Friday, 3 May 2024
เศรษฐกิจไทย

ทีมเศรษฐกิจ ปชป. โชว์แนวทางขับเคลื่อน ศก.ไทย ชูใช้เงิน กบข.-กองทุนสำรองฯ 3 แสนล้าน ให้เกิดสภาพคล่อง

(10 เม.ย.66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลง ‘อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ใครได้อะไร’ โดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เป็นการแจกเงินทั่วไป ๆ ประชาธิปัตย์มองภาพรวมว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางและต้องเดินต่อไปอย่างไร โดยการดูแลเศรษฐกิจมหาภาค ซึ่งสิ่งที่ประชาธิปัตย์นำเสนอ ต้องการจะให้เศรษฐกิจโตถึง 5 เปอร์เซนต์ ให้ขยายตัวตามศักยภาพที่เรามีอยู่ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภาพรวมโตอย่างน้อย 5 เปอร์เซนต์ หากโตไม่ถึงก็จะไม่เป็นแรงจงใจนักลงทุน และไม่มีเงินมาดูแลคนในประเทศ ดังนั้นการให้เศรฐกิจโตอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาเรามาผิดทางเพราะเราไปกระตุ้นให้คนใช้จ่ายโดยที่ใช้จ่ายหมดเปลือง ดังนั้นเราจึงต้องกระตุ้นโดยการนำเงินเก่าที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ให้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน ไม่ใช่ไปกู้หรือไปก่อหนี้ ดังนั้นสิ่งที่ประชาธิปัตย์นำเสนอจะต่างจากสิ่งที่รัฐบาลทำมา 

นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า หลายพรรคการเมืองมีการพูดเศรษฐกิจโต 5 เปอร์เซนต์ แต่ไม่บอกว่าโตอย่างไร ได้แต่บอกว่าเอาเงินใส่เข้าไปเพื่อใช้จ่าย แต่บอกว่าว่าใช้จ่ายแล้วจะเกิดอย่างไร แต่ประชาธิปัตย์ มีกลไกลที่ทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ไม่สร้างปัญหาในอนาคต และพยายามให้หนี้อยู่ในกรอบ เพราะหลายพรรคเสนอวิธีการแก้ปัญหาหนี้โดยการการพักหนี้ บายพลาสระบบเครดิตบูโร ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง หากทำแบบนี้ใครจะกล้าเอาเงินใหม่เข้ามา ถ้าเราใส่ทุนเข้าไปเศรษฐกิจจะมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท จะมีทั้งระดับรากหญ้าโดยผ่านธนาคารหมู่บ้าน ชนชั้นกลางโดยการปลดล็อก กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอ็สเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยเงินก้อนแรกธนาคารหมู่บ้าน ชุมชนละ 2 ล้านบาท ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) มีเงินอยู่แล้ว และเวลานี้รัฐบาลเป็นหนี้ ธกส. อยู่ 8 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องคืนหนี้ธกส. แล้ว ธกส. จะเอาเงินนี้มาใช้เรื่องนี้ได้ และถ้าทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน มีเงินเข้าไปในระบบ โดยมีออมสิน และ ธกส. เข้าไปช่วยกำกับเรื่องบัญชี เราก็จะมีระบบสถาบันการเงินที่ให้ประโยชน์อ่างแท้จริงในระดับรากหญ้า 

ทีเส็บจัดโรดโชว์โครงการ ‘ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย’เปิดประตูสู่ภาคใต้ เยือนสมุยสร้างความมั่นใจจัดกิจกรรมไมซ์ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย

