโยบายจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจว่าคนต้องมาเร่งผลิตข้าวให้เร็วที่สุด เน้นเรื่องปริมาณแทนการเน้นผลิตภาพ เป็นการทำลายพันธุ์ข้าวดี ส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพในระยะยาวได้

“เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเปรียบเหมือน ภูเขาน้ำแข็ง หรือ ‘Iceberg’ เราจะมองเห็นและให้ความสำคัญเฉพาะภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำหรือในด้านของ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งอาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นได้ นั่นก็คือเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต แต่อาจจะอยู่ในสภาวะที่เทคออฟได้ช้ากว่าเศรษฐกิจอื่น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งหากเราสามารถตั้งเข็มทิศได้ถูกต้อง ผมจึงให้น้ำหนักเรื่องระยะยาวเพราะความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของเราไม่รุนแรง

เหมือนกับความจำเป็นในการที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างบุญใหม่ให้กับเศรษฐกิจ ถ้าเรายังคงอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม ทำแบบเดิม ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็หนีไม่พ้นที่จะกินบุญเก่า ซึ่งบุญเก่าก็จะหมดลงเรื่อย ๆ” ดร.วิรไท กล่าว

เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากเราสามารถเพิ่มผลิตภาพโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ต้นทุนถูกลง สามารถแข่งขันได้ เอื้อกับการทำธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาลงทุนต่อยอดกับสิ่งที่เรามี เช่น ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ เศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตลอดจนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว โจทย์ใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ เรื่องคอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันเป็นตัวทำลายผลิตภาพ ทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม

การแข่งขันจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเก่งกว่าใคร แต่การแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่าใครรู้จักใคร ใครยินดีที่จะจ่ายใต้โต๊ะมากกว่า ใครมีช่องทางในการเข้าถึงอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐได้มากกว่า

ทั้งนี้ คอร์รัปชันทำให้ต้นทุนของทุกคนสูงขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการทำธุรกิจ และยังเป็นปัจจัยทำลายความไว้วางใจ เวลาที่เราพูดถึงเศรษฐกิจไทย สังคมไทย ที่จะต้องปรับโครงสร้างให้เท่าทันกับโลกใหม่ ๆ ในอนาคต แปลว่า เราจะต้องมีความไว้วางใจกันในการที่จะเริ่มทำเรื่องใหม่ ๆ แต่หากเราอยู่ในสังคมที่มีคอร์รัปชันเป็นบรรทัดฐาน การเริ่มทำเรื่องใหม่จะทำได้ช้ามาก เพราะเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าใครหวังอะไร ใครกำลังจะได้อะไร ใครจ่ายใต้โต๊ะ นโยบายที่กำลังจะทำเอื้อต่อใคร ซึ่งการจะเริ่มทำเรื่องใหม่ในประเทศไทยทำได้ช้า ขณะที่ประเทศอื่นสามารถที่จะก้าวไปได้เร็วกว่าเรา

ดังนั้น หากสถานการณ์คอร์รัปชันของเรายังไม่ดีขึ้น จะเป็นความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่หลุมดำได้

‘ผู้แทนการค้าไทย’ มั่นใจ!! ‘Sharp’ ลงทุนในไทยต่อเนื่อง เล็งดึง ‘Foxconn’ ตั้งบริษัท ปั้นรถ EV ส่งออกต่างประเทศ

(10 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายชูเฮย์ อาราอิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชาร์ป ไทยจำกัด และคณะ โดยชาร์ปได้ยืนยันที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศไทย หลังจากที่เริ่มทำธุรกิจและลงทุนในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2530 และยังสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยในปี 2559 ชาร์ปได้ควบรวมกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้นำการผลิตและประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และต่อมาในปี 2564 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อตั้งบริษัทและโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Horizon+ ในไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต โดยชาร์ปจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์ 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ชาร์ปเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยทั้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความได้เปรียบ และสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ได้ รวมทั้งรัฐบาลยังมีสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตชาร์ปสนใจที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำน้อยและสามารถรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือไดร์เป่าผมที่มีเสียงเบาเหมาะกับคอนโดขนาดเล็กใจกลางเมือง 

ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปเข้าร่วม งาน Sharp Tech Day ในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งบริษัทครบรอบ 111 ปี ตามคำเชิญของชาร์ป ในระหว่างวันที่ 10 - 12 พ.ย. 66 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของชาร์ป ตัวแทนของฟ็อกซ์คอนน์ และบริษัทอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ ที่มาร่วมงานนี้ เพื่อเจรจาเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ผู้บริหารชาร์ปบอกด้วยว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบริษัทแม่ของชาร์ป ที่นครโอซากา ระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. 66 นี้ 

สำหรับบริษัทชาร์ป ไทย ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 แล้ว โดยมีบริษัทในเครือ 7 แห่ง แบ่งเป็น บริษัทสาขาการขาย 4 แห่ง และโรงงาน 3 แห่ง สร้างยอดขายกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และมีพนักงานมากกว่า 7,300 คน ที่ผ่านมาได้ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับบุคลากรของไทย และยังคัดสรรนวัตกรรมคุณภาพเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top