‘ทีเส็บ’ เปิดตัวโครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” ให้งบสนับสนุนองค์กร จัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลภายในประเทศจำนวน 1,000 กลุ่ม หวังสร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาท จัดโรดโชว์ปลายทางเมืองไมซ์ซิตี้ทั่วประเทศ กระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย ณ โรงแรมมีเลีย เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคใต้ กล่าวว่า “ทีเส็บได้ให้การสนับสนุนหน่วยงาน หรือองค์กรที่ดำเนินการจัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 โดยในปี 2566 นี้ ทีเส็บได้เดินหน้าให้การสนับสนุนต่อภายใต้ชื่อโครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” เพื่อเร่งกระตุ้นนักเดินทางไมซ์และสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยใช้กลไกการสนับสนุนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ทุกภูมิภาคอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ ชุมชน รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ก่อเกิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับงานโรดโชว์ในครั้งนี้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นไมซ์ซิตี้ที่มีศักยภาพในการรองรับการจัดงานไมซ์ ทั้งด้านสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐาน การคมนาคมที่มีถึง 2 สนามบินนานาชาติ ทั้งฝั่งตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกาะสมุย รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวหลังการประชุมสัมมนา ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิเช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า เขื่อนรัชชประภา ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ถือเป็นไมซ์ซิตี้ภาคใต้ ฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ดึงเสน่ห์ของท้องทะเลและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติบนฝั่งที่สามารถนำมาร้อยเรียงเป็นประสบการณ์ไมซ์สุดพิเศษให้กับนักเดินทางไมซ์ได้อย่างยอดเยี่ยม
 
ภายในงานโรดโชว์ได้รับเกียรติจาก นายชยพล อินทรสุภา นายอำเภอเกาะสมุย เป็นประธานเปิดงาน ในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “กลยุทธ์การทำการตลาดเมืองผ่านโครงการประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” โดย นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย นางสาวเกษร ขาวเรือง ผู้จัดการโรงแรมอมารี เกาะสมุย และ นายพีรชัย อัศดาชาตรีกุล ผู้จัดการอาวุโส ส่วนงาน MICE Innovation การให้ข้อมูลโครงการประชุมเมืองไทยฯ โดย ดร.ณัฏฐณิชชา สิงห์บุระอุดม ผู้จัดการอาวุโส สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคใต้ และ นายนราศักดิ์ ม่วงแก้ว ผู้จัดการส่วนงาน MICE Innovation ร่วมให้ข้อมูลและแนะนำการใช้งานแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในหัวข้อ “เจาะลึกการทำตลาดออนไลน์สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2B” โดย นายชวัลวิทย์ รักษพล ผู้ก่อตั้ง M Creation Agency นอกจากนี้ในงานยังมี Thai MICE Connect: Exclusive Clinic คลินิกให้คำปรึกษาการใช้งาน Thai MICE Connect แบบตัวต่อตัวอีกด้วย

สำหรับโครงการ “ประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย” เป็นโครงการสนับสนุนด้านงบประมาณการจัดงานไมซ์ให้แก่ผู้ประกอบการและนิติบุคคลตามกฎหมายที่มีแผนการจัดการประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศ โดยต้องมีการจัดกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมการประชุม (Meetings) กิจกรรมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) กิจกรรมสัมมนา (Seminars) กิจกรรมการอบรม (Training) กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ (Outing) และกิจกรรมศึกษาดูงาน (Field trip)

โดยตั้งเป้าหมายมีองค์กรสมัครเข้าร่วมขอรับการสนับสนุน 1,000 กลุ่ม มีจำนวนนักเดินทางไมซ์กว่า 30,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 180 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP Contribution) 101 ล้านบาท รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 6 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 120 อัตรา ซึ่งมีเงื่อนไขการสนับสนุน 2 รูปแบบ คือ 1.งบสนับสนุนไม่เกิน 15,000 บาท ให้การสนับสนุนจำนวน 650 กลุ่ม สำหรับการจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 1 วัน และ 2. งบสนับสนุนไม่เกิน 30,000

บาท ให้การสนับสนุนจำนวน 350 กลุ่ม สำหรับการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน โดยขอรับการสนับสนุนได้ตั้งแต่วันนี้ – 22 สิงหาคม 2566

‘เสี่ยเฮ้ง’ เดือด!! ซัด ‘ธนาธร’ หากรัฐฯ ‘นิ่งเฉยช่วงโควิด-ไร้แผนรับมือ’ ศก.ไทยมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง โบนัสบริษัทต่างๆ พร้อมหลุดเป้า

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้งานติ๊กต็อกชื่อ ‘Krutukta’ ได้โพสต์วิดีโอนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะปราศรัยหาเสียง โดยช่วงหนึ่งของการปราศรัย นายสุชาติได้กล่างถึงเหตุการณ์ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โดยระบุว่า…

ช่วงที่เดลตาระบาดหนักๆ ผมนั่งประชุมอยู่ในคณะกรรมาการเรื่องแก้ปัญหาโควิดกับท่านนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมทีมแพทย์ ที่ปรึกษาหลายๆ ท่าน ทีมแพทย์ แนะนำให้ปิด-หยุดอยู่กับบ้านอีก 3 เดือน คล้ายๆ กับเดือนเมษายน ปี 2563 ผมทราบบรรยากาศ ทราบอาการท่านนายกฯ ในวันนั้นว่า ถ้าปิดแบบนี้ ประเทศเจ๊งแน่นอน เพราะอะไรรู้ไหมครับ? เพราะออเดอร์ต่างๆ ที่บริษัทส่งออกรับออเดอร์ไว้ คู่ค้าต่างประเทศเขารออยู่ ถ้าเราปิด ก็จะรับออเดอร์ไม่ได้ ลูกค้าก็ต้องไปสั่งที่ประเทศอื่น และหลังจากโควิดหาย บริษัทเหล่านี้จะเอาออเดอร์ที่ไหน ส่งผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานแน่นอน 

ในที่ประชุม ผมถามคุณหมอว่ากลัวอะไรที่สุด คุณหมอบอกว่ากลัวเรื่องแคมป์คนงานในกรุงเทพ ผมบอกว่า ปิดแคมป์คนงานไปเลย เดี๋ยวกระทรวงแรงงานเยียวยาเอง แล้วถามว่ากลัวอะไรอีก? หมอบอกว่ากลัวคนเดินห้าง ผมก็สั่งปิดห้างสรรพสินค้าไปเลยหนึ่งเดือน เดี๋ยวเยียวยาเอง แต่ห้ามปิดอุตสาหกรรมส่งออก นี่คือข้อตกลงในที่ประชุม แล้วผมเองก็ไปเยียวยาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พนักงานห้างสรรพสินค้า เยียวยาพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งต่างด้าวและคนไทย ใช้เงินในสิทธิประกันสังคมเยียวยา

ตอนนั้นมีบริษัทหนึ่ง ชื่อบริษัทยานภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่สมุทรปราการ ต่อสายตรงหาผมและบอกว่า มีพนักงานทั้งหมด 2 พันกว่าคน ติดโควิดประมาณ 20 กว่าคนแต่จะโดนปิดโรงงาน ตอนนั้นผมบอกว่า ปิดไม่ได้ ถ้าปิดเจ๊งทันที วิธีแก้ปัญหาของผมคือ การทำโครงการ Factory Sandbox ตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุก เป็นการตรวจ RT PCR 100 % เช่น โรงงานนี้มีหนึ่งพันคน ตรวจเจอเชื้อ 100 คน เอาไปรักษา อีก 900 คนฉีดวัคซีน ม.33 ที่ลุงตู่ให้มา และไม่มีเหตุผลในการปิดโรงงาน จึงได้ผลิตและส่งออกต่อไปได้

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทยหลุดโผลงทุนจาก ‘สหรัฐฯ - ยุโรป’ หลังตะวันตก เริ่มแง้มกันท่าชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทย หลุดเรดาร์ลงทุน หลังสหรัฐฯ - ตะวันตก อ้าง ‘ความมั่นคง’ จัดระเบียบ Supply Chains ใหม่ ปักหมุดฐานการผลิตประเทศที่ไว้วางใจ กีดกันชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

(7 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าหลายแบรนด์ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังจัดระเบียบ Global Supply Chains ใหม่จากเดิมที่เน้นประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ มาเน้นเรื่องความมั่นคงมากขึ้น

ย้อนกลับไปในอดีตหลายสิบปี ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในอุตสาหกรรมการผลิตและ Supply Chains ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการผลิตทั่วโลก บริษัทฯ ใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบนี้ ยกตัวอย่าง แอปเปิล และไนกี้ ที่มีการกระจายการผลิตชินส่วนไปในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ไทย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้นับว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ

แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างชัดเจน เดิมที่ยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยด้าน Supply Chains ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากกว่า และแทนที่ประสิทธิภาพไปแล้ว

นายพงษ์ภาณุ ได้ยกตัวอย่างความมั่นคงทางด้าน Supply Chains ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกได้บทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจีนปิดประเทศไป 3 ปี และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักด้าน Supply Chains ในหลาย ๆ จุด ทำให้บริษัทแม่ไม่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาติตะวันตกนำมาใช้อ้าง เพื่อย้ายฐานการผลิต

แน่นอนว่า เมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิต ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์ โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้มี 2 ประเทศในอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีปัจจัยสนับสนุนทั้งปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการดึงดูด Supply Chains เข้ามาเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมองว่าไทยไม่มั่นคงและจัดอยู่ในกลุ่มเผด็จการ (Autocracy) ส่วนประสิทธิภาพและต้นทุนก็สู้คนอื่นไม่ได้ Global Supply Chains จึงย้ายไปที่อื่นหมด ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับดูเหมือนเดินห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เห็นได้จาก กรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้จัดเวทีการประชุมสุดยอดฝ่ายประชาธิปไตย ที่ใช้ชื่อว่า Summit for Democracy ครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือประชาธิปไตย และเผด็จการ โดยในครั้งนี้มีการเชิญผู้นำกว่า 120 ประเทศเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือมีแนวโน้มดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบวกในสายตารัฐบาลสหรัฐฯ และน่าสังเกตว่า เวียดนาม ได้เข้าร่วม ทั้งที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้รับเชิญทั้ง 2 ครั้ง

“ถ้าหากว่าประเทศไทย ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากชาติตะวันตก จำเป็นจะต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นมิติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่จะนำมาพิจารณากระจาย Supply Chains โดยให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าประสิทธิภาพเหมือนเช่นในอดีต ในส่วนนี้ไทยเองจะต้องแสดงให้เห็นว่า ยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้อยู่ในเรดาร์ของประเทศมหาอำนาจภายหลังจากนี้”

นอกจากนี้ นายพงษ์ภาณุ มองว่า เรื่องต้นทุนพลังงานของประเทศไทยที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ ถือว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่พอสมควร 

‘นักเศรษฐศาสตร์’ เปรียบ ‘เศรษฐกิจไทย’ เป็น ‘นักกีฬาสูงวัย’ ต้องมีโค้ชมือฉมังมาช่วย ก่อนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไม่เห็นฝุ่น

(8 พ.ค. 66) นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน ‘นักกีฬาสูงวัย’ ที่ต้องการ ‘โค้ช’ เก่ง ๆ มาช่วย

นักกีฬาคนนี้สมัยก่อนเคยโดดเด่น 

ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรม เขาเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เศรษฐกิจโตเฉลี่ยกว่า 7% หากเปรียบกับกีฬาบาสเกตบอล NBA ก็เกือบได้รับคัดเลือกเป็นนักบาสระดับออลสตาร์

แม้จะเคยเล่นผาดโผนผิดพลาดจนบาดเจ็บหนักเกือบจบชีวิตนักกีฬาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สุดท้ายก็ยังหวนคืนสู่สนามกลับมาเก่งอีกครั้งได้

หลังจากนั้นแนวการเล่นจะเปลี่ยนไปบ้างจากเดิม มีการท่องเที่ยวมากลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังโดดเด่น ยังเป็นที่ต้องการตัว นักลงทุนยังให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาเรื่องโค้ช/ทีมผู้จัดการบ่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งอย่างที่ทราบกันดี 

แต่ดูเผิน ๆ เศรษฐกิจก็เหมือนจะผ่านมาได้โอเค จนนักลงทุนต่างประเทศเคยให้สมญานามว่า เศรษฐกิจเทฟลอน (Teflon economy) คือ แม้จะมีปัญหาเหมือนจะถูกกดให้จมน้ำหลายครั้ง ทั้งการเมือง ทั้งภัยพิบัติ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาลอยใหม่ได้ 

จนหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไรหรอกเพราะเศรษฐกิจไทยเอกชนนำไปต่อได้ เสมือนบอกว่าโค้ชไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะนักกีฬาคนนี้เล่นเก่งอยู่แล้ว ปล่อย Auto-pilot ไปได้เดี๋ยวเขาก็จัดการเอง

ซึ่งในมุมหนึ่งก็จริงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ มีบุญเก่าอยู่มาก มีทรัพยากร มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยว อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ดี และคนไทยก็มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ

แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปที่เราเหมือนจะ ‘ลอยตัว’ นั้นความสูงวัยเริ่มกัดกร่อนนักกีฬาคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงอายุเฉลี่ยของประชากรที่เริ่มเข้าสูงวัยแต่อาการทางเศรษฐกิจก็ไปในทางเดียวกัน

วิ่งช้าลง กระโดดเริ่มไม่สูง เล่นได้ไม่นานก็เหนื่อย ร่างกายไม่บาลานซ์ ซึ่งในทางเศรษฐกิจคือ ‘โตช้า เหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน’

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยเหลืออยู่แค่ปีละ 3% กว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล 

ความเหลื่อมล้ำที่สูงโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส (เช่นคนที่รายได้ระดับ 20% ล่างของประเทศเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยแค่ 4% เท่านั้น ทำให้จำกัดโอกาสได้งานดีๆ) 

และปัญหาด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด (เช่น ฝุ่น PM 2.5, overtourism ในการท่องเที่ยว)

ยังดีที่ว่าเพราะเคยเจ็บตัวหนักมาตอนวิกฤตการเงินจึงเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง มีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้เสี่ยงที่จะล้มเจ็บหนักระดับวิกฤตแบบศรีลังกา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจไทยจะเป็น ‘นักกีฬาที่ถูกลืม’ ค่อย ๆ ถูกเพื่อนแทรงหน้าไปเรื่อย ๆ ถูกมองข้ามในเวทีโลกและภูมิภาค โอกาสที่ได้ลงเล่นก็น้อยลง ๆ 

เราอาจจะมองว่าแต่เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ปัญหาเยอะเหมือนกันนะ กฎกติกาทำธุรกิจก็ยาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ดี คนก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงเงินทุน แย่กว่าไทยด้วยซ้ำ ทำไมเขาจะมาแซงเราได้?

คำตอบหนึ่งคือ เขาคือนักกีฬาที่ยังเป็น ‘วัยรุ่น’ อยู่ 

อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมากและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตจากการเพิ่มแรงงานเข้าไปได้ (ต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ยิ่งเสริมการลงทุนจากรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยก็สามารถสร้าง GDP ให้โตเฉลี่ย 5-6% ได้ไม่ยากนัก

เหมือนนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่แม้ทานอาหารไม่ระวังบ้าง ไม่ดูแลตัวบ้าง ไม่เกลาบางเทคนิค ใช้แค่สมรรถนะร่างกายเข้าสู้ก็พอไปได้ แม้สมมติว่าโค้ชและผู้จัดการทีมไม่เก่ง (แต่ในความเป็นจริงโค้ชของเขาก็ค่อนข้างเก่งด้วย) ก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะยังพึ่งพรสวรรค์ได้  

ต่างกับเราวันนี้ที่หากไม่เน้นคุณภาพให้สู้ด้วยปริมาณไม่ไหวอีกต่อไป

แต่การเป็นนักกีฬาสูงวัยไม่ได้แปลว่าเราจะหมดความหมาย ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว 

นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งในปัจจุบันคือ เลบรอน เจมส์ ที่อายุ 38 ปีแล้วเทียบกับอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และยังมีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วก็ยังเก่งมาก

นอกจากนี้เรายังอยู่ในยุคที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกสนใจตลาดอาเซียนโดยรวมมากขึ้นจึงเป็นโอกาส แค่เราต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เปลี่ยนวิธีดูแลตนเอง และเปลี่ยน Mindset 

โดยหลักที่สำคัญที่สุดของนักกีฬาที่มีสมรรถนะทางร่างกายน้อยลงคือ 

“ใช้น้อยลงให้ได้มากขึ้น” 

เสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นให้สมาร์ตขึ้น เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน

ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เพิ่ม Productivity เช่น รีสกิลเพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น)

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญน้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น (เพิ่ม Sustainability - เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

ใช้งบประมาณประเทศแบบฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่ช่วยคนตัวเล็ก-MSME-สตาร์ตอัปได้มากขึ้น (เพิ่ม Inclusivity เช่น ใช้งบประมาณช่วยคนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของเขา)

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ฝากโจทย์ 7 ข้อ ถึงรัฐบาลชุดใหม่ ชู!! ‘ภาครัฐ-เอกชน’ ผนึกกำลังทรานส์ฟอร์มประเทศ

(9 พ.ค. 66) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวนโยบาย 7 ข้อ ให้กับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อทรานฟอร์มประเทศไทยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 5.0 เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้…

1. กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์/Computer Science เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี

2. ส่งเสริม Media & Content ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ในช่วง Prime Time ด้วยการให้ Incentive

3. ตั้งเป้าเทคสตาร์ตอัป 20,000 บริษัท เพื่อช่วย Digital Transformation และ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคน

4. ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand / สร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน 5.0

5. ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%

6. สร้าง 5 Innovation Centers ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care/Health Tech

7. สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย

4 สัญญาณอันตราย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจว่า วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ แม้จะมีข้อยุติชั่วคราวไปแล้ว แต่ได้สะท้อนปัญหาการคลังที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทย ซุกไว้ใต้พรมและพร้อมที่จะประทุได้อีกทุกเมื่อ หากไม่มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ใน 4-5 ปีข้างหน้า แนวโน้มฐานะการคลังจะเลวร้ายลงจากสาเหตุ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้งบชำระหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างมาก
2. ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก ทำให้ทุกประเทศต้องจัดงบประมาณด้านการทหารสูงขึ้น
3. การแก้ปัญหาโลกร้อนและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
4. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐในด้านบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพคนชรา และการรักษาพยาบาล

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.0% อาจเป็นการซ้ำเติมภาระหนี้รัฐบาลและประชาชนขึ้นอีก รวมทั้งยังอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทั่วโลกเปิดประเทศหลังโควิด โดยเฉพาะจีน น่าจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund ที่มีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย โดยกองทุนดังกล่าวควรเข้ามาดูแลปัญหาและต้นทุนที่การท่องเที่ยวก่อเกิดกับประเทศไทย เช่น การประกันภัยและการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยว การบูรณะและฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมทรามลง การลดผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากรายได้การท่องเที่ยว
 

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด 

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE STATES TIMES ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

1.) การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2.) ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู
.
3.) ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

4.) ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

‘พงษ์ภาณุ’ ระบุ ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ ขาดแคลน ‘คนวัยแรงงาน’ ที่จะมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

(18 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า

โลกกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่แก่เร็วมาก มีตัวเลข ว่าถ้าชาติใดมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ก็จะนับว่าประเทศนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันชาติไทยก็ได้เกินหลักเกณฑ์นั้นไปแล้ว อายุเฉลี่ยของคนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี นั่นก็หมายความว่าคนไทยมีอายุมากกว่า 40 ปีและน้อยกว่า 40 ปีในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยในอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ย น้อยกว่าประเทศไทยยกเว้นสิงคโปร์ที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย สาเหตุตรงนี้ก็คือเด็กเกิดใหม่นั้นมีน้อยส่วนผู้สูงอายุนั้น ก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัฒนธรรมการมีลูกของคนไทยในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ต่อผู้หญิงไทย 1 คนจะมีลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้หญิงไทย จะมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 คน ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งถ้าจะคงที่ของประชากรไทยไว้ผู้หญิง 1 คนจะต้องมีลูกประมาณ 2 คนนิดๆถึงจะคงค่าเฉลี่ยของประชากรไทยไว้ได้เหมือนเดิม ค่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 คนไทยมีอยู่ประมาณ 70 ล้านคนซึ่งวิเคราะห์ตัวเลขนี้แล้วก็บอกว่าคงจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ อันนี้ฟังแล้วก็น่าใจหาย ที่อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากว่าในปัจจุบันประชากรจากชนบทนั้นได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานกันอยู่ในเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเกษตรกรรมกันทำไร่ทำนากันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา คนเมืองที่อยู่ในบ้านในเมืองใหญ่ซึ่งบ้านจะเล็กกว่าบ้านตามชนบทการมี ลูก ก็เลยจะน้อยลงต่างกับคนชนบทที่จะมีลูกกันมาก

เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนที่จะมีลูกนั้นก็จะต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายค่าเลี้ยงดูค่าเล่าเรียนการศึกษา ค่าอาหารการกินค่าที่พักอาศัยซึ่งจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นการมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ และนโยบายจากทางภาครัฐนั้นก็ถือว่าสำคัญ อย่างถุงยางอนามัยถุงยางมีชัยนั้นก็ถือว่าได้ผลเกินคาด

เมื่อเราเป็น ผู้สูงวัยเกษียณอายุ ชีวิตก็จะมีอยู่ 3 ทางเลือก 1 ถอนเงินออมออกมาใช้ 2 พึ่งบำนาญจากทางราชการ 3 ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเรา สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมผู้สูงอายุ และในภาวะที่อัตราการเกิดลดลงก็คือ อัตรากำลังในภาคแรงงาน นั้นจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรประเทศ ซึ่งตรงนี้คือตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่ผลักดันทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ

หลายๆประเทศก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เพิ่มจำนวนผู้อพยพเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะเข้ามาเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไปโดยปริยาย อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะดึงดูดประชากรใหม่เข้ามาในประเทศปีละเป็นแสนเป็นล้านคน ในประเทศไทยก็ได้เปิดให้แรงงาน เข้ามา ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการรับ ผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเปิดรับผู้อพยพที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ามาคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆให้กับประเทศ อย่างเช่นสตีฟ จ๊อบ ก็มีพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศจอร์แดน หรือใน ปัจจุบัน CEO ของ Microsoft หรือ CEO ของ Google ก็เป็นคนที่เป็นแขก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยผู้อพยพที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ก็จะเห็นความแตกต่างว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้บริหารก็จะเป็นคนต่างด้าวพอสมควร แต่สำหรับประเทศไทย เราไม่มี เราบอกว่า คนต่างด้าวจะให้เข้ามาแข่งขันกับคนไทยไม่ได้ เราจึงเอาเฉพาะแรงงานระดับรากหญ้าระดับที่ติดดินเข้ามา ซึ่งความคิดตรงนี้อาจจะต้องเปลี่ยน

‘พงษ์ภาณุ’ มองเศรษฐกิจไทยเติบโตน่าพอใจ ภาคอสังหาฯ แนวโน้มสดใส ทั้งบ้านเดี่ยว-คอนโด

(25 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง เศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ ซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งปี การวิเคราะห์ในตัวเลขที่ผ่านมาครึ่งปีนั้น ส่งผลอย่างมากในการที่จะพยากรณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า ...

เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ที่ระดับใกล้ๆ 4% ต่อปี ทั้งนี้สำนักพยากรณ์ทั้งไทยและเทศยังไม่มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ช่วงกลางปี (mid year review) อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมี downside risk อยู่มากมาย อาทิเช่น ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก การส่งออกขยายตัวได้ต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

การเติบโตในปีนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมาจากส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีแนวโน้มสดใสตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยทั้งประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโด ทั้งนี้แรงซื้อจากลูกค้าต่างชาติก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพปริมณฑลและเมืองหลักทั่วประเทศ หากมีการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี จึงขอฝากเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลหน้าด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top